
เสว่ยหลง 2 : เรือตัดน้ำแข็งสุดล้ำสัญชาติจีน กับภารกิจสำรวจขั้วโลกในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
- เสว่ยหลง 2 หรือฉายา “มังกรหิมะ” เป็นเรือวิจัยขั้วโลกลำที่ 4 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสมรรถนะสูงโดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ที่มีสภาวะแวดล้อม
- เรือเสว่ยหลง 2 ถือเป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำแรกของจีนที่สร้างขึ้นเองทั้งหมดภายในประเทศ เป็นเรือตัดน้ำแข็งขนาดกลางที่มีความทันสมัยและมีสมรรถนะสูงที่สุดลำหนึ่งของโลก
เป็นอีกข่าวที่น่าตื่นเต้นของวงการวิทยาศาสตร์ทางทะเล เมื่อเรือตัดน้ำแข็งสุดล้ำสัญชาติจีน เสว่ยหลง 2 (Xue Long 2) ได้เดินทางเข้ามาเทียบท่าที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 19 – 23 พฤษภาคม 2568 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเสว่ยหลง 2 เป็นเรือตัดน้ำแข็งขั้วโลกลำแรกที่ต่อขึ้นในประเทศจีน และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลง Sarakadee Lite พาไปสำรวจ เสว่ยหลง 2 อย่างละเอียดอีกครั้งพร้อมเจาะลึกเทคโนโลยีล้ำสมัยของเรือวิจัยที่จะพาไปไขความลับที่ซ่อนไว้ในชั้นน้ำแข็งขั้วโลก

“มังกรหิมะ” ครบครันเครื่องมือวิจัยทางทะเลอันทันสมัย
เสว่ยหลง 2 หรือฉายา “มังกรหิมะ” เป็นเรือวิจัยขั้วโลกลำที่ 4 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสมรรถนะสูงโดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ที่มีสภาวะแวดล้อมที่อ่อนไหวเป็นพิเศษอย่างขั้วโลก และเป็นเรือลำแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีในการตัดน้ำแข็งได้ทั้งขณะกำลังเดินหน้าและถอยหลัง ตัวเรือมีความยาว 122.5 เมตร น้ำหนักระวางเกือบ 14,000 ตัน เทียบเท่ากับรถบรรทุก 18 ล้อที่มีการบรรทุกเต็มคันรวมกันประมาณ 500 คัน สามารถรองรับนักสำรวจและกลุ่มลูกเรือได้มากถึง 90 คน ทั้งยังสามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เสริมได้ถึง 30 ตู้ รวมไปถึงน้ำมันอีก 750 ตัน ระวางขับน้ำ 13,990 ตัน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 10 ชั้น พร้อมที่สนับสนุนสถานีวิจัยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

ภายในตัวเรือมีพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันทั้งห้องพักนักวิจัยและลูกเรือ ห้องสันทนาการ ห้องประชุม ห้องออกกำลังกาย ห้องอ่านหนังสือ ลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ รวมไปถึงพื้นที่พักผ่อนที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตนักวิจัยในการทำภารกิจที่มีระยะเวลายาวนาน นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลขนาดย่อมที่สามารถผ่าตัดฉุกเฉินได้ และการติดตั้งระบบวินิจฉัยทางการแพทย์ทางไกลรองรับเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ อีกทั้งบนเรือยังมีพื้นที่สำหรับงานปฏิบัติการห้องทดลองมากกว่า 580 ตารางเมตร รองรับทั้งแล็บแห้งสำหรับงานด้านสมุทรศาสตร์หรือกายภาพ และมีแล็บเปียกสำหรับงานด้านเคมีและชีวภาพ รวมถึงห้องเก็บตัวอย่างอุณหภูมิต่ำ เครื่องมือที่ทันสมัยในการสำรวจทางธรณี สมุทรศาสตร์ อากาศ บรรยากาศ ฯลฯ โดยด้านบนดาดฟ้าสะพานเดินเรือจะมีเครื่องมือที่เป็นระบบอัตโนมัติในการเก็บข้อมูลสภาพอากาศ ลม ฝุ่นละออง ซึ่งถือว่าครบครันสำหรับการปฏิบัติภารกิจในทะเลและบริเวณขั้วโลก


นอกจากนี้ตัวเรือยังมี มูนพูล (Moon Pool) ใช้ในการดึงอุปกรณ์หรือตัวอย่างจากใต้ท้องเรือโดยตรง และที่สำคัญมากกว่านั้นคือการออกแบบเรือวิจัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสะอาด SCR (Selective Catalytic Reduction) ลดการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์ในเขตขั้วโลกที่มีสภาพสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อมลภาวะทางอากาศ

เสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือเสว่ยหลง 2 กล่าวว่า “เรือเสว่ยหลง 2 ถือเป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำแรกของจีนที่สร้างขึ้นเองทั้งหมดภายในประเทศ เป็นเรือตัดน้ำแข็งขนาดกลางที่มีความทันสมัยและมีสมรรถนะสูงที่สุดลำหนึ่งของโลก ด้วยเทคโนโลยีการตัดน้ำแข็ง 2 ทิศทาง ทำให้สามารถตัดน้ำแข็งหนา 1.5 เมตร พร้อมเดินทางด้วยความเร็ว 2-3 น็อต ทำให้สามารถเดินทางผ่านแผ่นน้ำแข็งได้หลายทิศทางอย่างคล่องตัว หัวเรือส่วนใต้น้ำถูกออกแบบเป็นพิเศษให้มีความแข็งแรง สามารถชนและไต่ขึ้นบนแผ่นน้ำแข็ง พร้อมแรงกดที่ช่วยแยกน้ำแข็งเพื่อให้เรือสามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้”

พร้อมสนับสนุนสถานีวิจัยในขั้วโลก
ภารกิจหลักของเรือเสว่ยหลง 2 คือ การสนับสนุนการสำรวจวิจัยขั้วโลกของนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ จากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (Polar Research Institute of China) หรือจากส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนั้นก็ยังสนับสนุนการปฏิบัติงานของสถานีวิจัยต่างๆ ของจีนในเขตขั้วโลกไม่ว่าจะเป็นการลำเลียงเสบียงอาหาร น้ำมัน อุปกรณ์ก่อสร้าง และสิ่งของอื่นๆ ที่จำเป็นต่องานวิจัย

สำหรับการปฏิบัติงานในรอบปีของเรือตัดน้ำแข็งเสว่ยหลง 2 จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ตรงกับฤดูกาลที่ขั้วโลกใต้กำลังย่างเข้าสู่ฤดูร้อน โดยเรือจะออกจากนครเซี่ยงไฮ้แล้วมุ่งลงใต้ไปยังประเทศออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์เพื่อรอรับคณะนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ชุดแรกที่จะมาลงเรือ จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่น่านน้ำทวีปแอนตาร์กติกหรือ Southern Ocean และเริ่มปฏิบัติการด้านงานวิจัยตามที่ได้รับมอบหมายซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละครั้งแต่ละฤดูกาล และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจจึงเดินทางกลับมาแวะที่ออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์อีกครั้งช่วงต้นเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป เพื่อส่งนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์กลับขึ้นฝั่งก่อนที่เรือจะออกเดินทางกลับประเทศต้นทางคือจีน

หลังจากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นปฏิบัติการแอนตาร์กติก เรือเสว่ยหลง 2 จะเริ่มปฏิบัติการอาร์กติกต่อไปในช่วงปลายเดือนกรกฏาคม โดยออกเดินทางขึ้นเหนือจนเสร็จสิ้นภารกิจในช่วงต้นเดือนตุลาคม โดยในฤดูกาลปี 2568 นี้เป็นการศึกษาวิจัยระบบนิเวศทางทะเลในบริเวณทะเลรอสส์ (Ross Sea) ทางตอนใต้ของทวีปแอนตาร์กติกซึ่งเป็นปฏิบัติการร่วมระหว่างนักวิทยาศาสตร์กว่า 10 ประเทศบนเรือเสว่ยหลง 2 ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้เสว่ยหลง 2 ต้องกลับเข้าเทียบท่าที่เมือง Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ชุดใหม่เพื่อปฏิบัติภารกิจ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนักวิจัยไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วม ได้แก่ ดร.อุดมศักดิ์ ดรุมาศ นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่งต่อแรงบันดาลใจด้านงานวิจัย กับการเยือนไทยครั้งแรก
“ในการมาเยือนของเรือเสว่ยหลง 2 นี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชน อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยชาวไทยที่มีความสามารถในระดับนานาชาติ รวมทั้งให้ได้เห็นถึงเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย เพราะนอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ยังมีองค์ความรู้ในด้านของวิศวรกรรมการเดินเรือ และวิทยาศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการมาเยือนของเรือเสว่ยหลง 2 ที่มาเยือนไทย” ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวถึงการมาเยือนไทยครั้งแรกของมังกรหิมะแห่งจีน

ด้าน ดร.อุดมศักดิ์ ดรุมาศ นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยไทยเพียงหนึ่งเดียวผู้ร่วมเดินทางกับเรือเสว่ยหลง 2 ได้เล่าถึงภารกิจบนเรือสำรวจขั้วโลกใต้ที่ล้ำสมัยที่สุดลำหนึ่งของโลกว่า ตนเองได้ทำหน้าที่สำรวจไมโครพลาสติกในทะเลลึก ตะกอนดิน สิ่งมีชีวิต และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ธรรมชาติบริเวณขั้วโลกใต้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่สุดของโลกที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของสิ่งแวดล้อม กระบวนการเก็บตัวอย่างไมโครพลาสติกจากน่านน้ำบริเวณขั้วโลกใต้เริ่มจากนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศนิวซีแลนด์ ไปจนถึงน่านน้ำของทวีปแอนตาร์กติกา โดยใช้เครื่องมือ 2 ชนิดหลัก ได้แก่ ระบบกรองน้ำความดันสูงบนเรือ และเครื่อง CTD ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดคุณสมบัติน้ำทะเลในระดับความลึกสูงสุดกว่า 4,000 เมตร โดยการเก็บตัวอย่างนี้ช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์ระดับการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกและศึกษาลักษณะทางกายภาพของน้ำทะเลได้อย่างละเอียด ซึ่งได้มีการเก็บตัวอย่างตะกอนดินทะเลด้วยการหย่อนอุปกรณ์ลงไปยังระดับความลึกต่าง ๆ โดยจะนำกลับมาวิเคราะห์ในห้องแล็บของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อไป

นอกจากนี้ ดร.อุดมศักดิ์ยังเล่าถึงความท้าทายในการทำงานวิจัยในแอนตาร์กติกาเต็มว่าเต็มไปด้วยความยากลำบาก เป็นการทำงานท่ามกลางอุณหภูมิติดลบกว่า 25 องศาเซลเซียส บวกกับลมความเร็วสูง 60–80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้จะใส่ชุดกันหนาวครบถ้วน แต่เนื่องจากลมที่แรงทำให้ไม่สามารถยืนกลางแจ้งได้นาน หิมะพัดแรงจนหิมะเกาะตามหน้ากากและจมูก กลายเป็นน้ำแข็งทันที อากาศแห้งมาก หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายและเสียน้ำโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยที่ไปสำรวจขั้วโลกใต้ร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของจีน กล่าวว่างานวิจัยที่นักวิจัยไทยเก็บตัวอย่างจากขั้วโลกมาศึกษาและประมวลผลนั้น เปรียบเสมือนการนำจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ มาประกอบกันทำให้เห็นเป็นภาพรวมถึงสถานการณ์โลกในด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่องานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมของไทย

สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจชมมังกรหิมะแห่งประเทศจีน เสว่ยหลง 2 สามารถแวะเข้าไปชมได้บริเวณจุดจอดเรือ ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤษภาคม 2568 เวลา 9.00 – 16.00 น. โดยสามารถชมภายนอกเรือได้เท่านั้น แต่สำหรับใครที่สนใจเรื่องราวองค์ประกอบด้านในเรือยังมีนิทรรศการ Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region จัดแสดงที่ Crystal Court ชั้น 2 สยามพารากอน ตั้งแต่วันนี้ถึง 25 พฤษภาคม 2568 นอกจากนี้ทางยังมีแผนนำนิเทรรศการไปจัดแสดงต่องานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ช่วงเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อให้ประชาชนที่พลาดโอกาสสามารถเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับการสำรวจขั้วโลกใต้ต่อไป

Fact File
- นักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่เดินทางไปสำรวจวิจัยในแอนตาร์กติกคือ ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิททยาลัย
- ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และรองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยที่ไปสำรวจขั้วโลกใต้ร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568
- ร.ท.ผศ.ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม นักวิจัยชาวไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วมปฏิบัติงานวิจัย ณ สถานีวิจัย Amundsen-Scott South Pole Station ในฐานะวิศวกรชุดเจาะน้ำแข็ง (Ice Drilling Engineer) ภายใต้โครงการ “IceCube Upgrade”
