อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ โฉมใหม่ อลังการงานโบราณคดีหลังพุทธศตวรรษที่ 18 กว่า 900 ชิ้น
Arts & Culture

อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ โฉมใหม่ อลังการงานโบราณคดีหลังพุทธศตวรรษที่ 18 กว่า 900 ชิ้น

Focus
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ทยอยปรับปรุงอาคารและรูปแบบการจัดแสดงครั้งใหญ่ภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาตั้งแต่ พ.ศ.2555
  • อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์โฉมใหม่ จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทยหลังพุทธศตวรรษที่ 18 จัดแสดงโบราณวัตถุภายใน 5 ห้องนิทรรศการ
  • ห้องนิทรรศการแบ่งตามอาณาจักร ได้แก่ ห้องสุโขทัย ห้องล้านนา ห้องกรุงศรีอยุธยา ห้องกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น และห้องกรุงรัตนโกสินทร์

อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ สปอตไลต์ห้องใหม่ของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่นี่เป็นอาคารสำคัญที่จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทยหลังพุทธศตวรรษที่ 18 รวม 918 รายการ โดยปัจจุบันเปิดให้บริการครบทั้ง 5 ห้องหลังการปิดปรับปรุงครั้งใหญ่

 อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

อย่างที่หลายคนทราบว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ทยอยปรับปรุงอาคารและรูปแบบการจัดแสดงครั้งใหญ่ภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาตั้งแต่ พ.ศ.2555 เพื่อลบภาพจำว่าการเที่ยวพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ละห้องนิทรรศการทำการปรับโฉมให้มีพื้นที่โล่งมากขึ้น การจัดแสงสวยงาม และคัดเลือกโบราณวัตถุชิ้นสำคัญนำมาจัดแสดงแบบที่ผู้ชมสามารถชมได้ 360 องศา นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีอย่าง หน้าจอสัมผัส (Touch Screen) วีดิทัศน์คิวอาร์โค้ด (QR-Code)และ เออาร์โค้ด (AR-Code) เข้ามาเสริมเพื่อให้ข้อมูลน่าสนใจขึ้น ที่สำคัญผู้ชมยังสามารถถ่ายรูปได้โดยไม่ใช้แฟลช

 อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
งาช้างแกะสลักเรื่องราวพุทธศาสนา

ปัจจุบันได้มีการจัดแสดงศิลปะงานช่างหลวงในส่วนอาคารหมู่พระวิมาน จำนวน 14 ห้อง และล่าสุด อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ที่จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทยหลังพุทธศตวรรษที่ 18 ได้บูรณะเสร็จสมบูรณ์แล้วพร้อมจัดแสดงโบราณวัตถุรวม 918 รายการภายใน 5 ห้องนิทรรศการ ซึ่งแบ่งตามไทม์ไลน์ของอาณาจักรต่างๆ ได้แก่ ห้องสุโขทัยและห้องล้านนาซึ่งเป็น 2 ห้องใหม่ที่เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2564 ตรงกับวันอนุรักษ์มรดกไทย และอีก 3 ห้องที่เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนคือ ห้องกรุงศรีอยุธยา ห้องกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น และห้องกรุงรัตนโกสินทร์

แต่ละห้องมีไฮไลต์อะไรที่น่าสนใจบ้าง ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครจะพาเราไปชมกัน

 อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
ศิลาจารึกหลักที่ 1

ห้องสุโขทัย

แน่นอนว่าเมื่อกล่าวถึงอาณาจักรสุโขทัย บทเรียนประวัติศาสตร์ว่าด้วยความเจริญรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักรแห่งนี้ที่ถ่ายทอดผ่านศิลาจารึกหลักที่ 1 โดยเฉพาะในประโยคที่ว่า “เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าวทำให้ศิลาจารึกหลักนี้ที่ค้นพบที่เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัยเมื่อ พ.ศ.2376 เป็นโบราณวัตถุชิ้นเอกที่ผู้ชมให้ความสนใจมากที่สุด

 อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
“ไพร่ฟ้าหน้าใส” คำที่หลายคนคุ้นเคยในจารึกหลักที่ 1

ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อ พ.ศ. 2546 โดยองค์การยูเนสโกและยังเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียมซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 9 รายการ โดยการจำลองต้องมีขนาดไม่เท่ากับต้นแบบจริงและต้องขออนุญาตกับกรมศิลปากร ถ้าเป็นพระพุทธรูปหรือรูปเคารพต่าง ๆ ต้องประทับคำว่า “จำลอง” ถ้าเป็นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอื่น ต้องประทับคำว่า “สิ่งเทียม” ในจุดที่เห็นได้ชัด

 อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด

“ในศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นหลักฐานแสดงความเจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้น เช่น หลักฐานการประดิษฐ์อักษรไทย ระบบชลประทาน เหตุการณ์ต่าง ๆ และเพื่อสดุดีพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง แต่หากต้องการศึกษาการก่อร่างสร้างอาณาจักรสุโขทัยอย่างสมบูรณ์ควรศึกษาจารึก 3 หลักที่จัดแสดงอยู่ใกล้กันด้วย ประกอบด้วย จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด ที่มีการบันทึกรายชื่อบรรพบุรุษของราชวงศ์พระร่วง จารึกนครชุม ที่เป็นหลักฐานแสดงความเชื่อ ความศรัทธาและความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ และ จารึกวัดศรีชุม ที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ช่วงแรกสร้างอาณาจักร” ยุทธนาวรากร อธิบาย

เทวรูปที่โดดเด่นในห้องจัดแสดงคือเทวรูปสำริดขนาดใหญ่ของพระพรหม พระอิศวรและพระวิษณุ ที่มีอายุกว่า 600 ปี แสดงถึงอิทธิพลของศาสนาฮินดูต่อลัทธิเทวราชาของอาณาจักรเขมรและส่งต่อสู่อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เทวสตรีพระอุมาเทวี

“เทวรูปส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อแสดงอำนาจจึงมักมีกล้ามเนื้อที่น่าเกรงขาม แต่ช่างสุโขทัยคุ้นเคยกับการสร้างพระพุทธรูปที่นิยมพระพักตร์ยาวรูปไข่ พระอุระเพียว แขนเป็นลำเทียน ทำให้เทวรูปที่สร้างในอาณาจักรสุโขทัยมีการลดทอนกล้ามเนื้อ และอยากให้สังเกตว่าในห้องนี้มีเทวสตรีเพียงองค์เดียวคือพระอุมาเทวี เป็นเทวสตรีศิลปะสุโขทัยที่ค้นพบเพียงองค์เดียวในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีเทวรูปพระหริหระซึ่งเป็นการรวมร่างของเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดูคือ พระวิษณุ (หริ) และพระอิศวร (หระ)”

ลายปลาเอกลักษณ์ของสุโขทัย

เครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยหรือสังคโลก เป็นไฮไลต์อีกอย่างของห้องนี้ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นเมืองอุตสาหกรรมผลิตสังคโลกและเส้นทางการค้าขายกับนานาประเทศ เมื่อจีนประสบปัญหาการเมืองภายในประเทศในขณะนั้นและห้ามการส่งออกเครื่องปั้นดินเผา จึงเป็นโอกาสดีที่สุโขทัยได้พัฒนาการผลิตสังคโลกเพื่อทดแทนจีนและส่งออกทางทะเลไปยังฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

“สังคโลกที่อยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ส่วนใหญ่มาจากแหล่งเรือจมบริเวณอ่าวไทย มีทั้งสังคโลกจากเตาทุเรียง เมืองสุโขทัย และแหล่งเตาบ้านป่ายาง บ้านเกาะน้อย เมืองศรีสัชนาลัย โดยส่วนใหญ่มีรูปแบบจีนตามความต้องการของตลาด นี่จึงเป็นหลักฐานว่ามีการผลิตสังคโลกเพื่อส่งออกผ่านเส้นทางการค้าทางทะเล”

ห้องล้านนา

ห้องล้านนานำเสนอเรื่องราวอาณาจักรที่พญามังรายสถาปนาเมื่อ พ.ศ.1839 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ช่วงแรกของศิลปะล้านนารับอิทธิพลพุทธศาสนาเถรวาทแบบมอญ ผ่านวัฒนธรรมหริภุญไชย ต่อมารับอิทธิพลศิลปะอินเดียผ่านทางศิลปะพุกาม และอิทธิพลศิลปะลังกาผ่านศิลปะสุโขทัย จนมีพุทธศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น พระสิหิงค์

“พระสิงห์ หรือ พระสิหิงค์ เป็นพระพุทธปฏิมาที่เป็นลักษณะเฉพาะของล้านนา ส่วนใหญ่เป็นปางมารวิชัยเพราะได้รับอิทธิพลจากอินเดียเหนือผ่านทางศิลปะพุกาม พระพักตร์กลม อวบอิ่ม ประทับนั่งขัดสมาธิเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ขมวดพระเกศาเป็นทรงก้นหอยขนาดใหญ่และพระรัศมีเป็นดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียงโดยชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน”

พระแก้ว
เครื่องพุทธบูชาจากทองและเงิน

ภัณฑารักษ์กล่าวเพิ่มเติมว่าโบราณวัตถุที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ พระแก้ว ที่แสดงฝีมือการแกะสลักแก้วผลึกของช่างล้านนา และเครื่องพุทธบูชาทำจากของมีค่า เช่น ทอง เงิน และแก้ว ที่พบเป็นจำนวนมากจากวัดเจดีย์สูง ในอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา

พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สะกดสายตาผู้ชมในห้องนี้คือพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ศิลปะทวารวดี ประทับนั่งห้อยพระบาทบนฐานกลีบบัว เป็นพระพุทธรูปที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน 5 ชิ้นคือ พระเศียรและบั้นพระองค์ ได้มาจากวัดพระยากง จังหวัดอยุธยา ส่วนพระอุระ พระเพลา และพระบาท ได้มาจากวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม

“เป็นพระพุทธรูปสีหินปูนและออกขาว มีเส้นสายแร่ เชื่อว่าเดิมอยู่ที่วัดพระเมรุ นครปฐมและอัญเชิญไปที่อยุธยาบางส่วน ช่างสมัยก่อนใช้การสลักลิ่มเพื่อยึดชิ้นส่วนทั้งหมดติดกัน ในการซ่อมองค์พระได้ใช้ปูนซีเมนต์กับปูนปลาสเตอร์และใช้แท่งพลาสติกเป็นแกนหรือเดือยเพื่อยึดชิ้นส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน พระหัตถ์ทั้งสองข้างปั้นใหม่โดยอิงรูปแบบจากพระพุทธรูปปางแสดงธรรมในยุคทวารวดี”

อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
ขวาสุด : พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ปางประทานอภัย

ห้องกรุงศรีอยุธยา

ยุทธนาวรากร อธิบายว่าพระพุทธรูปที่สร้างในช่วงอาณาจักรอยุธยาได้รับอิทธิพลจากทางเขมรมากกว่าทางสุโขทัย ในช่วงอยุธยาตอนต้นพระพุทธรูปจะมีพระพักตร์ทรงสี่เหลี่ยม และพระรัศมีมีเปลวแหลม

“สิ่งที่โดดเด่นคือการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง มีตั้งแต่ทรงเครื่องน้อยและทรงเครื่องใหญ่ เครื่องทรงที่เป็นลวดลายกนกมีการเว้นห่างช่องไฟ มีความโปร่ง นิ้วพระหัตถ์สวมพระธำมรงค์เกือบครบทุกนิ้ว มงกุฎไม่สูงแหลมเท่าในสมัยรัตนโกสินทร์ คติความเชื่อการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องมีหลายคติ บ้างก็ว่ามาจากตอนที่พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์ที่เวฬุวัน บ้างก็ว่าสร้างเพื่อเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์แทนองค์กษัตริย์ บางความเชื่อก็ว่าถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงผนวชก็จะเป็นองค์จักรพรรดิ์”

อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
ซ้าย : ตู้พระธรรมลายรดน้ำฝีมือช่างครูวัดเชิงหวาย

ตู้พระธรรมฝีมือช่างครูวัดเชิงหวายในพุทธศตวรรษที่ 23-24 เป็นหนึ่งในโบราณวัตถุชิ้นเอกของกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรที่มีความรุ่งเรืองทางการเมืองการปกครอง ความเจริญทางเศรษฐกิจในฐานะเมืองท่าของภูมิภาคเอเชีย และความรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาในช่วงอายุ 417 ปี นับจากการสถาปนาเมื่อ พ.ศ.1893

ตู้พระธรรมชิ้นนี้มีลวดลายรดน้ำปิดทองประณีตงดงามและเป็นหนึ่งใน 9 รายการของโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียมและได้รับการยกย่องว่าเป็นตู้พระธรรมที่งดงามที่สุดในประเทศไทย ลวดลายกนกเครือเถาวัลย์มีความอ่อนช้อยและซ้อนทับกันอย่างวิจิตรพร้อมกับลวดลายสิงสาราสัตว์เพื่อจำลองถึงความอุดมสมบูรณ์ของกรุงศรีอยุธยา ความสงบสุขของบ้านเมืองที่ทำให้ช่างศิลปะสามารถรังสรรค์ผลงานชิ้นเอกได้อย่างเต็มที่และความรุ่งเรืองจนสามารถใช้ทองมากมายทำลวดลายรดน้ำอย่างประณีต

อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
ธรรมาสน์ วัดใหญ่สุวรรณาราม

ธรรมาสน์ที่สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 และได้มาจากวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี เป็นอีกชิ้นไฮไลต์ที่แสดงฝีมือช่างศิลปะชั้นสูงในสมัยอยุธยา “ฐานโค้ง หลังคาแอ่นเป็นปราสาทซ้อนเป็นชั้น ๆ และเสาที่สอบขึ้นให้ความรู้สึกอ่อนช้อย เหล่านี้แสดงถึงสุนทรียะเชิงช่างชั้นสูง” ภัณฑารักษ์กล่าว

ห้องกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น

ห้องนี้จัดแสดงโบราณวัตถุเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์การก่อตั้งราชอาณาจักรใหม่ในนามกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2310 โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชภายหลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2325 และทรงย้ายเมืองมาฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ อาทิ พระแท่นไม้ลงรักปิดทองของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่มีอักษรจีนแกะสลักแปลว่ากษัตริย์และประดับด้วยลายมงคลตามความเชื่อของจีน เช่น ลายมังกร ดอกโบตั๋น และดอกเบญจมาศ รวมไปถึงพระเก้าอี้พับของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ทรงใช้ในยามราชการสงคราม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพุทธรูปทรงจีวรลายดอก

พระพุทธรูปทรงเครื่องในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นิยมทรงเครื่องใหญ่อย่างวิจิตร มงกุฎทรงแหลมสูง สวมธำมรงค์ครบทั้ง 10 นิ้วพระหัตถ์และทรงฉลองพระบาท พุทธศิลป์ที่โดดเด่นอีกอย่างคือพระพุทธรูปทรงจีวรลายดอกตามลายของจีวรผ้าแพรจีนซึ่งนิยมถวายแด่พระสงฆ์ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ลับแลไม้ลงรักปิดทองลายกำมะลอเรื่องอิเหนา

ฉากลับแลไม้ลงรักปิดทองลายกำมะลอเรื่องอิเหนาที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นอีกชิ้นที่งดงามวิจิตรทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

“เคยสังเกตด้านหลังของธนบัตรราคา 20 บาทหรือเปล่า (แบบที่ 17 รุ่นแรกในรัชกาลที่ 10) ว่าตรงมุมด้านขวาล่างมีภาพจากบทละครเรื่องอิเหนา (ตอนสังปะลิเหงะฤๅษีให้พรแก่อิเหนาและบุษบา) ซึ่งนำมาจากส่วนหนึ่งของภาพในฉากลับแลชิ้นนี้”

ห้องกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติโดยทรงส่งราชทูตไปยังราชสำนักชาติมหาอำนาจตะวันตกและเปิดรับอารยธรรมตะวันตกมากขึ้นท่ามกลางกระแสลัทธิจักรวรรดินิยม รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนโบราณราชประเพณีบางอย่างเพื่อให้ชาวต่างเห็นว่าสยามเป็นประเทศที่มีอารยะจนล่วงมาถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูประบบคมนาคมและสาธารณูปโภคให้ทันสมัยมากขึ้น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เหรียญที่ระลึกราชทูตไทยเข้าเฝ้าฯ พระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3

โบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดงในห้องนี้ อาทิ รถไฟจำลองย่อส่วนจำนวน 5 ตู้ พร้อมรางที่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2398 โดยหัวรถจักรมีตัวอักษร VICTORIA และสามารถเดินบนรางได้จริง และเหรียญที่ระลึกที่เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (แพ บุนนาค) หัวหน้าคณะราชทูตในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส โดยได้เดินทางไปเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาสน์และเครื่องบรรณาการแด่พระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และจักรพรรดินีเออเชนี ณ พระราชวังฟงแตนโบลเมื่อ พ.ศ.2404

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระโธรนองค์แรกสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 / รถไฟจำลองย่อส่วนที่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ไฮไลต์ในห้องนี้อีกชิ้นคือพระโธรน (Throne) หรือพระราชอาสน์พนักสูงเป็นไม้แกะสลักปิดทองซึ่งสร้างขึ้นเป็นองค์แรกเมื่อพ.ศ.2416 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยทรงยกเลิกธรรมเนียมการหมอบเข้าเฝ้าฯ และให้ขุนนางยืนเข้าเฝ้าฯ ได้ตามธรรมเนียมตะวันตก” ยุทธนาวรากรอธิบาย

โบราณวัตถุที่น่าสนใจยังมีอีกจำนวนมาก และการปรับโฉมอาคารและรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการที่ใช้เวลากว่า 7 ปีพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อเลย โดยเฉพาะใน 5 ห้องของ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ เปิดเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร)
  • ค่าเข้าชม: ชาวไทย 30 บาท, ต่างชาติ 200 บาท, นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม
  • สอบถามเพิ่มเติม: โทรศัพท์ 0-2224-1333 และ 0-2224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok
  • พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดนิทรรศการพิเศษ “อารยธรรมวิวัฒน์: ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” ระหว่างวันที่ 12 เมษายน – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม
ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์