ทายาท อังคาร กัลยาณพงศ์ เตรียมเปิดบ้านเป็นหอจดหมายเหตุ Art and Archive of Angkarn Kallayanapong
Arts & Culture

ทายาท อังคาร กัลยาณพงศ์ เตรียมเปิดบ้านเป็นหอจดหมายเหตุ Art and Archive of Angkarn Kallayanapong

Focus
  • อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ลูกสาวของจิตรกรและกวีเอก อังคาร กัลยาณพงศ์ กำลังจัดทำโครงการ Art and Archive of Angkarn Kallayanapong รีโนเวตบ้านให้เป็นหอจดหมายเหตุเพื่อบอกเล่าชีวประวัติและการสร้างสรรค์งานของศิลปินผู้ล่วงลับที่ฝากผลงานยิ่งใหญ่ไว้ให้แผ่นดินมากมาย
  • ข้าวของเครื่องใช้และผลงานของ ท่านอังคาร มากกว่า 10,000 ชิ้น กำลังจัดทำทะเบียนสำหรับ Archive และฐานข้อมูลระบบดิจิทัลเพื่อให้ผู้สนใจได้สืบค้นเป็นหมวดหมู่
  • ปัจจุบันโครงการ Art and Archive of Angkarn Kallayanapong คืบหน้าไปประมาณ 30% และคาดว่าจะเปิดให้เข้าชมได้ภายในปี พ.ศ.2565

บ้านเดี่ยว 2 ชั้นในซอยพระรามเก้า 59 กรุงเทพฯ สถานที่ที่เคยเป็นที่พำนักและสร้างสรรค์กวีนิพนธ์และงานจิตรกรรมมากมายของ อังคาร กัลยาณพงศ์ (พ.ศ.2469-2555) ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2532 สาขาวรรณศิลป์ และกวีซีไรต์ พ.ศ. 2529 กำลังได้รับการปรับปรุงโดยทายาทให้เป็น หอจดหมายเหตุ หรือ Archive เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาชีวิต ความคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์และกระบวนการทำงานของ ท่านอังคาร ชื่อที่คนในวงการศิลปะเรียกขานและยกย่อง

อังคาร กัลยาณพงศ์
อุปกรณ์เดินป่า
อังคาร กัลยาณพงศ์
อุปกรณ์สร้างสรรค์ผลงาน

อุปกรณ์เดินป่าที่ท่านอังคารใช้ตั้งแต่วัยหนุ่มยามชื่นชอบการผจญภัยในป่า มีดพกและหมวกใบเก่ง ก้อนหินที่ชอบสะสม เศษอิฐจากซากโบราณสถานที่เก็บมาไว้บูชาขณะที่ท่านร่วมทำงานกับอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ในการตระเวนคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามโบราณสถานต่าง ๆ  อุปกรณ์การสร้างสรรค์งานไม่ว่าจะเป็นปากกาคอแร้ง ขวดหมึก ปากกาหมึกดำ และดินสอสำหรับเขียนบทกวี แท่งชาร์โคล พู่กันและสีอะคริลิกสำหรับวาดภาพ ไม้รองมือขณะเขียนรูป ไม้เท้าที่ใช้ประจำ แว่นตาอันสุดท้าย รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ในช่วงปลายของชีวิต ภาพสเก็ตช์และรูปภาพที่ยังวาดไม่เสร็จ เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของข้าวของเครื่องใช้และผลงานที่มีมากกว่า 10,000 ชิ้นซึ่งจะถูกนำมาเรียงร้อยเรื่องราวใหม่เพื่อบอกเล่าชีวประวัติและการสร้างสรรค์งานของศิลปินผู้ล่วงลับที่ฝากผลงานยิ่งใหญ่ไว้ให้แผ่นดินมากมาย

Art and Archive of Angkarn Kalayanapong
ขวัญ-อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์

“ภาพรวมของโครงการ Art and Archive of Angkarn Kallayanapong เสร็จไปได้ประมาณ 30% คราแรกตั้งใจจะให้เสร็จภายในปีนี้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นปีหน้า ที่ช้าเพราะเราทำงานประจำและใช้เงินทุนส่วนตัวแล้วก็สถานการณ์โควิดด้วย ความคิดที่ว่าจะทำ Archive ให้พ่อมีมาตั้งแต่ตอนพ่อเสีย (พ.ศ.2555) แต่มาเริ่มจริงจังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราคิดว่าต้องทำให้สำเร็จให้ได้แม้จะไม่สมบูรณ์แบบเต็มร้อย” ขวัญ-อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ลูกคนที่สองของท่านอังคารผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุของพ่อ กล่าวกับ Sarakadee Lite ขณะเปิดบ้านที่กำลังปรับปรุงให้ชมบางส่วน

เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า

มิหวังกระทั่งฟากฟ้า ซบหน้าติดดินกินทราย

จะเจ็บจำไปถึงปรโลก ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย

จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ

(บางส่วนจากบทกวี “เสียเจ้า” โดย อังคาร กัลยาณพงศ์)

บริเวณห้องด้านหน้าของชั้นล่างยังเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่เตรียมทำทะเบียนสำหรับจัดทำ Archive โดยขวัญกล่าวว่าบริเวณนี้จะเป็นส่วนที่บอกเล่าชีวิตของ ท่านอังคาร ตั้งแต่วัยหนุ่มที่ชอบท่องไพรผ่านของใช้ต่าง ๆ เช่น หมวก เป้และกระบอกน้ำดื่ม และช่วงเริ่มต้นการทำงานสมัยติดตาม อาจารย์เฟื้อ บรมครูแห่งการอนุรักษ์จิตรกรรมไทย ไปคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามโบราณสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศในช่วงพ.ศ.2501-2507

“บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่พ่ออยู่ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2525 จนกระทั่งเสียชีวิต เป็นบ้านหลังแรกที่เป็นสินทรัพย์จริง ๆ ของท่าน และปัจจุบันขวัญกับน้องสาวก็อาศัยอยู่ที่นี่ เราคิดว่าสิ่งที่พ่อเขียนและสร้างมีอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนและเชื่อว่ามีหลายคนอยากเห็นว่าที่นี่มีอะไรที่อะเมซิ่งซ่อนอยู่บ้าง” ขวัญในวัย 40 ปีซึ่งปัจจุบันทำงานประจำในตำแหน่ง Digital Creator ที่ JWD Art Space กล่าว

แท่งชาร์โคลที่ใช้วาดรูปและเขียนบทกวี

จากห้องชั้นล่างได้มีการรีโนเวตบ้านโดยทำบันไดวนขึ้นไปยังชั้นสองซึ่งเต็มไปด้วยภาพวาด ภาพสเก็ตช์ กวีนิพนธ์ที่เข้ากรอบเรียบร้อยจำนวนมาก รวมไปถึงตู้ไม้ขนาดใหญ่ที่อัดแน่นด้วยอุปกรณ์สำหรับวาดรูปและเขียนบทกวี ตัวอย่างการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง สมุดร่างบทกวี หนังสือ ภาพสเก็ตช์ที่ไม่ได้ใช้ เอกสารจำนวนมากและกองหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเกี่ยวกับท่านอังคาร ภายในตู้ลิ้นชักเหล็กหลายหลังขวัญยังจัดเก็บภาพสเก็ตช์ต่าง ๆ ของพ่อแบ่งเป็นหมวดหมู่และพีเรียดและบทกวีจัดแบ่งเป็นเกรด A-D ตามสภาพความสมบูรณ์ของชิ้นงาน งานที่อยู่ในสภาพชำรุดมากจะส่งให้นักอนุรักษ์ซ่อมแซมให้กลับฟื้นคืนสภาพ

จัดแบ่งผลงานเป็นหมวดหมู่และเป็นเกรด A-D ตามสภาพความสมบูรณ์ของชิ้นงาน

ในส่วนห้องทำงานของท่านอังคาร ขวัญกล่าวว่าเธอพยายามจำลองให้อยู่ในสภาพเหมือนจริงขณะที่พ่อทำงานให้ได้มากที่สุด 

“ขวัญเป็นคนชอบถ่ายรูปและได้ถ่ายรูปพ่อไว้พอสมควร ตอนนั้นเราไม่ได้คิดว่าจะทำ Archive อะไร แค่อยากเก็บภาพเป็นความทรงจำ แต่ภาพเหล่านี้ช่วยให้เราเห็นรายละเอียดในห้องทำงานพ่อทั้งหมด เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งนอกจากโมเมนต์ความผูกพันส่วนตัว พ่อจะตื่นตั้งแต่ตี 4-5 มาอ่านโคลงและแต่งบทกวี” ขวัญผู้เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับพ่อเรื่อง “พ่ออังคาร ผู้มาจากดาวโลก” รำลึกถึงพ่อ

อังคาร กัลยาณพงศ์ ในห้องทำงาน (ภาพถ่ายโดย อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์)

จากรูปที่ขวัญถ่ายไว้จะเห็นว่าในห้องทำงานเต็มไปด้วยกองหนังสือและเอกสารจำนวนมากรายล้อมตัวท่านอังคารไปหมด และภาพถ่ายขนาดใหญ่แสดงลวดลายรดน้ำปิดทองของตู้พระธรรมฝีมือช่างครูวัดเชิงหวายในสมัยอยุธยาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นตู้พระธรรมที่งดงามที่สุดในประเทศไทย ท่านอังคารชื่นชอบลวดลายกนกเครือเถาวัลย์ที่มีความอ่อนช้อยและซ้อนทับกันอย่างวิจิตรพร้อมกับลวดลายสิงสาราสัตว์ของตู้พระธรรมนี้อย่างมาก

นอกจากปรับปรุงบ้านเป็นหอจดหมายเหตุที่เปิดให้คนสนใจเข้าชม ฐานข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บในระบบดิจิทัลเป็น Digital Archive ด้วย

บางส่วนของผลงานคัดลอกศิลปกรรมไทยตามโบราณสถานต่าง ๆ

“ตั้งแต่พ่อยังมีชีวิต ขวัญทำ Facebook Page ชื่อ Angkarn Kallayanapong พยายามเลือกคอนเทนต์ที่ไม่ยาวไปและไม่ยากไป มีทั้งบทกวี ภาพวาดและเล่าเรื่องแบ็กกาวนด์ต่าง ๆ หลายแง่มุมที่หลายคนไม่รู้ เราค่อนข้างประหลาดใจว่ามีนักเรียน นักศึกษาสนใจงานพ่อพอสมควร เราจึงคิดว่าต้องทำ Digital Archive ด้วย เพื่อให้คนที่สนใจสามารถสืบค้นได้ตามหมวดหมู่ จัดทำให้ร่วมสมัยและไม่ยากจนเกินไป”

ขวัญได้น้องสาวคือ วิศาขา กัลยาณพงศ์ เข้ามาช่วยในการจัดทำ Archive ของพ่อแต่ทั้งคู่กล่าวว่าเครดิตส่วนใหญ่ต้องยกให้แม่คือ อุ่นเรือน กัลยาณพงศ์ (เสียชีวิตเมื่อปลายปี พ.ศ. 2563) ผู้เก็บข้าวของเครื่องใช้และผลงานทุกอย่างของพ่อและเป็นกำลังสำคัญในการเปิดบ้านเป็น พิพิธภัณฑ์บ้านจิตรกร กวี อังคาร กัลยาณพงศ์ ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนจะปิดตัวไป 

“แม่เป็นคนแรกที่ทำ Archive ไว้ เราเข้ามาทำให้เป็นระบบและเป็นหมวดหมู่มากขึ้นเท่านั้น” ทั้งคู่กล่าว

ใครดูถูกดูหมิ่นศิลปะ อนารยะไร้สกุลสถุลสัตว์

ราวลิงค่างเสือสางกลางป่าชัฏ ใจมืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ

เพียงกินนอนสืบพันธุ์นั้นฤๅ ชื่อว่าสิ่งประเสริฐเลิศล้ำ

หยามยโสกักขฬะอธรรม เหยียบย่ำทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์

(บางส่วนจากบทกวี โดย อังคาร กัลยาณพงศ์)

ขวัญกล่าวว่างานของท่านอังคารมีแนวคิดและรูปแบบปรับเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ สุขภาพ และสภาพสังคมในขณะนั้น ในช่วงปี พ.ศ.2490-2507 ซึ่งเป็นการทำงานยุคแรก ๆ นิยมใช้ปากกาคอแร้งเป็นหลักในการทำงาน และเป็นช่วงที่ได้ติดตามอาจารย์เฟื้อไปในการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยโบราณทำให้ได้อิทธิพลด้านการใช้ลายเส้นไทยที่ละเอียดและอ่อนช้อย 

อังคาร กัลยาณพงศ์
“มนุษย์ละลาย” (Melt Man) ผลงานสะสมของหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์

ช่วงปี พ.ศ.2508-2520 เป็นช่วงสำคัญที่ขวัญเรียกว่า “ช่วงค้นหาตัวเอง” เนื้อหาทั้งในกวีนิพนธ์และงานจิตรกรรมมีความเข้มข้นและแสดงพลังวัยหนุ่มซึ่งสะท้อนผ่านลายเส้นที่หนักแน่น เช่น ภาพชุดชาร์โคลชื่อ “มนุษย์ละลาย” (Melt Man) จำนวน 3 ภาพ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในคอลเล็กชันของหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ (The National Gallery of Singapore) และเป็นช่วงเวลาที่โคลงฉันท์กาพย์กลอนที่แต่งไว้ได้นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือเช่น กวีนิพนธ์ ลำนำภูกระดึง บางกอกแก้วกำศรวล (นิราศนครศรีธรรมราช) และบางบทจากสวนแก้ว

ภาพวาดชาร์โคลรูปแม่ของอังคาร กัลยาณพงศ์

“ย่าเป็นคนที่ปลูกฝังการรักการอ่านให้พ่อเพราะย่าชอบให้พ่ออ่านวรรณกรรมให้ฟัง เช่น เรื่องอิเหนา ท่านจึงซึมซับในโคลงฉันท์กาพย์กลอนมาตั้งแต่เด็ก สมบัติของย่าที่พ่อได้มาคือ ครก และท่านเก็บไว้อย่างดีเพื่อเป็นพลังใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

“เวลาเขียนบทกวี ท่านจะเขียนบนกระดาษเปล่าและไม่ใช้ไม้บรรทัดในการตีเส้น ท่านปฏิเสธการใช้ไม้บรรทัดโดยบอกว่าให้มนุษย์เราเชื่อมั่นในตัวเอง ท่านเคยกล่าวว่าไม้บรรทัดจะเที่ยงตรงได้เท่าไรกันเชียว”

อังคาร กัลยาณพงศ์

ช่วงต่อมาระหว่าง พ.ศ.2521-2530 เป็นช่วงที่สนใจเรื่องพุทธศาสนา ปรัชญา และจักรวาลทำให้เนื้อหามักสะท้อนคติชีวิต ปรัชญา และสัจธรรมผ่านรูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ภาพวาดชาร์โคลชื่อ “เมฆมโนคติ” 

ในช่วงบั้นปลายชีวิตตั้งแต่พ.ศ.2530 จนกระทั่งท่านเสียชีวิตจากภาวะไตวายเมื่อพ.ศ.2555 เป็นช่วงที่สายตาไม่ดีจากทั้งอายุที่มากขึ้นและปัญหาสุขภาพทำให้ภาพวาดลดทอนรายละเอียดลงไปมาก

“มีสเก็ตช์ที่ทิ้งเยอะมากเพราะท่านว่าดีไม่พอ แต่ท่านบอกว่าสิ่งที่ทำได้ต่อเนื่องทุกวันคือการเขียนบทกวี ก่อนท่านเสียไม่กี่วันท่านยังบอกว่ายิ่งแก่ยิ่งไหลมาเอง”

อังคาร กัลยาณพงศ์

ฉันเอาฟ้าห่มให้                   หายหนาว

ดึกดื่นกินแสงดาว                 ต่างข้าว

น้ำค้างพร่างกลางหาว หาดื่ม

ไหลหลั่งกวีไว้เช้า                ชั่วฟ้าดินสมัยฯ

(บางส่วนจาก ปณิธานของกวี โดย อังคาร กัลยาณพงศ์)

ขวัญกล่าวว่าพ่ออายุ 50 ปีเมื่อเธอเกิด เธอได้เรียนวาดรูปกับพ่อบ้างแต่น้อยมาก แต่ได้ซึมซับกลิ่นอายศิลปะมาโดยตลอด ขวัญจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและต่อระดับปริญญาโทสาขาบริหารวัฒนธรรม คณะนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ไม่ได้ทำงานศิลปะแต่เธอคลุกคลีแวดวงศิลปะหลายปีในฐานะผู้ประสานงานนิทรรศการศิลปะ ผู้ช่วยคิวเรเตอร์ และคิวเรเตอร์ นอกจากนี้ยังมีผลงานเขียนหนังสือ เช่น เรื่องสั้นชื่อ“เงาลับจากปลายป่า” นิยายเรื่อง “อีกไม่นานเราจะสูญหาย” ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประจำปี 2561 และรวมเรื่องสั้น “ในเงาคือเราผู้ซ่อนเร้น”

ภาพพอร์ตเทรตขวัญ-อ้อมแก้ว โดยอังคาร กัลยาณพงศ์

“ในขณะที่จัดทำ Archive เราก็เจอหลายสิ่งที่เซอร์ไพรส์ เช่น งานคัดลอกจิตรกรรมไทยโบราณบนกระดาษไขและกระดาษปอนด์ที่ท่านยังเก็บไว้ บทกวีที่เราไม่เคยเห็น ภาพร่างชาร์โคลที่เราไม่รู้ว่าท่านวาดแบบนี้ด้วย เช่น รูปเสือ และงานจิตรกรรมหลายชิ้นที่ยังวาดไม่เสร็จเพราะถ้าวาดแล้วไม่ดีท่านก็จะลบแล้ววาดใหม่ ท่านว่าความคิดใหม่จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภาพวาดหนึ่งชิ้นใช้เวลาค่อนข้างนาน”

ขวัญกล่าวว่าส่วนที่ยากที่สุดของโครงการนี้คือการรีโนเวตอาคารเพราะต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการแสดงงานโดยคำนึงถึงความชื้น แสงแดด ฝุ่นและระบบป้องกันการโจรกรรม เป็นต้น

อังคาร กัลยาณพงศ์
ภาพพอร์ตเทรตตัวเองโดยอังคาร กัลยาณพงศ์

“เราต้องค่อย ๆ แก้ปัญหาไปด้วยเงินทุนส่วนตัวที่จำกัด ยังไม่ได้ของบประมาณสนับสนุนจากทางภาครัฐแต่คิดว่าควรจะลองยื่นขอดู เราอยากปูทางทำโครงการนี้เพราะถ้าเราไม่ทำใครจะทำ ต่อไปเมื่อไปอยู่ในมือใครบริหารก็จะง่ายขึ้น เฟสต่อไปก็จะทำคาเฟ่และอาร์ตชอปภายในบริเวณบ้าน”

Art and Archive of Angkarn Kallayanapong คาดหมายว่าจะเป็นแหล่งรวบรวมทุกมิติของชีวิตและผลงานของท่านอังคารผู้ได้ชื่อว่ากวีสามภพชาติตามที่ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับมกุฎ อรดี ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2529 ว่า

“ผมเชื่อว่าในภพชาติก่อนผมเคยเขียนบทกวีมาก่อน แล้วมาในภพชาตินี้ผมก็เขียนกวี และผมจะยังเป็นกวีเป็นศิลปินอีกในภพชาติต่อไป” 

Fact File

  • ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ Art and Archive of Angkarn Kallayanapong ได้ที่ Facebook : Angkarn Kallayanapong
  • อังคาร กัลยาณพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง กรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ.2484 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2488 รุ่นเดียวกับประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) และ ท่านกูฎ-ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ 
  • ท่านอังคารมีเหตุให้เรียนไม่จบต้องลาออกกลางคันและใช้ชีวิตอย่างยากแค้นและหาเลี้ยงชีพจากการทำงานศิลปะเล็ก ๆ น้อย ๆ และแต่งกลอนขาย จนกระทั่งอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรชักชวนให้ไปช่วยในโครงการคัดลอกจิตรกรรมไทยตามโบราณสถานต่าง ๆ  จนทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมไทยและพัฒนาฝีมือสร้างสรรค์งานอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
  • ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา ท่านอังคารได้สร้างสรรค์จิตรกรรมชิ้นใหญ่และจิตรกรรมฝาผนังสำหรับสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โรงแรมเพรสซิเดนท์ โรงแรมเอราวัณ ธนาคารแห่งประเทศไทย วิทยาลัยพยาบาลสระบุรี โรงเรียนเตรียมทหารเก่า (ปัจจุบันผนังงานที่มีผลงานถูกทุบทิ้งไปแล้ว) และประพันธ์บทกวีจำนวนมาก
  • พ.ศ. 2529 อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ (S.E.A. Write) จาก ปณิธานกวี และกระทรวงวัฒนธรรมยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี 2532 
  • อังคาร กัลยาณพงศ์ เสียชีวิตจากภาวะไตวายในวัย 86 ปี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"