โอะกุริโมโนะ : 98 ของขวัญหาชมยาก สะท้อนวัฒนธรรมการให้ของญี่ปุ่น
Arts & Culture

โอะกุริโมโนะ : 98 ของขวัญหาชมยาก สะท้อนวัฒนธรรมการให้ของญี่ปุ่น

Focus
  • นิทรรศการ โอะกุริโมโนะ สุนทรียะแห่งการให้และคืนกลับ โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวพิธีกรรมการมอบของขวัญในประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในวิถีปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียด และสุนทรียะเบื้องหลังวัสดุ ซึ่งหลอมรวมทั้งเรื่องราวความเชื่อ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีหรือวิถีชีวิตในบริบทหนึ่งเดียวกัน
  • ในนิทรรศการจัดแสดง 98 ชิ้นงาน แบ่งเป็น 4 โซนตามวาระของการให้ ตั้งแต่พิธีแต่งงาน การห่อของขวัญ พ่อแม่ให้ลูกและการให้เพื่อกระชับความสัมพันธ์

การให้ และการแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกันถือเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในโลก ของขวัญ ถือเป็นตัวแทนของความพิเศษในวาระต่าง ๆ ที่เติมทั้งความใส่ใจและการให้เกียรติที่ผู้ให้มีต่อผู้รับ แต่นอกเหนือจากเหตุผลด้านความรู้สึก การมอบของขวัญก็เป็นส่วนหนึ่งของพิธีการ และแฝงไว้ด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมอีกมากมาย ดังวัฒนธรรมการมอบ โอะกุริโมโนะ (okurimono) หรือ ของขวัญ ของชาวญี่ปุ่น หนึ่งในวิถีปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียด และสุนทรียะเบื้องหลังวัสดุสิ่งของเช่นเดียวกับงานดีไซน์อื่น ๆ ที่เขามักประกอบขึ้นอย่างประณีต กลายเป็นภาพจำที่เรามักออกปากกันว่าสิ่งนี้ดูแล้วช่างมีความญี่ปุ่นจริง ๆ เลย

โอะกุริโมโนะ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ นำนิทรรศการ โอะกุริโมโนะ สุนทรียะแห่งการให้และคืนกลับ มาถ่ายทอดเรื่องราวพิธีกรรมการมอบของขวัญในญี่ปุ่นให้เราได้ชมกัน แต่บอกความพิเศษก่อนเลยว่า นี่เป็นนิทรรศการสัญจรที่คัดเลือกวัตถุจัดแสดงโดย นากาซากิ อิวาโอะ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยสตรีเคียวริสึ ซึ่งนำมาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ ที่แรกในโลก ก่อนจะขยับขยายไปจัดแสดงที่จังหวัดขอนแก่นในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

โอะกุริโมโนะ

ภายในนิทรรศการ จัดวางชิ้นงานจำนวน 98 ชิ้นเสมือนให้เราค่อย ๆ ส่องแว่นขยายไปที่ของแต่ละชิ้นอย่างใจเย็น ค่อย ๆ ซูมดูรายละเอียดแต่ละลวดลายผ่านสายตาไปเรื่อย ๆ ซึ่งเขาจัดแสดงโดยแบ่งออกเป็น 4 โซนตามรูปแบบการให้ โดยเราจะขอหยิบไฮไลต์ของแต่ละหมวดมาเล่าสู่กันฟัง

Chapter 1 : ของขวัญเกี่ยวกับการแต่งงาน

ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสถานะมาก ๆ การแต่งงานซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ ลวดลายที่ปรากฏบนชุดแต่งงาน ของหมั้นไปจนถึงภาชนะและเครื่องใช้ในพิธีการ จึงเป็นของขวัญสำคัญที่พ่อแม่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจัดเตรียมเพื่ออวยพรให้คู่บ่าวสาวใช้ชีวิตบทใหม่อย่างมีความสุข

โอะกุริโมโนะ
ชุดอุชิคาเคะ (Uchikake) หรือชุดเจ้าสาวที่มีชายยาว
สีขาวลายนกกระเรียน
ลายเกาะเผิงไหล บนชุดอุชิคาเคะ (Uchikake)
โอะกุริโมโนะ
โยกิ (ผ้าห่มคลุมนอน) ลายคิชโช ประกอบด้วย ต้นสนและนกกระเรียน
ผู้คนในสมัยเอโดะเชื่อว่าเครื่องนอนควรมีลายที่เกื้อหนุน จึงมักมอบชุดเครื่องนอนประดับลายให้เจ้าสาว

ลวดลายที่ใช้ในการมอบของขวัญส่วนใหญ่จะเรียกว่าลาย คิชโช (kissho) สัญลักษณ์ของความโชคดี ปีติยินดี ป้องกันสิ่งชั่วร้ายและเรียกโชคลาภ ซึ่งรูปแบบของลายคิชโชที่พบได้บ่อย เช่น ลายต้นสน ต้นไผ่ ดอกบ๊วย ที่งอกงามอยู่ตามหาดทรายหรือฐานหินในน้ำ บวกกับลายนกกระเรียนหรือเต่า ซึ่งรวมแล้วเป็นลายที่สื่อถึง ภูเขาเผิงไหล (penglai) ตามตำนานจีน หรือที่เรียกว่า ภูเขาโฮไร (horai) ในภาษาญี่ปุ่น ดินแดนที่เชื่อกันว่ามียาอายุวัฒนะและเป็นที่อยู่ของเหล่าเซียน จุดนี้แค่ดูลวดลายการปักบนชุดเจ้าสาวก็เพลินตาจนอยากเอามือไล้ไปตามเส้นด้ายแต่ละเส้นเลย (แต่เขาห้ามจับนะทุกคน)

Chapter 2 : การห่อของขวัญด้วยฟุกุสะและฟุโรชิกิ

หลายคนน่าจะหลงใหลในแพ็กเกจจิงดีไซน์ของโปรดักต์ญี่ปุ่นอยู่แล้ว เพราะนอกจากความสวยยังมักแฝงไว้ด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่คิดมาอย่างดี สำหรับการห่อของขวัญหรือกล่องอาหาร ชาวญี่ปุ่นมักใช้ผ้าอยู่ 2 ประเภทคือ ฟุกุสะ (fukusa) สำหรับคลุมทับหรือห่อ และ ฟุโรชิกิ (furoshiki) สำหรับห่อเพื่อเคลื่อนย้ายสิ่งของ ซึ่งผ้าเหล่านี้ในสมัยก่อนเคยมีฟังก์ชันในการป้องกันแดดและฝุ่นมาก่อน จนค่อย ๆ พัฒนาเป็นการประดับตกแต่งไปจนถึงผ้าคลุมที่ออกแบบลวดลายอย่างประณีตเพื่อใช้ในพิธีการ ซึ่งการคลุมหรือห่อด้วยฟุกุสะ และฟุโรชิกิ สื่อความหมายโดยนัยได้อีกว่า สิ่งของด้านในจะยังคงสะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ

ฟุกุสะ สมัยเอโดะ ลายคิชโช
โอะกุริโมโนะ
ฟุกุสะ ลายคลื่นและเต่าชรา

ไม่เพียงแต่ความปรารถนาดีที่ส่งผ่านงานดีไซน์ แต่ลวดลายยังคงสื่อถึงยุคสมัย ความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น เช่นในยุคอะซึกะ (ศตวรรษที่ 6-8) ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน สัตว์มงคลของจีนอย่างมังกรและนกฟีนิกซ์ จึงกลายมาเป็นเครื่องหมายแห่งความโชคดีของญี่ปุ่นไปด้วย แต่เมื่อถึงยุคเฮอัง (ศตวรรษที่ 8-11) ที่ญี่ปุ่นเริ่มมีวัฒนธรรมการสร้างชาติ ลวดลายต่าง ๆ ที่ได้รับมาก็เริ่มมีการนำมาปรับให้มีความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้น โดยการเลือกนำสัตว์ที่มีอยู่จริงมาออกแบบเป็นลายคิชโช เช่น เต่าและนกกระเรียน นอกจากนั้นยังริเริ่มออกแบบลายคิชโชที่มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่นเองด้วย เช่น ลายทาจิบานะ (tachibana) ซึ่งเป็นส้มสายพันธุ์เก่าแก่ของญี่ปุ่น เชื่อกันว่าส้มสายพันธุ์นี้เป็นผลไม้ที่ช่วยให้อายุยืนและให้กำเนิดบุตรที่แข็งแรง จากความเชื่อนั้น ฟุกุสะ และ ฟุโระชิกิ ลายส้มทาจิบานะ จึงนิยมใช้ในชุดเครื่องแต่งงานของเจ้าสาว

ฟุโระชิกิ ลายสมบัติ

ต่อมาในยุคเอโดะ (ศตวรรษที่ 16-18) ยังมีการออกแบบลวดลายที่สื่อถึงยุคเฮอัง ยุคที่ศูนย์กลางอยู่ที่กลุ่มคนชั้นสูงในราชสำนัก เพราะผู้คนในยุคเอโดะรู้สึกชื่นชมต่อวิถีในยุคเฮอังจากการที่ขุนนางสมัยนั้นใช้ชีวิตกันอย่างสง่างาม อีกทั้งยังมีการออกแบบด้วยการอิงจากภาพศิลปะและวรรณกรรม เพื่อสะท้อนถึงระดับความรู้และรสนิยมอีกด้วย

