10 ไฮไลต์ พระพุทธรูปโบราณ ในนิทรรศการพิเศษ พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
Arts & Culture

10 ไฮไลต์ พระพุทธรูปโบราณ ในนิทรรศการพิเศษ พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

Focus
  • พระพุทธรูปสำคัญจำนวน 81 องค์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศได้รับการอัญเชิญมาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
  • ในวาระที่กรมศิลปากรครบรอบ 112 ปีในปี 2566 จึงมีการคัดเลือกพระพุทธรูปสำคัญจำนวน 112 องค์ในแต่ละสกุลช่างมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือและพระพุทธรูปจำนวน 81 องค์จากในหนังสือได้รับการนำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้
  • การจัดแสดงสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของพระพุทธรูปในประเทศไทยโดยไล่เรียงไปตามยุคสมัยตั้งแต่ศิลปะทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย ล้านช้าง ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์

หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดชัยนาทที่เลื่องลือด้วยพุทธศิลป์งดงามโดยสกุลช่างสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลล้านนา พระพุทธรูปปางลองหนาว ในพระอิริยาบถนั่งทรงจีวรคลุมพระวรกายทดลองหนาวอันเป็นที่มาของไตรจีวรสำหรับให้พระสงฆ์ใช้สอย พระพุทธรูปลีลา ที่สะท้อนให้เห็นถึงความงามแบบคลาสสิกของศิลปะสุโขทัยและคติการสร้างแบบมหาบุรุษลักษณะที่เหนือกว่ามนุษย์ทั่วไปของพระพุทธเจ้า และ พระพุทธรูปปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้ว อันวิจิตรซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของชาติ

พระพุทธรูปโบราณ ดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของ พระพุทธรูปโบราณ องค์สำคัญของชาติจำนวน 81 องค์ ที่ได้รับการอัญเชิญมาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน-10 กันยายน 2566 ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากในการอัญเชิญ พระพุทธรูปโบราณ องค์สำคัญๆ ที่จัดแสดงและเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศมาประดิษฐาน ณ สถานที่เดียวกัน

พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ในวาระที่กรมศิลปากรครบรอบ 112 ปีใน พ.ศ.2566 จึงมีการคัดเลือกพระพุทธรูปสำคัญจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศจำนวน 112 องค์ที่มีพุทธศิลป์งดงามในแต่ละสกุลช่างมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประกอบกับเป็นปีที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา กรมศิลปากรจึงได้คัดเลือกพระพุทธรูปจำนวน 81 องค์จาก 112 องค์ในหนังสือ (บางองค์ไม่สามารถนำมาจัดแสดงได้เนื่องจากมีขนาดใหญ่จึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้) มาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้

การจัดแสดงนิทรรศการ พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของพระพุทธรูปในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่พระพุทธรูปรุ่นแรกๆ ที่พบในดินแดนประเทศไทยประมาณ 800-1,700 ปี มาแล้วซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์ขนาดเล็กแบบศิลปะอินเดียโดยสันนิษฐานว่าเป็นรูปเคารพที่พ่อค้าหรือนักบวชชาวอินเดียนำติดตัวมาเพื่อสักการบูชา และไล่เรียงไปตามยุคสมัยตั้งแต่พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะล้านช้าง  ศิลปะล้านนา ศิลปะอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์

พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พระพุทธรูปรุ่นแรกๆ ที่พบในดินแดนประเทศไทยประมาณ 800-1,700 ปีมาแล้ว

“การแสดงท่าทางด้วยมือของพระพุทธรูปแบบอินเดียที่เรียกว่า มุทรา มีความหมายตามเรื่องราวในพุทธประวัติและใช้แต่มือขวา เช่น ยกมือขวาและยื่นออกไปข้างหน้าและหันฝ่ามือออกเรียกว่า อภัยมุทรา แต่ในไทยมีการสร้างพระพุทธรูปที่แสดงปางด้วยมือข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง หรือทั้งสองข้างตั้งแต่สมัยอยุธยา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงรวบรวมและกำหนดปางต่างๆ ใช้เป็นมาตรฐานจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นจึงมีการกำหนดว่าพระพุทธรูปที่สร้างก่อนสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นไม่ว่าจะยกมือข้างไหนให้เรียกว่า ปางประทานอภัย โดยมาจากคำว่า อภัยมุทรา ส่วนถ้าจะมีการสร้างต่อมาด้วยการแสดงมือเป็นท่าต่างๆ ให้เรียก ปางห้ามญาติ (ยกพระหัตถ์ขวา) ปางห้ามพระแก่นจันทน์ (ยกพระหัตถ์ซ้าย) และ ปางห้ามสมุทร (ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้าง)” ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อธิบาย

ส่วนคำว่า “ปาง” นั้นเดิมแสดงเหตุการณ์ต่างๆ ในพระพุทธประวัติและไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงอิริยาบถต่างๆ ถึงแม้ต่อมาในพจนานุกรมได้ให้ความหมายว่า ปาง หมายรวมถึงอิริยาบถของพระพุทธรูปด้วย

“ตามหลักแล้วอิริยาบถต่างๆ เช่น ยืน นอน เดิน ไม่ได้บอกเหตุการณ์เฉพาะเจาะจงในพุทธประวัติจึงควรเรียกว่า พระยืน พระนอน พระเดิน และไม่มีการเติมคำว่า ปาง ดังนั้นไม่ควรเรียก ปางลีลา สำหรับพระกิริยาก้าวเดิน แม้บางคนอาจตีความว่าเป็นตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นอกจากนี้ท่าเดินไม่ปรากฏในศิลปะอินเดีย แต่เริ่มปรากฏในพุทธศิลป์ของศิลปะล้านนาและสุโขทัย หรืออิริยาบถนอนก็ไม่น่าเรียกว่า ปางไสยาสน์ แต่ควรเรียกว่าพระไสยาสน์แสดงปางปรินิพพาน” ยุทธนาวรากร กล่าว

พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พระพุทธรูปทรงเครื่องนาคปรกแบบนครวัดและไม่ครองจีวร

พระพุทธรูปศิลปะลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 12-18 หรือ ประมาณ 800-1,400 ปีมาแล้ว) แสดงอิทธิพลของศิลปะเขมรในประเทศไทยและนิยมสร้างปางนาคปรกแสดงการนับถือนาค เพราะเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าที่อยู่มาแต่ดั้งเดิม ในนิทรรศการจัดแสดงพระพุทธรูปนาคปรกสององค์ตั้งอยู่ใกล้กันโดยทั้งสององค์ทำจากหินทรายและประทับขัดสมาธิราบเหนือขนดนาคที่เรียวเล็กลงเบื้องล่างสามชั้นและปรกด้วยนาคเจ็ดเศียร แต่องค์หนึ่งนั้นเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะแบบนครวัด (พุทธศตวรรษที่ 17) และไม่มีการครองจีวร ส่วนอีกองค์หนึ่งเป็นศิลปะแบบบายน (พุทธศตวรรษที่ 18) มีการครองจีวรและสลักชายสังฆาฏิเป็นแถบหน้าเห็นชัดเจน

พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พระพุทธรูปนาคปรกแบบบายนและมีการครองจีวร

“สององค์นี้ที่น่าสนใจคือองค์หนึ่งครองจีวร แต่อีกองค์ไม่มีจีวร จึงมีการตีความว่าช่างอาจคุ้นเคยกับการสลักเทวรูปจึงไม่ได้สลักจีวรให้พระพุทธรูป หรือพระพุทธรูปเมื่ออยู่ในวัดหรือวิหารอาจมีการห่มจีวรจริงให้ แต่คิดว่าน่าจะเป็นการเผอเรอของช่างมากกว่า ดังมีเรื่องเล่าว่าเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอินเดียเห็นรูปเคารพในระยะไกลและคิดว่าเป็นพระพุทธรูป แต่เมื่อเข้าไปใกล้ๆ ปรากฏว่าเป็นรูปเคารพของพระมหาวีระ (ศาสดาของศาสนาเชน) ที่ไม่นิยมนุ่งห่มผ้า เพราะฉะนั้นการครองจีวรจึงถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการสร้างพระพุทธรูป”

ด้วยการจัดแสดงพระพุทธรูปองค์สำคัญจำนวนมากถึง 81 องค์ แน่นอนว่าอาจดูชิ้นสำคัญกันไม่ครบ Sarakadee Lite จึงชวน ยุทธนาวรากร  แสงอร่าม ในฐานะภัณฑารักษ์ผู้นำชมแนะนำพระพุทธรูปองค์ที่เขาชื่นชอบเป็นการส่วนตัวในหลากหลายมิติทั้งในแง่สุนทรียะ คติการสร้างและประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ โดยในลิสต์ท็อป 10 พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ต้องห้ามพลาดชมมีดังนี้

พระพุทธรูปโบราณ

01 หลวงพ่อเพชร

ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี

หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลล้านนา (ประมาณ 600 ปีมาแล้ว) ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวชัยนาทและถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง การขนานนามว่าหลวงพ่อเพชรอาจเนื่องด้วยพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งแบบขัดสมาธิเพชร (พระบาทไขว้กันและเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง)

“หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการกล่าวขานว่างดงามมากและเมื่อได้เห็นองค์จริงแล้วก็ต้องยอมรับว่างดงามจริงๆ หากดูเผินๆ เหมือนพระพุทธรูปศิลปะล้านนา แต่จริงๆ แล้วคือศิลปะสุโขทัยที่ได้อิทธิพลล้านนา พระหัตถ์ขวาเป็นแบบล้านนา แต่พระหัตถ์ซ้ายเป็นแบบสุโขทัย แต่จุดหนึ่งที่แตกต่างคือถ้าเป็นพระล้านนาที่เข่าจะไม่มีจีวร แต่องค์นี้มีซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นของศิลปะสุโขทัย พระบาทปั้นได้อูมสวยเป็นการผสมผสานของศิลปะสองแบบได้อย่างลงตัว” ยุทธนาวรากร กล่าว                                                                       

ตามประวัติกล่าวว่าหลวงพ่อเพชรเดิมถูกพอกปูนไว้ ต่อมาเมื่อปูนกะเทาะออกจึงพบว่าเป็นพระพุทธรูปสำริดและประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ต่อมาเมื่อปี 2449 รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินวัดพระบรมธาตุวรวิหารได้ตรัสขออัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ภายหลังเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ทางวัดจึงได้ทูลขอนำกลับมาประดิษฐานไว้ที่วัดเช่นเดิมก่อนที่จะมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เป็นหน่วยงานที่ดูแลรักษาต่อไป

พระพุทธรูปโบราณ

02 พระพุทธรูปปางลองหนาว

ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

พระพุทธรูปปางลองหนาวเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา (ประมาณ 300-400 ปีมาแล้ว) ในพระอิริยาบถนั่งทรงจีวรคลุมพระวรกายทดลองหนาวเพื่อจะได้ทรงทราบปริมาณของจีวรบริขารสำหรับภิกษุสงฆ์แต่พอดี

“ปางนี้เทียบเคียงกับพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังคิดว่าพระสงฆ์แต่ละรูปจะมีจีวรกี่ผืนจึงจะเพียงพอ เพราะในช่วงเวลาหนึ่งพระสงฆ์สะสมจีวรเยอะเกินสมณรูป พระพุทธเจ้าจึงทรงลองคลุมพระวรกายในหน้าหนาวว่าห่มจีวรกี่ผืนถึงจะอุ่น สรุปคือสามผืนอันเป็นที่มาของไตรจีวร”

พระพุทธรูปปางลองหนาวยังเป็นปางที่หาได้ยากและที่สำคัญคือรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างปางนี้เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาปรากฏตามจารึกที่ฐานชั้นล่างว่า “พระพุทธปฏิมา มีอาการนั่งทรงผ้าคลุมพระสรีราพยพลองหนาว…” เนื่องด้วยพระองค์เสด็จพระราชสมภพในเดือนมกราคมซึ่งอยู่ในฤดูหนาว

มูลเหตุการสร้างพระพุทธรูปปางนี้สืบเนื่องจากการที่รัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงรวบรวมและเรียบเรียงตำราทางพระพุทธศาสนาขึ้นคือพระนิพนธ์พุทธประวัติเรื่อง ปฐมสมโพธิกถา แล้วทรงประดิษฐ์แบบอย่างพระพุทธรูปปางต่างๆ ขึ้นตามพุทธประวัติดังกล่าว เพื่อให้ช่างสร้างเป็นพระพุทธรูปรวม 40 ปาง

“ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้อุทิศถวายพระพุทธรูปองค์เล็กๆ เหล่านี้ที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 3 แด่บูรพกษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ จึงเกิดเป็นพระประจำรัชกาล และได้ทรงสร้างพระปางสมาธิเพชรเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลของพระองค์เอง สำหรับรัชกาลที่ 5 ทรงเลือกปางคันธารราฐ และรัชกาลที่ 6 เป็นปางลองหนาว”

พระพุทธรูปโบราณ

03 พระพุทธรูปปางฉันสมอ

ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก

พระพุทธรูปปางฉันสมอในรูปแบบศิลปะล้านนา (ประมาณ 200 ปีมาแล้ว) พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลาและกลางฝ่าพระหัตถ์มีภาชนะบรรจุผลสมอ ส่วนพระหัตถ์ขวาวางทอดลงบนพระชงฆ์และหงายพระหัตถ์ถือผลสมอเพื่อแสดงเหตุการณ์ในพุทธประวัติที่ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้ 49 วันแล้วยังไม่ได้เสวยพระกระยาหารใดเลย พระอินทร์จึงได้ถวายผลสมออันเป็นทิพยโอสถแด่พระพุทธองค์โดยสรรพคุณของผลสมอนั้นยังปรากฏในตำราแพทย์แผนไทยหลายฉบับและในพระนิพนธ์ ตำราสรรพคุณยา ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิทถึงกับระบุว่าผลสมอนั้นมีคุณอนันต์กว่า 10 รัศมีพระอาทิตย์เลยทีเดียว

ผลสมอมีฤทธิ์เป็นยาระบาย แก้อาการท้องร่วง ท้องผูก และริดสีดวงทวาร รวมถึงช่วยให้ชุ่มคอ แก้อาการเจ็บคอ ละลายและขับเสมหะด้วย ด้วยสรรพคุณทางยาทำให้ผลสมอเป็นโอสถที่ได้รับพระบรมพุทธานุญาตจากพระพุทธเจ้าให้ฉันหลังเพลได้ในเวลาจำเป็นทำให้เป็นไม้ผลอย่างหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในงานพุทธศิลป์ ดังเช่นพระพุทธรูปปางฉันสมอ ซึ่งเป็นปางหนึ่งที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงคัดเลือกจากพุทธประวัติให้ช่างสร้างเป็นพระพุทธรูปขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 3

“พระพุทธรูปองค์นี้เป็นองค์ที่สมบูรณ์และเป็นปางที่หาได้ยาก เพราะที่พบในไทยไม่ค่อยพบที่เห็นผลสมอชัดเจน”

พระพุทธรูปโบราณ

04 พระพุทธรูปลีลา

ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก

พระพุทธรูปลีลาเป็นศิลปะสุโขทัย (ประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว) แสดงอิริยาบถก้าวเดินบนฐานบัวทรงกลมและถ่ายทอดลักษณะบางประการของความเป็นมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการของพระพุทธเจ้า เช่น พระวรกายท่อนบนผึ่งผาย พระกรรณยาว พระศอกลม พระกรงามดุจงวงช้างและยาวจดพระชานุ พระเพลากลมกลึง และสันพระบาทยาว

“ในสมัยโบราณคติการสร้างพระพุทธรูปคือเป็นการทำสมาธิเพื่อระลึกถึงมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการของพระพุทธเจ้าและถ่ายทอดจากนามธรรมสู่รูปธรรมจึงไม่ได้มีสรีระเหมือนมนุษย์จริงๆ เช่น ข้อศอกและแขนต้องกลมกลึงและไม่เห็นกระดูก พระพักตร์ยาวและลักษณะสงบนิ่ง แต่ภายหลังพระพุทธรูปเริ่มมีกายวิภาคอย่างทางตะวันตก เช่น พระพุทธรูปลีลาที่ปั้นโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีกล้ามเนื้อที่ชัดเจน พระพุทธรูปองค์นี้ถ่ายทอดความงามตามอุดมคติของช่างสุโขทัยได้อย่างโดดเด่น และในสมัยรัชกาลที่ 9 มองว่าความงามแบบสกุลช่างสุโขทัยเป็นความงามแบบคลาสสิกของพุทธศิลป์ไทย”

พระพุทธรูปโบราณ

05 พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย

ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยศิลปะลพบุรี (ประมาณ 750-800 ปีมาแล้ว) พบที่พระปรางค์ทิศ มุมกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยุทธนาวรากรกล่าวว่าโดยส่วนตัวเขาชื่นชอบในสุนทรียะของพระพุทธรูปองค์นี้ที่มีพระพักตร์งาม ไม่ดุเกินไปและไม่แข็งกร้าวเกินไป

“วิธีการปั้นดี ริ้วจีวรมีเส้นสายที่คมชัด นิ้วพระหัตถ์ยื่นออกมาในขณะที่องค์อื่นอาจพับเข้าทำให้ดูมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม จากประวัติที่ถูกค้นพบที่พระปรางค์วัดมหาธาตุคาดว่าเป็นของเก่าจากที่อื่นที่นำมาบรรจุอยู่ในกรุ เพราะมีอายุเก่ากว่าที่จะสร้างในสมัยอยุธยา”

06 พระพุทธรูปปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้ว

ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

พระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริดในซุ้มเรือนแก้วเป็นศิลปะลพบุรี (ประมาณ 800 ปีมาแล้ว) และถูกขุดพบในไหขณะขุดบ่อบำบัดน้ำเสียในมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี เมื่อปี 2540 พระพุทธรูปองค์นี้ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติในหนังสือที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อปี 2551

พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบบนฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงายและแผ่นหลังเป็นซุ้มเรือนแก้วประกอบด้วยวงโค้ง เชิงกรอบรูปนาค ยอดซุ้มเป็นลายใบไม้สามเหลี่ยม ส่วนบนซุ้มเป็นไม้โพธิ์ ภายในใบไม้สามเหลี่ยมและท้องไม้ประดิษฐานพระพุทธรูปมารวิชัยขนาดเล็กจำนวนมากตามคติพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่เป็นจำนวนมากดั่งเม็ดทราย

พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

07 พระพุทธรูปปางมารวิชัย

ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะอยุธยา (ประมาณ 400-500 ปีมาแล้ว) ประทับขัดสมาธิเพชรและมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจคือถูกค้นพบในพระอุระของพระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อครั้งมีการบูรณะ

“พระพักตร์ค่อนข้างกลม คางค่อนข้างแบน เม็ดพระศกใหญ่ รัศมีไม่ได้เป็นเปลวไฟ แต่เป็นรูปดอกบัวตูมซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านนา ที่น่าสังเกตคือถ้าเป็นแบบล้านนาชายสังฆาฏิจะเป็นเขี้ยวตะขาบ แต่องค์นี้มีริ้วแฉกเพิ่มขึ้นมา”

พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

08 พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ปางมารวิชัย

ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ปางมารวิชัยมีพระพักตร์ใหญ่ พระขนงโก่ง พระนาสิกใหญ่และโด่งและพระโอฐใหญ่กว้างอันเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะอยุธยาในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 23 (ประมาณ 300 ปีมาแล้ว) และทรงเครื่องใหญ่ที่เรียกว่าทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ์และใช้เทคนิคการหล่อแยกชิ้นประกอบเข้าด้วยกัน เช่น ส่วนยอดมงกุฎและกรรเจียกจร

“คติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอาจเป็นการแสดงพุทธิภาวะที่เทียบเท่ากับพระเจ้าจักรพรรดิ์ก็ได้หรือพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าปราบพระยามหาชมพูบดี แต่เมื่อพระพุทธรูปองค์นี้สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายในช่วงรัชกาลพระเจ้าปราสาททองจึงตอบได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องปราบพระยามหาชมพูบดีแน่นอน เครื่องทรงมีช่องไฟห่างค่อนข้างเยอะ มงกุฎไม่สูงมากและกรรเจียกจรโค้งสูงและไม่ได้ตั้งเป็นแผงซึ่งลักษณะแบบนี้มักพบในงานจิตรกรรมมากกว่างานประติมากรรม”

พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

09 พระพุทธรูปปางประทานอภัย

ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืนตรงแสดงปางประทานอภัยหรือแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์เป็นศิลปะลพบุรีในช่วงปลาย (ประมาณ 700-800 ปีมาแล้ว) และได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรสมัยบายนด้วยพระเนตรเหลือบลงต่ำ พระโอฐแบะกว้าง พระนาสิกใหญ่และปรากฎการครองจีวรชัดเจนโดยมีชายแผ่กว้างข้างพระองค์ ฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองข้างมีลายพระหัตถ์เป็นวงโค้งซ้อนกันที่มุมทั้งสี่และลายดอกจันที่กึ่งกลางพระหัตถ์อันเป็นหนึ่งในมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ

พระพุทธรูปโบราณ

10 พระแก้วผลึกปางมารวิชัย

ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พระพุทธรูปปางมารวิชัยทำจากหินควอตซ์เนื้อแก้วใสบริสุทธิ์ที่เรียกว่า แก้วผลึก เป็นศิลปะอยุธยา (ประมาณ 400 ปีมาแล้ว) และถูกพบพร้อมกับพระเจดีย์แก้วผลึกบรรจุพระบรมธาตุในช่องเสาหานเจดีย์ศรีสุริโยทัย ส่วนฐานเป็นแก้วเนื้อรองลงไป มีครอบพระเศียรด้วยทองคำสลักดุนเป็นเม็ดพระศก อุษณียะและรัศมีรูปเปลวประดับอัญมณี

“หินควอตซ์ธรรมชาติเนื้อแก้วใสมากมีเส้นใยผลึกของหินชัดเจน เป็นหินที่มีค่าหาได้ยากและในอยุธยาไม่มีแน่ วัสดุนี้ต้องเอามาจากล้านนาซึ่งนิยมสร้างพระพุทธรูปแก้วผลึก เพราะฉะนั้นในมิติของการค้า การเมือง และการปฏิสัมพันธ์ของแต่ละอาณาจักรในช่วงเวลานั้นสามารถสะท้อนผ่านพระพุทธรูปได้”

Fact File

  • นิทรรศการ พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน-10 กันยายน 2566
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ เปิดเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร)
  • สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-224-1333 และ 02-224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
จากประสบการณ์การถ่ายภาพสารคดีได้บอกเล่าเรื่องราวมากมายผ่านภาพถ่าย ให้ความรู้ความเข้าใจในสังคม มีความสุขที่ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคมอย่างต่อเนื่องกว่าสามสิบปี และยังคงสร้างผลงานต่อไปในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน "ฟันเฟืองตัวเล็กๆในสังคม"