ไอคอนงานดีไซน์ Keep Calm and Carry On เริ่มใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2
Arts & Culture

ไอคอนงานดีไซน์ Keep Calm and Carry On เริ่มใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

Focus
  • Keep Calm and Carry On คำขวัญ เรียกสติของพลเมืองช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของรัฐบาลอังกฤษ ปัจจุบันวลีนี้ได้กลายเป็นหนึ่งใน “ไอคอนแห่งงานดีไซน์” แห่งศตวรรษ
  • โปสเตอร์ Keep Calm and Carry On ครั้งแรกมีถึง 2.45 ล้านใบในปีค.ศ.1939 แต่กลับถูกนำไปย่อยและทำเป็นกระดาษรีไซเคิล 

Keep Calm and Carry On คำขวัญเรียกสติของพลเมืองช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของรัฐบาลอังกฤษ ปัจจุบันวลีนี้ได้กลายเป็นหนึ่งใน “ไอคอนแห่งงานดีไซน์” แห่งศตวรรษ และเป็นสโลแกนยอดฮิตสู้วิกฤตต่าง ๆ อย่างมีสติโดยใช้คำขึ้นต้น Keep Calm and… มาเติมคำต่อท้ายตามอัธยาศัย เช่น Keep Calm and Save NHS ไปจนถึง Keep Calm and Eat Cupcakes ประโยคขายคัปเค้กยอดฮิต

Keep Calm and Carry On
Keep Calm and Carry On

สโลแกนนี้เริ่มโด่งดังในปี ค.ศ. 2001 เป็นทั้งคำปลอบขวัญ ปลุกกำลังใจ เรียกสติ และชักชวนให้ทำอะไรในแง่บวก เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยประโยคนี้คือ 1ใน 3 สโลแกนชวนเชื่อที่พิมพ์เป็นโปสเตอร์ช่วงระหว่างปลายเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ค.ศ.1939 สร้างขึ้นโดยกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) ส่วนอีก 2 สโลแกน คือ “Your Courage, Your Cheerfulness, Your Resolution Will Bring Us Victory” และ “Freedom is in Peril; Defend it with all Your Might”

Keep Calm and Carry On
โปสเตอร์อีก 2 ใบที่สร้างในช่วงเวลาเดียวกันกับ Keep Calm and Carry On

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองของรัฐบาลอังกฤษ นำโดยนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล ปลอบขวัญชาวอังกฤษที่โดนเยอรมนีถล่ม ต่อมา ปี ค.ศ.1949 สโลแกนนี้ปรากฏเกี่ยวเนื่องกับโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในนิยายเรื่อง “1984” เขียนโดย จอร์จ ออร์เวลล์ โดยในนิยายใช้ชื่อกระทรวงเป็น Ministry of Truth แต่การแจ้งเกิดที่แท้จริงของวลีที่กลายเป็นคำคมยอดฮิตนี้กลับใช้เวลาเนิ่นนานมาจนถึงยุคมิลเลนเนียม เหตุผลเพราะแรกเริ่มต้นฉบับโปสเตอร์ของสโลแกนนี้ ตีพิมพ์ 2.45 ล้านใบในปี ค.ศ. 1939 นั้น ไม่ได้ถูกแจกจ่ายไปในวงกว้าง และในปี ค.ศ.1940 รัฐบาลอังกฤษต้องแก้ปัญหาขาดแคลนกระดาษจึงต้องเอาโปสเตอร์สองล้านใบนั้นมาย่อยและทำเป็นกระดาษรีไซเคิล โปสเตอร์ต้นฉบับที่เหลืออยู่จึงมีเพียงไม่กี่ใบ

จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 2000เจ้าของร้านหนังสือ Barter Books ที่ Alnwick,Northumberland พบโปสเตอร์หนึ่งใบพับแทรกอยู่ในหนังสือที่เขาซื้อมาแบบเหมาเข่ง จากนั้นจึงส่งไปพิมพ์ซ้ำเป็นโปสเตอร์กระดาษไซซ์ออริจินัล 1 แสนใบ พิมพ์ลงบนถ้วยกาแฟ เสื้อยืด แผ่นรองเมาส์ ผ้าเช็ดมือและโปสต์การ์ด ผลตอบรับคือขายดิบขายดี และทำให้คำขวัญนี้กลายเป็นไอคอนของงานดีไซน์ โดยพื้นหลังของโปสเตอร์ใช้สีแดง มีโลโก้มงกุฎแห่งราชบัลลังก์อังกฤษอยู่กึ่งกลางด้านบนตัวอักษรสีขาวตัวใหญ่ “KEEP CLAM AND CARRY ON” และแบบตัวอักษรที่ใช้ในโปสเตอร์ก็ถูกเรียกว่า คีปคาล์ม ฟอนต์ (Keep Calm Font)

Fact File

  • ถ้าอยากสัมผัสบรรยากาศเมื่ออังกฤษเข้าสู่สงครามครั้งที่สอง ในช่วงปี ค.ศ. 1940 ซึ่งเส้นเวลาเหลื่อมกับแคมเปญชวนเชื่อจากรัฐบาลลองดูภาพยนตร์เรื่อง “Dunkirk” ปฏิบัติการดันเคิร์ก เหตุการณ์สำคัญในสนามรบที่ฝ่ายอังกฤษต้องหนีให้รอดจากกองทัพนาซีเยอรมนีกำกับโดย คริสโตเฟอร์ โนแลนและ Darkest Hour (ฉบับปี ค.ศ. 2011) กำกับโดย โจ ไรท์ นำแสดงโดย แกรี โอลด์แมน ในบท นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล ที่ต้องตัดสินใจว่าจะเจรจาหย่าศึกกับฮิตเลอร์หรือไม่ เพราะอังกฤษถูกถล่มยับเยินมากแล้ว 
  • นิยายเรื่อง 1984 เขียนโดย จอร์จ ออร์เวลล์ นิยายเก็บบรรยากาศสังคมการเมืองในยุคสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง พล็อตเรื่องเป็นโลกสมมติที่ประชาชนถูกครอบงำด้วยอำนาจเบื้องสูงที่เต็มไปด้วยความไม่ชอบธรรม

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป