เปิดบันทึกฤดูร้อน ย่ำโคลน ดำนา เยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียนกับ สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์
Better Living

เปิดบันทึกฤดูร้อน ย่ำโคลน ดำนา เยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียนกับ สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์

Focus
  • สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์ จัดเป็นประจำทุกปีทุกปิดเทอมภาคฤดูร้อนโดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับเครือข่ายสิงห์อาสา ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาชั้นนำ เครือข่ายกู้ภัย และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาและ 10 บริษัทในเครือทั่วประเทศ
  • โรงเรียนแปลงนาเฉพาะกิจ เป็นพื้นที่แปลงนารอบๆ โรงงาน บริษัท บุญรอดเอเซียเบเวอเรช จำกัด ในยามปกติที่นี่จะถูกใช้เป็นพื้นที่แปลงนาเพื่อให้พนักงานได้ใช้ประโยชน์ นำผลผลิตจากแปลงส่งต่อแก่พนักงาน ทว่าในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนจะถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่จัดค่ายสิงห์ ซัมเมอร์แคมป์

“วันนี้ได้ดำนา ตีข้าว และจับปลาด้วย”

“ชาวนาต้องตากแดดตากฝนคงเหนื่อยมากเลยค่ะ” 

สำหรับเด็กๆ บางคนปิดเทอมอาจจะหมายถึงช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากตำราการศึกษา ทว่าเด็กๆ ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี พวกเขากลับเลือกที่จะออกไปย่ำโคลน ฟังปราชญฺ์ชาวบ้าน และเรียนรู้นอกตำราที่ โรงเรียนแปลงนาเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นพื้นที่แปลงนารอบๆ โรงงาน บริษัท บุญรอดเอเซียเบเวอเรช จำกัด ซึ่งในยามปกติที่นี่จะถูกใช้เป็นพื้นที่แปลงนาเพื่อให้พนักงานได้ใช้ประโยชน์ นำผลผลิตจากแปลงส่งต่อแก่พนักงาน ทว่าในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน แปลงนาข้าวอินทรีย์แห่งนี้ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นโรงเรียนสอนเพาะปลูกข้าว แต่ยังทำหน้าที่เพาะปลูกภูมิปัญญาชาวนาไทยแห่งจังหวัดสิงห์บุรี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของพระแม่โพสพ พิธีทำขวัญข้าว การทำนาด้วยการพึ่งพิงธรรมชาติ ไปจนถึงการดูแลต้นข้าวด้วยพิธีกรรมความเชื่อพื้นถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ของชาวนาไทยที่ไม่มีที่ใดเหมือน…ทว่ากำลังจะถูกลืมเลือนไปในไม่ช้า

ตามความเชื่อจากปู่ย่าตายายที่ถ่ายทอดกันมาเชื่อว่า พระแม่โพสพ เป็นเทวดาแห่งต้นข้าว เปรียบดั่งผู้หญิงที่รักสวยรักงาม ดังนั้นพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับการทำนาจึงต้องมีความประณีตสวยงาม เตรียมเครื่องแต่งหน้าแต่งตัว เตรียมอาหาร โดยเฉพาะในช่วงที่ข้าวตั้งท้องซึ่งจะมีพิธีทำขวัญข้าว เราก็เปรียบเหมือนช่วงผู้หญิงท้องเขาก็จะอยากกินของเปรี้ยวๆ อมหวาน ผลไม้ต่างๆ เราก็จัดหามาให้ด้วย” 

อำนวย บุญณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำพิธีสู่ขวัญข้าว รับขวัญแม่พระโพสพ

อำนวย บุญณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำพิธีสู่ขวัญข้าว รับขวัญแม่พระโพสพ แห่งโรงเรียนแปลงนากำลังชวนเด็กๆ เปิดบันทึกฤดูร้อนเล่มใหม่ที่ว่าด้วยภูมิปัญญาการทำนาแบบดั้งเดิมของชาวนาไทยโดยในทุกปิดเทอมภาคฤดูร้อน เด็กๆ จากพื้นที่สิงห์บุรีรอบๆ โรงงานฯ จะมารวมตัวกันกลางทุ่งนาแบบไม่กลัวเลอะโคลนหรือเปื้อนดิน พร้อมเดินตาม “ลุงอำนวย” ปราชญ์ท้องถิ่นผู้เปรียบเสมือนครูใหญ่ของเด็กๆ ลัดเลาะแปลงนา ฟังนิทานจากท้องทุ่งที่ไม่สามารถหาอ่านได้ในตำราเรียนวิชาการทั่วไป Sarakadee Lite ชวนไปเก็บภาพความประทับใจกับโครงการ สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์ ปีที่ 14 ในคลาสพลังทีมเวิร์ค กันอีกครั้ง

“เด็กวัยนี้เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ถ้าพามากลางทุ่งแบบนี้ ได้เห็นของจริง ได้ลงมือทำ เขาก็จะยิ่งสนุกและพร้อมที่จะจดจำ ครูก็จะเล่าที่มาที่ไปให้เด็กฟังว่าปู่ย่าตายายคนไทยเราเขามีความผูกพันกับต้นข้าวอย่างไร กว่าต้นข้าวจะเป็นเมล็ดข้าวให้เรากินมันมีความเป็นมาอย่างไร ทำไมต้องมีบทสวดขอขมาและขอพรเทวดาข้าว หรือพระแม่โพสพให้ข้าวออกเมล็ดโตสวยงาม ที่โรงเรียนแปลงนาเฉพาะกิจเราจะให้เด็กๆ ได้ค่อยๆ เรียนรู้และซึมซับไปพร้อมกับความสนุก ให้เขาได้เห็นวัฒนธรรมการทำนาและผู้คนในพิธีกรรมการทำนาที่เริ่มล้มหายตายจากไป”

ลุงอำนวย ปราชญ์ท้องถิ่นผู้เติบโตในครอบครัวชาวนาและเดินตามรอยคุณตาสืบทอดหน้าที่หมอขวัญข้าวจากรุ่นสู่รุ่น ย้อนเล่าถึงกิจกรรมในโรงเรียนแปลงนาเฉพาะกิจ ซึ่งอ้างอิงมาจากอาชีพหลักดั้งเดิมของชาวสิงห์บุรีนั่นก็คือ “ชาวนา” สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศของจังหวัดสิงห์บุรีที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มริมน้ำเจ้าพระยา มีดินอุดมสมบูรณ์ สามารถทำนาได้ 2 ฤดูกาลในรอบหนึ่งปี โดยในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมซึ่งตรงกับเวลาของ สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์ แปลงนาทั่วทั้งสิงห์บุรีจะอยู่ในระยะตั้งท้อง หมายถึงช่วงที่ข้าวเริ่มออกรวงติดเมล็ด เป็นสัญญาณการเข้าสู่พิธีกรรมสำคัญที่สุดของการทำนานั่นก็คือ พิธีทำขวัญข้าวบูชาพระแม่โพสพซึ่งถือเป็น เทวดาหรือเทพีแห่งข้าวและนั่นจึงทำให้พิธีทำขวัญข้าวถูกดึงมาเป็นหลักสูตรพิเศษในกิจกรรมพลังทีมเวิร์ค ใน สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์

สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์

สืบสานหัวใจแห่งชาวนาสิงห์บุรี

ในอดีตวิถีชีวิตชาวนาต้องพึ่งพิงธรรมชาติ คอยดูสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้การเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติอย่างการบูชาพระแม่โพสพจึงเป็นเหมือนการปลุกขวัญและกำลังใจให้กับชาวนา นั่นจึงเกิดเป็นพิธีกรรมในช่วงต่างๆ ของการทำนาเพื่อให้การเก็บเกี่ยวเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย เริ่มตั้งแต่พิธีแรกนาในช่วงเตรียมดินก่อนเพาะปลูกช่วงต้นฤดูฝน และเมื่อต้นข้าวโตในระยะออกรวงติดเมล็ดหรือช่วงต้นข้าวตั้งท้องก็มีพิธีทำขวัญข้าว หรือพิธีรับขวัญข้าวเชื่อว่าการทำพิธีจะช่วยให้ข้าวเติบโตได้ดีและเพิ่มความมั่นใจให้กับชาวนาในการทำการเกษตรได้อย่างราบรื่น แม้ในปัจจุบัน วิถีเกษตรกรรมมีการใช้เครื่องทุ่นแรงเข้ามาทำให้พิธีกรรมเหล่านี้ค่อยๆ เลือนหายไป แต่ในบางพื้นที่ยังมีปฏิบัติกันอยู่ โรงเรียนแปลงนาจึงอยากให้เด็กๆ ได้เห็นถึงหัวใจของการทำนาของชาวนาไทยแต่ดั้งเดิมที่มากไปกว่าเรื่องของการดำนา”

สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์

แม้ความสำคัญของการทำพิธีทำขวัญข้าวเหล่านี้อาจจะเลือนหายไปจากการรับรู้ของวิถีชีวิตสมัยใหม่ แต่ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนปีนี้ ยังมีเด็กเยาวชนประถมวัยในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีกำลังสวดบทรับขวัญข้าวกับปราชญ์ชาวบ้านแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่บูชาพระรัตนตรัย สวดคำกล่าวขอขมาและขอพร  ตามด้วยการจุดธูปเทียนนำธูปไปปักลงในแปลงนา ส่งสัญญาณบอกกล่าวถึงเทวดา และจบด้วยการ “ผูกขวัญต้นข้าว” ด้วยด้ายสีขาวจนเสร็จพิธี

สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์

จบจากพิธีกรรมทำขวัญข้าวที่พาเด็กๆ ลงไปในแปลงนาจริงบริเวณชายคาโรงงาน เด็กๆ ยังได้เรียนรู้กระบวนการทำนาจากเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนและอีกไฮไลต์ที่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กรอคอยก็คือการได้ลงลุยโคลนในขั้นตอนสำคัญอย่าง “ดำนา” ปักต้นกล้าตามวิถีชาวนาดั้งเดิม รวมทั้งการตีข้าว นวดข้าว เพื่อคัดเมล็ดข้าวออกจากรวง ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยว เตรียมเมล็ดพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป ซึ่งทั้งหมดแม้จะเป็นบันทึกฤดูร้อนสั้นๆ ในช่วงปิดเทอม แต่กลับเป็นการเปิดประตูด้านประสบการณ์อีกบานให้เด็กๆ ที่การศึกษาวิชาการโรงเรียนอาจจะไม่สามารถมอบให้

สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์
(จากซ้าย) เด็กหญิงปริญญดา ไชยภวัตวงศ์ และ เด็กชายธนวัตน์ แทนพรม

เช่นเดียวกับบันทึกฤดูร้อนของ เด็กชายธนวัตน์ แทนพรม หรือ น้องช้อป นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนวัดหลวง ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่ร่วมบอกเล่าความรู้สึกกับการเข้าค่ายครั้งนี้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ลงลุยโคลน ลงมือทำนาจริงๆ พร้อมรอยยิ้มแก้มแดงก่ำแดด ก่อนจะบอกต่อว่าตีข้าว หรือนวดข้าวแบบดั้งเดิมเป็นกิจกรรมที่เหนื่อยและสนุก ส่วน เด็กหญิงปริญญดา ไชยภวัตวงศ์ หรือ น้องนุ่น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเดียวกันบอกเล่าความรู้สึกที่ได้จากโรงเรียนแปลงนาสั้นๆ แต่เปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับอาชีพชาวนาให้น้องนุ่นได้รู้ว่า “ชาวนาต้องตากแดดตากฝนคงเหนื่อยมากเลยค่ะ” และก่อนที่จะแยกย้ายไปทำกิจกรรมในฐานต่อไป ทั้งน้องช้อปและน้องนุ่นต่างประสานเสียงบอกว่า แม้ครั้งนี้ผู้ปกครองจะแนะนำให้ทั้งคู่มาสมัคร แต่เมื่อได้มาร่วมกิจกรรมที่ไม่สามารถพบเจอได้ในโรงเรียนแบบนี้ ปิดเทอมฤดูร้อนปีหน้าทั้งคู่จะยื่นใบสมัครด้วยตัวเองเป็นคนแรกๆ อย่างแน่นอน 

นอกจากนาข้าวแล้ว สิงห์บุรียังเป็นแหล่งอาหารปลาน้ำจืดที่ขึ้นชื่ออย่าง ปลาช่อน ในฤดูกาลทำนา คลาสพลังทีมเวิร์ค จึงปิดท้ายความประทับใจด้วยกิจกรรมที่ชวนเด็กๆ ลุยโคลนจับปลาช่อนในบ่อจำลอง ซึ่งเด็กๆ ที่เข้าร่วมตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงชั้นประถมฯ ปลายต่างทุ่มเทกันเต็มที่จนลืมอากาศแดดร้อนระอุในเดือนพฤษภาคมกันไปเลยทีเดียว

สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์

“ปีหน้าถ้ามีโอกาสก็อยากมาอีกครับ อยากลงจับปลาอีกครับ เหนื่อยแต่สนุกดีครับ” น้องช้อปบอกถึงความประทับใจจากค่ายก่อนจะต่อคิวอาบน้ำล้างตัวจากคราบโคลน ซึ่งกิจกรรมพลังทีมเวิร์ค เป็นเพียงหนึ่งในโครงการ สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์ จัดเป็นประจำทุกปีทุกปิดเทอมภาคฤดูร้อนโดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับเครือข่ายสิงห์อาสา ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาชั้นนำ เครือข่ายกู้ภัย และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาและ 10 บริษัทในเครือทั่วประเทศ

สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์

เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้จริงจาก 7 อาชีพที่หลากหลาย ผ่าน 7 กิจกรรมที่เน้นการลงมือปฏิบัติ พร้อมออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและพัฒนาการของเยาวชนช่วงประถมวัยที่อาศัยอยู่ในเขตใกล้เคียงกับโรงงาน[บุญรอดฯ ทั่วประเทศ  ได้แก่ คลาสนักวิทย์ คลาสฮัลโหล-หนีฮ่าว  คลาสจูเนียร์เชฟ คลาสหน่วยกู้ชีพ คลาสจิตรกรเชียงราย และ คลาสพลังทีมเวิร์คเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ได้ นำประสบการณ์ต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เยาวชนสามารถเข้าร่วม สิงห์ ซัมเมอร์แคมป์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม