ฟิล์มกระจก เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการรับการกลับมาของ หอศิลปกรุงเทพฯ
Arts & Culture

ฟิล์มกระจก เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการรับการกลับมาของ หอศิลปกรุงเทพฯ

Focus
  • ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา โดยภัณฑารักษ์ ท่านผู้หญิง สิริกิติยา เจนเซน
  • ในนิทรรศการประกอบด้วยภาพถ่ายฟิล์มกระจกจำนวน 102 ภาพ คัดสรรจากคอลเลคชันของ สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ พาผู้ชมย้อนรอยไปสัมผัสกับเหตุการณ์สำคัญ รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7
  • ไฮไลต์ของนิทรรศการคือ ภาพถ่ายเมื่อคราว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นไปยังหัวเมืองต่างๆ พร้อมด้วยเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์

ฟิล์มกระจก เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการต้อนรับการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ของ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือที่แฟนๆ เรียกสั้นๆ ว่า หอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งต้องปิดบริการชั่วคราวไปเกือบ 2 เดือนเต็ม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นิทรรศการใหม่รับการกลับมาครั้งนี้ อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์ แสดงภาพถ่ายฟิล์มกระจกหาชมยากที่จะพาผู้ชมย้อนอดีตไปสัมผัสกับเหตุการณ์สำคัญต่างๆ รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัย รัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7

ฟิล์มกระจก เรื่องราวเหนือกาลเวลา

นิทรรศการ ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา เป็นงานสืบเนื่องจากเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่าย ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก

ฟิล์มกระจก เรื่องราวเหนือกาลเวลา

นับแต่นิทรรศการครั้งนั้นซึ่งมีผู้สนใจเข้าชมเป็นจำนวนมาก ทาง สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จึงได้มีแผนเปิดคลังภาพถ่ายฟิล์มกระจกเป็นประจำทุกปีตามลำดับเวลาของภาพ โดยเบื้องต้นได้คัดสรรภาพถ่ายฟิล์มกระจกจำนวน 1,000 ภาพ เพื่อให้ภัณฑารักษ์ที่สนใจได้คัดเลือกสำหรับนำไปจัดแสดงแก่สาธารณชน

สำหรับภาพถ่ายฟิล์มกระจกที่จัดแสดงในนิทรรศการใหม่ ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา ณ หอศิลปกรุงเทพฯ ครั้งนี้ได้รับการคัดสรรมาจำนวนทั้งสิ้น 102 ภาพ โดยมี ท่านผู้หญิง สิริกิติยา เจนเซน รับหน้าที่ภัณฑารักษ์ เน้นเลือกหมวดหมู่ของภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสยามครั้งอดีตในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะเมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาผสมผสานในวิถีชีวิตของชาวสยาม

ฟิล์มกระจก เรื่องราวเหนือกาลเวลา

ในนิทรรศการครั้งนี้ผู้ชมจะได้ย้อนไทม์ไลน์และร่วมเดินทางไปในคราวที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ พร้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพาร และพระบรมวงศานุวงศ์ ในนิทรรศการจะเห็นภาพชาวบ้านตามหัวเมืองต่างๆ มาเข้าเฝ้ารอรับเสด็จอย่างใกล้ชิด รวมทั้งภาพสถานีรถไฟหัวลำโพงเมื่อเริ่มสร้าง ภาพชาวต่างชาติที่พำนักในสยาม เป็นต้น

ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา แบ่งนิทรรศการเป็น 4 ส่วน เริ่มด้วย “ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นการเชิญชวนผู้ชมร่วมไปในขบวนเสด็จประพาสหัวเมืองของรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าจะเป็นที่วังฤดูร้อนเกาะสีชัง หรือที่เมืองกำแพงเพชร ซึ่งพระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง รวมทั้งโปรดให้จัดการแสดงละครโดยให้เจ้านายรับบทบาทเป็นตัวต่างๆ

ฟิล์มกระจก
บรรยากาศในห้องนิทรรศการ

การเสด็จประพาสหัวเมืองของกษัตริย์ในกรุงรัตนโกสินทร์นั้น นับเริ่มได้ตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ในช่วงนั้นวิถีชีวิตของชาวสยามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่เพียงแต่เฉพาะสามัญชน หากรวมถึงพระมหากษัตริย์และบรรดาเจ้านายพระราชวงศ์ด้วย

ความสนใจที่มีต่อวัฒนธรรมตะวันตกรวมทั้งการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ ทำให้แนวคิดและวิถีแห่งกษัตริย์มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่เป็นสมมติเทพและพระราชานุกิจต่างๆ ที่ต้องยึดให้เป็นไปตามแบบแผนโบราณราชประเพณีอย่างเคร่งครัด ก็เริ่มมีความผ่อนปรนลง ที่เห็นได้ชัดคือการเสด็จประพาสและแปรพระราชฐานไปตามหัวเมืองต่างๆ มากขึ้น และมีการสร้างพระตำหนัก หรือวังหลายแห่งนอกพระนคร เพื่อเป็นที่ประทับ เช่น พระนครคีรี หรือ เขาวัง จังหวัดเพชรบุรี

