เจริญไชย ชุมชนจีนเก่าแก่ในเยาวราช ที่กำลังถูกท้าทายด้วยการเติบโตของเมือง
Arts & Culture

เจริญไชย ชุมชนจีนเก่าแก่ในเยาวราช ที่กำลังถูกท้าทายด้วยการเติบโตของเมือง

Focus
  • ชุมชนเจริญไชยย่านเยาวราช เป็นศูนย์กลางการค้าขายกระดาษไหว้เจ้าและข้าวของเครื่องใช้ในการประกอบพิธีกรรมทุกอย่างของชาวจีนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
  • “บ้านเก่าเล่าเรื่อง” คือชื่อพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นภายในชุมชนเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ในขณะที่แผนการพัฒนาผังเมืองทำให้คนในชุมชนหวั่นวิตกกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
  • นอกจากตึกแถวอายุกว่า 100 ปีแล้ว เจริญไชยยังเป็นจุดเช็กลิสต์ที่สายกินและสายเล่นกล้องฟิล์มไม่ควรพลาด

เจริญไชย ชื่อนี้พาเราเดินเข้าไปในซอยเจริญกรุง 23 ซึ่งเป็นซอยเล็กๆอยู่ไม่ไกลจากวัดเล่งเน่ยยี่หรือวัดมังกรกมลาวาสในย่านไชน่าทาวน์ของกรุงเทพฯ เป็นย่านตึกแถวเก่าอายุกว่า 100 ปี ประมาณ 80 หลังคาเรือนที่เป็นแหล่งค้าขายกระดาษไหว้เจ้าที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย

โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีน กระดาษสีแดงและสีทองและข้าวของเครื่องใช้ในการประกอบพิธีไหว้เจ้าเรียงรายตลอดทางในย่านนี้ที่รู้จักในชื่อ ชุมชนเจริญไชย หรือสมัยก่อนชาวจีนเรียกว่า ตรอกตงเฮงโกย ที่แปลว่า ไม้ไผ่ยาว ตามลักษณะของซอยที่ลึกเข้าไปข้างใน

เจริญไชย
เจริญไชย
ย่าน เจริญไชย เป็นศูนย์กลางการค้าขายกระดาษไหว้เจ้าและข้าวของเครื่องใช้ในการประกอบพิธีกรรมของชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ด้วยพื้นที่ชุมชนที่ล้อมรอบด้วยศาลเจ้าที่สำคัญถึง 5 แห่งคือ วัดมังกรกมลาวาส ศาลเจ้ากวางตุ้ง ศาลเจ้าหลีตีเมี้ยว ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ และศาลเจ้าไต้ฮงกง สถานที่สักการะของทั้งชาวจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง และจีนแคะทำให้ชุมชน เจริญไชย เป็นย่านขายสินค้าทุกชนิดที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมของชาวจีนไม่ว่าจะงานตรุษ งานแต่ง งานไหว้พระจันทร์ หรืองานเช็งเม้ง จนมีคำพูดติดปากของคนในชุมชนว่า “ถ้าจะหาของใช้ในพิธีจีนต้องมาที่นี่ ถ้าที่นี่ไม่มีก็ไม่ต้องไปหาที่อื่นแล้ว”

อย่างไรก็ตามธุรกิจของชุมชนซบเซาไปนานกว่า 5 ปีระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และเพิ่งจะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อมีการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในปีที่ผ่านมา

เจริญไชย

ถึงแม้การเดินทางมาเยาวราชหรือไชน่าทาวน์จะสะดวกมากขึ้นเพราะสถานีวัดมังกรอยู่ห่างจากชุมชน เจริญไชย เพียง 100 เมตรเศษ แต่การปรับพื้นที่โดยรอบและการออกผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ที่เปิดโอกาสให้พื้นที่รัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้าสามารถก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ ทำให้ผู้คนในชุมชนกังวลกับอนาคตที่ไม่แน่นอนของตัวเอง จนเกิดการรวมกลุ่มชื่อว่า “กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเจริญไชย” เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์และมรดกวัฒนธรรมของชุมชนให้คนทั่วไปรับรู้ และแฝงไว้ด้วยคำถามถึงแนวทางการพัฒนาผังเมืองว่าต้อง “เก่าไป…ใหม่มา” จริงหรือ

เจริญไชย
พิพิธภัณฑ์ชุมชน“บ้านเก่าเล่าเรื่อง” บอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่และวิถีชีวิตของคนจีนในสยาม

เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนผ่านพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน

กระบอกเสียงหลักที่เป็นรูปธรรมที่จะช่วยบอกเล่าประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชุมชน คือการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในชุมชนที่ชื่อว่า “บ้านเก่าเล่าเรื่อง” โดยใช้บ้านเก่าเล็กๆหลังหนึ่งซึ่งชั้นล่างมีพื้นที่นิดเดียวพอแค่วางตู้ขายหนังสือและเสื้อยืดที่ระลึกเท่านั้น ผู้ชมต้องขึ้นบันไดไม้แคบๆไปชั้น 2 อันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมซึ่งเปิดเมื่อ พ.ศ.2554

เจริญชัย
นิทรรศการหลักจำลองบรรยากาศหลังเวทีการแสดงงิ้วเพราะสมัยก่อนเยาวราชมีโรงงิ้ว 10 กว่าโรง

เดิมบ้านหลังนี้เป็นที่อยู่ของนักแสดงงิ้วคณะเฮียเฮง และปล่อยทิ้งร้างมานาน นิทรรศการหลักของพิพิธภัณฑ์จึงนำเสนอเรื่อง “หลังม่านงิ้ว” เพื่อรำลึกถึงผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในห้องนี้ด้วยการจำลองบรรยากาศหลังเวทีการแสดงงิ้ว ประกอบด้วยเสื้อผ้า หีบใส่เครื่องแต่งตัวและเครื่องประดับ อุปกรณ์แต่งหน้า โต๊ะแต่งตัว อาวุธที่ใช้ในการแสดง ส่วนมุมด้านล่างของโรงงิ้วจำลองจัดแสดงประวัติศาสตร์ย่อยของชุมชม มีข้าวของเครื่องใช้และรูปถ่ายเก่า

จำลองบรรยากาศหลังม่านงิ้วด้วยข้าวของเครื่องใช้ของนักแสดง

“สมัยก่อนบ้านนี้อยู่กัน 4-5 ครอบครัว เพราะคนจีนแต่เดิมอยู่กันแบบพอมีที่หลับที่นอน ตื่นเช้าก็แยกย้ายกันไปทำงาน ย่านเยาวราชเคยมีโรงงิ้ว 10 กว่าโรง คนที่มีอาชีพเกี่ยวกับงิ้วทั้งหลายอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนตัดเย็บชุด คนทำอาวุธสำหรับนักแสดง ช่างทำเครื่องดนตรีก็อยู่ซอยแปลงนามอยู่ใกล้กัน แต่ปัจจุบันไม่มีคณะงิ้วหลงเหลืออยู่เลยในย่านนี้” ศิริณี อุรุนานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูย่าน เจริญไชย ให้ข้อมูล

มุมหมอดูปึงเต็งลั้งเซียนที่เคยอยู่คู่ชุมชนมาหลายสิบปีก่อนเลิกกิจการ

มุมสะดุดตาตั้งแต่ขึ้นบันไดมาคือมุมหมอดูปึงเต็งลั้งเซียน ของ เฮียฮก แซ่ปึง หมอดูโหราศาสตร์จีนโบราณที่อยู่คู่กับชุมชนมานานกว่า 80 ปีตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อของเขา หลังเฮียฮกเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2555 และไม่มีผู้สืบทอดกิจการ ภรรยาของเขาจึงนำป้ายทั้งหมดของร้านรวมทั้งตำราและรูปถ่ายมามอบให้พิพิธภัณฑ์จัดแสดง

จำลองการจัดโต๊ะสำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์

ที่ขาดไม่ได้คือการชูเอกลักษณ์ของชุมชนที่เป็นแหล่งค้าขายกระดาษสำหรับงานประเพณีของจีนตั้งแต่เกิดจนตาย มุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์จึงจำลองการจัดโต๊ะสำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ซึ่งเป็นประเพณีที่ใช้กระดาษมากที่สุดและมีสีสันสวยงามที่สุด อีกทั้งเครื่องแขวนประดับก็ประดิษฐ์จากการพับกระดาษเป็นรูปต่างๆอย่างวิจิตรงดงามเพื่อแสดงฝีมือของแต่ละร้าน

“นี่เป็นการจัดโต๊ะขนาดย่อมเท่านั้น ประมาณแค่ 1 ใน 7 ของการจัดวางของไหว้เทพเจ้าของจริงในงานไหว้พระจันทร์ที่ชุมชนจัดมาต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2554 เพื่อโปรโมตวัฒนธรรมชุมชน แม้แต่สถานีโทรทัศน์ CCTV จากประเทศจีนยังมาถ่ายทำประเพณีการไหว้พระจันทร์แบบดั้งเดิมจากเราเมื่อ พ.ศ.2555 เนื่องจากช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน พิธีกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้าม ทำให้ธรรมเนียมปฏิบัติขาดช่วงไป” ศิริณีซึ่งเกิดและเติบโตที่นี่และเปิดร้านขายฟิล์มและกรอบรูปชื่ออุปกรณ์โฟโต้ กล่าวเพิ่มเติม

