ภาพยนตร์ บทสนทนา และการกำเนิดใหม่ของ Doc Club & Pub. โดย Documentary Club
Lite

ภาพยนตร์ บทสนทนา และการกำเนิดใหม่ของ Doc Club & Pub. โดย Documentary Club

Focus
  • Doc Club & Pub. คือพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่ในเครือ Doc Club หรือชื่อเต็ม Documentary Club ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงด้านความหลากหลายและภาพยนตร์สารคดี
  •  Doc Club & Pub. ประกอบด้วยโซนอาหาร เครื่องดื่ม และโรงภาพยนตร์ขนาด 50 ที่นั่ง การันตีเรื่องความหลากหลายของภาพยนตร์ที่ไม่ได้อิงแค่กระแสหลัก

Doc Club หรือ ชื่อเต็ม Documentary Club เป็นชื่อที่คุ้นหูคุ้นตาสำหรับคอภาพยนตร์ที่เสพหนังสารคดีและภาพยนตร์นอกกระแสหลัก กาลครั้งหนึ่งหากยังจำกันได้ Doc Club เคยต่อยอดจากการเป็นเพียงผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์สู่พื้นที่ฉายในชื่อว่า Doc Club Theater ณ Warehouse 30 แต่โรงหนังเล็กในโกดังก็ได้ปิดตัวลงไปโดยที่ระหว่างนั้น Doc Club ก็ยังคงจัดจำหน่ายและจัดกิจกรรมทางภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการจัดฉายภาพยนตร์ออนไลน์ปรับตัวตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ต้องปิดตัวลง และหลังจากที่ห่างหายไปสักพักใหญ่ กลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 Doc Club ได้กลับมาเปิดพื้นที่ภาพยนตร์นอกกระแสแห่งใหม่ในชื่อ Doc Club & Pub. พื้นที่ที่นอกจากจะเปิดเป็นโรงฉายภาพยนตร์ขนาดย่อม 50 ที่นั่งแล้วที่นี่ยังมีโซนอาหารเครื่องดื่มพร้อมพื้นที่ให้ผู้ชมนั่งสนทนาต่อยอดเรื่องราวต่าง ๆ อย่างอิสระ

Doc Club & Pub.
ภาพ : Doc Club & Pub.
Doc Club & Pub.
สุภาพ หริมเทพาธิป
ภาพ : Doc Club & Pub.

ด้วยวาระกำเนิดใหม่ของ Doc Club & Pub. เราจึงชวน สุภาพ หริมเทพาธิป หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Doc Club และผู้บริหารพื้นที่ Doc Club & Pub. มาสนทนาว่าด้วยการเปิดตัวพื้นที่สำหรับคนรักภาพยนตร์ท่ามกลางสถานการณ์ที่วงการภาพยนตร์ไทยและโรงภาพยนตร์ต้องชะงักมาเกือบตลอด 2 ปี

Doc Club & Pub.

จาก Doc Club Theater ถึง Doc Club & Pub.

ที่ Warehouse 30 (ที่ตั้ง Doc Club Theater) ตอนนั้นเราเข้าไปทำตามคำเชิญชวนของคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ซึ่งในเวลาต่อมาคุณดวงฤทธิ์ได้ยุติบทบาทในการบริหารพื้นที่นั้นเราก็เลยยุติการทำกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าวไปด้วย หลังจากนั้นเราก็ยังหาพื้นที่ฉายหนังไปเรื่อย ๆ อยากสานต่อความคิดในการทำสิ่งนี้ แต่บางพื้นที่ก็ยังไม่ตอบโจทย์เราขาดสิ่งนั้นสิ่งนี้ยังไม่โดนใจเราสักที จนมาถึงที่อาคารวูฟแพค ซึ่ง BKKSR (Bangkok Screening Room) เขากำลังจะเลิกทำโรงภาพยนตร์เขาเลยมาเชิญชวนเราว่าสนใจไหมที่จะมาสานต่อ เราเลยเข้ามาทำที่นี่

คำตอบแบบไหนที่ตอบโจทย์การทำโรงภาพยนตร์แบบ Doc Club & Pub.

อย่างตอน Doc Club Theater ผมมองว่าทำสนุก ๆ คือจริง ๆ ทั้งเราและทั้งคุณดวงฤทธิ์เองก็ไม่น่าได้ผลตอบแทนทางธุรกิจจนสามารถครอบคลุมกิจการได้ทั้งหมด แต่มันสนุกสำหรับการฉายหนังและการเปิดพื้นที่เพื่อขยายกลุ่มคนดูเพิ่มในส่วนของการมีปฏิสัมพันธ์กับทางพื้นที่และหนัง ซึ่งทำแล้วสนุกแต่ถ้าถามถึงผลทางธุรกิจก็ไม่ได้อะไรเท่าไร

ถ้าจะทำให้มันอยู่รอดคือมันต้องเลี้ยงคนทำงานได้ เรามองว่าทำพื้นที่แล้วทำให้คนมีงานทำและเราไม่เจ็บตัว อย่างแรกคือโรงหนังเองที่เก็บค่าดูหนังมันจะต้องครอบคลุม แต่ถ้ามันไม่ครอบคลุมก็ต้องมีอย่างอื่นเข้ามาเสริม ก็คิดว่ามาเป็นแบบนี้ มีฉายหนัง มีที่นั่งทำงาน พูดคุย ประชุม นั่งแลกเปลี่ยนต่อยอดทางความคิด เลยออกแบบพื้นที่ให้ตอบสนองการใช้พื้นที่ทั้งคนที่มาดูหนังและมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

Doc Club & Pub. จัดสรรพื้นที่อย่างไร

เรามี 2 โซน คือ โรงหนัง (Doc Club) กับคาเฟ่และร้านอาหาร (Pub) ทั้งหมดเป็นพื้นที่เดียวกัน อยู่ที่คนเลือกใช้มันว่าจะใช้แบบไหนพื้นที่ภายนอกโรงเรามีจอ LED ที่มีเสียงและภาพที่ดีสามารถรับอรรถรสจากหนังได้แต่เป็นอีกอรรถรสหนึ่ง เหมาะสำหรับกิจกรรมอีกแบบเช่น คนดูหนังที่ไม่ต้องการจดจ่อมาก ดูไปคุยไป แต่ถ้าอยากจดจ่อก็มีโรงหนังแบบเดิม (ขนาด 50 ที่นั่ง) ที่มีสมาธิจดจ่อแต่ก็มีลักษณะที่ผ่อนคลายมากกว่าปกติหน่อยเราเลยให้เอาอาหารและเครื่องดื่มเข้าไปได้ด้วย เป็นธรรมชาติของพื้นที่ไปเลยที่จะหยิบอาหารเครื่องดื่มเข้าไปนั่งดูหนังได้ส่วนอาหารมีหลากหลายโดยเฉพาะโซนนอก (Pub) มีสปาเกตตีเมนูข้าวต่าง ๆ และถั่วที่โก๋แก่เองก็กำลังออกแบบรสชาติให้เราเป็นพิเศษหรือจะเมนูง่าย ๆ เฟรนช์ฟรายส์ ขนมปัง กาแฟ ก็มี

โมเดลธุรกิจไหนที่ตอบโจทย์สำหรับโรงภาพยนตร์ทางเลือกแบบนี้

รายได้จากโรงหนังอย่างเดียวมันเป็นไปได้ยากที่จะเลี้ยงตัวได้ เราก็ต้องมองว่าพื้นที่ที่ทำอยู่มันเป็นประเภทไหนและทำอย่างไรให้ไม่เสียความตั้งใจของเรา รวมทั้งกิจกรรมในพื้นที่จะต้องหล่อเลี้ยงส่วนกลางไปได้ด้วย ดังนั้น Pub ที่เราเปิดมาคู่กันก็ค่อนข้างตอบโจทย์นี้ เรามองว่าตอนนี้กลุ่มคนดูหนังเรามี 2 แบบ คือ 1.ดูเอาเนื้อหา กับ 2.ดูแบบมีบรรยากาศ ในการดูหนังเรื่องหนึ่งคนดูคนละกลุ่มก็จะได้อรรถรสที่ไม่เหมือนกัน การดูแบบที่มีบรรยากาศดูในโรงหนังส่วนตัวก็ได้อรรถรสหนึ่ง หรือบางคนอาจโหยหาการดูหนังที่โอบอุ้มความรู้สึกจากการดูหนังเอาไว้ สามารถถ่ายทอดพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่งโรงแบบมัลติเพล็กซ์ (Multiplex) ในปัจจุบันอาจไม่เอื้อเท่าไรเราเติบโตมากับการดูหนังและเก็บเกี่ยวต่อยอดพูดคุยกัน เราอยากให้มีพื้นที่แบบนี้เกิดขึ้นซึ่งเราก็เข้าใจว่าพื้นที่แบบนี้เป็นไปได้ยาก พอมีโอกาสทำก็เลยอยากทำให้เกิดขึ้น

เราก็ออกแบบกิจการในส่วนพื้นที่ Pub เพื่อให้มีการต่อยอดบทสนทนาซึ่งตอบโจทย์สิ่งที่กลุ่มคนดูหนังต้องการเหมือนเรา และอีกส่วนคือส่วนธุรกิจที่เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกัน เป็นการสร้างพื้นที่ที่ตอบสนองสอดรับกัน ทั้งผู้ใช้พื้นที่และเชิงธุรกิจเราต้องการลูกค้าจำนวนหนึ่งที่อยากดูหนังแบบนี้ อยากมีปฏิสัมพันธ์แบบนี้ เราคิดว่ากลุ่มอาจไม่มากแต่พอได้เทียบกับตอนเราทำ Bioscope กับ Film View ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว Bioscope ก็เป็นกลุ่มที่เล็กลงกว่า Film View สุดท้ายที่เราต้องการก็คือคนอ่านจำนวนหนึ่งที่ Niche แต่ก็เติบโตในแบบของมันไปได้ ซึ่งกลุ่มคนดูของ Doc Club & Pub. เราว่าเราก็รู้จักเขาอยู่พอสมควร

ภาพ : Doc Club & Pub.

ในส่วนงานจัดจำหน่ายภาพยนตร์มีแนวโน้มอย่างไรบ้าง

ก็สะดุดสำหรับหนังแบบที่ต้องการฉายวงกว้างประมาณหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ได้รับผลกระทบ แต่เราก็ปรับตัว ที่ผ่านมาเราก็มีทั้งแบบฉายโรงภาพยนตร์ทั่วไป และกิจกรรม ส่วนเชิงพื้นที่ก็มีทั้งแบบโรงหนังและพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งในบางส่วนก็สามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ เรายังนำภาพยนตร์ไปสู่คนดูได้อยู่โดยช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ในโรงภาพยนตร์ เรายังซื้อหนังอยู่ปีนี้ก็เริ่มซื้อหนังที่เป็น Feature Film มากขึ้น เรายังทำอยู่ นอกเหนือจากหนังสารคดีเราก็ซื้อมากขึ้น เราอยากเปิดให้คนรู้จักหนังที่หลากหลาย

ภาพ : Doc Club & Pub.

แนวโน้มวงการภาพยนตร์โดยรวมช่วงโควิด-19

ผมมองเหมือนกับที่บางท่านคาดไว้ว่า ถึงจุดหนึ่งโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นชนิดหนึ่ง อย่างตอนนี้เราเริ่มได้เห็นการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ประชาชนเข้าไปชมในสนามได้ พอถึงจุดหนึ่งถ้าวัคซีนทั่วถึง บ้านเราก็คงกลับไปสภาพแบบนั้นได้ ปีหน้าน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งถึงตอนนั้นในส่วนของพฤติกรรมของคนดูหนังก็น่าจะปรับเปลี่ยนไปบ้างจากการดูหนังแบบสตรีมมิง ก็อาจมีการเลือกหนังบางประเภทสำหรับการดูแบบเสพคอนเทนต์ แต่สำหรับผู้ชมบางกลุ่มอรรถรสของการดูหนังก็ไม่สำคัญเท่าความเร็วในการเข้าถึง ขณะเดียวกันก็ยังคงมีผู้ชมที่โหยหาหนังที่อยากดูร่วมกับคนอื่นอยู่ ที่สำคัญถึงตอนนั้นคนดูกับหนังก็น่าจะรู้จักกันมากขึ้น คนทำหนังเองก็เริ่มรู้แล้วว่าหนังแบบนี้จะไปหาคนดูแบบไหน คนดูก็รู้ว่าจะไปดูหนังแบบไหน แนวทางไหน และที่ไหนมากขึ้น เราน่าจะเห็นหนังที่ไม่ได้ออกแบบมาแบบเดิมที่คิดถึงแต่การฉายในโรงเป็นหลักอย่างเดียวแล้ว แต่มีการคิดวางแผนทำหนังสำหรับการดูแบบสตรีมมิงเป็นหลักมากขึ้น เราคิดว่าน่าจะไปทิศทางนั้น การทำหนังเพื่อเข้าโรงอาจไม่ใช่คำตอบที่ตอบทุกอย่างได้ สตรีมมิงน่าจะมีส่วนในการกำหนดลักษณะในการผลิตภาพยนตร์ในอนาคตข้างหน้ามากขึ้น

ภาพ : Doc Club & Pub.

Fact File

  • Doc Club & Pub. ชั้น 2 อาคารวูฟแพค ศาลาแดงซอย 1 บางรัก กรุงเทพฯ
  • ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม การสำรองที่นั่งล่วงหน้า คลิก www.facebook.com/docclubandpub และ docclubandpub.com · รับชมภาพยนตร์และสารคดีออนไลน์ในรูปแบบ Watch on Demand คลิก https://documentaryclubthailand.com/

ขอขอบคุณภาพถ่ายบางส่วนจาก Doc Club & Pub.


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว