ความตายนั้นผมไม่กลัว แต่กลัวจะเขียนเรื่องไม่จบ : พนมเทียน นักบุกเบิกนวนิยายผจญภัยไทย
Faces

ความตายนั้นผมไม่กลัว แต่กลัวจะเขียนเรื่องไม่จบ : พนมเทียน นักบุกเบิกนวนิยายผจญภัยไทย

Focus
  • ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา พนมเทียน และผู้ประพันธ์นวนิยายผจญภัยสุดคลาสสิคเรื่อง เพชรพระอุมา เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ในวัย 89 ปี
  • นวนิยายผจญภัยเรื่อง เพชรพระอุมา เป็นนิยายที่ยาวนานที่สุดที่เคยตีพิมพ์ในประเทศไทย และฉัตรชัยใช้เวลาเขียนถึง 25 ปี 7 เดือน 2 วัน หรือตั้งแต่อายุ 33 จนถึง 59 ปี
  • เนื้อเรื่องเพชรพระอุมาเกิดจากความชื่นชอบเดินป่าผจญภัยและความเชี่ยวชาญและความรู้เรื่องอาวุธปืนของนักเขียนเองที่ได้รับอิทธิพลมาจากปู่และตาซึ่งเป็นนักท่องไพรตัวฉกาจ

พนมเทียน หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ (พ.ศ. 2474-2563) คือ ผู้ประพันธ์นวนิยายผจญภัยสุดคลาสสิคเรื่อง เพชรพระอุมา ซึ่งใช้เวลาเขียนนานถึง 25 ปี 7 เดือน 2 วัน (เริ่มวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2507 และเขียนเสร็จในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2533 หรือตั้งแต่อายุ 33 จนถึง 59 ปี) เคยกล่าวไว้ว่า เขากลัวตายก่อนเขียนเรื่องนี้จบเนื่องจากมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ

“ความตายนั้นผมไม่กลัว แต่กลัวจะเขียนเรื่องไม่จบ เพราะท่านผู้อ่านของผมที่ติดตามเรื่องมานั้นท่านได้ลาโลกไปแล้วหลายต่อหลายท่านก่อนที่เรื่องจะจบ ซึ่งท่านคงจะคิดสาปแช่งผมมากมายหลังจากที่ท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว (ถ้าท่านยังสามารถคิดได้) และสำหรับผมนั้น เท่าแล้วเท่ารอดก็ยังไม่ตายสักที มีชีวิตอยู่ต่อมาได้จนกระทั่งเรื่องจบสมบูรณ์”

พนมเทียน

ฉัตรชัย หรือ พนมเทียน เขียนไว้ในบทนำของนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2544 เมื่อครั้งรวมเล่มกับสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม

ท้ายสุดแล้วโรคหัวใจก็ได้พรากเขาไปจากโลกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ในวัย 89 ปี หรือเกือบ 30 ปีหลังจากเขาแต่งเรื่องเพชรพระอุมาเสร็จ และกลายเป็นว่า เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายที่ยาวที่สุดเท่าที่เคยตีพิมพ์มาในประเทศไทย คือ รวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คทั้งหมดถึง 48 เล่ม จบบริบูรณ์

ฉัตรชัยได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2540 และเขาได้สร้างสรรค์ผลงานหลากหลายแนวตั้งแต่ จินตนิยาย อาชญานิยาย นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน แนวผจญภัย แนวพาฝัน ตลอดจนสาระนิยาย มากกว่า 38 เรื่อง เช่น จุฬาตรีคูณ เล็บครุฑ เห่าดง ละอองดาว สกาวเดือน มัจจุราชสีรุ้ง และ ศิวาราตรี

พนมเทียน

นวนิยายที่มีแฟนเหนียวแน่นมากที่สุดและทำให้นามปากกา พนมเทียน เป็นที่กล่าวขานหนีไม่พ้นเรื่อง เพชรพระอุมา ซึ่งการเดินทางของนวนิยายเล่มนี้ยาวนานพอๆ กับการผจญภัยในป่า และการหลงเข้าไปในดินแดนพิศวงลี้ลับของตัวละครในเรื่องอย่าง พรานไพรและมัคคุเทศก์หนุ่ม รพินทร์ ไพรวัลย์ รวมทั้งราชนิกูลสาวผู้เย่อหยิ่ง ม.ร.ว.ดาริน วราฤทธิ์ และกะเหรี่ยงหนุ่มพเนจรนาม แงซาย ผู้ซึ่งแท้จริงแล้วคือจักราชแห่งมรกตนคร

เพชรพระอุมาตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มบางจำนวน 98 เล่ม แต่ไม่ได้ตีพิมพ์ทีเดียวทั้งหมด ทว่าจะออกในทุกๆ 10 วัน หรือเรียกกันว่ารายทศ และพิมพ์ต่อเนื่องกันมาเป็นจำนวน 98 เล่ม

ส่วนครั้งที่สองซึ่งเป็นตอนถัดมาตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายสัปดาห์ชื่อ “จักรวาล” ครั้งที่สามลงตอนต่อมาในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ทุกวันจันทร์ และครั้งที่สี่ในนิตยสาร “จักรวาลปืน” เป็นรายทศ 10 วันอีกเช่นกัน ตีพิมพ์จนจบภาค 2 บริบูรณ์ แต่ที่รวบรวมได้สมบูรณ์ ณ ปัจจุบันคือ ชุดที่ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม จำนวน 48 เล่ม แบ่งเป็น 2 ภาค ภาคละ 24 เล่ม และแต่ละภาคมี 6 ตอน

เด็กน้อยนักท่องไพร

ว่ากันว่าใครได้อ่านเพชรพระอุมาจะรู้สึกราวกับกำลังเดินหลงอยู่ในป่าลึกลับจนหาทางออกแทบไม่ได้ และแทบจะไม่อยากลุกไปไหน ไม่กิน ไม่นอนจนกว่าจะอ่านจบ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะฉัตรชัยสนใจเรื่องท่องไพรมาตั้งแต่เด็กทำให้เขาสามารถบรรยายทุกซอกหลืบของป่าดงพงไพรได้ราวกับกำลังเดินอยู่จริงๆ

ตั้งแต่วัย 8-9 ขวบ ฉัตรชัยก็เริ่มสนใจเรื่องการเดินป่าและอาวุธปืนซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากนักท่องไพรตัวฉกาจอย่างปู่ของเขาเองคือ หลวงวิเศษสุวรรณภูมิ เจ้าของเหมืองทองคำโต๊ะโมะ ในสมัยรัชกาลที่ 5 และตาคือ รองอำมาตย์ตรี หมื่นบรรจง เจียรนัย (สว่าง รัตนกุล) ซึ่งถือเป็นครูพรานคนแรกของเขา

ตาของฉัตรชัยเป็นนักเดินป่ารุ่นแรกๆ ที่บุกดงพญาไฟก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น ดงพญาเย็น ในปัจจุบัน ฉัตรชัยจึงชอบบุกป่าฝ่าดง เริ่มจากป่าแถวภาคใต้บ้านเกิดของเขาที่ปัตตานี ค่อยๆเขยิบไปสู่ป่าใหญ่ลึกในภาคอื่นๆ เรื่อยไปจนถึงแถบมาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชาดังนั้นเรื่องราวการดำรงชีพในป่า การเดินป่า การล่าสัตว์ ธรรมชาติวิสัยและนิสัยของสัตว์ป่าต่างๆที่ปรากฎในเรื่องเพชรพระอุมาล้วนมาจากประสบการณ์ตรงผสมกับเรื่องมหัศจรรย์ลี้ลับที่ได้ฟังมาจากบรรพบุรุษและครูพราน และเสริมแต่งความสนุกจากจินตนาการส่วนตัว

เพชรพระอุมา

เพชรพระอุมา ตำนานนิยายผจญภัย                            

เรื่องเพชรพระอุมาถูกสมมุติให้เกิดขึ้นหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงใหม่ๆ คือราว พ.ศ.2490 ซึ่งในสมัยนั้นการล่าสัตว์ยังไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย และผู้ที่เป็นแกนนำเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายและออกกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าคือ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้ที่ฉัตรชัยเรียกว่า อา เพราะสืบต้นตระกูลรุ่นทวดเดียวกัน

