ตามรอยศิลปะจีนในวังหน้า เปิด หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช และเก๋งนุกิจราชบริหารในรอบ 20 ปี
Arts & Culture

ตามรอยศิลปะจีนในวังหน้า เปิด หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช และเก๋งนุกิจราชบริหารในรอบ 20 ปี

Focus
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิด หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช และเก๋งนุกิจราชบริหารหลังจากปิดมานานร่วม 20 ปีเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของสถาปัตยกรรมและศิลปะจีนในวังหน้า
  • นอกจากนี้ยังเผยโฉมใหม่ของการจัดแสดงศิลปวัตถุในพระตำหนักแดงที่มาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยี AR
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ทยอยปรับปรุงอาคารและรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการถาวรครั้งใหญ่มาตั้งแต่ พ.ศ.2555 และใกล้เสร็จสมบูรณ์ 100% แล้ว

เสร็จสมบูรณ์เกือบ 100% แล้วสำหรับการปรับปรุงอาคารและรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครซึ่งทยอยดำเนินการมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และล่าสุด (ธันวาคม 2564) กับการเปิด หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) และ เก๋งนุกิจราชบริหาร ที่ซ่อนตัวอยู่บริเวณด้านหลังของพิพิธภัณฑ์และปิดมานานร่วม 20 ปีเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของสถาปัตยกรรมและศิลปะจีนในวังหน้า รวมถึงการเผยโฉมใหม่ของการจัดแสดงศิลปวัตถุในพระตำหนักแดง

หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช

พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งพื้นที่บางส่วนในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เดิมเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-5 และได้มีการสร้างสรรค์งานศิลปะและสถาปัตยกรรมอันเป็นรูปแบบเฉพาะของวังหน้า บางส่วนยังได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมจีนเช่น การวางผังของหมู่พระวิมานได้รับแนวคิดจากรูปแบบคฤหาสน์ของจีนโดยเฉพาะ พระที่นั่งบวรบริวัติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเป็นพระที่นั่งทรงจีน 2 ชั้นเพื่อเป็นที่เสด็จออกประพาสฝ่ายในแต่เสด็จสวรรคตก่อนการก่อสร้างแล้วเสร็จ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการต่อจนเสร็จ ภายในบริเวณพระที่นั่งบวรบริวัติยังมีสวนและเก๋งแบบจีนอีกด้วย

หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช
แผนผังวังหน้าเดิมซึ่งมีหมู่พระวิมานสถาปัตยกรรมจีน
หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช

ปัจจุบันพระที่นั่งบวรบริวัติและสวนจีนได้รื้อถอนไปแล้ว คงเหลือแต่ เก๋งนุกิจราชบริหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสวนจีนของพระที่นั่งที่ยังคงทิ้งร่องรอยของสถาปัตยกรรมและศิลปะจีนในพื้นที่วังหน้าได้อย่างเด่นชัด เก๋งจีนเป็นอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน 3 ด้านหลังคามุงกระเบื้องจีน บริเวณจั่ว หน้าบัน และสันหลังคาเขียนลายดอกไม้และสัตว์มงคลของจีน ส่วนประตูด้านหน้าเป็นบานเฟี้ยมแกะสลักลายเครื่องตั้งแบบจีนและที่สำคัญคือภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 3 ด้านเล่าเรื่องพงศาวดารจีนเรื่อง ห้องสิน ซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย และสันนิษฐานว่าเขียนโดยฝีมือช่างจีนในสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 5

เก๋งนุกิจราชบริหาร
ภายใน เก๋งนุกิจราชบริหาร กับภาพวาด ห้องสิน
เก๋งนุกิจราชบริหาร

เรื่อง ห้องสิน (ตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยน) หรือ เฟิงเสิน (ตามสำเนียงจีนกลาง) แปลว่า การสถาปนาเทวดา มีการแปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเรื่องราวการต่อสู้นำโดยเจ้าเมืองไซรกี (ซีฉี) ซึ่งแข็งเมืองตั้งตนเป็นพระเจ้าบูอ๋อง (อู่หวัง) แห่งราชวงศ์โจวเพื่อโค่นล้มพระเจ้าติวอ๋อง (โจ้วหวัง) แห่งราชวงศ์ชางซึ่งปกครองบ้านเมืองอย่างโหดร้ายโดยมีเทวดาและภูตผีปีศาจมาช่วยรบทั้งสองฝ่าย

เก๋งนุกิจราชบริหาร

ภายในเก๋งนุกิจราชบริหารได้จัดทำชุดข้อมูลแบบทัชสกรีนให้ผู้ชมได้อ่านเรื่องราวของ ห้องสิน แห่งนี้ได้อย่างสนุกยิ่งขึ้นโดยลงลึกถึงรายละเอียดของแต่ละจุดในภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 3 ด้านและภาพบริเวณหน้าบัน เช่น รายละเอียดตอนทลายค่ายกลเปลวไฟกรดค่ายกลน้ำกรด และค่ายกลหมื่นเซียน จิตรกรรมเรื่องห้องสินวาดเรียงลำดับโดยเริ่มจากผนังด้านขวาไล่ไปจนจบที่ผนังด้านซ้ายแม้ภาพบางส่วนจะลบเลือนไปตามกาลเวลาแต่นับเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง

หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช
บานเฟี้ยมไม้ชิงชันแกะสลักปิดทองเล่าเรื่องสามก๊ก

ส่วนบริเวณที่เคยเป็นสวนจีนปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งของ หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) โดยมีศิลปวัตถุที่สำคัญคือบานเฟี้ยมไม้ชิงชันแกะสลักปิดทองจำนวน 26 บานที่เล่าเรื่องวรรณกรรมจีน สามก๊ก บานเฟี้ยมชุดนี้เดิมติดตั้งอยู่ที่หอนั่งซึ่งใช้เป็นที่ว่าราชการในเคหาสน์ย่านหัวลำโพงของเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมพระนครบาลในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยสั่งซื้อมาจากประเทศจีนในราคาบานละ 80 บาท จำนวน 28 บาน เป็นบานที่มีลวดลาย 26 บานและไม่มีลวดลาย 2 บานนับเป็นอีกหนึ่งศิลปวัตถุที่สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมศิลปะจีนในหมู่คหบดีไทยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ค้างคาว 5 ตัว ล้อมรอบตัวอักษรจีนคำว่า ซังอี๊

บานที่มีลวดลายด้านบนแกะสลักเป็นรูปสัตว์มงคลคือ ค้างคาว 5 ตัว ล้อมรอบตัวอักษรจีนคำว่า ซังอี๊ (แปลว่ามงคลคู่) ส่วนด้านล่างแกะสลักภาพเล่าเรื่องสามก๊กวนจากด้านขวาไปด้านซ้ายเริ่มตั้งแต่บานแรกว่าด้วยตอนตั๋งโต๊ะพานางเตียวเสี้ยนไปเมืองเหมยอู่ ไล่ไปจนถึงตอนจิวยี่ทำอุบายส่งไส้ศึกเข้าทัพโจโฉ กลศึกประสานไฟและน้ำของขงเบ้ง และบานสุดท้ายเป็นตอนม้าเจ๊กมัดตัวเองเข้ารับโทษประหาร โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดทำชุดข้อมูลรายละเอียดแต่ละฉากในเรื่องสามก๊กที่ปรากฏในบานเฟี้ยมแต่ละบานในรูปแบบทัชสกรีนที่ผู้ชมสามารถดูได้อย่างสนุกมากขึ้น พร้อมกับคลิปวิดีโอสั้นๆบรรยายแต่ละฉากโดยภัณฑารักษ์ชำนาญการ ศุภวรรณ นงนุช

ประติมากรรมรูปปั้นของเจ้าพระยายมราช ภายใน หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช

“ย้อนกลับไปเมื่อพ.ศ.2527 ทายาทตระกูลสิงหเสนีซึ่งเคยมอบดาบอาญาสิทธิ์ของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (ต้นตระกูล สิงหเสนี) ไว้ให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครติดต่อมาที่กรมศิลปากรเพื่อจะมอบชุดบานเฟี้ยม 28 บานซึ่งเคยติดอยู่ที่หอนั่งภายในบ้านหัวลำโพงของเจ้าพระยายมราช (บุตรของเจ้าพระยาบดินทรเดชา) เนื่องจากมีการตัดถนนจึงต้องรื้อหอนั่งออกและเก็บไว้เพียงบานเฟี้ยม เราก็ต้องมาคิดว่าจะจัดแสดงอย่างไรและบริเวณไหน พื้นที่ตรงนี้เดิมว่างเปล่าและรกร้างจึงเป็นพื้นที่เดียวที่พอจะสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อจัดแสดงได้โดยได้รับเงินสนับสนุนจากทายาท

หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช
เครื่องตั้ง ภายใน หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี)

“ตามประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตรงนี้เดิมเป็นสวนจีนจึงมีความเชื่อมโยงกับศิลปวัตถุที่จัดแสดง อีกทั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชาเดิมนั้นแรกรับราชการเป็นข้าราชการในวังหน้า (กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 2) จึงมีความผูกพันกับวังหน้าเป็นอย่างมาก” ราศี บุรุษรัตนพันธุ์ อดีตข้าราชการกรมศิลปากร เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งเธอมีส่วนร่วมในการดำเนินการก่อตั้ง หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช

หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช
ชุดข้อมูลเล่าเรื่องสามก๊กบนบานเฟี้ยมทั้ง 26 บาน

การก่อสร้าง หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช ใช้เวลาราว 3 ปี และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2531 แต่เนื่องจากบริเวณที่ตั้งซ่อนตัวอยู่บริเวณด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ซึ่งหลายคนยังไม่รู้จักทำให้ขาดการเหลียวแลและปิดไปกว่า 20 ปีจนกระทั่งเมื่อต้นปี พ.ศ.2564 จึงมีการปรับปรุงอาคารและอนุรักษ์บานเฟี้ยมโดยช่าง 10 หมู่ของกรมศิลปากรและมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องวรรณกรรมจีนสามก๊กให้คำแนะนำในการเรียบเรียงเรื่องราวของบานเฟี้ยมได้อย่างถูกต้องตามลำดับ พร้อมทั้งพัฒนาภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงามมากขึ้น

หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช
เปลือกหอยแกะลวดลายเรื่องสามก๊กเช่นกัน

บริเวณชั้นบนจัดแสดงประติมากรรมรูปปั้นของเจ้าพระยายมราช เครื่องกระเบื้องจีน รวมทั้งเครื่องลายครามจีนซึ่งใช้ในการจัดโต๊ะบูชาเพื่อแสดงให้เห็นถึงกระแสความนิยมเครื่องกระเบื้องจีนในหมู่คหบดีไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2เครื่องลายครามที่นำมาตั้งเป็นเครื่องโต๊ะบูชามักเป็นของหายากที่ต้องเสาะแสวงหามาจัดให้เข้าชุดกัน จนกระทั่งเริ่มมีการประกวดเครื่องโต๊ะในสมัยรัชกาลที่ 3 และแพร่หลายอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของการประกวดประชันเครื่องโต๊ะจนต้องมีการตราพระราชบัญญัติข้อบังคับในการตัดสินเครื่องโต๊ะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2434

ในเบื้องต้นการจัดเครื่องโต๊ะยังไม่เสร็จสมบูรณ์โดยมีศิลปวัตถุจัดแสดงบางส่วน เช่น ตุ๊กตาลายครามรูปตัวลกสร้างในสมัยราชวงศ์ชิงราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 จากชุดเครื่องโต๊ะของพระยาดำรงธรรมสารซึ่งนิยมตั้งร่วมกับชุดเครื่องโต๊ะในสมัยรัชกาลที่ 5 ตุ๊กตารูปขงจื๊อนั่งบนแท่น และตุ๊กตารูปหลิวไห่กับคางคกสามขาซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย

นอกจากนี้ยังมีทัชสกรีนอธิบายรายละเอียดสิ่งของที่กำหนดเป็นชิ้นบังคับ 8 อย่างที่เรียกว่า หลักโต๊ะ เช่น ลับแลเป็นประธานของโต๊ะ แจกันปักดอกไม้ใน กระบอกปักธูป และเชิงเทียน 1 คู่ พร้อมทั้งคลิปวิดีโออธิบายเรื่องการตั้งเครื่องโต๊ะโดยผู้เชี่ยวชาญคือ วราห์ โรจนวิภาต และ ธนพันธุ์ ขจรพันธุ์

“วังหน้าในรัชกาลที่ 3 (กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ) และพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชอบศิลปะจีนมาก เราจึงมีแนวคิดในการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบหออนุสรณ์ฯให้มีลักษณะคล้ายกับสวนจีนในอดีตและจัดกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับศิลปะจีนเพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ นอกจากนี้เราจะจัดทำแอปพลิเคชันโดยเอาชุดข้อมูลมาทำเป็นสมาร์ตมิวเซียม(Smart Museum)เพื่อให้ผู้สนใจได้ชมแบบ virtual” นิภา สังคนาคินทร์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวถึงแผนงานในอนาคต

เก๋งนุกิจราชบริหาร
ภายใน พระตำหนักแดง

ในส่วนของพระตำหนักแดงที่ได้รับการอนุรักษ์และปรับปรุงการจัดแสดงศิลปวัตถุให้เป็นนิทรรศการวิถีชีวิตของเด็กไทยในอดีต ตั้งแต่การเกิด การโกนจุก การละเล่นและการศึกษา โดยมีการใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ให้ผู้ชมได้สนุกกับการชมจุดต่างๆเพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ARPhra Tam NakDaeng ทั้งในระบบ iOS และ Android จะได้เห็นภาพจำลองของวิถีชีวิตและประเพณีต่างๆ เช่น บริเวณพระอู่ (เปลเด็ก) จะปรากฏภาพจำลองและเสียงบรรเลงของวงขับไม้กล่อมพระบรรทมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ของพระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า รวมไปถึงภาพจำลองการอยู่ไฟแบบโบราณของสตรีที่เพิ่งคลอดบุตร และภาพจำลองการเคี้ยวหมาก

เก๋งนุกิจราชบริหาร
เทคโนโลยี AR ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ในพระตำหนักแดงกลับมามีชีวิต
เก๋งนุกิจราชบริหาร
ตุ๊กตาที่จัดแสดงในพระตำหนักแดง

นอกจากนี้ยังจัดแสดงโบราณวัตถุสำคัญจำนวนมาก เช่น พระแท่นประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เครื่องเล่นของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารบ้านตุ๊กตาของเจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5 ระฆังขอบุตร ตู้อัฒจันทร์ชั้นพระสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปและบุษบกอัฐิ เชี่ยนหมากและภาชนะบรรจุหมากพลูในรูปทรงต่าง ๆ

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน (Night at the Museum) ให้เข้าชมฟรีในวันที่ 25-26 ธันวาคม พ.ศ.2564 ในเวลา 16.00-20.00 น. ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องแสดงผลรับรองการรับวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 2 เข็มโดยมีวิทยากรนำชมวันละ 3 รอบรอบแรกเวลา 17.00 น. รอบที่ 2 เวลา 17.30 น. และรอบที่ 3 เวลา 18.00 น. พร้อมชมการบรรเลงดนตรีไทย-สากล จากสำนักการสังคีต ในเวลา 18.00-19.00 น.
  • พิพิธภัณฑ์ปกติเปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 8.30-16.00 น.
  • ค่าเข้าชม: ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาทนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม
  • สอบถามเพิ่มเติม: โทรศัพท์ 0-2224-1402 และ 0-2224-1333 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์