บ้านนี้มีปราชญ์ Art Market โชว์เคสศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชนเจ็ดเสมียน
Arts & Culture

บ้านนี้มีปราชญ์ Art Market โชว์เคสศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชนเจ็ดเสมียน

Focus
  • ชุมชนเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี นำร่องเปิดโครงการ บ้านนี้มีปราชญ์ ในรูปแบบ Art Market เพื่อนำเสนอภูมิปัญญาพื้นถิ่นไปสู่การต่อยอดทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ศิลปะการแสดง แฟชั่นและอาหาร
  • โครงการใช้พื้นที่บริเวณสวนศิลป์บ้านดินของมานพ มีจำรัสศิลปินรางวัลศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อสืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาของท้องถิ่น
  • Food, Fashion, Film, Fighting และ Festival คือ 5 คีย์เวิร์ดที่ถูกหยิบยกมานำเสนอให้ผู้เข้าชมได้เห็นอัตลักษณ์และความคิดสร้างสรรค์ของคนในเจ็ดเสมียน

ชวนปักหมุดหยุดพักที่ เจ็ดเสมียน ตำบลเล็กๆ ในจังหวัดราชบุรีซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยของไชโป๊และเค้กมะพร้าว ขณะนี้คนในชุมชนนำโดยคนรุ่นใหม่กำลังร่วมแรงร่วมใจผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยการนำร่องเปิดโครงการ บ้านนี้มีปราชญ์ ในรูปแบบ Art Market เพื่อนำเสนอภูมิปัญญาพื้นถิ่นไปสู่การต่อยอดทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ศิลปะการแสดง แฟชั่น และอาหาร

บ้านนี้มีปราชญ์
โรงละครหนึ่งเดียวของ บ้านนี้มีปราชญ์
บ้านนี้มีปราชญ์

โครงการ บ้านนี้มีปราชญ์ ได้ใช้พื้นที่บริเวณสวนศิลป์บ้านดินของ ครูนาย-มานพ มีจำรัส ศิลปินรางวัลศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดงประจำปี พ.ศ.2548 เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของตำบลเจ็ดเสมียนเพื่อสืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาของท้องถิ่นโดยได้เปิดตัวไปเมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564

บ้านนี้มีปราชญ์
ภาพการแสดงยามค่ำคืน

“เจ็ดเสมียนไม่มีต้นทุนทางธรรมชาติและประติมากรรมที่เก่าแก่แต่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมของโรงไฟฟ้า โชคดีว่าเรายังมีทุนทรัพยากรบุคคลคือมีปราชญ์ผู้มีความเชี่ยวชาญในหลายๆด้านเราจึงมารวมตัวกันให้เกิดเป็น 4 เสาหลักคือ ท้องที่ ท้องถิ่น ประชาชน และจิตอาสา เพื่อขับเคลื่อน 5 วงล้อที่เรียกว่า 5F คือ Food, Fashion, Film, Fighting และ Festival” กอล์ฟ-ธนกร สดใส ผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อน บ้านนี้มีปราชญ์ กล่าวถึงแนวคิดของโครงการ

บ้านนี้มีปราชญ์
กอล์ฟ-ธนกร สดใส เจ้าของแบรนด์ตานีสยาม และหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดตั้งบ้านนี้มีปราชญ์

เมื่อพูดถึง Food หรือ อาหาร แน่นอนว่าสิ่งแรกที่คนนึกถึงคือไชโป๊และภายในโครงการมีร้านของฝากจำหน่ายไชโป๊ของขึ้นชื่อของเจ็ดเสมียนให้ได้ซื้อกลับบ้าน รวมไปถึงขนมเปี๊ยะไส้ไชโป๊ซึ่งเป็นไส้พิเศษของร้านขนมเปี๊ยะคุณยายที่ทำมาสำหรับโครงการนี้โดยเฉพาะ ขนมถ้วยทำสดใหม่ของแม่เพ็ญจากสูตรเด็ดของครอบครัวที่ไม่เคยขายที่ไหนมาก่อน และข้าวไรซ์เบอร์รี จากประโยชน์ฟาร์มในชุมชนบ้านโป่ง ทั้งนี้ของดีของเด็ดของเจ็ดเสมียนและชุมชนรอบๆจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้ได้เลือกสรรในทุกๆวันที่ตลาดเปิด (ยกเว้นวันจันทร์)