โชว์จุดเด่นเรื่องกระดาษไหว้เจ้าด้วยพิธีตั้งโต๊ะไหว้พระจันทร์

สำเนาพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 5 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 111 (พ.ศ.2435) ที่ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯสืบค้นจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติและนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แสดงถึงพระราชประสงค์ที่พระราชทานที่ดินพร้อมตึกแถวในย่านนี้ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสของพระองค์ นี่ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าตึกแถวบริเวณนี้มีอายุกว่า 100 ปี

ภาพถ่ายเก่าของผู้คนในชุมชนและข้าวของเครื่องใช้

ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้อยู่ในกรรมสิทธิ์ของ มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ โดยแต่เดิมให้คนในชุมชนเช่าเป็นสัญญาระยะยาว จน พ.ศ.2551 ยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาวและเหลือเพียงต่อสัญญาเป็นปีต่อปี

“ตอนนี้จ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน คนในชุมชนก็ไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเราก็ยื่นหนังสือทักท้วงขอให้มีการพิจารณาเรื่องการวางผังเมืองใหม่ แนวทางการอนุรักษ์และขอให้ชุมชนมีส่วนร่วม เราส่งหนังสือถึงหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สมาคมสถาปนิกสยามฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เราขอให้กรมศิลปากรส่งผู้เชี่ยวชาญมาประเมินคุณค่าของอาคารตึกแถว ตอนนี้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการพัฒนาส่วนต่อเนื่องกรุงรัตนโกสินทร์แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นอย่างไร” ศิริณีกล่าว

กลุ่มอนุรักษ์ฯของชุมชนจึงจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2553 และเริ่มทำกิจกรรมให้คนข้างนอกเห็นคุณค่าของชุมชน “เราอยากให้เห็นว่าเรามีอะไรดี และควรเก็บรักษาไว้ โดยเริ่มจากการจัดพิธีตั้งโต๊ะไหว้พระจันทร์ในปีนั้น เพื่อบอกเล่าจุดแข็งของชุมชนที่เป็นแหล่งค้าขายกระดาษในงานประเพณีจีนทุกอย่าง” เธอกล่าว

นอกจากนี้ยังจัดพิมพ์โบรชัวร์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษแจกจ่ายให้คนทั่วไปรับรู้ประวัติความเป็นมาของชุมชน พร้อมแผนที่สำหรับเดินชมว่ามีของดีอะไรบ้างในย่านนี้ตั้งแต่ร้านขายกระดาษ ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับประเพณีและความเชื่อ ร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพโดยเฉพาะสายเล่นกล้องฟิล์มต้องมาจัด ของอร่อยหลากหลายที่ไม่ควรพลาด รวมถึงร้านขายสินค้าอุปโภคและบริการไม่ว่าจะเป็นร้านขายของแห้ง ร้านขายยาจีนโบราณ ร้านขายใบชาอย่างดีจากไต้หวัน เรียกว่าเดินเช็กอินกันวันเดียวไม่พอ และ หากอยากรู้ลึกกว่านั้น กลุ่มอนุรักษ์ฯ จัดพิมพ์หนังสือชื่อ “บันทึกเจริญไชย คนจีนในสยาม” หาซื้อได้ที่พิพิธภัณฑ์ในราคาเล่มละ 250 บาท

ร้านใบชาอิวกี่

เช็กอินย่านเจริญไชย วันเดียวไม่พอ

แผนที่เที่ยวย่านเจริญไช

เราลองเดินสำรวจชุมชนจากแผนที่ที่แจก พบว่ามีร้านขายกระดาษไหว้เจ้าและสินค้าที่ใช้ในงานพิธีมากกว่า 20 ร้าน แต่ละร้านกำลังง่วนกับการขายและเตรียมสินค้าในเทศกาลตรุษจีน ที่สะดุดตาคือร้านบู้เซ้ง ณ บ้านเลขที่ 11 ที่ทำกระดาษเป็นรูปธนบัตรหลายสกุลเงินมัดเป็นตั้งๆเพื่อใช้เผาให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ รวมถึงกระดาษแดงสำหรับเขียนเทียบเชิญหรือเอาไปแก้ชง ทายาทรุ่นที่2 ของร้านคือ ภูมิสิษฐ์ ภูริทองรัตน์ ให้ข้อมูลว่ากระดาษของร้านที่พิเศษคือมีกระดาษไหว้เจ้าแบบโบราณที่ใช้สำหรับเทศกาลไหว้แม่ซื้อเพื่อให้เด็กไม่ดื้อ และกระดาษรูปธนบัตรสมัยโบราณ

เจริญไชย
บ้านเลขที่ 17 เป็นบ้านหลังเดียวในชุมชนที่ยังคงรูปแบบการก่อสร้างเดิม

ถัดมาไม่ไกลเป็นบ้านเลขที่ 17 ซึ่งเป็นบ้านหลังเดียวในชุมชนที่ยังคงลักษณะเดิมเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้วตามแบบก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สืบค้นจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่เดิมอาคารในตรอกเจริญไชยเป็นตึกแถว 2 ชั้นที่มีโครงสร้างภายในเหมือนกันคือ ผนังข้างหนึ่งเป็นไม้ อีกข้างก่ออิฐถือปูน พื้นชั้นบนเป็นพื้นไม้และคานไม้ ส่วนชั้นล่างตรงกลางบ้านเป็นบริเวณช่องเปิดโล่งหรือสกายไลต์เพื่อให้แสงและลมผ่านเข้าบ้านได้ คล้ายกับอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีสที่ภูเก็ตที่นิยมสร้างพื้นที่โล่งและมีบ่อน้ำซึ่งเรียกว่าฉิ่มแจ้ตามความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย

เจ้าของบ้านและทายาทรุ่นที่ 3 สุเมธ แซ่คู ยินดีหากใครอยากขอเข้าไปดูในตัวบ้าน นอกจากบ้านที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ร้านบะหมี่เกี๊ยวทะเลของสุเมธที่เปิดตรงข้ามบ้านก็เลื่องลือว่ารสเด็ดด้วยหมูแดงที่ย่างเอง โรยด้วยเนื้อปูและปลาหมึกและราดด้วยน้ำซอสสูตรพิเศษ เสียดายที่เราไปช่วงเย็นเลยไม่มีโอกาสได้ชิม

“ครั้งหน้ามาให้เร็วกว่านี้นะ รับรองชิมแล้วจะติดใจ” สุเมธกล่าวด้วยรอยยิ้ม             

เจริญไชย
โจ๊กเด็ก ของเม่งลั้ง แซ่เจ็งอยู่คู่ชุมชนมากว่า 30 ปี

ท้ายตรอกเจริญไชยมีร้านขายโจ๊กที่ตั้งโต๊ะเพียงตัวเดียวและหม้อต้มโจ๊กหอมกรุ่นขนาดใหญ่ คนในชุมชนเรียกว่า ร้านโจ๊กเด็ก เพราะโจ๊กปรุงด้วยเกลือเท่านั้นและไม่มีต้นหอมหรือขิงโรยหน้า แต่มีหมูสับขลุกขลิกด้วยน้ำซุปหวานจากกระดูกหมูแยกต่างหาก และปาท่องโก๋ตัวเล็กกรอบๆที่ใช้ไม้ทุบแบบโบราณไว้เพิ่มเท็กเจอร์ในการกิน ขายราคาชุดละ 40 บาท

“ขายมากว่า 30 ปีแล้ว” เม่งลั้ง แซ่เจ็ง เล่าถึงกิจการที่สืบต่อมาจากแม่ “ใช้ปลายข้าวหอมมะลิในการหุงโจ๊ก หุง 2 หม้อต่อวัน หมูก็ใช้วันละ 2 กิโลกว่า ขายตั้งแต่บ่าย 3 บางวัน 4 โมงก็หมดแล้ว”

เจริญไชย
ศิริณี อุรุนานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านเจริญไชย

แค่ว่าด้วยเรื่องของกิน ย่านเจริญไชยก็มีมากมายให้เลือกสรรซึ่งล้วนแต่เป็นร้านเล็กๆอยู่คู่ชุมชนมาหลายสิบปี

“สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ตัวตึก แต่คือประวัติศาสตร์และผู้คนที่อยู่กันมาหลายยุคหลายสมัย” ศิริณีกล่าวทิ้งท้าย

Fact File

  • พิพิธภัณฑ์ชุมชน บ้านเก่าเล่าเรื่อง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 32 ตรอกเจริญไชย (ซอยเจริญกรุง 23) เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 07.30-18.30 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม
  • รายละเอียดเพิ่มเติมโทร.081-567-1142 หรือ Facebook:บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

พายุทราย พรายทะเล
วานนี้ เติบโตในสวนอักษร I วันนี้ พเนจรไปกับเสียงชัตเตอร์