หอศิลปกรุงเทพฯ

ล่วงมาในสมัยรัชกาลที่ 5  ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น พระองค์ได้เสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ พร้อมเหล่าเจ้านายพระราชวงศ์และบ่อยครั้ง เป็นการ “เสด็จประพาสต้น” คือเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์โดยมิให้ประชาชนได้รู้ล่วงหน้า หรือรู้จักพระองค์ เพื่อจะได้ทรงใกล้ชิดและทราบทุกข์สุขที่แท้จริงของไพร่ฟ้า

แม้การเสด็จประพาสต้นเป็นที่สำราญพระราชหฤทัยและราษฎรเองก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด แต่ในช่วงเสด็จประพาสต้น 2 ครั้ง คือ พ.ศ. 2447 และ พ.ศ. 2449 รวมทั้งการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 อันเป็นช่วงปลายรัชสมัย รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงประสบกับความโทมนัสแสนสาหัส ด้วยทรงสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดาหลายพระองค์ รวมทั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2447) พระราชธิดาพระองค์ใหญ่คู่พระทัย และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษรัชสมโภช (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2452) พระราชโอรสผู้ทรงสนิทเสน่หาและใกล้ชิดประดุจ “ธารพระกร” ทรงพระวิปโยคอาดูรถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า

“… จะทนอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ไหวด้วยรู้สึกไม่สบายมาก จึงจะออกไปอยู่เพชร สบายจึงจะกลับ…”

ฟิล์มกระจก

ในส่วนที่ 2 ของนิทรรศการชื่อ “ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา” จัดแสดงภาพถ่าย ฟิล์มกระจก ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในบางกอก เช่น ภาพของเด็กๆ ที่เล่นกันอย่างสนุกสนาน ภาพของพระภิกษุในวัดวาอารามซึ่งสร้างขึ้นในปลายสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์

บทบาทของชาวตะวันตกที่มีมากขึ้นในสยามครั้งนั้นนอกเหนือจากการเผยแผ่ศาสนาแล้ว ยังรวมไปถึงการส่งต่อด้านศิลปะวิทยาการ ซึ่งประเด็นนี้ได้ฉายชัดในชุดภาพที่ 3 “ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก” ครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ชาวยุโรปที่มีความรู้ความสามารถหลายคนเข้ามาทำงานในสยาม เช่น สถาปนิกและศิลปินชาวอิตาลี ผู้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และอาคารสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ

หอศิลปกรุงเทพฯ

ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความทันสมัยเริ่มขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ในภาพชุดส่วนที่ 4 “จตุตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า” ฉายภาพหัวรถจักรไอน้ำ เสมือนพาผู้ชมนั่งไทม์แมชชีน เดินทางจากบางกอกไปยังหัวเมืองต่างๆ กิจการรถไฟมีในสยามในสมัยรัชกาลที่ 5  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 จึงพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์โดยเชื่อมโยงระบบและเส้นทางทั้งหมดให้เป็นโครงข่ายเดียวกัน

ภายใต้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ท่านผู้หญิง สิริกิติยา เจนเซน ภัณฑารักษ์มองว่าการสร้างทางรถไฟได้สะท้อนอิทธิพลของตะวันตกทั้งใน เชิงกายภาพ และ แนวคิดอุดมคติ

ทางกายภาพที่ชัดเจนคือการนำเข้าวัสดุและวิทยาการจากตะวันตกเพื่อใช้ในการก่อสร้าง ส่วนทางด้านอุดมคตินั้น การสร้างทางรถไฟเป็นการสร้างสำนึกเรื่อง “รัฐชาติ” อันเป็นแนวคิดจากตะวันตก ซึ่งมีอิทธิพลต่อชนชั้นปกครองของเอเชียในสมัยนั้น เพื่อจะเชื่อมหัวเมืองใหญ่น้อยเข้ากับศูนย์กลางคือเมืองหลวงอันเป็นการเสริมสร้างการปกครองแบบรวมศูนย์

ฟิล์มกระจก

นิทรรศการ ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ  บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  และ มูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ เพื่อเผยแพร่ภาพถ่าย ฟิล์มกระจก ที่สวยงามและเต็มไปด้วยเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า เป็นนิทรรศการรับการกลับมาของ หอศิลปกรุงเทพฯ ที่สมการรอคอยจริงๆ

Fact File

  • นิทรรศการ ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม – 20 กันยายน 2563
  • หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการเวลา 10.00 – 19.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) www.bacc.or.th และ Facebook: baccpage