บ้านนี้มีปราชญ์
ข้าวซอยไก่ เมนูไฮไลต์ของร้านข้าวซอยกาแฟ

ส่วนร้านอาหารหลักภายในโครงการชื่อ ข้าวซอยกาแฟ  โดยในเบื้องต้นนำเสนออาหารจานเดียว เช่น ข้าวหมูตุ๋น ข้าวซอยไก่ ข้าวมัสมั่นไก่ และผัดหมี่ฮ่องกงสำหรับผู้รับประทานมังสวิรัติ ในราคาจานละ 80-90 บาท ซึ่งขอบอกเลยว่ารสชาติดี ปริมาณอิ่มท้อง และจัดจานสวยเหมาะกับคนที่ชอบถ่ายรูปอาหารแน่นอน

แฟชั่นสายกรีนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กล้วยตานี

ส่วน Fashion เป็นการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์โดยการใช้วัสดุพื้นถิ่นและนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยเช่น กระเป๋าทำจากกาบกล้วยของแบรนด์ ตานีสยาม ซึ่งกอล์ฟเป็นผู้ริเริ่มในการนำกาบกล้วยของต้นกล้วยตานีซึ่งปลูกในชุมชนมา ตัด-กรีด-ตาก-รีด-ต่อลาย และเย็บเป็นกระเป๋าถือและกระเป๋าสะพายทรงต่างๆ กระเป๋าสตางค์ หมวก เคสใส่โทรศัพท์ และกระเป๋าใส่ขวดน้ำ โดยสามารถเข้าชมขั้นตอนการผลิตด้วยมือทุกขั้นตอนเพราะสตูดิโอของตานีสยามตั้งอยู่ภายในพื้นที่โครงการ

ใช้เทคนิค Eco-print สร้างลายและสีจากใบไม้

ถัดจากสตูดิโอตานีสยามคือ บ้านผ้าพิมพ์ลาย ของครูนายซึ่งจำหน่ายเสื้อผ้าและแอกเซสซอรีที่มีลวดลายแปลกตาด้วยเทคนิคการพิมพ์ที่เรียกว่า Eco-print คือ การสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการถ่ายโอนสีและลวดลายของใบไม้ดอกไม้เช่น ใบคูน ดอกปีบและใบบัว โดยการนำไปบ่มด้วยความร้อนซึ่งเป็นกระบวนการทำมือทุกขั้นตอน

มาลัยจากทิชชู โดย ฐิติรัตน์ สุนิพนพินิจ

นอกจากนี้ยังมี บ้านมาลัยคุณหญิง ของ ฐิติรัตน์ สุนิพนพินิจ ซึ่งนำเสนอมาลัยประดิษฐ์ทำจากกระดาษทิชชูได้อย่างสวยงามและเสมือนดอกไม้จริง หลังจากขายทางออนไลน์มาเป็นเวลากว่า 5 ปีฐิติรัตน์ตัดสินใจเปิดหน้าร้านที่นี่โดยสินค้ามีตั้งแต่พวงมาลัยขนาดจิ๋วทำเป็นพวงกุญแจรถ พวงมาลัยงานแต่งงาน ไปจนถึงเครื่องงานบวชครบชุด โดยเธอยืนยันว่างานประดิษฐ์จากทิชชูนั้นคงทนได้ 3-5 ปีและยังย่อยสลายตามธรรมชาติได้

