อาโรคยปณิธาน : นิทรรศการว่าด้วยโรคระบาด การรักษา ที่มีมาแต่โบราณของไทย
Arts & Culture

อาโรคยปณิธาน : นิทรรศการว่าด้วยโรคระบาด การรักษา ที่มีมาแต่โบราณของไทย

Focus
  • พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนชุดใหม่ อาโรคยปณิธาน เล่าถึงประวัติศาสตร์โรคระบาดในไทย
  • อาโรคยปณิธาน ชื่อของนิทรรศการหมายถึง ความปรารถนาที่จะให้ปวงมนุษยชาติพ้นจากโรค

เคยสงสัยไหมว่าก่อนที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์จากตะวันตกจะเดินทางมาถึงสยาม คนไทยแต่โบราณเขารักษาโรคภัยและป้องกันความเจ็บไข้กันอย่างไร คำตอบมีอยู่ในนิทรรศการใหม่ล่าสุด และน่าชมอย่างที่สุดจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ  อาโรคยปณิธาน นำเสนอประวัติศาสตร์โรคระบาดที่มาพร้อมหลักฐานทางโบราณคดี เชื่อมโยงทั้งความเชื่อ พุทธศาสนา ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวบ้านไปจนถึงการปฏิบัติของชาววังในการขับไล่โรคภัยไปพร้อมกับสิ่งชั่วร้ายที่เชื่อกันว่าก่อให้เกิดการเจ็บป่วย

อาโรคยปณิธาน จัดแสดงตั้งแต่ 15 พฤษภาคม – 7 สิงหาคม 2565 เวลา 9.00-16.00 น.(ปิดวันจันทร์และอังคาร) Sarakadee Lite ขอหยิบโบราณวัตถุไฮไลต์บางชิ้นมาเรียกน้ำย่อยกันก่อน ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากนิทรรศการเปิดแล้วเราจะพาไปชมฉบับเต็มกัน

คัมภีร์พระตำรับแผนฝีดาษ

ช่วงอายุ : รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25

ที่มา : ได้มาจากห้องสมุดกรมศึกษาธิการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ  

สมุดไทยดำ อักษรขอมปนไทย เขียนด้วยลายเส้นชุบทองชิ้นนี้ เป็นแผนภาพฝีดาษประจำ 12 เดือน พร้อมด้วยวิธีการรักษา ตำรับยาในการรักษาอาการระดับต่างๆ รวมไปถึงการอธิบายลักษณะของฝีที่เกิดขึ้น วันกำเนิดฝีที่จะกลายเป็นฝีร้าย และลักษณะของฝีแบบต่างๆ ซึ่งฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ ถือว่าเป็นโรคร้ายแรงของไทยแต่โบราณปรากฏบันทึกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่การปลูกฝีกันไข้ทรพิษในสยามกลับเพิ่งเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรงกับยุคที่หมอบรัดเลย์ และเหล่ามิชชันนารี เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมความรู้ด้านการแพทย์แบบตะวันตก โดย วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2379 ป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการทดลองปลูกฝีกันไข้ทรพิษขึ้นในสยาม

เครื่องประดับข้อพระกร

ช่วงอายุ : อยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20

ที่มา : ได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ปี พ.ศ.2500 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

หอยเบี้ยจั่นพร้อมตลับและสายสร้อยข้อมือทองคำชิ้นนี้พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  สันนิษฐานว่าเป็นการนำหอยเบี้ยมาใช้เป็นเครื่องรางของขลัง เพราะหอยเบี้ยมีตลับปิดมิดชิด โดยในศาสนาฮินดูใช้หอยเบี้ยจั่นเป็นตัวแทนพระลักษมีในการบูชาพระนาง ในฐานะเทวีแห่งโชคลาภ การบูชาด้วยเบี้ยจั่นจึงถือว่าทำให้เกิดความมั่งคั่ง และความเจริญรุ่งเรือง ในสมัยอยุธยาเบี้ยจั่นถูกใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า แต่นอกจากนั้นเรายังเคยเห็นการนำเบี้ยมาเป็นเครื่องประดับผูกเอวหรือห้อยคอให้เด็กๆ เพื่อป้องกันความเจ็บป่วยอีกด้วย

