ไขปริศนา พระจันทร์สีเลือด ในค่ำคืน จันทรุปราคาเต็มดวง
Lite

ไขปริศนา พระจันทร์สีเลือด ในค่ำคืน จันทรุปราคาเต็มดวง

Focus
  • จันทรุปราคา จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกันโดยมีโลกกั้นกลางอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
  • เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเงาของโลก มนุษย์บนโลกก็จะสังเกตเห็นดวงจันทร์ค่อยๆ เริ่มเว้าแหว่งไปทีละน้อยอันเนื่องมาจากเงาของโลกพาดผ่าน คนโบราณเลยเชื่อว่า ราหูอมจันทร์

ค่ำคืนลอยกระทง 8 พฤศจิกายน 2565 มนุษย์โลกจะได้เห็นปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) ในช่วงเวลาประมาณ 15:02 – 20:56 น. ตามเวลาประเทศไทย หลายคนมีความวิตกกังวลเรื่องตำนานพระจันทร์สีเลือดในคืนเดือนเพ็ญ เกรงว่าจะเกิดสิ่งไม่เป็นมงคลขึ้น Sarakadee Lite ชวนไปหาคำตอบว่าทำไมขณะราหูอมจันทร์ เรายังเห็นพระจันทร์เป็นสีแดงอิฐหรือที่หลายคนเรียก พระจันทร์สีเลือด

จันทรุปราคาเต็มดวง
ดวงจันทร์เมื่อเคลื่อนผ่านเงาของโลกทำให้เกิดจันทรุปราคา
ภาพ : NASA Content Administrator / Fred Espenak

จันทรุปราคา จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกันโดยมีโลกกั้นกลางอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ทำให้เงาของโลกทอดออกไปในอวกาศ เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเงาของโลก มนุษย์บนโลกก็จะสังเกตเห็นดวงจันทร์ค่อยๆ เริ่มเว้าแหว่งไปทีละน้อยอันเนื่องมาจากเงาของโลกพาดผ่าน คนโบราณเลยเชื่อว่า ราหู โอรสของพระพฤหัสบดีกับนางสิงหิกาผู้ชอบอมดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ กำลังกลืนกินดวงจันทร์ มนุษย์โลกจึงต้องช่วยกันตีปี๊บ ตีกลองเพื่อไล่ราหู

สำหรับเงาของโลกที่ทอดออกไปในอวกาศแบ่งเป็น เงามัว (Penumbra Shadow) เป็นเงาที่อยู่ส่วนนอกสุดเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนเข้าสู่เงานี้จะมีความสว่างลดลงเล็กน้อย อีกส่วนคือ เงามืด (Umbra Shadow) เป็นเงาที่อยู่ตรงกลางซึ่งจะมืดสนิทเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาก็จะทำให้เกิดส่วนมืดเว้าแหว่งหรือก็คือปรากฏการณ์ จันทรุปราคา ซึ่งแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ

จันทรุปราคาเต็มดวง
การหักเหของแสงทำให้เกิด พระจันทร์สีเลือด
ภาพ : NASA Goddard Space Flight Center/Scientific Visualization Studio

1. จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก ทำให้มองเห็นดวงจันทร์เป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ หรือที่หลายคนเรียก พระจันทร์สีเลือด เนื่องจากแสงขาวจากดวงอาทิตย์จะถูกหักเหเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลก สีแดงและสีส้มเบี่ยงทิศทางเข้าหากลางเงามืด จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงระหว่างเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง

2. จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน โดยจะมองเห็นดวงจันทร์มีลักษณะเว้าแหว่ง

3. จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด ทำให้มนุษยโลกยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างลดน้อยลง จันทรุปราคาแบบเงาเมานี้จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก

ด้านปรากฏการณ์จันทรุปราคาในค่ำคืนวันลอยกระทง 2565 นี้เป็นปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 15:02 – 20:56 น. โดยประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา 17:44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ แต่จะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:44 น. เป็นต้นไป และช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐจนถึงเวลา 18:41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที และสำหรับใครที่พลาดชมจะต้องรอไปอีก 3 ปีข้างหน้าคือวันที่ 8 กันยายน 2568

อ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite