ครั้งแรกบนหน้าจอทีวี โขน ศิลปาชีพฯ ตอน สืบมรรคา
Arts & Culture

ครั้งแรกบนหน้าจอทีวี โขน ศิลปาชีพฯ ตอน สืบมรรคา

Focus
  • สืบมรรคา คือ ชื่อตอนของการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่เน้นการผจญภัยของหนุมาน และเหล่าพลทหารวานรเพื่อสืบหาหนทางไปกรุงลงกา แน่นอนว่าต้องมีฉากต่อสู้กับยักษ์ฝ่ายทศกัณฐ์​เป็นไฮไลต์
  • ไม่ธรรมดาด้วยประติมากรรมประกอบฉากขนาดใหญ่เช่นร่างหนุมานยาว 15 เมตร และผีเสื้อสมุทรสูงกว่า 6 เมตรที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของการแสดง และตัวละครใหม่ นางอังกาศตไล ยักษิณีผู้พิทักษ์ด่านทางอากาศของกรุงลงกา
  • ตลอดเดือนพฤษภาคม 2563 โขน สืบมรรคา จะฉายผ่านหน้าจอทีวีเป็นครั้งแรกทางช่องทรูปลูกปัญญา

เป็นอีกการแสดงที่หลายคนรอคอยสำหรับ โขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งปีล่าสุด 2562 กลับมาในตอน สืบมรรคา (The Adventures of Hanuman) พร้อมการผจญภัยของหนุมานและเหล่ากองทัพวานรที่ยกทัพไปสอดแนมยังกรุงลงกา หมายสืบข่าวนางสีดาที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป บอกเลยว่าครั้งนี้เต็มไปด้วยฉากสู้รบตื่นตา เร้าใจและครบรสด้วยเรื่องรักและมุกตลกที่เป็นความสนุกในแบบฉบับ โขน มูลนิธิฯ

การแสดง โขน ตอน สืบมรรคา (The Adventures of Hanuman) ปิดม่านการแสดงไปวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แต่ในวิกฤติโควิด-19 คนรักโขนสามารถรับชมได้ผ่าน ช่องทรูปลูกปัญญา (TruePlookpanya) พร้อมกันทั่วประเทศ ตลอดเดือนพฤษภาคมนี้

Sarakadee Lite รวบรวมไฮไลต์ของการแสดง ซึ่งเน้นการดำเนินเรื่องกระชับ ฉับไวพร้อมอุปกรณ์ประกอบฉากที่ตื่นตาตื่นใจเพื่อดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ แต่ยังคงสืบสานความวิจิตรของศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในด้านวรรณศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์และวิจิตรศิลป์

หนุมานขยายกายยาว 15 เมตรกับผีเสื้อสมุทรโดนกรีดท้อง

แม้มีเวลาเตรียมตัวแค่ 2 เดือน แต่ประติมากรรมประกอบฉากปีนี้ไม่ได้ลดความอลังการลงเลย ผู้ชมจะได้พบกับร่างหนุมานยาว 15 เมตร ในฉากที่พญาลิงขยายกายใหญ่ทอดหางต่างสะพานให้เหล่าสมุนลิงเดินข้ามมหานที รวมถึงร่างผีเสื้อสมุทรสูง 5.50 เมตรในฉากที่หนุมานเข้ามาล่วงล้ำเขตทางน่านน้ำจนเกิดการต่อสู้และนางยักษ์ควงกระบองไล่ฟาด อ้าปากงับ แต่หนุมานฉวยโอกาสพุ่งลงท้องใช้ตรีแทงฟันตับไตไส้พุงของนางยักษ์จนสิ้นใจแล้วตัวเองผ่าท้องกระโจนออกมา

โขน
ผีเสื้อสมุทรสูงเกือบ 6 เมตรตระหง่านกลางเวทีในฉากโดนหนุมานใช้ตรีแทงฟันตับไตไส้พุงจนนางสิ้นใจ

“หนุมานและผีเสื้อสมุทรถึงจะตัวใหญ่มากแต่ติดกลไกให้แขนขาเคลื่อนไหวได้ ปีนี้เรียกได้ว่าเป็นมหกรรมหุ่นเพราะเรานำหุ่นหลวง หุ่นกระบอกมาประกอบด้วย ในฉากผีเสื้อสมุทรต่อสู้กับหนุมานเราใช้หุ่นแทนคนแสดงตอนพุ่งเข้าไปในปากนางยักษ์แต่ตอนออกมาจากท้องเป็นคนแสดงจริง” อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและสร้างฉากอธิบายขณะพาชมการทำงานของทีมฉากกว่า 90 ชีวิต ณ อาคารเรียน-รู้-เรื่อง โขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หนุมานขยายกายยาว 15 เมตรโดยใช้หางต่างสะพานให้เหล่าลูกสมุนเดินข้ามมหานที

ทั้งหุ่นหนุมานและผีเสื้อสมุทรทำจากโฟมและแกะลวดลายเสื้อผ้าเครื่องประดับแบบนูนอย่างละเอียดพร้อมลงสีอย่างพิถีพิถัน โฟมที่เหลือจากการแกะทั้งหมดจะให้บริษัทผลิตโฟมมารับกลับไปรีไซเคิล

โขน
พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ใช้ในฉากหนุมานถูกจับไปลานประหาร

นอกจากนี้ยังมีฉากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ที่จำลองขึ้นตามข้อมูลสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ในยุคกรุงศรีอยุธยา เป็นปราสาทไม่มีผนังประดับพระปรางค์ 5 ยอดตามอิทธิพลศิลปะขอมและสร้างบนกำแพงพระราชวังชั้นในเพื่อทอดพระเนตรกระบวนแห่และการฝึกซ้อมทหารฉากพระที่นั่งใช้ประกอบในตอนที่หนุมานแสร้งให้อินทรชิตผู้เป็นโอรสของทศกัณฐ์จับและถูกส่งไปลานประหารก่อนใช้อุบายเผากรุงลงกาด้วยทะเลเพลิง

งานด้านจิตรกรรมก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน มีฉากที่ต้องวาดใหม่บนผืนผ้าใบถึง 5 ฉากขนาดละ 10 x 20 เมตรและนำภาพเก่าจากการแสดงครั้งก่อนๆมาปรับอีก 4 ฉาก ฉากใหม่ประกอบด้วยฉากสวนขวัญที่ทศกัณฐ์เกี้ยวนางสีดาซึ่งจำลองมาจากภาพวาดชั้นครูของเจ้ากรมอ่อน ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เขียนไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ รวมไปถึงฉากมหานทีที่หนุมานขยายกาย ฉากเมืองร้างและฉากเขาแห้งแล้ง

จิตรกรรมประกอบฉากแต่ละชิ้นยาว 20 เมตร ยิ่งใหญ่เต็มเวทีเพื่อความสมจริง

ตัวละครใหม่ “นางอังกาศตไล”ยามเฝ้าอากาศแห่งกรุงลงกา

ตัวละครใหม่ของ โขน มูลนิธิฯ คือนางอังกาศตไล เป็นยักษิณีสีหงเสน (สีส้มแดง) มีความสามารถใช้อาวุธต่าง ๆ ได้แก่ ง้าว กระบอง จักร ศรและมีกิริยาห้าวหาญทำหน้าที่คอยปกปักรักษาด่านทางอากาศของกรุงลงกา 

ฉากเด็ดของการแสดง โขน ในปีนี้คือฉากต่อสู้ระหว่างนางอังกาศตไลกับหนุมาน โดยเฉพาะตอนที่หนุมานพลิกหลบหาช่องทะลวงเข้าประชิดตัวนางยักษ์แล้วโจนขึ้นเหยียบบ่าใช้ตรีจ้วงแทงนางจนสิ้นใจ “ท่าขึ้นลอยหนุมานรบนางอังกาศตไล” นี้ได้มีการรื้อฟื้นปัดฝุ่นท่ารำแม่บทเก่าที่ครูโขนได้ออกแบบไว้เมื่อ40ปีก่อนขึ้นมาใหม่ ฉากนี้ยังถูกนำมาใช้เป็นโปสเตอร์ในการประชาสัมพันธ์การแสดงปีนี้ด้วย

ในการแสดงใช้ผู้ชายแสดงเป็นนางยักษ์เพราะต้องใช้คนที่แข็งแรงเพื่อให้นักแสดงอีกคนเหยียบบนบ่า นี่ถือเป็นท่ายากมากและนักแสดงที่รับบททั้งนางอังกาศตไลและหนุมานต้องฝึกซ้อมท่านี้อยู่หลายเดือน ในระหว่างการต่อสู้ที่ดุเดือดผู้ชมยังจะได้เห็นความทะเล้นของหนุมานด้วยกระบวนท่าซุกซนที่แกล้งจับนม จับก้นนางยักษ์

หนุมานรบนางอังกาศตไล” ฉากเด็ดของการแสดงโขนในปีนี้

เครื่องแต่งกายของนางอังกาศตไลยังได้รับการรังสรรค์ขึ้นมาใหม่ให้ห่มสไบแต่นุ่งโจง ผ้าสไบทำเป็น 2 ชุดเพื่อสับเปลี่ยน ใน 1 ชุดประกอบด้วยผ้าไหม 2 ชิ้นยาวชิ้นละ 2 เมตร และปักด้วยดิ้นเงินดิ้นทองอย่างวิจิตรเป็นลายพุ่มหน้ากาลก้านแย่งออกแบบโดยอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย และสร้างสรรค์โดยช่างฝีมือจากศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง และสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ใช้เวลาร่วม 2 เดือนจึงแล้วเสร็จ

ทศกัณฐ์หน้าทองและท่ารำของสำนวน “เจ้าชู้ยักษ์”

ฉากสำคัญอีกฉากคือตอนทศกัณฐ์จัดขบวนแห่ไปยังสวนขวัญเพื่อเกี้ยวนางสีดาซึ่งเป็นครั้งแรกของ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯที่มีการแสดงฉากนี้ ขบวนแห่ยังถ่ายทอดโบราณราชประเพณีที่ประกอบด้วยเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภค

ทศกัณฐ์หน้าทองในขบวนแห่ไปยังสวนขวัญเพื่อเกี้ยวนางสีดา

ปกติหน้าโขนทศกัณฐ์เป็นสีเขียวแต่ในบทนี้ผู้ชมจะได้เห็นราชายักษ์หน้าทอง แต่งองค์ทรงเครื่องจัดเต็มมีผ้าคล้องไหล่สีแดง พวงมาลัยคล้องพระกรขวา และพัดด้ามจิ้วจันทน์ลงรักปิดทองที่ใช้สะบัดประกอบท่ารำ

ท่ารำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวนที่มาของสำนวน “เจ้าชู้ยักษ์”

ไฮไลต์ของฉากนี้คือท่ารำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวนที่แฝงไปด้วยความกรุ้มกริ่มเพื่อเกี้ยวพาราสีสาวงามอันเป็นที่มาของสำนวน “เจ้าชู้ยักษ์” แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเข้มแข็งดุดันตามลักษณะของตัวละคร กระบวนท่ารำเป็นไปตามแบบโบราณที่สืบทอดมาจากกรมมหรสพในสมัยรัชกาลที่ 6

พลับพลาพระราม

การกลับมาอีกครั้งของฉากยิ่งใหญ่ในตำนาน

ฉากสุดอลังการบางฉากที่เคยปรากฏในการแสดงครั้งก่อนๆ ของ โขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้นำกลับมาบนเวทีอีกครั้ง เช่นพลับพลาพระรามที่พระรามใช้เป็นสถานที่ปรึกษาเรื่องการศึกซึ่งอาจารย์สุดสาครออกแบบโดยอ้างอิงลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ในพระราชวังเดิมกรุงศรีอยุธยา 

อีกฉากคือท้องพระโรงกรุงลงกาซึ่งเป็นฉากเด่นของการแสดง โขน เกือบทุกตอน การออกแบบฉากที่ยิ่งใหญ่งดงามนี้ได้แรงบันดาลใจจากท้องพระโรงในพระบรมมหาราชวังกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และยังประกอบด้วยรูปปั้นราชสีห์แทนฝ่ายมหาดไทยและคชสีห์แทนฝ่ายกลาโหมเพื่อแสดงถึงการปกครองในสมัยโบราณ

โขน

ท้องพระโรงกรุงลงกา

Fact File

  • ติดตามติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทั้งหมดได้ที่ Facebook : Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
  • รับชมโขนสืบมรรคา ได้ช่องทรูปลูกปัญญา (TruePlookpanya) วันจันทร์ที่ 4 – วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2563 เวลา 15.00 น. – 15.30 น.และออกอากาศซ้ำ (rerun) ระหว่างวันเสาร์ที่ 9 – วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม 2563 เวลา 8.30-9.00 น. (ออกอากาศวันละ 1ตอน) ทางทรูวิชั่นส์ (True Visions) ช่อง 37 และช่อง 111, พีเอสไอ (PSI) ช่อง 248 และช่องทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชั่นทรูไอดี (TrueID)


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