เบื้องหลังงาน อนุรักษ์ฟิล์มกระจก แสงเงาที่นำพา “อดีต” ข้ามกาลเวลา
Arts & Culture

เบื้องหลังงาน อนุรักษ์ฟิล์มกระจก แสงเงาที่นำพา “อดีต” ข้ามกาลเวลา

Focus
  • ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ได้รับยกย่องขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก”
  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นองค์การที่ทำงานด้านการเก็บรักษาและ อนุรักษ์ฟิล์มกระจกซึ่งมีจำนวนแผ่นฟิล์มมากที่สุดในไทยและอาเซียน
  • สิ่งที่ต้องตระหนักในงาน อนุรักษ์ฟิล์มกระจก คือ ฟิล์มกระจกเหล่านี้เป็นสมบัติของชาติที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก หากเกิดความเสียหายจะเป็นเรื่องยากที่จะกู้คืนกลับมาได้

กล่องไม้สักทองใบเก่าค่อย ๆ เปิดให้เห็น ฟิล์มกระจก สีขุ่นมัวที่พอนำมาส่องกับหลอดไฟ ภาพถ่ายอายุกว่าร้อยปี ปรากฏให้เห็นแสงเงาคมชัด จนเราต้องกลั้นหายใจด้วยความตื่นเต้น นี่คือเบื้องหลัง การอนุรักษ์ฟิล์มกระจก อนุรักษ์มรดกภาพถ่ายบันทึกประวัติศาสตร์ที่เปี่ยมคุณค่าและสามารถบอกเล่าถึงเรื่องราว ยืนยันถึงตัวตน อัตลักษณ์ของประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียใต้ที่ชื่อว่า “สยาม”

ฟิล์มกระจก ไม่ใช่เพียงแค่แผ่นฟิล์มที่มีคุณค่าเพียงความเก่า ยุคหนึ่งเมื่อมีเหตุการณ์การทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ถูกขโมยไปจากปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก ก็เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชาติตะวันตกยอมรับและยอมส่งคืนทับหลังให้กับไทย

แสงเงาที่บันทึกลงบนฟิล์มกระจกจึงเปี่ยมคุณค่า แต่ก็ต้องมีการจัดเก็บที่เหมาะสมอยู่ภายใน สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่ง Sarakadee Lite จะพาทุกท่านมาชม “แสงเงา” และ “เบื้องหลัง” งาน อนุรักษ์ฟิล์มกระจก การเก็บรักษามรดกชิ้นสำคัญของไทย เป็นบันทึกสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า ฟิล์มกระจก

อนุรักษ์ฟิล์มกระจก

ฟิล์มกระจก มรดกความทรงจำแห่งโลก

ฟิล์มกระจก ที่ถูกเก็บรักษาอยู่ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากรนั้น ถือได้ว่ามีมากที่สุดในประเทศไทยและอาเซียน มีทั้งฟิล์มกระจกพระราชทาน ฟิล์มกระจกที่หน่วยงานต่างๆ เก็บรักษาและตกทอดมา แต่ ฟิล์มกระจกชุดที่สำคัญและเป็นที่กล่าวขานคือ ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ด้วยความโดดเด่นของเนื้อหาในภาพที่บันทึกแสงเงาประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับอัตลักษณ์ของไทยเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ทำให้ ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ได้รับยกย่องขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก”

อนุรักษ์ฟิล์มกระจก

ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เล่าถึงความเป็นมาว่า ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ มีการรวบรวมจัดเก็บภาพทั้งหมดในช่วงรัชกาลที่ 7 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เวลานั้นดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา ได้ขอพระราชทานฟิล์มกระจกที่ถ่ายไว้ในช่วงรัชกาลที่ 5,รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 เพื่อรวบรวมเก็บรักษาให้เป็นสมบัติของชาติในการค้นคว้าของคนรุ่นต่อไป

ภาพถ่ายฟิล์มกระจกชุดนี้มีการถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะช่วงรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ได้เสด็จประพาสต้นและได้ถ่ายภาพวิถีชีวิตชาวบ้านในหัวเมืองต่าง ๆ ทำให้เห็นภูมิประเทศ ความเป็นอยู่ การแต่งกายของประชาชนในยุคนั้น

