ฌอง ฌากส์ รุสโซ : ตัวบทต้นธารคนสำคัญแห่งประชาธิปไตย
Faces

ฌอง ฌากส์ รุสโซ : ตัวบทต้นธารคนสำคัญแห่งประชาธิปไตย

Focus
  • ฌอง ฌากส์ รุสโซ เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1712 ที่รัฐเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาเป็นทั้งนักปรัชญา นักเขียน และนักทฤษฎีด้านการเมือง
  • หนังสือหลักแห่งสิทธิทางการเมืองเล่มอมตะอย่าง“สัญญาประชาคม”ก็เป็นงานเขียนของฌอง ฌากส์ รุสโซ และเขาก็คือผู้ผลิตความคิดอันเป็นอิทธิพลทางปัญญาสำคัญในการปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศส ค.ศ.1789
  • รุสโซได้แบ่งความไม่เท่าเทียมออกเป็น 2 ประเภท หนึ่งคือเป็นไปโดยธรรมชาติสองคือความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากศีลธรรมการเมือง

ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) เป็นทั้งนักปรัชญา นักเขียน และผู้ผลิตความคิดอันเป็นอิทธิพลทางปัญญาสำคัญในการปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศส (French Revolution)ค.ศ.1789 ด้วยแนวคิดสำคัญที่มุ่งเน้นว่าการที่มนุษย์ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นประชาชนในสังคมอย่างยินยอมจนมีสัญญาและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประชาชนกับสังคมจึงเกิดการกำหนดสิทธิและหน้าที่ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า สัญญาประชาคม (Social Contract)โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ที่ประชาชนไว้วางใจให้ใช้อำนาจปกครองและมีบทบาทตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ โดยประชาชนเองสามารถเรียกคืนอำนาจหรือถอนสัญญาได้หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง

ด้วยอิทธิพลทางความคิดเรื่อง สัญญาประชาคม ที่ให้ความสำคัญในการมองเห็นว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชน ทำให้ชื่อของ รุสโซ เป็นอีกหนึ่งนักเขียนเชิงปรัชญาสังคมที่ผู้คนในทุกยุคสมัยยังคงกล่าวถึง แม้ว่างานของรุสโซจะถูกเขียนขึ้นมาหลายศตวรรษแล้วก็ตาม แต่หากเมื่อใดที่ประชาชนเผลอคิดไปว่าอำนาจเป็นของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความคิดของรุสโซก็คงยังไม่ล้าสมัยแต่อย่างใดสำหรับสังคมนั้น

มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม

ธรรมชาติและมนุษย์เป็นสิ่งที่รุสโซสนใจและนำมาวิเคราะห์ เขามักตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติและการเปลี่ยนแปรจากสิ่งนั้นสู่การเป็นสังคมโดยเขาได้เชื่อมโยงการสร้างขึ้นของสังคมที่ต่างออกไปจากสิ่งที่มีอยู่เดิมหรือธรรมชาติแนวคิดที่แพร่หลายคือความไม่เท่าเทียมที่ถูกสร้างขึ้นและเสมือนโดยอำพรางไว้จนดูคล้ายกับเป็นเพียงเรื่องปกติธรรมดาเป็นธรรมชาติ โดยรุสโซได้แบ่งความไม่เท่าเทียมออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ความไม่เท่าเทียมที่เป็นไปโดยธรรมชาติ เช่น ความแตกต่างกันของความชรา สุขภาพ ร่างกาย และจิต โดยองค์ประกอบเหล่านี้มีความแตกต่างกันตามบุคคลจากธรรมชาติก่อนที่มนุษย์จะมาอยู่เป็นสังคม และ 2.ความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากศีลธรรมการเมือง อันเกิดจากการสร้างและสมมติขึ้นหรือตกลงร่วมกันของสังคมมนุษย์ เช่น การที่คนคนหนึ่งมีโอกาสที่จะหาความสุขมากกว่าคนอื่น หรือร่ำรวย มีเกียรติ มีอำนาจ ชาติตระกูลที่มั่งคั่งกว่าผู้อื่นรวมไปถึงการที่สร้างว่ามีใครที่จะสมควรต้องเชื่อฟังมากกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่น