สมุดไทยขาวตำราแม่ซื้อ

ช่วงอายุ : รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-25

ที่มา : สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร       

หนังสือสมุดไทยขาว หมวดเวชศาสตร์ เลขที่ 102 เขียนภาพลงสีเล่าถึง “แม่ซื้อ” หรือผู้คุ้มครองเด็กประจำวันต่างๆ ที่มีลักษณะต่างกันออกไป รวมทั้ง “ลำบองราหู” ซึ่งเป็นอาการของโรค โดยด้านในหนังสือสมุดไทยขาวบรรยายภาพด้วยอักษรไทย ลายเส้นสีดำ

แม่ซื้อ หลายคนอาจจะคุ้นเคยคำนี้อยู่บ้างว่าหมายถึงผู้ที่คุ้มครองเด็กเพราะเด็กแรกเกิดในโบราณมีอัตราการตายสูง คนจึงเชื่อในเรื่องแม่ซื้อ เป็นเหมือนเทวดาผู้คอยดูแลเด็กแรกเกิด ในส่วนของจิตรกรรม “ลำบองราหู” อาจจะไม่ค่อยคุ้นนัก คำนี้หมายถึงอาการของโรคต่างๆ ในเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงหนึ่งขวบ ถ่ายทอดเป็นรูปวาดอมนุษย์ คนโบราณเชื่อว่าความเจ็บไข้ของเด็กในช่วงปีแรกเกิดขึ้นเพราะอำนาจของลำบองราหูซึ่งมีอาการและรูปลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน โดยรูปลักษณ์ของลำบองราหูมักปรากฏในรูปแบบของการใช้สัญลักษณ์ประจำจักรราศีทั้ง 12 ราศี เพื่อสื่อความหมายถึงโรคภัยประจำเดือนนั้นๆ

อีกความพิเศษของภาพลำบองราหูชิ้นนี้คือ มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรลำบองราหู บริเวณคอสองเฉลียงศาลาราย หรือ ศาลาแม่ซื้อ ภายในวัดโพธิ์เป็นอย่างมาก

อาโรคยปณิธาน

พระพุทธรูปปางมารวิชัย

ช่วงอายุ : ศิลปะรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2477

ที่มา : นายเสียง ปาลวัฒน์ (เป้า) สร้างอุทิศให้นายสำรวย ปาลวัฒน์ (บุตร)

รูปเคารพทางพุทธศาสนาที่มีเค้าลางเรื่องการสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ เรียกว่า พระช่วยชีพ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงจีวรลายดอก ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ถือเป็นพระพุทธรูปกลุ่มที่นิยมสร้างเพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชา มีการเว้นที่ว่างสำหรับจารคำอธิษฐาน ขออำนาจพุทธเทวดาบันดาลให้บุตรหายป่วย แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องการต่ออายุด้วยการอุทิศรูปเคารพ ในลักษณะเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปถวายเจ้านายพระองค์สำคัญอย่าง  พระนิรโรคันตรายพระพุทธนิรโรคันตราย หรือ พระพุทธศรีสงขลานครินทร์

อาโรคยปณิธาน

พระกริ่งบาเก็ง

ช่วงอายุ : ศิลปะจีน พุทธศตวรรษที่ 18

ที่มา : เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาแต่เดิม

พระเครื่องจำลองรูปพระไภษัชยคุรุ เป็นพระที่นิยมนำไปใส่ลงในภาชนะเพื่อทำน้ำมนต์ สำหรับดื่มชำระโรคภัยและใช้ประพรมเสริมความสิริมงคล มีต้นแบบสำคัญอยู่ในประเทศทิเบต แล้วแพร่หลายต่อไปยังประเทศจีน โดยพระกริ่งกลุ่มนี้พบบนเขาพนมบาเก็ง ประเทศกัมพูชา ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน ทั้งนี้แม้ความเชื่อเรื่องการดื่มน้ำมนต์เพื่อรักษาโรคจะถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงความเชื่อเรื่องการใช้ประพรมเสริมความมงคลแก่ชีวิตก็ตาม แต่อำนาจพุทธคุณของพระกริ่งยังคงเป็นที่นับถือสืบมาจนปัจจุบัน

อาโรคยปณิธาน

แท่นหินบดยา มีจารึกเยธมฺมาฯ

ช่วงอายุ : ทวารวดี  พุทธศตวรรษที่ 11-12

ที่มา : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พบที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2507 กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ

แท่นหินบดยา ที่พบเหลือครึ่งแท่นตามแนวขวางชิ้นนี้ บริเวณใต้แท่นหินบดยา มีคาถา “เย ธมฺมาฯ” จำนวน 5 บรรทัดเขียนด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี โดย เทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก (ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร) ได้อธิบายว่าการนำคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนามาจารึกบนแท่นหินบดยาเชื่อว่าทำให้ตัวยาศักดิ์สิทธิ์ด้วยฤทธิ์พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้พ้นจากโรคหรือก็คือการพ้นจากทุกข์ ปัจจุบันพบแท่นหินบดยาที่มีจารึกคาถาเย ธมฺมา เพียง 2 ชิ้น จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนในสมัยทวารวดีที่มีต่อพระพุทธศาสนาที่เชื่อมกับการปรุงยารักษาโรคด้วย

อาโรคยปณิธาน

ประติมากรรมฤาษีดัดตน

ช่วงอายุ : รัตนโกสินทร์

ที่มา : คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณ และศิลปวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ และทรงพระราชดำริเอาท่าดัดตนของโยคีอินเดียที่เป็นการออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง และแก้ปวดเมื่อย ปั้นด้วยดินเป็นฤาษีดัดตนท่าต่างๆ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้หล่อเป็นเนื้อชิ้น

อาโรคยปณิธาน

ปืนกลพระสุบินบันดาล

ช่วงอายุ : รัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 4)

ที่มา :  คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้น ปืนกลพระสุบินบันดาล ขึ้นตามที่ทรงพระสุบินว่ามีปืนอย่างหนึ่งซึ่งเป็นรูปปืนใหญ่แต่ยิงได้หลายๆ นัด ตั้งไว้ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปืนตามกระแสพระสุบิน แต่เมื่อสร้างเสร็จมีรับสั่งว่านี่ไม่เหมือนปินที่ทรงพระสุบิน แต่กลับยิงได้หลายนัดคล้ายคลึงกัน จึงพระราชทานชื่อว่า “พระสุบินบันดาล” ซึ่งความเชื่อแต่โบราณโดยเฉพาะในรั้ววังนั้นมีความเชื่อเรื่องการยิงปืนใหญ่เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและสิ่งไม่ดี ซึ่งโรคภัยก็จัดอยู่ในประเภทของสิ่งชั่วร้ายเหล่านั้นด้วย เช่น พระราชพิธีอาพาธพินาศ ซึ่งจัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ตรงกับช่วงที่อหิวาตกโรคระบาดหนัก มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตั้งแต่กลางคืนยันรุ่งช้ำพร้อมการสวดมนต์ทำทานเพื่อขับไล่โรคภัยให้ออกจากเมืองและเสริมขวัญกำลังใจให้แก่ชาวเมือง

หน้ากากให้ยาสลบแบบชิมเมลบุช

ที่มา : พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

หน้ากากชิมเมลบุช เป็นเครื่องมือทางวิสัญญีวิทยา ประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2433 โดย นพ.เคอร์ท ชิมเมลบุช ศัลยกรรมชาวเยอรมัน มีลักษณะเป็นตะแกรงหน้ากากโปร่ง หุ้มด้วยผ้าสำสีหรือผ้าก็อซสำหรับหยดยาสลบ แล้วนำไปครอบจมูกและปากให้ผู้ป่วยสูดดม ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ยุคเริ่มแรกสำหรับการผ่าตัดภายในโรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ศัลยแพทย์ในการผ่าตัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และลดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยได้อย่างดี

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ เปิดเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร)
  • ค่าเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท, ต่างชาติ 200 บาท, นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม
  • สอบถามเพิ่มเติม : โทรศัพท์ 0-2224-1333 และ 0-2224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok
  • นิทรรศการ อาโรคยปณิธาน จัดแสดงระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – 7 สิงหาคม 2565 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite