9 สัญลักษณ์แสดง อันตรายของสารเคมี ที่ประชาชนทั่วไปต้องรู้
Better Living

9 สัญลักษณ์แสดง อันตรายของสารเคมี ที่ประชาชนทั่วไปต้องรู้

Focus
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ระบุไว้ให้สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Hazard pictogram) เป็นสัญลักษณ์สีดำบนพื้นขาวอยู่ภายในกรอบสีแดงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีทั้งหมด 9 รูปสัญลักษณ์
  • สัญลักษณ์ของ GHS หรือ Globally Harmonized System for Classification and Labelling of Chemicals กำหนดโดย องค์การสหประชาชาติ เป็นการติดฉลากสารเคมีเพื่อให้เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก

จากกรณีเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกจนทำให้เกิด  สไตรีนโมโนเมอร์ Styrene Monomer) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า สไตรีน ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย โดยใน คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตุลาคม 2552 จะพบสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ อันตรายของสารเคมี ชนิดนี้ตามข้อกำหนดของ GHS ไว้ 2 รูปคือ สารไวไฟ และ รูปคนสูดสารเคมี ที่แปลว่าอันตรายต่อสุขภาพ

สัญลักษณ์ของ GHS หรือ Globally Harmonized System for Classification and Labelling of Chemicals กำหนดโดย องค์การสหประชาชาติ เป็นการติดฉลากสารเคมีเพื่อให้เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการปกป้องสุขภาพมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมจาก อันตรายของสารเคมี ผ่านระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก ทั้งยังลดความซ้ำซ้อนในการจัดเตรียมข้อมูล การประเมินสารเคมี ให้ประเทศต่าง ๆ มีข้อมูลสารเคมีที่ถูกต้องตรงกัน

อันตรายของสารเคมี
ภาพ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

สำหรับประชาชนทั่วไป สัญลักษณ์  GHS ก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย เพื่อที่จะได้ระวังเมื่อเจอรถขนส่งสารเคมี หรือเมื่อพบเห็นกล่องที่ติดสัญลักษณ์แสดงอันตรายนั้นๆ โดยจากข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ระบุไว้ว่า รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Hazard pictogram) เป็นสัญลักษณ์สีดำบนพื้นขาวอยู่ภายในกรอบสีแดงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีทั้งหมด 9 รูปสัญลักษณ์  เพื่อสื่อความหมายของความเป็นอันตรายในแต่ละด้าน และแต่ละประเภท ได้แก่

1. สารไวไฟ : อาจเป็นได้กับทั้งก๊าซ ของเหลว ของแข็ง / สารที่ทำปฏิกิริยาได้เอง / เกิดความร้อนได้เอง / ลุกติดไฟในอากาศได้เอง / สัมผัสน้ำแล้วให้ก๊าซไวไฟ / สารเปอร์ออกไซด์อินทรี

2. สารออกซิไดซ์ : อาจเป็นได้กับทั้งก๊าซ ของเหลว ของแข็ง 

3. วัตถุระเบิด : หมายถึงวัตถุระเบิด สารที่ทำปฏิกิริยาได้เอง และสารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์

4. ก๊าซบรรจุภายใต้ความดัน : ก๊าซภายใต้ความดัน

5. สารกัดกร่อน : สารที่กัดกร่อนโลหะ ผิวหนัง และดวงตา

6. พิษเฉียบพลัน : สารที่มีอันตรายถึงชีวิต

7. อันตรายต่อสุขภาพ : การก่อมะเร็ง / การทำให้ไวต่อการกระตุ้นอาการแพ้ต่อระบบทางเดินหายใจ /ความเป็นพิษต่อระบบสิบพันธุ์ / ความเป็นพิษต่ออวัยวะเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง / ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์สืบพันธุ์ /ความเป็นอันตรายต่อการสำลัก (สไตรีนโมโนเมอร์ มีสัญลักษณ์นี้ระบุไว้)

8. ระวัง : ระคายเคืองต่อดวงตา ผิวหนัง / ทำให้ไวต่อการกระตุ้นอาการแพ้ต่อผิวหนัง / อาจระคายเคืองต่อทางเดินหายใจหรือทำให้ง่วง หรือมึนงง / ความเป็นพิษเฉียบพลัน

9. อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม : เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในน้ำ ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง

อ้างอิง

  • คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตุลาคม 2552
  • http://pca.fda.moph.go.th/public_media_detail.php?id=6&cat=73&content_id=1758
  • สัญลักษณ์และป้ายเตือนอันตรายสารเคมี โดย สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัยกรมโรงงานอุตสาหกรรม

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite