Pathumwan Art Routes เปลี่ยน ปทุมวัน ให้กลายเป็นย่านศิลปวัฒนธรรม
Arts & Culture

Pathumwan Art Routes เปลี่ยน ปทุมวัน ให้กลายเป็นย่านศิลปวัฒนธรรม

Focus
  • Pathumwan Art Routes หรือ PARs เป็นโครงการในความร่วมมือของพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ปทุมวัน เสมือนการเปิดแผนที่ชักชวนทุกคนไปฮอปปิ้งในย่านที่รวบรวมทั้งศิลปะ  วัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิมไปจนถึงงานศิลปะโมเดิร์นล้ำสมัย
  • โครงการที่มุ่งกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ชักชวนผู้คนให้กลับมาเรียนรู้และใช้เวลาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่

กำลังหาพิกัดเที่ยวกันอยู่หรือเปล่า Sarakadee Lite ขอชวนกางแผนที่ไปไปฮอปปิงย่านศิลปะกลางเมืองกับ Pathumwan Art Routes หรือชื่อเล่นสั้น ๆ ว่า PARs พื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ ปทุมวัน ซึ่งกลายเป็นย่านที่รวบรวมทั้งศิลปะ  วัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิมไปจนถึงงานศิลปะโมเดิร์นล้ำสมัย 

ที่น่าสนใจคือพื้นที่ทางศิลปะในเขตปทุมวันแห่งนี้จะมีการจัดนิทรรศการ งานเสวนาและเวิร์กชอป หมุนเวียนกันไปอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2563 ยาวไปเลย โดยสามารถติดตามตารางกิจกรรมและความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่ Facebook : PARs Project ส่วนจะมีที่ไหนและน่าสนใจอย่างไรบ้าง เรารวบรวมมาไว้ให้ในโพสต์นี้แล้ว

Pathumwan Art Routes

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หนึ่งในสถานที่ที่เดินทางสะดวกและคุ้นเคยกันดีสำหรับสายอาร์ต หลังจากทำเอาคิดถึงไปยกใหญ่เพราะต้องปิดทำการจากโควิด-19 คราวนี้กลับมาพร้อมนิทรรศการน่าสนใจอีกเพียบ เช่นเทศกาลศิลปะการแสดง ครั้งที่ 9 หรือP.A.P. #9: Performative Art Project #9 บริเวณห้องสตูดิโอชั้น 4 ที่จะมีการแสดงหลากหลายรูปแบบจากทั้งศิลปินไทยและนานาชาติให้ได้ติดตาม รวมไปถึงกิจกรรมเวิร์กช็อปและงานเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะการแสดงที่จะจัดหมุนเวียนยาว ๆ กันไปจนถึงปลายปีเลยทีเดียว

Pathumwan Art Routes

Yelo House

อาร์ตสเปซที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมของความคิดสร้างสรรค์ที่มีทั้งคาเฟ่ ร้านอาหารคอมฟอร์ตฟู้ดให้ได้ฝากท้อง ไปจนถึงการเป็นศูนย์รวมด้านการถ่ายภาพแบบครบวงจรอย่างร้านอุปกรณ์กล้อง KameraCrafts, ร้านฟิล์ม HYPER DEVFilm Lab และโซนแกลเลอรีชั้น 2 ที่ตอนนี้กำลังจัดแสดงงาน UNFORMATIVE “สภาวะไร้รูป” ซึ่งเป็นงานแรกที่ทาง Yelo House คิวเรตเองกับผลงานศิลปะแนวแอบสแตรกต์ ของศิลปิน 6 คน คือ เสนีย์ แช่มเดช, กำศักดิ์ อติพิบูลย์สิน, ธนชัย อุชชิน, อนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี, เดือนฉายผู้ชนะ ภู่ประเสริฐ และสุกัญญา สอนบุญ ให้ผู้ชมได้ไปสัมผัสตีความสิ่งไร้รูปที่ศิลปินถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้สึกลงบนชิ้นงานกันถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้

และอีกสิ่งที่หลายคนตั้งตารอคือ แอบแว่วมาว่าเร็ว ๆ นี้ ด้านหลังเขากำลังจะเปิดเป็น Bar Experience เพื่อคัดสรรเมนูจากผองเพื่อนที่ทำอาหารจากวัตถุดิบในชุมชน โดยอยากเป็นสะพานเชื่อมให้คนกรุงเทพฯ ได้กินอาหารดี ๆ ในราคาที่จับต้องได้ เช่น เค้กกล้วยหอมที่ใช้กล้วยจากสวนปลอดสารพิษหรือโอเลี้ยงรสชาติออริจินัลจากร้านเก่าแก่ในจังหวัดอยุธยา ซึ่งตอนนี้อยู่ในแพลนที่กำลังพัฒนา ถ้าได้ข่าวว่าเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อไรจะรีบพุ่งตัวไปให้ไวที่สุดเลย

  • เปิดทำการ 09:00-20:00 น. เข้าชมฟรี
  • Facebook : YELO House และเว็บไซต์ www.yelohouse.com/
Pathumwan Art Routes

ชุมชนมุสลิมบ้านครัว

ชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ซึ่งแต่เดิมถือเป็นพื้นที่ที่มีประชากรมุสลิม-ไทยอาศัยอยู่ใหญ่ที่สุดในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ก่อนจะกระจายตัวออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยนอกจากวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในปัจจุบัน ก็ยังคงมีร่องรอยของอดีตชุมชนริมคลองแสนแสบให้ได้เห็นอยู่บ้างเช่น สถาปัตยกรรมบ้านไม้เก่าแก่ที่ยังคงอนุรักษ์เอาไว้ วิถีแห่งมุสลิมของชาวจาม รวมไปถึงแหล่งผ้าไหมทอมือ ซึ่งเป็นอาชีพและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวแขกจามที่เคยรุ่งเรืองสมัยนายห้างจิม ทอมป์สัน เข้ามาพัฒนาและทำธุรกิจผ้าไหมส่งออก

จากที่แทบทุกบ้านจะมีกี่ทอผ้าเป็นของตนเอง ในปัจจุบันหลงเหลือให้เห็นอยู่เพียงสองหลังคือ บ้านลุงอู๊ดที่เน้นการย้อมสีไหม และบ้านลุงนิพนธ์ที่ยังคงอนุรักษ์การทอผ้าไหมด้วยมือให้เห็นอยู่ที่ชุมชนฝั่งตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน

Jim Thompson House Museum

นอกจากตัวพิพิธภัณฑ์หมู่เรือนไทยที่ประกอบด้วยเรือนไม้สักเก่า 6 หลัง ซึ่งเป็นที่พำนักของนายจิม ทอมป์สัน ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมผ้าไหมไทย โดยปัจจุบันเปิดให้เข้าชมและจัดแสดงคอลเล็กชันของสะสมของนายจิม ทอมป์สัน ตั้งแต่เครื่องเบญจรงค์ ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุทั้งแบบศิลปะไทย จีนและเมียนมาให้ชมแบบถาวรแล้ว

วันนี้ถึง 31 ตุลาคม พ.ศ.2563 ส่วนของห้องสมุดวิลเลียม วอร์เลน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน ยังมีศิลปะจัดวางแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่ (site-specific installation) ในชื่อนิทรรศการ ออเหลน (Orlane) ซึ่งเป็นคำเรียกวัยรุ่นชายในยุค พ.ศ.2500 อยู่ด้วย นิทรรศการนี้เป็นเหมือนการจัดแสดงความทรงจำของวัยรุ่นตั้งแต่ยุคพ.ศ.2500 ถึงปัจจุบัน ผ่านภาพถ่าย ภาพเขียน สื่อสิ่งพิมพ์โดยศิลปิน กรกฤช เจียรพินิจนันท์ ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 09.00-17.00 น.

  • เปิดทำการ 11:00-18:00 น. ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 200 บาท, อายุ 10-22 ปี 100 บาท และเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีเข้าชมฟรี
  • Facebook : Jim Thompson House และเว็บไซต์ www.jimthompsonhouse.com/

นิทรรศสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากหอศิลป์จามจุรีและพิพิธภัณธ์มหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้ศิลปินสามารถใช้พื้นที่จัดแสดงงานได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายโดยการสมัครเข้าคัดเลือกแล้ว ภายในชั้น 1 ของอาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ยังมีส่วนที่เรียกว่านิทรรศสถาน ซึ่งความพิเศษคือเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงงานจากศิลปินนานาชาติ สถานเอกอัครราชฑูตประเทศต่าง ๆ หรือศิลปินใหญ่ที่มีชื่อเสียงหมุนเวียนไปทุก ๆ 3 เดือน โดยคิวเรเตอร์จากสำนักศิลปวัฒนธรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบันถึงสิ้นเดือนตุลาคม นิทรรศสถานกำลังจัดแสดงนิทรรศการ Rest in Progress ของ อ.ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ที่ไปพำนักอยู่ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยผลงานที่จัดแสดงมาจากช่วงยุคหลัง (ปีพ.ศ.2556-2562) ที่อ.ชวลิต ปรับจากการทำงานบนแคนวาสมาพัฒนางานแนวดิจิทัล โดยนิทรรศการนี้สำนักศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิของ อ.ชวลิต จัดขึ้นเพื่อระลึกถึง อ.ชวลิต ที่ตกลงจัดแสดงผลงาน ก่อนจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 หลังกลับไปที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ 

  • เปิดทำการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. เข้าชมฟรี
  • Facebook : CU Art Culture และเว็บไซต์ www.cuartculture.chula.ac.th/

JWD Art Space

อาร์ตสเปซน้องใหม่แห่งซอยจุฬาฯ 16 ที่ครบวงจรการบริการด้านศิลปะร่วมสมัย ทั้งการขนส่ง ติดตั้ง ซ่อมแซม อนุรักษ์และบริการพื้นที่จัดเก็บผลงานศิลปะสำหรับศิลปินและนักสะสมแห่งแรกแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีระบบรักษาความปลอดภัยและการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม โดย Art Storage นี้สามารถรองรับผลงานได้กว่า 1,000 ชิ้นเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงนิทรรศการที่เปิดให้เข้าชมฟรี โดยตั้งแต่วันนี้-31 สิงหาคม จะพบกับ “Die schöne Heimat”: บ้านเกิด เมืองใด เรือนใจ เมืองงาม โดยศิลปิน สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ที่มีรูปแบบผลงานหลากหลายทั้งจิตรกรรม ประติมากรรมและการจัดวาง ที่มุ่งสื่อสารถึงความหมายของบ้านที่งดงาม ซึ่งศิลปินมุ่งหวังให้ผู้ชมได้มองเห็นภาพสะท้อนและเกิดแรงบันดาลใจถึงบ้านที่งดงามในแบบฉบับของตนเอง

FAAMAI DOME

หากผ่านแถวย่านบรรทัดทอง แล้วกำลังสงสัยว่าโดมยักษ์สีขาวข้างอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคืออะไร เขามีชื่อว่า FAAMAI Digital Art Hub หรือ ศูนย์ปฏิบัติการศิลปกรรมดิจิทัล คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมุ่งให้เป็นพื้นที่บุกเบิกและทดลองด้านดิจิทัลอาร์ตที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา อาจารย์รวมถึงศิลปินทั้งในและนอกประเทศได้จัดแสดงนิทรรศการโดยมีดิจิทัลอาร์ตเป็นพื้นฐานและเปิดกว้างสำหรับหลากหลายทักษะในสายนี้ไม่ว่าจะ Projection Mapping, AR, VR หรือ Interactive Live Performance ก็ตาม 

ปัจจุบันฟ้าใหม่โดมยังไม่ได้มีการเปิดให้เข้าชม แต่เร็ว ๆ นี้ เขากำลังจะมีโครงการประกวด Projection Mapping ด้วย ใครสนใจสามารถติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่เพจ FAAMAI Dome เลย

CU Art 4C

อาจจะเคยเห็นหน้าค่าตากันอยู่แล้วสำหรับ CU Art4C x Class Cafe ตึกสามคูหา ที่อยู่ห่างจากสามย่านมิตรทาวน์ไปไม่กี่ก้าวเดิน นอกจากพื้นที่ชั้นล่างจะเป็นโคเวิร์กกิงสเปซสำหรับนั่งหาไอเดียใหม่ ๆ พร้อมเมนูเครื่องดื่มจาก Class Cafe แล้ว ชั้น 2 และ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ริเริ่มยังตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับนิสิต อาจารย์รวมถึงศิษย์เก่า ได้มาปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์กันอีกด้วย

ตอนนี้ที่ชั้น 2 กำลังจัดแสดง “ATTA ATTA อัฏฐะ อัตตา” Group Exhibition ที่นำโดย ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร ตามด้วยอีก 7 ศิลปิน Hbuddhie, Tanpopoe, Gub Gaem, Alanlert, Hi Fly, Som Benyatip และ Pupha ที่หยิบคำสองคำคือ ชะตา และ อัตตา มาสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีศาลเจ้าและการเสี่ยงเซียมซีเป็นแรงบันดาลใจ โดยจะจัดแสดงถึงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

  • เปิดทำการ 08:00-18:00 น.
  • Facebook : CU Art 4C และเว็บไซต์ art4c.org/

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม
ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์