ครั้งแรกกับการเปิดคลังศิลปะกว่า 600 ชิ้นของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน Google Arts & Culture
Arts & Culture

ครั้งแรกกับการเปิดคลังศิลปะกว่า 600 ชิ้นของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน Google Arts & Culture

Focus
  • ผลงานศิลปะกว่า 600 ชิ้นในคลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากรจะเปิดให้ผู้สนใจได้ชมแบบออนไลน์บน Google Arts & Culture ในรูปแบบความละเอียดสูงสุดระดับกิกะพิกเซลที่บันทึกด้วย Art Camera 
  • หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นที่แรกของประเทศไทยที่ทางกูเกิลได้นำ Art Camera มาให้ใช้ในการบันทึกภาพผลงาน และคาดหมายว่าจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมแบบออนไลน์ได้ภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564
  • คลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากรเก็บผลงานทรงคุณค่ากว่า 1,000 ชิ้นที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ การประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ และการประกวดศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ

นับเป็นครั้งแรกที่ผลงานศิลปะกว่า 600 ชิ้นในคลังสะสมศิลปกรรมของ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดให้ผู้สนใจได้ชมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่แสวงผลกำไร Google Arts & Culture ในรูปแบบความละเอียดสูงสุดระดับกิกะพิกเซลที่บันทึกด้วย Art Camera ซึ่งพัฒนาโดยกูเกิลเพื่อแสดงรายละเอียดของแต่ละชิ้นงานได้อย่างคมชัดมากที่สุด

หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
ทีมงานหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรอบรมการใช้ Art Camera และอุปกรณ์อื่น ๆ
กับผู้เชี่ยวชาญจาก Google Asia Pacific

โครงการความร่วมมือระหว่าง หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการเก็บรักษาคลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัย กับ Google Cultural Institute เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2562) โดยทางหอศิลป์ต้องการเผยแพร่ผลงานศิลปะให้เข้าถึงผู้ที่สนใจในวงกว้าง และทางกูเกิลเล็งเห็นความสำคัญของงานศิลปะในคอลเล็กชันของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นการขยายเครือข่ายพันธมิตรซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์ม Google Arts & Culture จัดแสดงคอลเล็กชันงานศิลปะของพิพิธภัณฑ์และองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรมทั่วโลกกว่า 2,000 แห่ง

หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผลงานศิลปกรรมสะสมของมหาวิทยาลัยนำมาจัดเก็บและจัดแสดงในรูปแบบของคลังสะสมแบบเปิด 
ณ หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม

“เรามีคลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยที่เก็บผลงานที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ (นับตั้งแต่การประกวดครั้งที่ 15 เมื่อ พ.ศ.2507) การประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ และการประกวดศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ จำนวนกว่า 1,000 ชิ้น โดยเก็บรักษาไว้ที่หอศิลป์สนามจันทร์ (ในวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม) แต่มีข้อจำกัดการเข้าถึง เมื่อเรามีโอกาสได้ไปร่วมงานเปิดตัวโครงการใหม่ที่ Google Arts and Culture ทำร่วมกับนิทรรศการ Great and Good Friends (นิทรรศการเนื่องในวาระครบรอบ 200 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ.2561) จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยและประชุมหารือกันมาเรื่อย ๆ จนร่วมมือเป็นพาร์ตเนอร์ ทางกูเกิลยินดีให้ทางเรายืม Art Camera ซึ่งมีไม่กี่ตัวในโลกสำหรับบันทึกภาพความละเอียดสูงเพื่อใช้อัปโหลดการทำงานหลังบ้าน”

อาจารย์เต้-ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงจุดเริ่มต้นความร่วมมือของสององค์กร

หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

Art Camera กับภาพคมชัดระดับกิกะพิกเซลสำหรับงาน 2 มิติ

หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงถือเป็นที่แรกของประเทศไทยที่ทางกูเกิลได้นำ Art Camera มาให้ใช้ในการบันทึกภาพผลงาน รวมทั้งชุดไฟและคอมพิวเตอร์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายพร้อมทั้งจัดอบรมเรื่องการใช้อุปกรณ์และการบันทึกรายละเอียดของแต่ละชิ้นงานให้ทีมงานของมหาวิทยาลัย

การบันทึกภาพทั้งหมดและฐานข้อมูลต่าง ๆ จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาและอนุมัติจากทางกูเกิลว่าจะเริ่มเปิดให้ชมได้เมื่อไร อาจารย์เต้คาดหมายว่าภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 คนรักศิลปะน่าจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ในการรับชมคอลเล็กชันสะสมของศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีผลงานชั้นเยี่ยมของศิลปินชื่อดังมากมายเช่น “ภาพเหมือน (สุวรรณี สุคนธา)” โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต (รางวัลเหรียญเงินในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 17 พ.ศ.2510) “ลำนำอรหันต์” โดย ประสงค์ ลือเมือง (รางวัลเหรียญทองในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 34 พ.ศ.2531) และ “ภิกษุสันดานกา” โดย อนุพงษ์ จันทร (รางวัลเหรียญทองในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 53 พ.ศ.2550) 

หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ “ภาพเหมือน (สุวรรณี สุคนธา)” โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต

“Art Camera สามารถถ่ายได้เฉพาะผลงานที่เป็น 2 มิติ ส่วนผลงานประติมากรรม เครื่องปั้นดินเผา และผลงานสื่อผสมที่มีลักษณะนูนต่ำนูนสูงหรือมีวัสดุแวววาวก็จะถ่ายไม่ได้ ทำให้จากผลงานสะสมกว่า 1,000 ชิ้น จึงต้องคัดเฉพาะงาน 2 มิติจากเวทีประกวดศิลปกรรมแห่งชาติและศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ที่บันทึกเข้าแพลตฟอร์ม Google Arts & Culture ได้ประมาณ 600 ชิ้น และเรื่องลิขสิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญดังนั้นในขั้นแรกจึงเป็นการนำเสนอเฉพาะผลงานที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของเท่านั้น” อาจารย์เต้กล่าว

เบื้องหลังการทำงานที่ต้องละเอียดทุกขั้นตอน

อาจารย์เต้เล่าถึงขั้นตอนการทำงานว่า เริ่มจากทำความสะอาดผลงานแต่ละชิ้น และหากงานใดเข้ากรอบกระจกก็ต้องถอดกรอบออกเพื่อไม่ให้มีแสงสะท้อน จากนั้นแยกชิ้นงานตามขนาดเพื่อสะดวกในการจัดไฟและปรับระยะกล้อง การถ่ายภาพต้องถ่ายในห้องที่ห้ามมีแสงเข้า Art Camera ที่บันทึกภาพระดับกิกะพิกเซลมีความแตกต่างจากกล้องความละเอียดสูงทั่วไปที่การทำงานของกล้องจะใช้คลื่นเสียงและเลเซอร์ในการกำหนดระยะของภาพเพื่อให้โฟกัสจุดเล็ก ๆ ในภาพได้อย่างแม่นยำ กล้องจะคำนวณและบันทึกภาพเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ หลายร้อยภาพและนำมาประมวลผลเป็นภาพใหญ่ที่มีความละเอียดสูงมาก กล้องจะใช้เวลาในการบันทึกภาพไม่ต่ำกว่า 20 นาทีต่อ 1 ชิ้นงาน

“งานแต่ละชิ้นต้องจัดไฟใหม่เพราะแสงสะท้อนไม่เท่ากัน งานส่วนใหญ่ของศิลปินในคลังสะสมมักเป็นเฉดสีดำทำให้จัดแสงยากพอสมควร เราพยายามแยกผลงานตามขนาดเพื่อที่จะได้ถ่ายเป็นเซต ๆ ไปโดยไม่ต้องปรับระยะกล้องและแสงไฟมากนักจะช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น กล้องจะถ่ายจากซ้ายไปขวาและบนลงล่างโฟกัสไปเรื่อย ๆ และประมวลผลรวม เรามอนิเตอร์หน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ว่ามีจุดไหนไม่ชัด หากไม่ชัดก็ถ่ายใหม่ บางชิ้นใช้เวลาร่วมชั่วโมง

“หลังจากนั้นเราจะส่งภาพให้ทางกูเกิลเป็นลอต ๆ ลอตละประมาณ 30-40 ภาพจากนั้นทางกูเกิลจะอัปโหลดขึ้นระบบคลาวด์และเปิดให้เราเข้าไปดูได้ก็จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามีจุดไหนยัง Error บ้างก็ต้องถ่ายซ่อมใหม่ นอกจากนี้เราต้องทำตัวอย่างวิธีการคร็อปภาพเพราะทางกูเกิลจะเป็นฝ่ายที่คร็อปให้เนื่องจากภาพต้องไม่มีขอบและต้องไม่มีลายน้ำ เราก็ต้องเข้าไปเช็กทุกรูปว่าคร็อปถูกต้องหรือเปล่า”