อนุรักษ์ฟิล์มกระจก
ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร

ภาพถ่ายฟิล์มกระจกในยุคแรก ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ชนชั้นนำที่มีทุนทรัพย์ในการซื้อกล้องฟิล์มกระจกจากต่างประเทศ แต่ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ จะมีภาพชาวบ้านและพื้นที่นอกพระนคร ซึ่งภาพส่วนหนึ่งเป็นภาพส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่เมื่อออกตรวจราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ จะต้องเขียนรายงานประกอบกับภาพถ่ายเพื่อที่จะให้รายงานฉบับนั้นมีความสมบูรณ์

อนุรักษ์ฟิล์มกระจก

ปัจจุบันฟิล์มกระจกชุดนี้ เก็บรักษาไว้ในห้องที่รักษาอุณหภูมิ ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นอกจากการทำสำเนาภาพทั้งภายถ่ายและดิจิทัลไฟล์แล้ว ทางกรมศิลปากรได้มีการรวบรวมภาพฟิล์มกระจกจัดทำเป็นหนังสือ เพื่อการเผยแพร่และ อนุรักษ์ ซึ่งเล่มแรกตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2559 โดยทำการคัดเลือกฟิล์มกระจก 1,000 ภาพ นำมาคัดเลือกและอธิบายภาพก่อนการตีพิมพ์ ซึ่งในปี พ.ศ.2563 ได้มีการคัดเลือกภาพตีพิมพ์เล่มที่ 2 ซึ่งอนาคตคาดว่าจะทำการคัดเลือกภาพที่มีร่วม 39,000 ภาพ เพื่อตีพิมพ์ เผยแพร่ในเชิงการอนุรักษ์ต่อไป

ฟิล์มกระจก

หัวใจสำคัญของงานอนุรักษ์ ฟิล์มกระจก

ในมุมของการเก็บรักษาฟิล์มกระจก จุฑาทิพย์ อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้เล่าถึงการเก็บรักษาภาพถ่ายฟิล์มกระจก ที่เป็นมรดกสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ซึ่งฟิล์มกระจกที่หน่วยงานดูแล ไม่ได้มีเฉพาะชุดหอพระสมุดวชิรญาณ แต่ยังมีชุดภาพถ่ายของกรมแผนที่ทหาร การรถไฟแห่งประเทศไทย และภาพถ่ายส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

จุฑาทิพย์ อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

แต่เดิมภาพถ่ายฟิล์มกระจก ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ได้รับการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ก่อนจะมีการนำมาเก็บรักษาไว้ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2520 โดยมีการเก็บไว้ในห้องที่รักษาอุณหภูมิที่เหมาะสม มีการระบุหมวดหมู่ และอ่านความหมายภายในภาพ เพื่อเป็นการอนุรักษ์อย่างถูกต้อง

ภาพที่อัดขยายจากแฟ่นฟิล์มและเปิดบริการให้ประชาชนมาค้นคว้า

“ในการขนย้ายคราวนั้น เราต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เพราะฟิล์มกระจกเหล่านี้ ถือเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่มีชิ้นเดียวในโลก ซึ่งฟิล์มกระจกทั้งหมดมีการจัดเก็บไว้ในกล่องไม้สักทอง ที่มีความทนทาน โดยภายในกล่องจะมีการเซาะร่อง เพื่อให้สามารถสอดฟิล์มกระจกเข้าไปในร่องได้อย่างพอดี และไม่เสียดสีกับฟิล์มกระจกแผ่นอื่นๆ

“ด้วยความที่จัดเก็บฟิล์มกระจกไว้ในกล่องไม้สักทองที่มีความแข็งแรง ทำให้ฟิล์มส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แม้ผ่านกาลเวลามายาวนาน ซึ่งการดูแลรักษาของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติจะต้องทำความสะอาดแผ่นกระจกไม่ให้มีฝุ่น และเก็บไว้ในห้องที่รักษาอุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส มีความชื้นสัมพัทธ์ 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเครื่องทำอุณหภูมิจะต้องเปิดตลอดเวลา เพราะถ้าอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง อาจทำให้แผ่นฟิล์มกระจกเสียหายได้

อนุกรักษ์ฟิล์มกระจก
กล่องไม้สักที่ใช้เก็บแผ่นฟิล์มมาแต่เดิม

ที่สำคัญภายในตู้จัดเก็บ จะไม่วางกล่องไม้สักซ้อนกัน และต้องวางไว้บนชั้นที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไป เพื่อให้บุคลากรสามารถขนย้ายได้สะดวก เพราะบุคลากรที่ดูแลจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ฟิล์มกระจกเหล่านี้เป็นสมบัติของชาติ มีหนึ่งเดียวในโลก หากเกิดความเสียหายจะเป็นเรื่องยากที่จะกู้คืนกลับมาได้

สำหรับการอนุรักษ์จะมีการอัดภาพจากฟิล์มกระจกขนาด 1 ต่อ 1 มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เพื่อเป็นการรักษาภาพบนฟิล์มกระจกไว้ เพราะฟิล์มกระจกที่เก็บรักษามีตั้งแต่ขนาด 2 นิ้ว ไปจนถึงขนาด 20 นิ้ว ซึ่งขนาดของฟิล์มกระจก ยิ่งมีขนาดใหญ่ รายละเอียดของภาพจะมีมิติมากขึ้นไปด้วย

อนุรักษ์ฟิล์มกระจก
ขั้นตอนการทำฟิล์มกระจกสู่ดิจิทัลไฟล์
อนุรักษ์ฟิล์มกระจก

ยิ่งตอนนี้ด้วยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น จึงได้มีการอัดภาพจากต้นฉบับจริงไว้ 2 รูป โดยรูปหนึ่งเก็บรักษาไว้เป็นต้นฉบับ ส่วนอีกรูปเก็บไว้ในห้องที่บริการประชาชนในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นอกจากนี้ยังได้นำภาพเหล่านั้นมาแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัล ที่ส่วนหนึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้บนเว็บไซต์ของหน่วยงาน

อนุรักษ์ฟิล์มกระจก

ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ตอนนี้ทำการอัดภาพเพื่อเป็นการ อนุรักษ์ฟิล์มกระจก แล้วกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือบางส่วนมีสภาพชำรุด เพราะภาพเหล่านี้ผ่านกาลเวลามากว่าร้อยปี ซึ่งก่อนหน้านั้นฟิล์มกระจกบางกล่องเสียหายจากความร้อน หรือถูกความชื้นจนแตกหัก

แต่สิ่งที่สำคัญนอกจากการดูแลรักษา หัวใจของงาน อนุรักษ์ฟิล์มกระจก คือ การอ่านภาพ เพราะแต่ละภาพเมื่อเราทำการอัดภาพแล้ว จะมีทีมคณะทำงาน ที่จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขามาอ่านภาพ เพื่อแปลความหมายและเหตุการณ์ภายในภาพ เช่น ภาพของเหรียญตราต่าง ๆ บนเครื่องแต่งกาย จะมีนายทหารที่เกษียณ ที่ศึกษาเรื่องนี้มาช่วยแปลความหมาย แต่หลายภาพก็ไม่สามารถอ่านความหมายได้

อนุรักษ์ฟิล์มกระจก
แว่นส่องฟิล์มและอุปกรณ์ทำความสะอาด

“ทางหอจดหมายเหตุฯ จึงอยากจะฝากผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาใช้บริการที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อชมภาพเหล่านี้ได้ ส่วนคนที่มีภาพเก่าเก็บสะสมไว้ สามารถนำภาพต้นฉบับมามอบให้กับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อดูแลรักษา หรือทำสำเนาเก็บไว้ เพื่อที่จะเป็นสมบัติของชาติ และเป็นการเผยแพร่ให้กับคนรุ่นหลังที่สนใจได้ค้นคว้าข้อมูลต่อไป”

ชุดฟิล์มกระจก แม้ผ่านกาลเวลามายาวนานสักเท่าไร คุณค่าที่ซ่อนไว้ผ่านแสงและเงาในรูปภาพยังคงชัดเจน ถ่ายทอดเรื่องราวให้กับคนรุ่นต่อไปเห็นถึงความงดงาม เต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราวของคนไทย

Fact File

รับชมภาพฟิล์มกระจกแบบออนไลน์ได้ที่ https://www.nat.go.th/


Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว