หมอลำหุ่นสินไซ : จาก ฮูปแต้ม สู่การแสดงหุ่นอีสานร่วมสมัย ไฮไลต์เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2025
Arts & Culture

หมอลำหุ่นสินไซ : จาก ฮูปแต้ม สู่การแสดงหุ่นอีสานร่วมสมัย ไฮไลต์เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2025

Focus
  • หมอลำหุ่นสินไซ หยิบยกเรื่องราวจาก “ฮูปแต้ม” หรือ รูปแต้ม จิตรกรรมฝาผนังสไตล์อีสานของวัดไชยศรี บ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น มาตีความและเล่าใหม่
  • ขยายโมเดลการท่องเที่ยวจากสิ่งที่ชุมชนมีสู่ “สินไซสตอรี” ดึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของ ฮูปแต้ม วัดไชยศรี มานำเสนอใหม่ในรูปแบบการแสดง

แพรวพราวเกินจะต้านเลยอยากชวนไปเข้าร่วม! กับการแสดง หมอลำหุ่นสินไซ ที่หยิบยกเรื่องราวจาก ฮูปแต้ม หรือ รูปแต้ม จิตรกรรมฝาผนังสไตล์อีสานของวัดไชยศรี บ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น มาตีความและเล่าใหม่ในรูปแบบการแสดงหุ่นพื้นบ้านและดนตรีอีสานร่วมสมัย ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมไฮไลต์ใน เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2568 (Isan Creative Festival 2025) ที่ทำงานร่วมกับชุมชนสาวะถี ขยายโมเดลการท่องเที่ยวจากสิ่งที่ชุมชนมีสู่ “สินไซสตอรี” ดึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของ ฮูปแต้ม วัดไชยศรี มานำเสนอใหม่ในรูปแบบการแสดง

หมอลำหุ่นสินไซ
หมอลำหุ่นสินไซ
หมอลำหุ่นสินไซ

ต่อเนื่องสู่ สาวะถีกู๊ดที่นำสกิลของคนในชุมชนมาแมตซ์เข้ากับดีไซน์ของนักออกแบบ เกิดเป็นของที่ระลึกที่เข้าถึงง่ายแต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ และ สาวะถีเนเบอร์ฮู้ด ชวนแม่ๆ ชุมชนใกล้เคียงนำของดีของเด่นมานำเสนอ ปิดท้ายอีกไฮไลต์ห้ามพลาดคือ สาวะถีพ(ร)าวทูพรีเซนต์ กับการเปิดบ้านหมอลำระเบียบวาทะศิลป์ตั้งแต่วันนี้ถึง 6 กรกฎาคม 2568 ให้ได้เห็นวิถีหมอลำกันอย่างใกล้ชิดว่าโดยปกตินอกฤดูกาลคณะหมอลำชื่อดังระดับประเทศเขาอยู่และซ้อมกันอย่างไรบ้าง ทั้งหมดนี้ตั้งต้นด้วยโจทย์ในการปรับเซอร์วิสดีไซน์เพื่อเชิญชวนกลุ่มคนที่สนใจหรือนักท่องเที่ยวเข้าไปสู่ชุมชนมากขึ้น

หมอลำหุ่นสินไซ
งานดีไซน์ สาวะถีกู๊ด
หมอลำหุ่นสินไซ

แต่ที่ไม่อยากให้พลาดคือการแสดง หมอลำหุ่นสินไซ ซึ่งเปิดรอบการแสดงอีกเพียง 3 วันเท่านั้น นำทีมกำกับโดย อาจารย์ต้อง-พชญ อัคพราหมณ์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมด้วย อาย-ปาลิตา เชื้อสาวะถี คณะอีสานนครศิลป์ ที่มาขับร้องและทีมนักแสดงจิ๋วแต่แจ๋วจากโรงเรียนบ้านสาวะถี-สาวัตถีราษฎร์รังสฤษฏิ์ พ่วงด้วยทีมนักดนตรีพร้อมด้วยแม่ๆ พ่อๆ และช่างฝีมือชุมชนบ้านสาวะถีที่มาช่วยกันเนรมิตหุ่นขนาดยักษ์โดยใช้สกิลการถักแหอวนและจักสานแบบที่ถนัด ส่วนหุ่นเซ็ตเล็กนั้นทำจากกระติ๊บข้าวเหนียวและวัสดุจักสานซึ่งเป็นเทคนิคจาก“ครูเซียง-ปรีชา การุณ” หมอลำหุ่นคณะเด็กเทวดา จากมหาสารคาม ที่ได้มาเปิดเวิร์คช็อปอยู่ที่นี่บ่อยๆ หลังจากใช้เวลาปลุกปั้นร่วม 2เดือน ก็เกิดเป็นการแสดงที่เด็ก เยาวชนและคนในชุมชนได้มาเรียนรู้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และร่วมสืบสานการแสดงพื้นบ้าน ส่งต่อเรื่องราวของชุมชนด้วยกัน

“ปกติเด็กๆ เขาเล่นหุ่นเล็กที่ชมรมโรงเรียน แต่ปีนี้เราลองชาเลนจ์ดูว่าถ้ามีหน้าตาหุ่นที่เปลี่ยนไปเขาจะทำงานกับมันอย่างไร เด็กๆ นี่แสบกันมาก บอกว่าครูคะขออยู่ซ้อมต่อถึงสามทุ่มได้ไหม ทำให้เห็นว่าเด็กเขาภูมิใจที่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ สำหรับมุมมองของเราที่เป็นคนนอกรู้สึกว่าชุมชนสาวะถีโชคดีที่มีทุนทางวัฒนธรรมและกลไกของชุมชนเขาช่วยส่งเสริมกัน มีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ ก่อนที่จะเริ่มทำการแสดงเราให้เขามาฟังเรื่องราวนี้ก่อนและช่วยกันจินตนาการสร้างขึ้นมาว่าเวอร์ชันที่เราจะเล่นอยากให้มีตัวละครอะไรบ้าง ส่วนเรามีหน้าที่ในการประกอบร่างเข้าด้วยกัน ฉะนั้นเขาไม่ใช่แค่นักเชิดหรือนักแสดงหุ่นแต่อยู่ในกระบวนการสร้างสรรค์มาตั้งแต่แรก เป็นความภูมิใจของเขาเองด้วย” อาจารย์ต้อง ผู้กำกับการแสดงเล่าถึงเบื้องหลัง

การแสดงหุ่นร่วมสมัย หมอลำหุ่นสินไซ จะมีรอบการแสดงในวันพุธที่ 2 กรกฎาคม เวลา 19:00-19:30 น. วันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ 5-6 กรกฎาคม เวลา 13:30-14:00 น., 17:30-18:00 น. และ 19:00-19:30 น. สถานที่ วัดไชยศรี ชุมชนสาวะถี จังหวัดขอนแก่น มีรถบัสรับ-ส่งจาก TCDC ขอนแก่น – ชุมชนสาวะถี ฟรี!

รู้จัก วัดไชยศรี จิตรกรรมฝาผนังชื่อดังระดับประเทศ

“ฮูปแต้ม” หรือ รูปแต้ม คือจิตรกรรมฝาผนังของชาวอีสานที่นอกจากปรากฏบนผนังภายในสิมหรือโบสถ์แล้ว ช่างยังแต้มหรือวาดที่ผนังภายนอกสิม เนื่องจากสิมมีขนาดเล็ก ช่างแต้มไม่สามารถวาดได้จบเรื่องจึงต้องวาดบนผนังภายนอกสิมด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องดีเพราะผู้ที่ไม่สามารถเข้าไปร่วมพิธีในสิมโดยเฉพาะผู้หญิงที่ตามขนบอีสานไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในสิม สถานที่ที่ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบกิจของสงฆ์ จะได้มีโอกาสเรียนรู้หลักธรรมคำสอนจากฮูปแต้มภายนอกสิม

สำหรับหนึ่งในฮูปแต้มที่โด่งดังได้แก่ฮูปแต้มสินไซแห่ง วัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่น ฝีมือช่างท้องถิ่นที่เขียนเต็มพื้นที่สินให้ชมได้เพลินมาก โดย สินไซ เปรียบเสมือนมรดกทางวรรณกรรมอันล้ำค่าของชาวล้านช้าง เป็นวรรณกรรมเก่าแก่ซึ่งเดิมเป็นหนังสือเทศน์ แต่งเป็นคำกลอนโดยท้าวปางคำเมื่อพ.ศ. 2192 ต่อมามีการพิมพ์เป็นภาษาไทยและลาวอย่างกว้างขวาง วรรณกรรมเรื่องนี้นอกจากมีความงดงามทางภาษาแล้ว เนื้อหายังสนุกสนานน่าติดตามด้วยการผจญภัย “หกย่านน้ำ เก้าด่านมหาภัย” ของสินไซ ทั้งยังสอดแทรกเรื่องคุณธรรมหลายอย่าง คนอีสานส่วนใหญ่เชื่อว่า สินไซเป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า โดยเป็นแบบปัญญาสชาดกหรือชาดกนอกนิบาต จึงไม่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก

Fact File

  • เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ Isan Creative Festival 2025 กลับมาในคอนเซปต์ Isan Soul Proud ธีมเทศกาลที่ไม่เพียงแต่เปิดพื้นที่ให้เหล่านักออกแบบ ศิลปิน ผู้ประกอบการหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่มาร่วมกันขับเคลื่อนถิ่นอีสาน แต่คราวนี้กลับมาแบบพราวกว่าเดิมด้วยการมองดีเทลและทุนวัฒนธรรมที่มีอย่างลึกซึ้งขึ้นเพื่อผลักดันไปสู่ประสบการณ์และโอกาสใหม่ๆ แบบทั้งแซ่บและยั่งยืน จัดขึ้นตลอด 9 วัน ตั้งแต่วันนี้ถึง 6 กรกฎาคม 2568
  • พื้นที่จัดแสดงงาน Isan Creative Festival 2025 อยู่ที่ย่านกังสดาล – ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ขอนแก่น (TCDC ขอนแก่น), ย่านโคลัมโบ Columbo Creative District, โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด, โฟกัสอารีน่า, ชุมชนสาวะถีและยังมีพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดขอนแก่น

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