สงขลาในพิกัด เส้นทางสายไหมทางทะเล ย้อนความรุ่งเรืองที่มาก่อนกาลของสุวรรณภูมิ
Arts & Culture

สงขลาในพิกัด เส้นทางสายไหมทางทะเล ย้อนความรุ่งเรืองที่มาก่อนกาลของสุวรรณภูมิ

Focus
  • นิทรรศการ “ศิลป์สุวรรณภูมิ บนเส้นทางสายไหมทางทะเล” จัดแสดงในเขตเมืองเก่า จังหวัดสงขลา โดยกระจายจุดจัดแสดงในบ้านเก่าและอาคารสำคัญ
  • “ศิลป์สุวรรณภูมิ บนเส้นทางสายไหมทางทะเล” บทสนทนาระหว่างหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปะร่วมสมัย เป็นการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ว่า สุวรรณภูมิ อาจไม่ใช่เพียงดินแดนในตำนานหรือเรื่องเล่าจากพุทธภูมิ

ย่านเมืองเก่า สงขลา ไม่ได้มีแค่ตึกเก่า อาคารประวัติศาสตร์อายุนับร้อยปีให้ได้เดินถ่ายรูปเท่านั้น แต่ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เขตเมืองเก่า สงขลา ได้กลายเป็นพื้นที่ทางโบราณคดีที่สำคัญ ย้อนเล่าความรุ่งเรืองของ เส้นทางสายไหมทางทะเล ที่นำพาซีกโลกตะวันตกมาบรรจบพบฝั่งตะวันออก ณ ดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ ในนิทรรศการ ศิลป์สุวรรณภูมิ บนเส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งเป็นบทสนทนาระหว่างหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปะร่วมสมัย เป็นการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ว่า สุวรรณภูมิ อาจไม่ใช่เพียงดินแดนในตำนานหรือเรื่องเล่าจากพุทธภูมิ เพราะในปัจจุบันเริ่มมีหลักฐานที่ชี้ชัดถึงการมีอยู่ของดินแดนซึ่งเล่าขานถึงความอุดมสมบูรณ์เปรียบดั่งแหล่งทองคำ โดยหลักฐานชิ้นสำคัญได้แก่ แผนที่โบราณของปโตเลมี จุดเริ่มต้นในการออกเดินทางค้นหาดินแดนแห่งทองคำที่ปรากฏเป็นภาษากรีกโบราณในแผนที่ว่า “Chryse Chersónesos” หรือก็คือ “แหลมทองคำ”

สุวรรณภูมิ

“มีตำนานเล่าถึงดินแดนดินแดนหนึ่งที่มีความมั่งคั่ง สมบูรณ์ โดยในแผนที่โบราณของปโตเลมีที่เป็นต้นแบบของแผนที่โลกในหลายฉบับ ปโตเลมีได้สืบข้อมูลในการทำแผนที่มาจากพ่อค้าเดินเรือ ก็ได้พบคำบอกเล่าถึงแหลมแหลมหนึ่งทางตะวันออกไกลมาก เป็นแหลมทอง แล้วจากนั้นก็เกิดคีย์เวิร์ดคำว่า แหลมทอง ขึ้นมา ซึ่งก็มีการตีความได้ทั้งพื้นที่ที่มีทองคำ และพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ทั้งยังมีคำพูดจากอินเดียและจากจีนว่า ใครอยากมั่งคั่งร่ำรวยให้มาที่แหลมทองคำแห่งนี้ และนี่ก็คือการเริ่มต้นของคำว่าสุวรรณภูมิ”

สุวรรณภูมิ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต ขาวเขียว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์หลักของการจัดนิทรรศการ “ศิลป์สุวรรณภูมิ บนเส้นทางสายไหมทางทะเล” ได้เปิดมุมมองของดินแดน สุวรรณภูมิ ที่อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในหนังสือประวัติศาสตร์หลักที่มักเริ่มต้นความเป็นชาติไทยด้วยสุโขทัย โดยในนิทรรศการครั้งนี้เลือกที่จะเปิดมุมมอง สุวรรณภูมิ ไปที่ เส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งรุ่งเรืองและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าเส้นทางสายไหมทางบกที่ได้รับการโปรโมตมานาน และที่น่าสนใจคือในปัจจุบันนี้ในฟากของประเทศไทยเองก็ได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่บอกเล่าความสำคัญของ สุวรรณภูมิ ในฐานะชุมทางการค้าทางเรือ จุดแวะพักสำคัญของ เส้นทางสายไหมทางทะเล เส้นนี้เพิ่มมากขึ้น

สุวรรณภูมิ

“ในนิทรรศการนี้มีความแตกต่างคือแทนที่จะชวนคนดูเข้าพิพิธภัณฑ์ไปดูโบราณวัตถุต่างๆ เราก็นำหลักฐานทางโบราณคดี มาเจอกับงานศิลปะร่วมสมัย จัดแสดงนอกพิพิธภัณฑ์ นอกแกลเลอรี เพื่อให้โบราณคดีเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น เช่น เรื่องของหม้อสามขาที่เป็นระลอกของประวัติศาสตร์ที่ทำให้เห็นว่าคนในดินแดนนี้เริ่มติดต่อกับคนภายนอก มีมิติของคนที่ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว มีการสังสรรค์ มีการค้าขายเกิดขึ้นเมื่อ 5,000-6,000 ปีที่แล้ว หรืออย่างการค้นพบลูกปัดหินซึ่งไม่ได้อยู่ที่นี่แน่ๆ เป็นลูกปัดที่มาจากอินเดีย อัฟกานิสถาน เปอร์เชีย หรือการพบ หม้อดินเผาคาลานาย (Kalanay) ที่มาจากหมู่เกาะเวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมทั้งหยกจากไต้หวัน เครื่องถ้วยจีนราชวงศ์ฮั่น เหรียญโรมันอายุ 2,000 ปี เหล่านี่เป็นระลอกการค้นพบสำคัญที่ยืนยันเกี่ยวกับการมีอยู่ของสุวรรณภูมิทั้งสิ้น”

เส้นทางสายไหมทางทะเล
บ้านเลขที่ 168 หนึ่งในบ้านเก่าสงขลาที่ถูกเปลี่ยนเป็นแกลเลอรี
สงขลา

สำหรับหลักฐานทางโบราณคดีที่ถูกเลือกมาในนิทรรศการครั้งนี้มีด้วยกัน 18 ชิ้น มีทั้งที่เป็นโบราณวัตถุ โบราณสถาน และภาพถ่ายดาวเทียมจากทาง GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)) ที่ช่วยเชื่อมโยงหลักฐานทางโบราณคดี ชุมชนโบราณ ขยายภาพมาเป็น เส้นทางสายไหมทางทะเล ทำให้ผู้ชมได้เห็นภาพกว้างที่ชัดเจนขึ้น

จากนั้นก็นำหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้นำมาตีความเป็นผลงานศิลปะโดย 18 ศิลปินร่วมสมัย จัดแสดงในบ้านเก่า อาคารประวัติศาสตร์ อาคารสำคัญของสงขลารวม 8 หลัง ซึ่งบางหลังเปิดให้เข้าชมเฉพาะงาน “ศิลป์สุวรรณภูมิ บนเส้นทางสายไหมทางทะเล” ครั้งนี้เท่านั้น ส่วนจะมีจุดใดบ้าง Sarakadee Lite ได้รวบรวมทั้ง 8 พิกัดสงขลาที่ถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดีชั่วคราวมาให้ได้ปักหมุดกันแล้ว

สงขลา

01 หอศิลป์สงขลา

ถ้าอยากเริ่มต้นทำความรู้จักสุวรรณภูมิ และความสำคัญของ เส้นทางสายไหมทางทะเล แนะนำให้มาหอศิลป์สงขลาเป็นหมุดหมายแรก เพราะที่นี่มีความทรงจำจากแผนที่โลกยุคโบราณของปโตเลมี (Ptolemy’s World Map) เขียนขึ้นโดย คลอดิอุส ปโตเลมี (Claudius Ptolemaeus – Ptolemy) นักภูมิศาสตร์ชาวกรีกแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย ปโตเลมีเป็นคนทำแผนที่โลกที่ไม่เคยเดินทางรอบโลก ทว่าเขาได้สืบค้นชุดข้อมูลจากความทรงจำของพ่อค้า คนเดินเรือ และร่างขึ้นเป็นแผนที่โลก สันนิษฐานว่าแผนที่ชุดนี้เริ่มต้นเขียนขึ้นราว ค.ศ. 100 รายละเอียดบนแผนที่มีครบทั้งยุโรป อินเดีย จีน คาบสมุทรอาหรับ รวมไปถึงแผ่นดินทองที่เรียกสุวรรณภูมิ

การร่างแผนที่โลกโดยใช้ความทรงจำอันรางเลือนเพื่อค้นพบสุวรรณภูมิถูกถ่ายทอดสู่งานศิลปะการวาดแผนที่โดย สุธี คุณาวิชยานนท์ ซึ่งเขาได้ใช้แนวคิด “ลบเลือน จดจำ” มาวาดแผนที่ลงบนผนังห้อง พร้อมโยงให้เห็นการเดินทางของคน สินค้าบนเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล อีกทั้งยังชวนไปตามหาความหมายของสุวรรณภูมิในมุมมองต่างๆ

สงขลา
ความทรงจำอันรางเลือน โดย สุธี คุณาวิทชยานนท์

อีกชิ้นที่น่าสนใจที่จัดแสดงในพื้นที่เดียวกันคือ วงแหวนแห่งโมริยะ  หลักฐานชิ้นเยี่ยมเกี่ยวกับสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ในคอลเล็คชันสะสมของ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช สันนิษฐานว่าแท่นหินรูปกลมวงแหวนนี้น่าจะถูกใช้เป็นแม่พิมพ์ สร้างขึ้นในราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 3-8 วงแหวนมีการแกะสลักผิวหน้าเป็นสัญลักษณ์มงคลของอินเดียโบราณ เช่น เทพสตรี ตรีรัตนะ ดอกไม้ Nagapushpa ที่ 36 ปีจะบาน 1 ครั้ง เป็นดอกสีขาว ด้านในมีสีเหลืองหรือชมพู โดยรวมแล้ววงแหวนนี้ผสมผสานศิลปะแบบกรีก ทั้งยังมีการพบแผ่นทองดุนลายจากแม่พิมพ์ในบริเวณเดียวกัน ถือเป็นการและเปลี่ยนเทคโนโลยีและสินค้าระหว่างอินเดียโบราณและสุวรรณภูมิที่สำคัญมาก และเพื่อให้เห็นความงามของวงแหวนแห่งโมริยะอย่างชัดเจน วิทยา จันมา ศิลปินจึงได้จำลองวงแหวนแห่งโมริยะ นำลวดลายอันโดดเด่นบนวงแหวนมาเรียบเรียงใหม่ จากนั้นใช้เทคนิคแสงมาสร้างภาพเคลื่อนไหวให้เรื่องราวจากเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

วงแหวนแห่งโมริยะ 
สุวรรณภูมิ

ภายในหอศิลป์สงขลา ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีอีก 4 ชิ้น ได้แก่ ลูกปัดภูเขาทอง จังหวัดระนอง จับคู่กับศิลปิน วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ พร้อมกับการตั้งคำถามถึงคุณค่าของสิ่งของที่เวลาหลายพันปีอาจทำให้ลูกปัดไม่ได้มีค่าเท่ากล่องพัสดุเดลิเวอร์รีก็เป็นได้

อีกชิ้นคือ พระบรมธาตุไชยา ศิลปะศรีวิชัยเพียงหนึ่งเดียวในไทยที่ยังคงความสมบูรณ์ นำมาจับคู่กับศิลปิน รัตนา สาลี ที่ใช้งานเหล็ก อะคริลิก กระจก มาสะท้อนความทับซ้อนของกาลเวลาที่ประกอบเป็นพระบรมธาตุไชยาในปัจจุบัน และอีกชิ้นที่น่าสนใจคือภาพถ่ายดาวเทียมคาบสมุทรไทย-มาเลย์ ที่ใช้เทคนิคการฉีดสีเพื่อให้เห็นสภาพพื้นที่ที่ชัดเจน ส่งต่อแรงบันดาลใจสู่ชิ้นงานของ จิรโรจน์ ศรียะพันธุ์ กับผลงานสีอะคริลิกบนผ้าบาติกเล่าถึงสีสันทางภูมิประเทศ และสีสันทางวัฒนธรรมของปักษ์ใต้

เส้นทางสายไหมทางทะเล

02 บ้านสงครามโลก

กลายเป็นไอโคนิกของนิทรรศการครั้งนี้ไปแล้วสำหรับประติมากรรมดวงตา 2 ดวงที่เพ่งมองเมืองเก่าสงขลาจากชั้นบนสุดของบ้านสงครามโลก ซึ่งเป็นอดีตอาคารที่สูงที่สุดของเมืองสงขลาและหลงเหลือมาจากการถูกทิ้งระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปกติอาคารแห่งนี้ถูกปิดไว้เป็นเหมือนอาคารร้าง มีเพียงค้างคาวเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์อยู่ใต้หลังคาชั้นบนสุด และสำหรับนิทรรศการครั้งนี้ตัวอาคารจัดแสดง 3 ชิ้นงานศิลปะ เริ่มจากชั้นล่างสุดนำเรื่องราวโลกหน้าที่อยู่ในหลุมฝังศพที่ถ้ำซาไก จังหวัดตรัง อายุกว่า 9,000 ปี มาจับคู่กับงานจัดวางสื่อผสมโดย อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ที่ชวนคิดใหม่เกี่ยวกับเรื่องการฝังศพในยุคปัจจุบันที่อาจจะไม่ได้หวังความสมบูรณ์ในโลกหน้า แต่อาจจะเป็นการฝังเพื่ออำพรางบางสิ่งในยุคปัจจุบัน

สงขลา
งานจัดวางสื่อผสมโดย อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ

ถัดขึ้นไปที่ชั้น 2 คือเสียงกังวานของกลองมโหระทึกลายดวงดาวและดวงอาทิตย์แห่งเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร โดยเสียงกลองได้พาเราย้อนสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก การขุดค้นแม่พิมพ์ลายกลองมโหระทึกในไทยได้เปลี่ยนมุมมองประวัติศาสตร์ เกิดการตั้งข้อสันนิษฐานใหม่ว่า ชุมชนโบราณในไทยอาจเป็นโรงงานผลิตกลองมโหระทึกแล้วส่งไปขายที่เวียดนามหรือจีนก็เป็นได้ และจากกลองสู่ผลงานเสียงสะท้อนทางวัฒนธรรม ออกแบบทำนองและท่วงท่าโดย วิระวุธ บุญเมือง, ชานนท์ กสิกรานันท์ และ ธินวัฒน์ ไทยแท้ นำพาเสียงกลองมโหระทึกจากอีตกาลสู่อนาคต และสุดท้ายเรื่องราวทั้งหมดก็จะกลับกลายเป็นอดีตอีกครั้ง

สงขลา
จากกลองมโหระทึกโบราณสู่งานศิลปะ
สงขลา
ภาพกลับหัวแบบเรียลไทม์ที่สะท้อนจากดวงตาบ้านสงครามโลก

ชั้นบนสุดของบ้านสงครามโลกคือผลงาน “ดวงตาบ้านสงครามโลก” ที่มองจากภายนอกเป็นประติมากรรมดวงตาขนาดใหญ่โดย ปรัชญา ลดาชาติ ส่วนด้านในของดวงตาติดตั้งเลนส์เพื่อเฝ้ามองเมืองเก่าและทะเลสาบสงขลา จากนั้นสะท้อนกลับเข้ามาในตัวบ้านที่มืดสนิทเป็นภาพเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังมีโมเดลจิ๋วที่ต้องใช้เลนส์ขยายส่องมอง เป็นภาพมุมสูงของสงขลาที่ทำให้นึกถึงชุมชนโบราณจากภาพถ่ายดาวเทียมบนทะเลสาบสงขลาและคาบสมุทรสทิงพระ

สงขลา

03 บ้านคราม

บ้านเก่าในเขตเมืองเก่าสงขลานั้นไม่ได้โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมลูกผสมเป็นตึกฝรั่ง จีน ไทย เท่านั้น แต่ความร่ำรวยของผู้คนในเมืองยังสะท้อนออกมาจากสีทาบ้าน ซึ่งมากไปกว่าสีเขียว เหลือง แดง บ้านเก่าสงขลาของผู้มีฐานะร่ำรวยมักจะทาผนังบ้านด้วยสีน้ำเงินจากครามธรรมชาติที่นอกจากการนำมาทอผ้าแล้ว ครามที่ปรากฏในคาบสมุทรสทิงพระและเมืองสงขลาในอดีตยังมีความเกี่ยวข้องกับหมอยาพื้นบ้านภาคใต้ซึ่งเรียกต้นครามว่า ยาเลือด เป็นยาสมุนไพรประเภทเครื่องยาที่ใช้เกี่ยวกับเลือดลมของสตรี และในส่วนของการใช้สีครามนำมาทาบ้านยังคงมีให้เห็นที่ บ้านคราม ซึ่งผนังด้านในยังคงเด่นชัดด้วยสีฟ้าคราม