ในปี พ.ศ. 2502 น.พ.บุญส่ง เลขานุการนิยมไพรสมาคม ได้เข้าพบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเพื่อยื่นข้อเรียกร้องแก่รัฐบาลจนเกิดกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 (ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2535) และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หลังจากนั้นจึงได้มีการประกาศป่าขนาดใหญ่หลายแห่งให้เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อาทิ ป่าเขาใหญ่ ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2505 ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2508 เป็นต้น

“ณ วันที่ท่าน (น.พ.บุญส่ง) ร่าง พ.ร.บ. เพื่อเสนอรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมก็ได้ไปนั่งรู้เห็นต้นร่างอยู่ด้วย แต่ในใจยังไม่เห็นด้วยกับท่านนัก เพราะขณะนั้นท่านเลิกเดินป่าล่าสัตว์แล้ว (ความจริงท่านล่าเพื่อการศึกษา) แต่ผมเป็นเด็กรุ่นหลาน ยังท่องเที่ยวไพรอยู่ เพียงแต่ไม่กล้าขัดหรือค้านอะไรท่านเท่านั้น” ฉัตรชัยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนังสือ “อินไซด์เพชรพระอุมา ภาค 1”

เพชรพระอุมาได้รับการยกย่องว่าเป็นนวนิยายที่ครบเครื่องทั้งเรื่องการผจญภัยในป่าลึก การเอาชีวิตรอดกลางป่า การล่าสัตว์  ธรรมชาติ นิสัยของสัตว์ป่า ความลี้ลับมหัศจรรย์ ไสยศาสตร์ ผสมกับเรื่องรักหลากรูปแบบทั้งระหว่างหนุ่มสาว เพื่อนกับเพื่อน นายกับบ่าว มนุษย์กับสัตว์ และเรื่องกฏแห่งกรรม

เพชรพระอุมา

เนื้อเรื่องเพชรพระอุมาเกี่ยวกับการเดินทางและการผจญภัยของพรานป่า “รพินทร์” ที่รับจ้างวานนำทางคณะของ ม.ร.ว. เชษฐา วราฤทธิ์ ในการออกติดตามค้นหาน้องชายคือ ม.ร.ว.อนุชา (พรานชด ประชากร) ผู้สูญหายยังดินแดนลึกลับและเต็มไปด้วยอาถรรพณ์แห่งป่า พร้อมกับเรื่องราวการตามหาขุมทรัพย์เพชรพระอุมาในตำนาน

โครงเรื่องของเพชรพระอุมานั้นอาจพ้องกับนวนิยายของ เซอร์เฮนรี่ ไรเดอร์ แฮกการ์ด (H. Rider Haggard) เรื่อง King Solomon’s Mine หรือ สมบัติพระศุลี ว่าด้วยการผจญภัยในความลี้ลับของป่าดงดิบในทวีปแอฟริกา แต่ฉัตรชัยได้เขียนแย้งไว้ในหนังสือ อินไซด์เพชรพระอุมา ภาค 1 ว่า

“รายละเอียดอื่นๆ ทั้งหมดไปกันคนละเรื่อง ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยสักนิดเดียว (ไม่เชื่อก็ลองอ่านและนำมาเปรียบเทียบกันดูนะครับ) สรุปก็คือ ต้นเหตุของเรื่อง คล้ายกันแต่การดำเนินเรื่องรายละเอียดทั้งหมดเป็นคนละเรื่องกัน และผิดกันไกลลิบ”

สุดท้ายไม่ว่าต้นเหตุของเรื่องจะคล้ายกันหรือไม่ ทว่าตลอดชีวิตนักประพันธ์นามปากกา พนมเทียน เขาสามารถสร้างโลกใบใหม่ให้นักอ่านได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับรุ่นแรก จนมาถึงแฟนคลับรุ่นใหม่ๆ  และแม้ในวันที่ 21 เมษายน 2563 ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือ พนมเทียน จะจากนักอ่านไปในวัย 89 ปี แต่เราเชื่อเสมอว่า รพินทร์ ม.ร.ว.ดาริน แงซาย และอีกหลากหลายชีวิตที่เขาได้ขีดเขียนไว้จะยังคงอยู่ในความทรงจำและจินตนาการของผู้อ่านไปอีกนานเลยทีเดียว

อ้างอิง

  • หนังสือ “อินไซด์เพชรพระอุมา ภาค 1” โดย พนมเทียน สำนักพิมพ์ คเณศบุรี
  • ภาพ: จากปกหนังสือโดย สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