Deja vu: The Last Chapter ความคลับคล้ายเคยประสบในบทสุดท้ายของ นที อุตฤทธิ์
Arts & Culture

Deja vu: The Last Chapter ความคลับคล้ายเคยประสบในบทสุดท้ายของ นที อุตฤทธิ์

Focus
  • หลังจากผลิตผลงานนับร้อยชิ้นในธีม Déjà vu เพื่อจัดแสดงที่ทั้งในและต่างประเทศอย่างสิงคโปร์และอิตาลี ล่าสุด นที อุตฤทธิ์ ก็ได้ตัดสินใจส่งท้ายชุดผลงานบทนี้ที่เมืองไทย ในนิทรรศการชื่อ Déjà vu: The Last Chapter
  • Déjà vu: The Last Chapter แบ่งนิทรรศการออกเป็น 3 พาร์ท จัดแสดงต่อเนื่อง 7 เดือน แยกเป็นกลุ่มงานกระจกสี งานศิลปะจัดวางประติมากรรมและงานผ้าปัก และงานจิตรกรรม

หากให้ไล่เรียงรายชื่อศิลปินไทยที่เรียกได้ว่าอยู่ในระดับนานาชาติ นที อุตฤทธิ์ มักเป็นหนึ่งในลิสต์ และเขาไม่ลืมที่จะจัดแสดงผลงานในประเทศบ้านเกิดอยู่เนืองๆ ในปี พ.ศ. 2565 ผลงานชุดใหญ่จัดเต็มของเขาในชื่อนิทรรศการ Déjà vu: When the Sun Rises in the West ได้เนรมิตหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรทั้งหอให้กลายร่างดุจราวอาสนวิหารในโลกตะวันตกที่ประดับประดาไปด้วยศิลปะที่ดูเผินๆ คล้ายงานคริสต์ศิลป์ แต่กลับมีเนื้อหาทางพุทธคติ

Déjà vu: The Last Chapter

หลังจากผลิตผลงานนับร้อยชิ้นในธีม Déjà vu ที่เขาได้แนวคิดจากช่วงที่ไปใช้ชีวิตเป็นศิลปินในพำนักที่เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี เพื่อจัดแสดงที่ทั้งในและต่างประเทศ อย่างสิงคโปร์และอิตาลี โดยไล่เรียงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 นทีก็ได้ตัดสินใจส่งท้ายชุดผลงานบทนี้ที่เมืองไทย ในนิทรรศการชื่อ Déjà vu: The Last Chapter ด้วยแนวคิดที่โยงกับประเด็นคำถามอย่างสนุกๆ ที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้น หากพระพุทธเจ้าเสด็จไปยุโรปก่อนอารยธรรมตะวันตกจะรุ่งเรือง

Déjà vu: The Last Chapter

แม้เหตุผลหนึ่งที่ผลงานชุด Last Chapter ต้องจัดแสดงติดกันถึง 3 ครั้ง ด้วยเหตุพื้นที่ที่จำกัดของ Richard Koh Fine Art สถานที่จัดแสดงในกรุงเทพฯ แต่กลับกลายเป็นข้อดีที่ทำให้ได้เกิดการจัดกลุ่มผลงาน ที่ทั้ง 3 นิทรรศการดูเกือบจะเป็นนิทรรศการที่จบในตัวเองได้ เรียกได้ว่าดูแยกก็ดี ดูรวมก็สนุก โดยเน้นแยกเป็นกลุ่มงานกระจกสี งานศิลปะจัดวางประติมากรรมและงานผ้าปัก และงานจิตรกรรม ซึ่งไล่เรียงนำเสนอมาตลอดในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาและกำลังจะปิดฉากลง 

แม้ว่า นที อุตฤทธิ์ จะมีพื้นฐานการศึกษาในระดับปริญญาตรีเน้นหนักไปทางด้านภาพพิมพ์ และสร้างชื่อด้วยงานจิตรกรรมที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวด้วยวัตถุในภาพที่ดูคล้ายหุ่นนิ่งที่ดูราวไร้ชีวิต และมีเนื้อหาที่กึ่งเหนือจริง แต่ในระยะหลัง โดยเฉพาะในชุด Déjà vu เขาได้หันมาจับงานที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคอื่นๆ  มากขึ้น ทั้งกระจกสี (stained glass) ประติมากรรม รวมทั้งศิลปะติดตั้ง