ขั้นตอนที่สำคัญต่อมาคือการใส่รายละเอียดของแต่ละภาพใน Object Metadata ให้ถูกต้องอาทิ ชื่อผลงาน ชื่อศิลปิน ปีและเทคนิคการสร้างสรรค์ คำอธิบายผลงาน และ แฮชแท็กโดยในเบื้องต้นนี้รายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ

“ทางกูเกิลจะมีระบบหลังบ้านแบบออโตที่เช็กรายละเอียดทุกรูปว่าเราใส่ครบทุกหัวข้อหรือเปล่า ปัญหาคืองานของศิลปินที่เขาบังเอิญตั้งชื่องานเหมือนกันหรือตั้งชื่อแปลก ๆ ไม่มีความหมาย ทางกูเกิลก็จะขึ้นเลยว่าผิดเราก็ต้องไปปลดล็อกและแก้ให้ผ่าน หรือแฮชแท็กบางครั้งก็จะขึ้นให้อัตโนมัติเช่นรูปวัดจะขึ้นเลยว่า #architecture ซึ่งบางครั้งก็ไม่ตรงกับความหมายภาพ เราก็ต้องมาแก้ให้เหมาะสม”

หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

ทัวร์งานศิลปะแบบเจาะลึกกับ “In Painting Tour”

ศักยภาพของภาพถ่ายความละเอียดสูงด้วย Art Camera จะแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดในเซกชันที่เรียกว่า In Painting Tour ซึ่งเป็นการนำชมรายละเอียดในจุดต่าง ๆ ของผลงานแต่ละชิ้น ผู้ชมสามารถซูมเข้าซูมออกเพื่อดูรายละเอียดของฝีแปรงและเท็กเจอร์โดยมีคำอธิบายในส่วนต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งศิลปินซ่อนความนัยบางอย่างในจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึง

รายละเอียดงานสีฝุ่นบนผ้าใบ “ลำนำอรหันต์” โดย ประสงค์ ลือเมือง

“เราจะเปิดตัวด้วย 10 ผลงานที่มีรูปแบบการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันไม่ได้คัดเลือกจากชื่อเสียงศิลปิน อาทิ จิตรกรรมประเภทที่เน้นให้เห็นฝีแปรง เช่น ผลงานของ สันต์ สารากรบริรักษ์ จิตรกรรมที่เน้นการใช้วัสดุผสม เช่น งานชื่อ ภิกษุสันดานกา ของอนุพงษ์ จันทร และจิตรกรรมที่มีรายละเอียดมากมาย เช่น งานของ ประสงค์ ลือเมือง และงานเทคนิคภาพพิมพ์ที่มองเห็นรายละเอียดลายเส้นจากทำแม่พิมพ์อย่างชำนาญ เช่น ผลงานของ บุญมี แสงขำ หลังจากนี้เราวางแผนว่าจะแนะนำเพิ่มเดือนละ 2 ชิ้น”

รายละเอียดของภาพพิมพ์ “ไฮเดรนเยีย” โดย บุญมี แสงขำ

อาจารย์เต้ยกตัวอย่างงานภาพพิมพ์สีขาวดำรูปดอกไม้ชื่อ “ไฮเดรนเยีย” โดย บุญมี แสงขำ (รางวัลเหรียญเงินในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 64 พ.ศ.2561) ที่นำเสนอใน “In Painting Tour” ว่าภาพนี้นอกจากความสมจริงแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนและกระบวนการในการสร้างผลงานภาพพิมพ์ที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความประณีตเป็นอย่างมาก และยิ่งรายละเอียดในผลงานมีมากเท่าไร ความซับซ้อนในกระบวนการสร้างสรรค์ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น 

“สิ่งที่ทางกูเกิลเน้นย้ำคือห้ามทำอะไรเชิงพาณิชย์เด็ดขาด จะให้คนดาวน์โหลดรูปและเรียกเก็บเงินไม่ได้ ต้องทำเพื่อการศึกษา 100% เท่านั้น”

ชมนิทรรศการออนไลน์ในหลากหลาย Stories 

การนำเสนองานตามธีมต่าง ๆ ที่เรียกว่า Stories เป็นอีกหนึ่งเซกชันที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจคล้ายกับการจัดนิทรรศการในแกลเลอรีออนไลน์ ทางหอศิลป์วางแผนจะเปิดตัวด้วย 8 เรื่องซึ่งส่วนหนึ่งมาจากนิทรรศการที่เคยจัดแสดงตามธีมต่าง ๆ จากคลังสะสมและอีกส่วนจะเล่าไทม์ไลน์ (Timeline) ของงานในคอลเล็กชันเพื่อให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ศิลปะช่วงหนึ่งในประเทศไทย

“Stories ตั้งต้นที่เราเตรียมไว้มีเรื่อง ‘สรรพนามธรรม’ (Miscellaneous Abstract) พูดถึงผลงานศิลปะนามธรรมจากเวทีศิลปกรรมแห่งชาติอันเป็นเวทีประกวดระดับชาติที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศที่ฉายภาพศิลปะสมัยใหม่ของไทยในกระแสหลักได้อย่างน่าสนใจ ต่อมาเป็นเรื่อง ‘กาย-กลาย’ (Kaya) พูดถึงการคลี่คลายรูปทรงมนุษย์มาสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะรูปแบบต่าง ๆ แต่ใน Stories จะเอามาเฉพาะงาน 2 มิติ จากนั้นเป็นเรื่อง ‘Spotlight’ ที่เน้นเรื่องของแสงและเงาที่ศิลปินใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน เราวางแผนว่าจะมี Stories ใหม่ ๆ ทุก 2-3 เดือนโดยเนื้อหาต้องมีความน่าสนใจและภาษาอังกฤษที่ใช้ต้องได้มาตรฐานผ่านการ Approve จากกูเกิล”

Virtual Tour กับ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ วังท่าพระ

นอกเหนือจากจัดแสดงงานในคลังสะสมผ่านแพลตฟอร์มของ Google Arts and Culture เฟสต่อไปที่ทางอาจารย์เต้และทีมงานวางเป้าหมายคือการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานและภาควิชาอื่นภายในมหาวิทยาลัย เช่น คณะสถาปัตยกรรม โดยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทย

“อีกลูกเล่นหนึ่งของกูเกิลที่เราสนใจคือ เกมเพื่อการเรียนรู้ โดยใช้ผลงานศิลปะในแขนงต่าง ๆ เป็นตัวต่อยอดการศึกษา ตอนนี้ทางหอศิลป์เราทำ Virtual Tourให้ผู้สนใจได้ชม หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (ในวิทยาเขตวังท่าพระ กรุงเทพฯ) ที่เพิ่งปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์ได้แบบ 360 องศา รวมถึงบริเวณสวนแก้วที่มีประติมากรรมกลางแจ้งด้วย เราจึงสนใจเรื่องการนำ VR (Virtual Reality) มาใช้เพราะอยากให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมแบบ Immersive” 

อาจารย์เต้-ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ ขณะนำชมผลงานในคลังสะสมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัย

ใน Virtual Tour ที่ทางหอศิลป์จัดทำและนำเสนอผ่านเว็บไซต์ของหอศิลป์ที่ www.art-centre.su.ac.th เป็นการพาชมสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอกของกลุ่มอาคารอนุรักษ์วังท่าพระ หรืออาคารท้องพระโรงซึ่งสร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เพื่อเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และปัจจุบันเป็นหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ภาพถ่ายแบบ 360 องศาจากพื้นที่จริงของอาคารและบริเวณโดยรอบช่วยเปิดมุมมองใหม่ในจุดที่หลายคนอาจไม่เคยสังเกตมาก่อน พร้อมทั้งให้ข้อมูลการอนุรักษ์ซ่อมแซมเมื่อครั้งปรับปรุงล่าสุดและประวัติศาสตร์ของกลุ่มอาคาร​

Virtual Tour ยังนำชมบริเวณสวนแก้วที่จัดแสดงประติมากรรมกลางแจ้งโดยศิลปินชั้นครู เช่น สนั่น ศิลากรณ์, เขียน ยิ้มศิริ และ ชลูด นิ่มเสมอ พร้อมให้รายละเอียดของแต่ละชิ้นงานรวมถึงประวัติศาสตร์ของศาลาดนตรี ศาลเจ้าแม่เฮงหลุย และภาพสวนแก้วในอดีต

เครดิตภาพ : หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

Fact File

  • ติดตามข่าวสารอัปเดตเกี่ยวกับหอศิลป์และโครงการร่วมมือกับ Google Arts and Culture ได้ที่ www.facebook.com/ArtCentre.SilpakornUniversity

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