Chapter 3 : ของขวัญจากพ่อแม่แก่ลูก 

การให้ของรับขวัญในวันแรกเกิด เป็นอีกวาระพิเศษที่คนไทยให้ความสำคัญกับสมาชิกใหม่ของครอบครัว พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นก็เช่นกัน ในนิทรรศการเราจะได้เห็น ชุดเกราะสำหรับเด็กผู้ชาย หนึ่งในของขวัญที่ครอบครัวซามูไรในยุคเอโดะมอบให้แก่ลูกชายเพื่อหวังว่าเด็กชายจะเติบโตมาเป็นหัวหน้าครอบครัว พ่อแม่จึงตั้งใจมอบชุดเกี่ยวกับอาชีพในอนาคตแก่เด็ก สิ่งที่แฝงอยู่ในการให้นี้จึงเหมือนการบอกเป็นนัย ๆ ถึงความหวังที่พ่อแม่ฝากไว้กับลูก 

โอะกุริโมโนะ
ชุดเกราะสำหรับเด็ก

นอกจากนั้นชุดที่ผู้ใหญ่สวมให้เด็ก ๆ ยังคงประดับด้วยลายคิชโชเสมือนกับการอธิษฐานให้สิ่งดี ๆ ช่วยคุ้มครองลูกหลานของตน โดยเหล่าชุดเด็กที่เราได้เห็นในนิทรรศการจะมาจากยุคเมจิ ซึ่ง เดียร์-ทรงวาด สุขเมืองมา ภัณฑารักษ์อาวุโส ของสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ชิ้นงานในนิทรรศการนี้ส่วนใหญ่มาจากยุคเมจิ เป็นยุคที่เปรียบได้กับช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย ซึ่งนับได้ว่าเป็นยุคที่มีวิวัฒนาการค่อนข้างมาก รวมทั้งมีการผลิตไอเดียและนวัตกรรมที่ยังคงส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน

Chapter 4 : การมอบของขวัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์

ในนิทรรศการนี้เราจะได้เห็นของขวัญในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้องอย่างเช่น ชุดทำงานส่วนใหญ่ของคนในยุคเอโดะ ที่มีลักษณะเป็นเสื้อคลุมสำหรับสวมทับกิโมโน (kimono) หากสวมโดยการพับปกออกด้านนอกจะเรียกว่า ฮาโอริ (haori) แต่หากสวมโดยไม่ต้องพับปกเรียกว่า ฮันเทน (hanten) ซึ่งในสมัยนั้นจะมีการใส่ตราประจำตระกูลไว้บริเวณกลางหลังหรือปกเสื้อ บ้างก็เป็นอักษรคันจิที่ให้ความหมายถึงความกตัญญู เพื่อให้ลูกน้องสวมแล้วรู้สึกถึงความเป็นครอบครัวเดียวกับเจ้าของหรือรู้สึกว่ามีคนคอยดูแลอยู่ ทำให้อยากทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับการทำงาน

เสื้อคลุมของนักดับเพลิง สมัยเมจิ
มัยวัย (Maiwai) เสื้อคลุมเฉลิมฉลองของชาวประมง

นอกจากนั้นยังมี ยูกาตะ (yukata) ที่นักแสดงคาบูกิและนักซูโม่ มักมอบให้แก่ผู้อุปถัมภ์ของเขาเพื่อแสดงความขอบคุณ โดยความพิเศษคือลายผ้าจะเป็นลายประจำตัวของนักแสดงคนนั้น ๆ ชุดอีกแบบหนึ่งเรียกว่า มัยวัย (maiwai) เป็นชุดเฉลิมฉลองของชาวประมงที่เจ้าของเรือหรือเจ้าของอวนมักมอบให้ลูกน้องหากจับปลาได้จำนวนมากเหมือนกับการให้โบนัส มัยวัยจะมีตราประจำตระกูลบริเวณกลางหลัง ทำจากผ้าฝ้ายที่มีลวดลายมงคลเกี่ยวกับฉากการทำงานที่ชาวประมงพบเจอ เช่น ปลา เรือสมบัติหรือสายน้ำ ซึ่งมีการกล่าวว่าชาวประมงจะสวมใส่ชุดมัยวัยในช่วงวันปีใหม่เพื่อไปทักทายเจ้าของเรือ 

นิทรรศการนี้นอกจากเราจะได้ชมชิ้นงานจากการใช้งานจริงซึ่งนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว หัวใจหลักของนิทรรศการคือการแสดงให้เห็นว่าเจตนาของการให้ รวมทั้งเรื่องราวความเชื่อ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีหรือวิถีชีวิตสามารถหลอมรวมอยู่ในบริบทหนึ่งเดียวกันได้เช่นเดียวกับของขวัญ 98 ชิ้นที่เราได้เดินชมกัน

Fact File

  • นิทรรศการ โอะกุริโมโนะ: สุนทรียะแห่งการให้และได้คืนกลับจัดแสดงระหว่างวันที่ 18 มีนาคม – 25 เมษายน พ.ศ. 2564 (ปิดวันจันทร์) ที่ห้องนิทรรศการชั้น 1 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ (เข้าชมฟรี)

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว