ปฏิทินมายัน วันสิ้นโลก ย้อนไทม์ไลน์ปฏิทินระบบแรกของโลก
Arts & Culture

ปฏิทินมายัน วันสิ้นโลก ย้อนไทม์ไลน์ปฏิทินระบบแรกของโลก

Focus
  • Paolo Tagaloguin ได้ออกมาทวีตข้อความเรื่องการคำนวน วันสิ้นโลกใหม่ ตามทฤษฎี ปฏิทินมายัน (Mayan calendar) กำหนดให้วันที่ 21 มิถุนายน 2020 เป็นวันสิ้นโลก แต่ได้ถูกนักดาราศาสตร์จากทั่วโลกออกมาโต้แย้งเป็นจำนวนมาก
  • 21 ธันวาคม 2012 ทั่วโลกเคยแตกตื่นกับ วันสิ้นโลก มาแล้วครั้งหนึ่ง เพราะปฏิทินมายันที่ขึ้นชื่อเรื่องความแม่นยำที่สุดได้หยุดลงที่วันนี้
  • ระบบปฏิทินของโลกเริ่มจาก ปฏิทินสุเมเรียน ถือกำเนิดมาราว 3,000 ปีก่อนพุทธกาล เป็นปฏิทินจันทรคติของชาวสุเมเรียน

หลังจากแอคเคาต์ทวิตเตอร์ Paolo Tagaloguin ได้ออกมาทวีตข้อความเรื่องการคำนวน วันสิ้นโลก ตามทฤษฎี ปฏิทินมายัน (Mayan calendar) ประเด็นวันสิ้นโลกก็ถูกพูดถึงอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะมีข้อโต้แย้งออกมามากมาย และทำให้ข้อความทวีตของ Paolo Tagaloguin ดูจะกลายเป็นเฟคนิวส์เสียอย่างนั้น

Paolo Tagaloguin ระบุว่าที่ผ่านมาการทำนายวันสิ้นโลกนั้นมีความผิดพลาด และวันสิ้นโลกของจริงไม่ใช่วันที่ 21 ธันวาคม 2012 อย่างที่ทั่วโลกเคยแตกตื่น เพราะระบบปฏิทินมีการเปลี่ยนแปลงจากมายันมาเป็นระบบจูเลียน (Julian Calendar) และปฏิทินแกรกอเรียน (Gregorian Calendar) อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน ผลคือทำให้มีจำนวนของวันตกหล่นจนการคำนวนผิดพลาด ดังนั้น Paolo Tagaloguin จึงได้ทำการคำนวนใหม่ ผลลัพธ์ของเขาคือวันสิ้นโลกตามปฏิทินมายันที่ขยับมาเป็นวันที่ 21 มิถุนายน 2020

ปฏิทินมายัน
ปฏิทินเก่าแก่ของชาวมายา

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ปฏิทินและการคำนวนวันสิ้นโลก

ปฏิทินมายัน คืออะไร ? คำตอบคือ ระบบการคำนวนปฏิทินที่เกิดขึ้น 300 ปีก่อนพุทธกาล โดยมีชาวมายาเป็นผู้คิดค้นขึ้น ซึ่งชาวมายานี้คือผู้เคยครอบครองดินแดนแถบที่ตั้งของแม็กซิโกในปัจจุบัน

ปฏิทินมายัน ได้กำหนดให้ 1 เดือนมี 20 วันและ 1 ปี เท่ากับ 18 เดือน พร้อมเพิ่มวันพิเศษอีก 5 วันที่ไม่ขึ้นอยู่กับเดือนใดเดือนหนึ่ง อีกทั้งยังมีระบบการตั้งชื่อเรียกวัน และตั้งชื่อเรียกเดือนอีกด้วย ว่ากันว่าปฏิทินมายันนั้นเป็นปฏิทินที่มีความแม่นยำและถูกต้องที่สุด ด้วยเหตุนี้เมื่อปฏิทินมายันหยุดเดินเพียงแค่วันที่ 21 ธันวาคม 2012 ทุกคนจึงเชื่อว่าวันนี้คือวันสิ้นโลก เป็นวันที่แผ่นดิน แผ่นน้ำ แผ่นฟ้า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ท้ายที่สุดโลกก็ยังคงดำเนินมาถึงปี 2020 ซึ่งดูเหมือนว่าทั้งดิน น้ำ ฟ้า สงคราม โรคระบาด จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และมารวมกันเป็นยำใหญ่ตั้งแต่ต้นปีอย่างไม่หยุดหย่อน

หากย้อนกลับไปเรื่องประวัติศาสตร์ปฏิทิน ก่อนหน้าปฏิทินมายัน โลกมีการใช้ปฏิทินมาแล้ว 3 ระบบ เริ่มต้นจาก ปฏิทินสุเมเรียน (Sumerian Calendar) ถือกำเนิดมาราว 3,000 ปีก่อนพุทธกาล เป็นปฏิทินจันทรคติของชาวสุเมเรียน ที่คำนวนการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ กำหนดให้วันที่พระจันทร์ขึ้น 1 ค่ำเป็นวันแรกของเดือน