ถัดมาเป็นคีย์เวิร์ดเรื่อง Film ซึ่งหมายถึงการแสดงศิลปะร่วมสมัยที่บอกเล่ารากเหง้าของชุมชนซึ่งจะจัดในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ ณ ลานอเนกประสงค์ พร้อมกับกิจกรรม พูด เล่น เต้น ร้อง นำโดยครูนายและลูกศิษย์

“ส่วน Fighting เราตีความถึงการประชัน เช่น การแทงหยวก การพับ-จับ-จีบ ใบตองสำหรับเครื่องสักการะพิธีบายศรี หรืออาจจะเป็นการแข่งขันทำอาหารโดยมีวัตถุดิบหลักเป็นไชโป๊ และคำว่า Festival ก็คือ บ้านนี้มีปราชญ์ ที่จัดเป็น Art Market พร้อมกิจกรรมต่างๆสลับหมุนเวียน” กอล์ฟกล่าว

ในโครงการยังมี บ้านดิน ที่จัดแสดงของสะสมและเฟอร์นิเจอร์โบราณต่างๆของครูนาย และโฮมสเตย์จำนวน 2 หลัง รองรับได้หลังละ 4-5 คนในราคา 300 บาทต่อคนสำหรับคนที่ต้องการมาลงคลาสเรียนรู้แบบเต็มคอร์ส เช่น การทำเครื่องบายศรีจากใบตอง

“นอกจากโฮมสเตย์ในโครงการ เรายังมีเครือข่ายโฮมสเตย์รอบๆ ชุมชนที่รองรับได้กว่า 200 คน และมีจำนวน 7 หลังที่ได้รับการรับรอง SHA เราอยากให้โครงการเป็นเซ็นเตอร์ที่เข้มแข็งของชุมชนที่สามารถให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวได้ในเชิงลึกโดยเราได้มีการลงพื้นที่ร่วมกับ อสม. เพื่อหาข้อดี ข้อด้อยและถอดอัตลักษณ์ของชุมชน พร้อมทั้งจัดทำ ‘คัมภีร์ตำบลเจ็ดเสมียน’ ซึ่งหน่วยงานต่างๆที่สนใจสามารถใช้ข้อมูลที่เราทำเอาไปต่อยอดได้เลย ที่ผ่านมาหน่วยงานทิ้งเรา คือพอหมดงบก็ทิ้ง เราจึงต้องทำคัมภีร์ขึ้นมาเพื่อนำเสนอความคิดความต้องการของชุมชนสู่ข้างบน เราไม่อยากให้ความต้องการของข้างบนมาครอบเรา” กอล์ฟอธิบาย

กอล์ฟและคณะทำงานกำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบตราสัญลักษณ์ของเจ็ดเสมียนโดยนำเลข 7 มาผสมผสานกับโครงสร้างหกเหลี่ยมที่สื่อความหมายถึง 6 หมู่บ้านของตำบล ส่วนเฉดสีเป็นการผสมผสานของสีของไชโป๊ สีของวัดเจ็ดเสมียน สีของตลาด 119 ปี และสีของกล้วยตานี

“ในเบื้องต้นเราจะนำสัญลักษณ์และเฉดสีที่เราถอดเหล่านี้มาทำเป็นป้ายบอกทาง และผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดในการออกแบบต่างๆเพื่อให้เกิดอัตลักษณ์ร่วมกันของชุมชน”

Fact File

  • พิกัด: Art Market บ้านนี้มีปราชญ์ ณ ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เปิดทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00-18.00 น. โดยวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์สุดท้ายของเดือนขยายเวลาเปิดจนถึง 20.00 น. พร้อมกิจกรรมและเวิร์กชอปต่างๆ
  • การเดินทาง: จากกรุงเทพฯ โดยรถยนต์ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยปักหมุด Google Map : shorturl.asia/haYXn หรือ คำค้นหา GPS : Taneesiam
  • รายละเอียดเพิ่มเติม: Facebook.com/Taneesiam หรือ โทรศัพท์ : 09-9149-9746

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์