Déjà vu: The Last Chapter
นที อุตฤทธิ์

กระจกสีดูจะเป็นเทคนิคที่โดดเด่นที่สุด ในงาน Déjà vu ด้วยไม่ค่อยมีศิลปินร่วมสมัยของไทยหยิบจับมาใช้มากนัก และใน Deja vu: The Last Chapter Part 1 เป็นกลุ่มผลงานจิตรกรรมกระจกสีที่จับเอาเนื้อหาที่มีความทับซ้อนกันระหว่างศาสนาคริสต์และพุทธปรัชญา ในการผลิตงานชิ้นนี้ นทีได้ลงไปคลุกคลีไปทีมช่างทำกระจกสีชั้นนำอย่างละเอียด เพื่อให้ได้เนื้อสีของกระจกตามที่ต้องการ

Déjà vu: The Last Chapter

ส่วน Déjà vu: The Last Chapter Part 2 เป็นกลุ่มผลงานประติมากรรมสื่อผสม ที่จัดแสดงไปเมื่อปลายพฤษภาคมต่อต้นมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยสร้างสรรค์จากวัตถุโบราณขนาดย่อมของไทยที่เขาสะสมและคัดสรรมาจากแหล่งค้าขายของเก่าต่างๆ บางชิ้นก็เป็นเศษแตกหัก แต่นำมาประกอบ จัดวาง และตีความใหม่ ประหนึ่งวัตถุโบราณเหล่านั้นเป็น found object เทคนิคที่นิยมของศิลปินร่วมสมัยไทยในยุค 1990s โดยมีจิตรกรรมแนวผ้าปัก (Embroidery) เป็นฉากหลังของการจัดแสดง โดยเน้นเนื้อหาด้านพุทธประวัติ ผลลัพธ์ที่ได้คือห้องจัดแสดงงานที่เสมือนจำลองบรรยากาศของร้านขายวัตถุโบราณที่มีสัดส่วนขนาดเล็กจัดวางอย่างน่าพิศวงถึงความหมายของแต่ละชิ้นงาน

นที อุตฤทธิ์
Parinirvana
นที อุตฤทธิ์
I Swear
The Spine Ashes to Ashes

ผลงานชิ้นที่โดดเด่นได้แก่ Parinirvana ที่ประกอบจากกล่องพระคัมภีร์มาเปิดฝาด้านหนึ่งออก เพื่อบรรจุพระพุทธรูปขนาดเล็กปางพระนอนหงาย ราวกับเป็นหีบบรรจุพระบรมศพ I Swear พระหัตถ์พระพุทธรูปกับหนังสือ 1892 The Land of White Elephant ที่เลียนแบบอากัปกิริยาการถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยการแตะพระคัมภีร์ และ The Spine Ashes to Ashes ที่นำเศษชิ้นส่วนพระพุทธรูปหลายสิบชิ้นมาเรียงเป็นเส้นยาว หากดูเผินๆ ก็จะมองไม่ออก แต่หากได้เพ่งพินิจ ก็พอจะจับได้ว่าคล้ายเส้นกระดูกสันหลังคน โดยที่เหล่าเศษเสี้ยวพระพุทธรูปชิ้นเล็กชิ้นน้อย ถูกจัดวางมุมและองศาอย่างบรรจงวาง นอกจากนี้ยังคล้ายคลึงกับอัฐิหลังร่างคนที่ถูกเผา เป็นภาพแรกที่เราเห็นในโลงศพ หลังร่างได้ถูกเผาไปแล้วด้วย

นที อุตฤทธิ์
Déjà vu: The Last Chapter Part 3

Déjà vu: The Last Chapter Part 3 ที่เป็นท้ายสุดของสุดท้ายในธีม Déjà vu นทีได้หวนกลับมารวมรวมงานจิตกรรมที่เขาชำนาญ ด้วยการใช้รูปแบบของไวยากรณ์ภาพที่ดูแปลกพิสดาร เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมฉุกคิดว่าอะไรคือที่มาที่ไป ที่อยู่ภายในภาพที่ดูจับแพะชนแกะเหล่านี้ ทั้งนี้ภาพจิตรกรรมทั้งหมดยังไม่เคยถูกนำไปจัดแสดงมาก่อน ถือว่าเป็นการเก็บตกให้กับคองานจิตรกรรมของนทีที่พลาดการชมครั้งก่อนๆ อีกทั้งยังโดดเด่นด้วยสองลูกเล่น ลูกเล่นแรกคือการวาดด้วยแรงบันดาลใจจากเนื้อเพลง และลูกเล่นที่สองคือได้แรงบันดาลใจจากกระบวนวิธีทำงานของขรัวอินโข่ง

Déjà vu: The Last Chapter Part 3

ในส่วนของลูกเล่นแรก แม้ว่าในสองนิทรรศการก่อนหน้าจะมีร่องรอยของอิทธิพลจากเพลงร็อคสากล อย่างเช่นการสลักเนื้อเพลง Love is Noise ไว้ที่ผิวของประติมากรรมใน Part2 และปรากฏเป็นเนื้อหาของงานกระจกสีบางชิ้นใน Part1 แต่ในชุดจิตรกรรมนี้ นอกจากนำเนื้อเพลงร็อคฝากอังกฤษมาเป็นเนื้อหาของภาพแล้ว นทียังนำบางท่อนของเนื้อเพลงมาปรับและตั้งเป็นชื่อผลงานด้วย

นที อุตฤทธิ์

ใน Part 3 นี้มีผลงานสามชิ้นที่โดดเด่นด้วยลูกเล่นนี้ ชิ้นแรกคือ “I talk to the moon, The moon can not hear” ถูกปรับจากเนื้อเพลงชื่อ I Talk To the Wind ของ King Crimson ซึ่งศิลปินชอบเป็นการส่วนตัว ชิ้นที่สองคือ “I am on the outside, Looking inside what do I see?” มีที่มาจากเนื้อเพลงเพลงเดียวกันที่ยาวมากของ “You can take me to the paradise. And then again you can be cold as ice. I’m over my head Oh, but it sure feels nice.  You can take me anytime you like I’ll be around if you think you might Love me, baby. And hold me tight” ภาพที่เลียนแบบ triptych  ชิ้นนี้มาจากเนื้อเพลงสองท่อนแรกของ Over My Head เพลงดังของวง Fleetwood Mac มาตั้งชื่อผลงาน

นที อุตฤทธิ์
I am on the outside, Looking inside what do I see?

ในส่วนกระบวนการแบบขรัวอินโข่งนั้น นทีได้อธิบายไว้ว่าเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งที่เขาอุปโลกน์ขึ้นและมักหวนมาทำอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส ทั้งนี้ในทางประวัติศาสตร์ศิลปะไทย รับรู้กันว่าองค์ประกอบและเนื้อหาภาพแบบตะวันตกที่จิตรกรไทยประเพณีอย่างขรัวอินโข่งได้บุกเบิกนำเข้ามาใช้ในจิตรกรรมไทยประเพณีทั้งที่ไม่เคยมีโอกาสเดินทางไปโลกตะวันตกนั้น น่าจะมาจากสมุดภาพจากหนังสือและภาพโปสการ์ดต่างประเทศที่นำเข้ามาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และนทีก็ใช้เทคนิคนี้อยู่บ้างเช่นกัน

นที อุตฤทธิ์

ภาพดอกบัวขนาดใหญ่ในนิทรรศการ Déjà vu: When the sun rise in the west ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นตัวอย่างที่ดี และ นที อุตฤทธิ์ ได้ซ้ำกลวิธีนี้ในภาพขนาดย่อมลงมาในนิทรรศการปิดม่านครั้งนี้ ที่น่าสนใจคือชิ้นที่ดูสอดคล้องในทางหยอกล้อบทหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยหน้านี้คือการที่มีบุคคลที่แต่งกายคล้ายนักบวชถือกล้องถ่ายรูปเสือใน I am on the outside, Looking inside what do I see? ที่ทำให้อดคิดถึงว่าหากขรัวอินโข่งมีโอกาสไดเดินทางไปโลกตะวันตกในยุคสมัยท่านจริงๆ พร้อมด้วยอุปกรณ์กล้องมือถืออย่างที่คนยุคนี้นิยมจะมีพฤติกรรมเช่นนี้หรือไม่ ส่วน Buddhichoti De Bangclan เป็นอีกชิ้นงานที่ นที อุตฤทธิ์ ได้นำจิตรกรรม (ชิ้นซีกขวา) ดังของโลกตะวันตก Diptych of Federico da Montefel-tro and Battista Sforza ของ Piero Della Francesca ศิลปิน Italian Renaissance มาล้อโดยมาประสานสอดกับพระรูป portrait ของหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร

Fact File

Déjà vu: The Last Chapter Part3 โดย นที อุตฤทธิ์ จัดแสดง จนถึงวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ริชาร์ด โคห์ ไฟน์อาร์ต กรุงเทพฯ (Richard Koh Fine Art Bangkok)


Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"