ปฏิทินมายัน
ปฏิทินสุเมเรียน

ต่อมาคือ ปฏิทินอียิปโบราณ ซึ่งแบ่งหนึ่งปีเป็น 12 เดือน และ 1 เดือนมี 30 วัน วันแรกของปีคือวันที่ดาวซิริอุสปรากฏบนขอบฟ้า ตรงกับฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมตลิ่งแม่น้ำไนล์ อันเป็นสัญญาณถึงความอุดมสมบูรณ์ที่จะเกิดขึ้นตลอดปี

ถัดมาคือ ปฏิทินบาบิโลน (Babylon Calendar) เป็นปฏิทินที่ใช้พื้นฐานของปฏิทินสุเมเรียน เน้นการสังเกตและจดบันทึกการเคลื่อนที่ของดวงดาวอย่างเป็นระบบ ทำให้ชาวบาบิโลนสามารถทำนายการเปลี่ยนของฤดูกาลได้อย่างแม่นยำและถูกต้องมากขึ้น ต่อจากนั้นจึงเข้าสู่ระบบของปฏิทินมายัน

ต่อจากระบบปฏิทินมายัน คือ ปฏิทินโรมัน ซึ่งใช้ในช่วงที่ชาวโรมันเรืองอำนาจ มีการกำหนดให้ 1 ปี เท่ากับ 10 เดือน 1 เดือน ยาวนานถึง 36-37 วัน และค่อยๆ ลดลงเป็น 31 วัน แต่ด้วยความคลาดเคลื่อนของระบบคำนวนทำให้บางปีเทศกาลอีสเตอร์ดันไปตรงกับช่วงฤดูร้อนเสียอย่างนั้นทำให้ จูเลียส ซีซาร์ ผู้เรืองอำนาจแห่งกรุงโรมบอกให้นักดาราศาสตร์คำนวนปฏิทินโรมันเสียใหม่โดยใช้หลักการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์แทน กลายเป็นที่มาของปฏิทินสุริยคติ 1 ปี มี 12 เดือน และ 1 เดือนเท่ากับ 30-31 วัน ส่วนกุมภาพันธ์มี 28 วัน และเพิ่มเป็น 29 วันในทุกๆ 4 ปี เพื่อให้ใกล้เคียงกับวิถีโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ที่  1 ปี เท่ากับ 365.24218 วัน เรียกปฏิทินระบบนี้ว่า ปฏิทินจูเลียน (Julian Calendar)

วันสิ้นโลก
ปฏิทินโรมัน

ระบบปฏิทินของโลกไม่ได้มีเพียงฝั่งโรมัน แต่ยังมี ปฏิทินฮิจเราะฮ์ (Hijri Calendar) ซึ่งเป็นปฏิทินอิสลามถือกำเนิดขึ้นด้วย เริ่มนับฮิจเราะฮ์ที่ 1 เมื่อ 15 กรกฎาคม พ.ศ.1165 ปฏิทินอิสลามนี้เป็นปฏิทินจันทรคติ ถือเอา 1 ปี เท่ากับ 354-355 วัน เริ่มต้นวันใหม่เมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ใช้เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนาเช่น รอมฎอน การประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นสำคัญ

สำหรับระบบปฏิทินสากลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือ ปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian Calendar) ซึ่งใช้พื้นฐานจากปฏิทินจูเลียน ผู้ให้กำเนิดปฏิทินคือ พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 พระองค์ได้คำนวนปฏิทินจูเลียนใหม่เพราะเวลา 1 ปีในปฏิทินจูเลียนนั้นยาวนานกว่าฤดูกาลจริง จนทำให้วันที่มีช่วงกลางวันเท่ากับกลางคืน (วันวสันตวิษุวัต) คลาดเคลื่อน ส่งผลให้ยุโรปซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของศาสนจักรเปลี่ยนมาใช้ ปฏิทินเกรกอเรียน และประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็เริ่มหันมาใช้ระบบ ปฏิทินเกรกอเรียน

วันสิ้นโลก
ปฏิทินบาบิโลน

การเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ปฏิทินมีความสำคัญต่อการทำนายวันสิ้นโลกมาก เพราะหลังจากที่ Paolo Tagaloguin ได้ออกมาประกาศวันสิ้นโลกใหม่เป็นวันที่ 21 มิถุนายน 2020 ก็มีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการมากมายว่านี่คือข่าวปลอม

การที่ Paolo Tagaloguin ได้กำหนดวันสิ้นโลกใหม่เพราะในแต่ละปีนั้นมีวันที่หล่นหายไปแต่กระนั้นก็ยังมีข้อที่น่าสงสัยในการทำนายวันสิ้นโลกใหม่ออกมามากมาย หนึ่งในข้อโต้แย้งคือการเปลี่ยนระบบจากปฏิทินจูเลียนมาเป็นปฏิทินเกรกอเรียนของแต่ละประเทศที่ไม่ตรงกันและส่งผลให้การคำนวนคลาดเคลื่อนได้

ปัจจุบันทวีตเตอร์เรื่องวันสิ้นโลกดังกล่าวก็ถูกลบออกไปแล้ว และที่ชัดเจนยิ่งกว่าวันสิ้นโลกคือ ทางดาราศาสตร์ได้คำนวนไว้แล้วว่า 21 มิถุนายน 2020 เป็นวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี เรียกว่า “ครีษมายัน” และจะเกิดสุริยุปราคาบางส่วนในช่วงเวลา 13.00 – 16.10 น. ดวงอาทิตย์จะเว้าแหว่งที่สุดในเวลา 14.49 น. 

ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี ฉบับมกราคม 2555