สุวรรณภูมิ

สำหรับบ้านครามจัดแสดงงานศิลปะของ ปณชัย ชัยจิรรัตน์ กับการเปลี่ยนบ้านให้มีบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ จัดวางแม่พิมพ์เครื่องทองที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชุดเครื่องทองภูเขาทอง จังหวัดระนอง ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องทองที่สำคัญ รวมทั้งมีการนำเข้าทองมาจากต่างแดนไม่ว่าจะเป็นอินเดีย โรมัน และอาหรับ ที่น่าแปลกใจคือบริเวณนี้ยังพบการผลิตทองด้วยเทคนิคการใช้ทองเม็ดเล็กๆ มาประกอบเข้าด้วยกันคล้ายกับเทคนิคเฉพาะของอิหร่าน บ้างก็คล้ายกับงานศิลปะอิทรัสคันในภูมิภาคอิตาลีอีกด้วย

เส้นทางสายไหมทางทะเล

04 บ้านเลขที่ 168

บ้านเก่าสไตล์จีนโบราณที่ถูกปรับปรุงใหม่หลังนี้เป็นอีกไฮไลต์ที่บอกเลยว่าห้ามพลาด บ้านเลขที่ 168 โดดเด่นด้วยโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบจีนที่ยังคงเก็บรักษาบานประตูไม้แบบเก่า โครงสร้างหลังคาไม้ ผนังสีครามจากครามธรรมชาติ ภาพวาดลายมงคลของจีน การออกแบบบ้านที่คำนึงถึงศาสตร์ฮวงจุ้ยว่าด้วยลม น้ำ และแสงแดด ที่สำคัญในวันปกติบ้านหลังนี้ไม่ได้เปิดให้เข้าชม แต่ในนิทรรศการครั้งนี้มีการจัดแสดงชิ้นงานศิลปะจาก 3 ศิลปิน จับคู่กับชุดข้อมูลทางโบราณคดี 3 ชุด

เส้นทางสายไหมทางทะเล
แบบจำลอง หม้อคาลานาย
เส้นทางสายไหมทางทะเล
ผลงานของ อนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี

เริ่มจากเศษภาชนะดินเผาคาลานายที่มีลวดลายคล้ายเขากวาง เป็นภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมซาหวิ่นยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก พบได้ในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา โดยศิลปินคือ อนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี ได้ตีความลวดลายบนหม้อคาลานายออกมาเป็นความอุดมสมบูรณ์ของสุวรรณภูมิ โดยมี กวาง เป็นสัตว์สะท้อนความสมบูรณ์ของภูมิประเทศแถบนี้

เส้นทางสายไหมทางทะเล

ถัดเข้าไปกลางบ้านจัดแสดงศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจาก หม้อสามขา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแห่งความตายสมัยหินใหม่ที่ได้อิทธิพลมาจากจีน โดย พรสวรรค์ นนทะภา ศิลปินได้สร้างงานดินเผาเซรามิกเป็นประติมากรรมหม้อสามขา จัดวางไว้กลางบ้านบริเวณที่เรียกว่า จิ่มแจ้ พื้นที่อันเป็นเอกลักษณ์และตอบสนองการใช้ประโยชน์ทั้งในด้านชีวิตและจิตวิญญาณของชาวจีนในอดีต ต่อเนื่องสู่ด้านในสุดของบ้าน 168 ที่เชื่อมต่อสู่สวนโล่งใต้เงาต้นหลิวซึ่ง ธาตรี เมืองแก้ว ศิลปินจัดวางงานประติมากรรมเซรามิกร้อยเรียงกันเป็นลูกปัดที่เดินทางมาจากหลากหลายมุมของโลกสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ

เส้นทางสายไหมทางทะเล

05 บ้านเลขที่ 123

โรงน้ำแข็งเก่าแก่ของเมืองในบ้านเลขที่ 123 หลังนี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นหลุมฝังศพครั้งที่ 2 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแหล่งโบราณคดีเขาโกบ จังหวัดชุมพร ซึ่งการฝังศพครั้งที่ 2 เป็นการสื่อให้เห็นถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมใหม่ อาณาจักรใหม่ ความเชื่อใหม่ที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่า โดย ประสิทธิ์ วิชายะ ศิลปินได้นำเอาเรื่องราวที่ถูกขุดขึ้นมาจากอดีตสู่พิธีกรรมการฝังศพครั้งที่ 2 มาเปลี่ยนเป็นศิลปะจัดวางชื่อ แคปซูลแห่งกาลเวลา ใช้เทคนิคดินเผาหล่อเรซินที่แข็งแรงมาห่อหุ้มชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกาย หวังให้เรซินช่วยเก็บรักษาร่างกายนี้เอาไว้แล้วส่งต่อไปสู่คุณค่าใหม่ในอนาคตข้างหน้าเฉกเช่นการฝังศพครั้งที่ 2 ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

เส้นทางสายไหมทางทะเล

06 บ้านเลขที่ 73

ในการศึกษาภาชนะดินเผาหม้อสามขานั้นได้มีการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะแร่ธาตุของดินในยุคโบราณที่ใช้ปั้นหม้อสามขาอย่างละเอียด และนั่นจึงเป็นที่มาของงานศิลปะสื่อผสมโดย ไพโรจน์ วังบอน ที่ค้นพบความงามของชั้นดินต่างๆ จนกลายมาเป็นชิ้นงานชื่อ ร่องรอยแห่งอารยธรรม จัดแสดงอยู่ด้านในสุดของบ้านเลขที่ 73 ส่วนด้านหน้าเป็นชิ้นงานของ ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปปั้น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ประติมากรรมจากสำริดสมัยศรีวิชัยอันโด่งดัง และเป็นหนึ่งในประติมากรรมที่งามที่สุดแห่งสุวรรณภูมิ

สุวรรณภูมิ

07 บ้านยะหริ่ง

บ้านเก่าเล็กๆ หลังนี้จัดแสดงผลงานของ ปริทรรศ หุตางกูร เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบสีสดที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งโดดเด่นด้วยเจดีย์ทรงลังกาสีขาวขนาดใหญ่ที่ยืนหยัดข้ามผ่านกาลเวลามาช้านาน ศิลปินได้ตั้งคำถามกับศาสนาที่ถูกสืบทอดมาช้านานซึ่งก็ย่อมมีจังหวะที่ถูกสั่นคลอน โดยเฉพาะในหมู่พระสงฆ์ที่เป็นผู้สืบทอดศาสนา สุดท้ายแล้วหรือว่า พระสงฆ์ AI จะกลายมาเป็นคำตอบที่ทำให้พุทธศาสนิกชนสามารถสืบทอดความรุ่งเรืองของศาสนานี้ต่อไปยังโลกอนาคตได้

สุวรรณภูมิ

08 a.e.y. space

หากถามถึงพื้นที่ศิลปะยุคบุกเบิกของ สงขลา โดยเฉพาะในหมวดศิลปินร่วมสมัย แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ a.e.y. space เป็นหนึ่งในลิสต์นั้น สำหรับนิทรรศการ “ศิลป์สุวรรณภูมิ บนเส้นทางสายไหมทางทะเล” ครั้งนี้ a.e.y. space จัดแสดงงานวิดีโอจัดวางของ จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแผนที่ภูมิศาสตร์ที่ทำให้เห็นภาพเส้นทางการเดินทางจากโลกตะวันตก สู่โลกตะวันออกกลายเป็น เส้นทางสายไหมทางทะเล ได้ชัดเจนขึ้น โดยมีดินแดนสุวรรณภูมิ และคาบสมุทรทางตอนใต้ของไทยเป็นเส้นทางสำคัญ พร้อมใส่พิกัดชุมชนโบราณและเส้นทางข้ามคาบสมุทร 8 เส้นทางที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคสุวรรณภูมิสู่ปัจจุบัน

Fact File

  • นิทรรศการ “ศิลป์สุวรรณภูมิ บนเส้นทางสายไหมทางทะเล” จัดแสดงในเขตเมืองเก่า จังหวัดสงขลา โดยกระจายจุดจัดแสดงในบ้านเก่า และสถานที่สำคัญรวม 8 แห่ง ตั้งแต่ 28 มกราคม – 12 มีนาคม 2565 เวลา 10.30-17.30 น. (หยุดวันจันทร์และ อังคาร)
  • รายละเอียดเพิ่มเติม www.silpsuvarnabhumi.com

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์