หากขยายความสองสิ่งนี้รุสโซได้สังเกตว่ามีธรรมชาติที่แท้จริงอยู่ ธรรมชาติที่แท้จริงจะอยู่นอกเหนือหรือเป็นสิ่งที่เป็นไปโดยปราศจากการควบคุมของสังคม แต่ก็มีบางสิ่งที่มนุษย์สร้างและพยายามทำให้มันเป็นธรรมชาติผ่านการให้เหตุผลต่าง ๆ ในการสร้างบางสิ่งให้เสมือนเป็นธรรมชาติ เช่น อาการเจ็บป่วย

ในทรรศนะของรุสโซเขามองว่าหากมองการเจ็บป่วยผ่าน ๆ จะดูเหมือนเป็นธรรมชาติเป็นปกติของมนุษย์ แต่หากมองอย่างพินิจจะเห็นได้ว่า ความเจ็บป่วยนั้นถูกสร้างขึ้นจากความไม่เท่าเทียมทางสังคมได้เช่นกัน รุสโซอธิบายตัวอย่างนี้ไว้ว่า บางคนสามารถอยู่เฉยได้โดยไม่ต้องใช้ร่างกายทำงานก็มีอาหารดี ๆ กินซึ่งแม้อาหารนั้น ๆ อาจมีผลกระทบต่อระบบย่อยได้เหมือนกัน แต่สำหรับบางคนที่ต้องทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำก็แทบไม่มีอาหารดี ๆ กินแถมยังใช้ร่างกายเกินกำลังอีกด้วย สิ่งเหล่านี้คือความเหลื่อมล้ำในวิถีชีวิตและชนชั้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความเจ็บป่วยทางร่างกายด้วยเช่นกันซึ่งชนชั้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้น

รุสโซมีแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “มนุษย์” ที่มองในมุมต่างออกไปจากนักคิด นักทฤษฎีในยุคนั้น เช่น เรื่องความรู้สึกที่ถูกสร้างขึ้นมา ในงานเขียนของเขาเขียนไว้ชัดว่า มนุษย์ไม่สามารถจะปรารถนาหรือกลัวสิ่งใด เว้นแต่เรามีความคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นอยู่แล้ว มนุษย์ตามธรรมชาติสำหรับรุสโซจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่แท้จริงที่ไม่กลัวต่อความตาย เพราะหากไม่มีความคิดเรื่องความตาย ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความตายก็จะไม่สามารถกลัวความตายได้

ความกลัวตายสำหรับเขาจึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาภายหลังความคิดของมนุษย์สำหรับเขาจึงสำคัญในฐานะสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและกำหนดความปรารถนา ความกลัว หรืออารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ไม่ต่างจากหลาย ๆ แนวคิดที่เป็นงานทรงพลังของรุสโซเองก็เกิดขึ้นจากการถูกสร้างเช่นกัน ปรัชญาของรุสโซถูกหล่อหลอมอย่างโชกโชนด้วยชีวิตที่ลำบากยากเข็ญและเต็มไปด้วยวิกฤตชีวิตหลายต่อหลายครั้ง

ฌอง ฌากส์ รุสโซ
ฌอง ฌากส์ รุสโซ (ภาพ : Encyclopedia Britannica)

ฉากชีวิตที่ประกอบสร้างเป็นฌองฌากส์รุสโซ
ฌองฌากส์รุสโซ เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1712 ที่รัฐเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยแม่ของเขาเสียชีวิตหลังจากคลอดเขาไปเพียงไม่กี่วัน ส่วนพี่ชายก็หนีออกจากบ้านไปตั้งแต่เขายังเด็ก รุสโซจึงเติบโตมาในการเลี้ยงดูของพ่อผู้เป็นช่างทำนาฬิกาซึ่งเคยมีฐานะดีด้วยการที่ครอบครัวนี้ในรุ่นปู่ของเขาอพยพมาจากฝรั่งเศส

แต่แล้วครอบครัวของรุสโซก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นเมื่อสมบัติของปู่ต้องแบ่งมรดกออกเป็นสิบห้าส่วน ทำให้ฐานะทางบ้านของรุสโซตั้งแต่วัยเด็กไม่ดีเหมือนที่เคยเป็นมาในรุ่นพ่อของเขา แต่ก็ด้วยมรดกปู่นี้เองทำให้รุสโซได้รับมรดกเป็นวรรณกรรมคลาสสิกจำนวนหนึ่งซึ่งพอมารวมกับหนังสือเก่าของแม่รุสโซที่ก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือ และตาของรุสโซเองก็เป็นศาสนาจารย์ทำให้ในบ้านของรุสโซมีหนังสือจำนวนมาก รุสโซจึงเป็นคนที่สนใจการอ่านมาตั้งแต่เด็กทั้งงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อย่าง Parallel Lives ของ พลูตาร์ก(Plutarch) และ นวนิยายชื่อดังอย่าง Odyssey และ Iliad ของ โฮเมอร์(Homer) ล้วนผ่านการรับรู้ของรุสโซในวัยเยาว์ทั้งนั้น

รุสโซเคยกล่าวถึงความชื่นชอบในหนังสือของพลูตาร์กในหนังสือ The Confessions และในงานเขียนเล่มดังของรุสโซอย่าง สัญญาประชาคม ก็เคยมีจุดที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของโรมัน ซึ่งรุสโซก็ได้แนวความคิดมาจากงานเขียนเกี่ยวกับแนวคิด สาธารณรัฐนิยมโรมัน ที่ปรากฏในงานของพลูตาร์กเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการอ่านงานพลูตาร์กของรุสโซนั้นคือแม้งานเขียนของพลูตาร์กอาจสามารถมองได้ว่าเป็นงานที่ใช้วิธีเขียนยกย่องตัวบุคคลในประวัติศาสตร์ เช่น จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ปอมเปย์ (Pompey) นูมา ปอมปิลิอุส(Numa Pompilius) รุสโซกลับอ่านโดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นรอง คือ การปกครองของโรมัน วัฒนธรรม อุดมการณ์ และความคิดแบบสาธารณรัฐ ไม่ได้สนใจในประเด็นหลักอย่างเรื่องเรื่องการยกย่องวีรชนหรือวีรบุรุษ และนั่นทำให้งานเขียนของพลูตาร์กจึงเป็นหนึ่งในต้นธารสำคัญของรุสโซดังที่เขาเคยกล่าวถึงงานเขียนพลูตาร์กไว้ว่า

“…การอ่านหนังสือพวกนี้ทำให้ข้าพเจ้ามีจิตใจที่รักอิสรเสรีและนิยมระบอบสาธารณรัฐ อีกทั้งมีนิสัยที่ไม่ยอมสยบให้ใครและหยิ่งทะนง ตลอดจนไม่ยอมให้ใครมากดหัวเอาตัวลงเป็นทาส…”

จุดเปลี่ยนอีกองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิตรุสโซก็คือความระหกระเหินและความวุ่นวายของครอบครัวที่ทำให้เขาได้ใช้ชีวิตในหลายสังคมอาทิ ในปี ค.ศ.1722 พ่อของรุสโซไปมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับทหารนายร้อยกองทัพฝรั่งเศสในกรุงเจนีวา ด้วยความกลัวการกระทำผิดที่ไปวิวาทกับทหารพ่อของรุสโซจึงหนีออกจากเจนีวาหลังจากนั้นทำให้รุสโซต้องมาพักอาศัยกับลุงแทน และเมื่ออายุ 13 ปีเขาก็ต้องออกไปหางานทำโดยอาชีพที่เขาทำมีหลากหลายตั้งแต่ช่างทำนาฬิกา เสมียนศาล ช่างแกะสลัก หรืองานถูตะไบเหล็ก ในเวลานี้รุสโซจึงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากแร้นแค้นและอดอยาก จนทำให้เขามีนิสัยขโมยของเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น อาหาร เสื้อผ้า เงินทอง ของนายจ้าง หรือ พืชผักของเพื่อนบ้าน

ความลำบากของชีวิตทำให้รุสโซได้กลับมาขบคิดกับคำถามเชิงปรัชญาที่ว่าด้วย “ศีลธรรมของมนุษย์” รุสโซได้ตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำเยี่ยงขโมยดังกล่าวเป็นผลพวงของสิ่งแวดล้อมที่กำหนดการกระทำของมนุษย์ไม่ใช่เกิดจากภายในตัวของมนุษย์เองที่ต้องการเป็นขโมย เขาสังเกตและเปรียบเทียบกับเมื่อก่อนหน้าที่เขามีความเป็นอยู่ดีกว่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างดีจากครอบครัวเขาไม่มีความคิดเรื่องที่จะขโมยของใครเลย ดังนั้นในงานเขียนของเขาหลายต่อหลายชิ้นจึงย้ำอยู่เสมอถึงความเชื่อที่ว่า “มนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมความเลวร้าย แต่สภาพแวดล้อมที่โหดร้ายทำให้คนเลวลง”

ฌอง ฌากส์ รุสโซ

อีกช่วงชีวิตสำคัญก็คือในปี ค.ศ.1762ในขณะที่รุสโซพักอาศัยอยู่ในปารีสและเป็นปีที่ สัญญาประชาคม หรือหลักการสิทธิทางการเมือง (The Social contract or the principles of political right)และ เอมีล (หรือการศึกษา) (Emile or on the education) งานเขียนของเขาที่โด่งดังข้ามเวลาจนเป็นที่รู้จักกันถึงปัจจุบันได้ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งหลังจากงานทั้งสองชิ้นนี้พิมพ์ออกมาในปีเดียวกันก็เกิดเหตุที่ทำให้ชีวิตของเขาพลิกผันอีกครั้งเมื่อหนังสือทั้งสองเล่มนี้ถูกสั่งเผาทำลายและห้ามพิมพ์จำหน่ายจากทางการปารีสและศาสนจักรคาทอลิกและชื่อของรุสโซก็เข้าไปอยู่ในหมายจับข้อหาหมิ่นศาสนาและเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า โดยในเล่มสัญญาประชาคมมีบทที่ว่าด้วยศาสนาและรุสโซเขียนโจมตีศาสนจักรอย่างชัดเจนว่า

“…หัวใจสำคัญของศาสนาคริสต์ที่แท้จริงคือการสอนให้มนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกันภายใต้พระผู้สร้างองค์เดียวกัน แต่ศาสนาคริสต์ทุกวันนี้กลับสอนถึงแต่เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ความยิ่งใหญ่ของศาสนา…”

จากการถูกตั้งข้อหนักทำให้ชีวิตของเขาตกต่ำถึงขั้นเป็นคนเร่ร่อนต้องลี้ภัยหลบหนีไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อหนีการจับกุม เคราะห์ซ้ำกรรมซัด สภายี่สิบห้าคนของเจนีวา (Council of 25)ประกาศซ้ำอีกว่าหนังสือทั้ง2 เล่มห้ามจำหน่ายและต้องเผาทำลายพร้อมประกาศยกเลิกความเป็นพลเมืองแห่งเจนีวา รุสโซจึงต้องกลายเป็นบุุคคลไร้สัญชาติหลังจากนั้นเขาต้องเดินทางไปพำนักตามที่ต่างๆและย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ แต่หลังจากการลี้ภัยหลายปีช่วงแปดปีสุดท้ายของเขาก็ตัดสินใจพำนักอยู่แถบชานเมืองปารีสอย่างหลบซ่อนและมีอาชีพคัดลอกโน้ตเพลงยังชีพ

วาระสุดท้ายเขาอยู่ในบ้านย่านErmenonvilleรุสโซก็เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1778 ศพของรุสโซได้ฝังอยู่บนเกาะขนาดเล็ก Îledes Peupliersภายหลังจากนั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสไปแล้วศพของเขาจึงได้ย้ายเข้ามาไว้ที่วิหารปองเตออง (Pantheon) กลางปารีสในปี ค.ศ.1794และกลายเป็นบุคคลสำคัญผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789

ฌอง ฌากส์ รุสโซ

ต้นธารทางปัญญาแห่งประชาธิปไตย
หลังจากการเสียชีวิตประมาณ 10 ปี แนวคิดของเขาที่มุ่งเน้นว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ปัจเจกชนมีเสรีภาพ ความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายเดียวกัน แนวคิดเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมเหล่านี้มีความสำคัญต่อทัศนคติของแกนนำในการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 และเป็นรากฐานของแนวคิดประชาธิปไตยสมัยใหม่

ด้วยความเชื่อของเขาที่ว่าโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเห็นอกเห็นใจมนุษย์ด้วยกันเอง และ มนุษย์นั้นย่อมรักตนเอง แต่ด้วยการปรับเปลี่ยนจากมนุษย์ในฐานะสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตหนึ่งสู่สังคมของมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกันอันเป็นรากฐานของการสร้างรัฐ แต่การสร้างรัฐในมุมของรุสโซนั้นได้โยงไปในมุมมองเพื่อการแสดงหาผลประโยชน์และปกป้องทรัพย์สินการเกิดขึ้นของสังคมและรัฐจึงได้ซ่อนเรื่องความไม่เท่าเทียมเอาไว้ด้วย

รุสโซยังชี้ให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมสามารถเกิดขึ้นได้จากการสมมติและดัดแปลงสร้างวาทกรรมให้กับสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติเช่น รูปร่างลักษณะร่างกาย ความฉลาดความแข็งแรง เดิมทีสิ่งเหล่านี้เป็นปกติของมนุษย์แต่เมื่อกำเนิดความคิดหล่อสวย ฉลาด ร่างกายแข็งแรงก็จะสร้างความอัปลักษณ์ โง่เขลา และอ่อนแอ ขึ้นด้วย สิ่งนี้รุสโซเรียกว่าความไม่เท่าเทียมกันแบบสมมติ (Conventional/Moral)  ซึ่งทั้งการพิทักษ์กรรมสิทธิ์และการสมมติขึ้นนี้เองสามารถสร้างความไม่เท่าเทียมและความไม่มีเสรีภาพให้เกิดขึ้นกับสังคมมนุษย์อีกด้วยเมื่อมนุษย์เริ่มใช้โลหะในการทำเกษตรกรรม

เมื่อการพัฒนาจากการกินแบบวันต่อวันมื้อต่อมื้อของสัตว์ในธรรมชาติสู่การทำเกษตรกรรมกักตุนมนุษย์จึงมีแนวคิดของความฟุ่มเฟือยตามมาและเป็นมโนทัศน์ของสิ่งที่เรียกว่า อนาคต เนื่องจากการเก็บสะสมนั้นเป็นความคิดที่สร้างเวลาอนาคตขึ้นมาในสำนึกมนุษย์ด้วย และด้วยวิธีคิดที่นอกเหนือไปจากการยังชีพนี้เองจึงเสริมความไม่เท่าเทียม การกักตุน และความต้องการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินรวมถึงทำให้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆทยอยมีคุณค่าขึ้นมา  รุสโซอธิบายในประเด็นนี้ว่า

“มนุษย์คนแรกที่เริ่มต้นสร้างความคิดในเรื่องกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนตัว ก็เริ่มจะล้อมที่ดินผืนหนึ่ง และคิดว่านี้เป็นของของข้าและก็มีคนอื่นที่ซื่อพอ (Simple Enough) ที่จะเชื่อคำกล่าวอ้างของไอ้มนุษย์ตัวนั้น คนที่กั้นรั้วนี้แหละเป็นผู้ก่อตั้งสังคมคนแรกจากการกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดอาชญากรรม สงครามครั้งนับไม่ถ้วน การสังหารโหดระหว่างกัน ความน่าสะพรึงกลัวต่างๆและความเคราะห์ร้ายมากมายทำไมเล่าถึงไม่มีใครสักคนที่ออกไปดึงหมุดปักรั้วที่ดินนั้นหรือไปถมคูที่ล้อมรั้วที่ดินนั้นอยู่ และก็ไปร้องบอกเพื่อนมนุษย์คนอื่นว่า อย่าไปเชื่อมนุษย์หลอกลวงคนนี้ พวกเอ็งจำไม่ได้แล้วเหรอว่าเมื่อก่อนผลผลิตจากผืนแผ่นดินทุกอย่างเป็นของพวกเราทุกคน และก็โลกใบนี้ก็ไม่ได้เป็นของใครเลย”

ส่วนหนึ่งจากหนังสือเล่มดังอย่างสัญญาประชาคมนี้ยังคงทรงพลังในทุกสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมและยังมีใครสักคนที่ฉ้อฉลเอาธรรมชาติไปเป็นทรัพย์ส่วนตัว งานชิ้นนี้และชิ้นอื่นๆของรุสโซไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อความคิดของกลุ่มผู้ก่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 แต่ยังถูกพัฒนาไปสู่แนวคิดทางสังคมการเมืองมากมายอาทิ สังคมนิยม (Socialism) ความคิดแบบมาร์กซ์ (Marxism) และลัทธิคอมมิวนิสต์ (Communism) รวมถึงระบบที่วิวัฒนาการสู่ระบบที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมทางอำนาจอย่าง ประชาธิปไตย ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันอีกด้วย

รุสโซจึงเป็นเสมือนหนึ่งในนักปรัชญา นักเขียน นักคิด ต้นธารประชาธิปไตยคนสำคัญที่เมื่อใดยามที่เราสงสัยว่าทำไมคนบางคนมีที่มากกว่าคนอื่น งานเขียนของรุสโซก็จะชวนให้คิดถึงเรื่องนี้ได้เสมอ และมากกว่านั้นถ้าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงก็คงต้องลองชวนมนุษย์คนอื่น ๆ “ออกไปดึงหมุดปักรั้วที่ดินนั้น” พร้อมตะโกนอย่างพร้อมกันว่า

ผืนแผ่นดินทุกอย่างเป็นของพวกเราทุกคน และก็โลกใบนี้ก็ไม่ได้เป็นของใครเลย

ฌอง ฌากส์ รุสโซ
ภาพจาก: Encyclopedia Britannica

อ้างอิง:

  • ทฤษฎีสังคมวิทยา. สุภางค์ จันทวานิช เขียน.สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 8. 2019
  • ความเรียงว่าด้วยต้นกำเนิดและรากฐานแห่งความไม่เท่าเทียมกันของมวลมนุษยชาติ. ฌอง ฌากส์ รุสโซ เขียน. ศุภชัย ศุภผล แปล.สำนักพิมพ์ Text.2555
  • สัญญาประชาคม หลักแห่งสิทธิทางการเมือง. ฌอง ฌากส์ รุสโซ เขียน.วิภาดา กิตติโกวิท แปล.สำนักพิมพ์ ทับหนังสือ.พิมพ์ครั้งที่2.2555
  • เอมีล (หรือการศึกษา). ฌอง ฌากส์ รุสโซ เขียน.ศิริขันธ์ แปล. สำนักพิมพ์ โฆษิต. 2554
  • แนวคิดเรื่องความยุติธรรมของ ฌอง ฌากส์ รุสโซ.ศุภชัย ศุภผล เขียน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2553

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน