เบื้องหลังหนุมาน 4 พักตร์ 8 กร 8 เมตร และฉากภาพเขียน 20 เมตร โขนศิลปาชีพฯ สะกดทัพ
Arts & Culture

เบื้องหลังหนุมาน 4 พักตร์ 8 กร 8 เมตร และฉากภาพเขียน 20 เมตร โขนศิลปาชีพฯ สะกดทัพ

Focus
  • หลังจากหยุดการแสดงไปร่วม 3 ปีเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19การแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้กลับมาเปิดม่านการแสดงอีกครั้งในเรื่องรามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ”
  • การดำเนินเรื่องเป็นศึกไมยราพตามบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 และเน้นการดำเนินเรื่องที่กระชับฉับไวพร้อมอุปกรณ์ประกอบฉาก แสง สี เสียงแต่ยังคงสืบสานความวิจิตรของศิลปวัฒนธรรมไทย
  • ไฮไลต์สำหรับโขนมูลนิธิฯ 2565 คือการสร้างหุ่นหนุมาน 4 พักตร์ 8 กร สูง 8 เมตร พร้อมติดตั้งกลไกให้เคลื่อนไหวได้และควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์

กลับมาเปิดม่านการแสดงอีกครั้งสำหรับการแสดง โขน ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 2565 หรือ โขนพระราชทาน หรือที่หลายคนเรียกจนชินว่า โขนศิลปาชีพฯ  หลังจากว่างเว้นไปเกือบ 3 ปีเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การแสดงชุดใหม่เรื่องรามเกียรติ์ตอน สะกดทัพ ในศึกไมยราพมาพร้อมกับการผจญภัยของหนุมานที่ต้องฝ่าด่านต่างๆ เช่น ด่านช้างตกมัน ด่านเขากระทบกัน และ ด่านยุงเท่าแม่ไก่ เพื่อไปช่วยพระรามที่ถูกไมยราพซึ่งเป็นพญายักษ์ผู้มีกล้องยาวิเศษพร้อมมนตร์สะกดจับตัวไปยังเมืองบาดาล

โขน
หุ่นหนุมาน 4 พักตร์ 8 กรสูง 8 เมตร

การแสดงจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยโขนมูลนิธิฯ ยังคงเน้นการดำเนินเรื่องกระชับฉับไวพร้อมอุปกรณ์ประกอบฉาก แสง สี เสียงที่น่าตื่นตาตื่นใจและเต็มไปด้วยฉากสู้รบที่เร้าใจและคลุกเคล้าความสนุกด้วยมุกตลกที่พอเหมาะจึงเหมาะสมกับผู้ชมทุกเพศทุกวัย แต่ยังคงสืบสานความวิจิตรของศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในด้านวรรณศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์และวิจิตรศิลป์

โขน
ฉากภาพเขียนขนาด 12x 20 เมตร

ก่อนการแสดงจะเริ่มขึ้น Sarakadee Lite พาไปชมเบื้องหลังการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมเพื่อประกอบการแสดง โขน ตอน สะกดทัพ ที่ทางทีมงานเบื้องหลังกว่า 100 คนได้เตรียมงานลุล่วงไปแล้วกว่า 90% ณ อาคารเรียน-รู้-เรื่อง-โขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยาโดยไฮไลต์ประกอบด้วยหุ่นหนุมาน 4 พักตร์ 8 กร สูง 8 เมตร พร้อมติดตั้งกลไกให้เคลื่อนไหวได้ จิตรกรรมประกอบฉากชิ้นใหม่ขนาด 12x 20 เมตร และการสร้างสรรค์ม่านเวทีผืนใหม่สำหรับหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

โขน

หนุมาน 4 พักตร์ 8 กร สูง 8 เมตร พร้อมกลไกให้เคลื่อนไหวได้

หนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระรามยังคงเป็นตัวละครเอกของโขนมูลนิธิฯที่ชูโรงเรียกความตื่นเต้นเร้าใจให้แก่ผู้ชมอยู่เสมอ เช่นในการแสดงโขนตอน “ศึกมัยราพณ์ เมื่อ พ.ศ.2554 มีการสร้างฉากหนุมานเนรมิตกายให้ใหญ่โตโดยมีความสูงถึง 8 เมตรและกว้าง16 เมตรเพื่ออมพลับพลาที่ประทับของพระรามเป็นการป้องกันไม่ให้เหล่ายักษ์มาจับตัวพระองค์ไป และตอน “สืบมรรคา” เมื่อ พ.ศ.2562 ผู้ชมตื่นตาตื่นใจกับร่างหนุมานความยาว 15 เมตรในฉากที่พญาลิงขยายกายใหญ่ทอดหางต่างสะพานให้เหล่านักแสดงที่รับบทเป็นสมุนลิงเดินข้ามมหานที

สำหรับการแสดงโขน พ.ศ.2565 ฝ่ายศิลปกรรมได้สร้างประติมากรรมหนุมาน 4 พักตร์ 8 กร และสูง 8 เมตร พร้อมกับติดตั้งกลไกทำให้มือทั้ง 8 ข้างสามารถขยับได้และหันหน้าได้ทั้งซ้ายและขวา ไฮไลต์คือนิ้วชี้ของมือขวาขยับได้เพื่อสอดรับกับฉากที่หุบเขาซึ่งหนุมานต้องขยายกายใหญ่โตเพื่อไปจับแมลงภู่ที่ไมยราพ (สะกดตามบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1) ถอดดวงจิตไว้และขยี้จนตาย

โขน

“เราเคยแสดง โขน ตอน ศึกมัยราพณ์ ตามบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 แต่ครั้งนี้เราเปลี่ยนชื่อเป็นตอน สะกดทัพ และดำเนินเรื่องตามบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีความลึกลับซับซ้อนและรายละเอียดเยอะแตกต่างจากสำนวนของรัชกาลที่ 2 เช่น ในบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 นั้นไมยราพถูกหนุมานตีด้วยกระบองท่อนตาลจนตาย แต่ในฉบับของรัชกาลที่ 1 นั้นแม้ไมยราพถูกตีด้วยกระบองท่อนตาลก็ไม่ตายเพราะได้ถอดจิตไว้ที่แมลงภู่ หนุมานจึงต้องเนรมิตกายใหญ่เท่าพระพรหมและมี 8 กรเพื่อล้วงเข้าไปจับแมลงภู่ในช่องเขาและขยี้จนตาย” อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างประติมากรรม และเครื่องประกอบฉากสำหรับการแสดงโขนมูลนิธิฯ ให้ข้อมูล

สะกดทัพ

เทคนิคการขยับเคลื่อนไหวของร่างหนุมานขนาดมหึมานี้อยู่ในการดูแลของทีมช่างเทคนิคจาก บริษัท บ้านริก จำกัด ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ในการควบคุมเพื่อให้แขนทั้ง 8 ข้าง ขยับได้และหน้าของหนุมานหันได้ทั้งซ้ายและขวาส่วนตัวหุ่นหนุมานที่ช่างฝีมือของมูลนิธิฯสร้างสรรค์ทำจากโฟมและหุ้มด้วยผ้าอีกทั้งมีการแกะลวดลายเสื้อผ้าเครื่องประดับแบบนูนอย่างละเอียดพร้อมลงสีอย่างพิถีพิถัน

“การเคลื่อนไหวของหนุมาน 4 พักตร์ 8 กรในครั้งนี้เป็นการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-Generated) มีแอ็กชันที่ขยับเขยื้อนบนเวทีราว 3 นาที ตัวหุ่นสามารถถอดประกอบเป็น 14 ชิ้นย่อยและต้องใช้รถ 6 ล้อจำนวน 5 คันในการขนย้ายไปยังสถานที่จัดแสดง” สุเทพ บ้านริก ผู้บริหารของบริษัทบ้านริก จำกัด กล่าว

สะกดทัพ

การกลับมาของฉากยิ่งใหญ่ในตำนาน หนุมานอมพลับพลา

เรื่องรามเกียรติ์ตอนสะกดทัพดำเนินเรื่องตอนพระรามยกกองทัพวานรข้ามมหาสมุทรมาประชิดติดกรุงลงกา ไมยราพเจ้าเมืองบาดาลจึงรับอาสาทำพิธีหุงสรรพยาและนำไปสะกดทัพเพื่อจับพระรามลงไปสังหารในเมืองบาดาล ส่วนทางด้านหนุมานนั้นแปลงกายโตใหญ่เพื่ออมพลับพลาที่ประทับของพระรามไว้ในปากเพื่อป้องกันหลังจากที่พระรามทรงพระสุบินและพิเภกโหราจารย์ทำนายว่าจะมียักษ์มาสะกดทัพจับพระองค์ไปเมืองบาดาล อย่างไรก็ตามไมยราพสามารถใช้กลลวงและแฝงตัวเข้าไปเป่ายาสะกดทัพวานรให้หลับใหลและลักพาตัวพระรามลงไปเมืองบาดาลจนหนุมานต้องฝ่าด่านต่างๆเพื่อไปช่วยและสู้รบกับไมยราพ

ฉากหนุมานอมพลับพลาที่เคยสร้างความประทับใจให้ผู้ชมมาแล้วในตอน ศึกมัยราพณ์ ได้นำกลับมาใช้ในการแสดงครั้งนี้โดยโครงสร้างได้รับการซ่อมและปรับปรุงใหม่ให้อลังการและมีความคงทนถาวรมากขึ้น การสร้างสรรค์ฉากต่างๆของโขนมูลนิธิฯนั้นทำเป็นแบบกึ่งถาวรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ด้านศิลปกรรมฉากให้แก่คนรุ่นหลังและหลายๆฉากเมื่อจบการแสดงแล้วได้นำมาจัดแสดงที่ อาคารเรียน-รู้-เรื่อง-โขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา

สะกดทัพ
ฉากหนุมานอมพลับพลาถอดแยกชิ้นเพื่อเตรียมขนย้ายนำไปประกอบการแสดง

“ถ้าเทียบความยากง่ายแล้วการควบคุมหุ่นหนุมานอมพลับพลายากกว่าหุ่นหนุมาน 4 พักตร์ 8 กร เพราะฉากหุ่นหนุมานอมพลับพลานั้นเราไม่สามารถควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ได้ทั้งหมด ต้องเป็นระบบแมนวล (Manual) ใช้คนควบคุมด้วยเนื่องจากหนุมานต้องขยับทั้งข้อมือบิด แขนอ้า ปากอ้า และนักแสดงต้องเคลื่อนตัวออกมาจากปากหนุมานจึงต้องมีคิวกับนักแสดงด้วย หนุมานอมพลับพลานั้นสามารถถอดแยกได้เป็น 7 ชิ้นย่อย และใช้รถ 6 ล้อ จำนวน 4 คันในการขนย้าย การแสดงครั้งนี้จึงใช้รถถึง 10 คันเพื่อขนย้ายหุ่นหนุมานสำหรับทั้ง 2 ฉาก” สุเทพกล่าว

อีกฉากยิ่งใหญ่คือท้องพระโรงกรุงลงกาซึ่งเป็นฉากเด่นของการแสดง โขน เกือบทุกตอนโดยอาจารย์สุดสาครได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากท้องพระโรงในพระบรมมหาราชวังกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และยังประกอบด้วยรูปปั้นราชสีห์แทนฝ่ายมหาดไทยและคชสีห์แทนฝ่ายกลาโหมเพื่อแสดงถึงการปกครองในสมัยโบราณนอกจากนี้ยังมีฉากพลับพลาพระรามที่พระรามใช้เป็นสถานที่ปรึกษาเรื่องการศึกซึ่งการออกแบบอ้างอิงลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ในพระราชวังเดิมกรุงศรีอยุธยา

สะกดทัพ

จิตรกรรมประกอบฉากขยายจินตนาการของวรรณกรรม

งานจิตรกรรมประกอบฉากมีความอลังการไม่แพ้กันโดยในครั้งนี้มีฉากที่ต้องวาดใหม่บนผืนผ้าใบ 3 ฉาก ขนาดฉากละ 12x 20 เมตรประกอบด้วยฉากเขาชนกันที่หนุมานต้องฝ่าด่านเพื่อไปช่วยพระราม ฉากป่าทึบตอนที่ไมยราพทำพิธีหุงสรรพยาเพื่อนำไปสะกดทัพพระราม ฉากดงตาลซึ่งเป็นฉากต่อสู้ระหว่างหนุมานกับไมยราพ และยังมีฉากย่อยอื่นๆเช่นฉากรูปต้นตาลเพื่อใช้ประกอบด้านข้างเวทีหรือที่เรียกว่า ฉาก Leg ซึ่งช่วยสร้างทัศนมิติ (Perspective) ให้แก่ฉาก

แบบร่างฉากภาพเขียน

“การสร้างจิตรกรรมประกอบฉากต้องสอดรับกับวรรณกรรมและช่วยขยายจินตนาการ เช่นฉากหนุมานเนรมิตกายใหญ่โตมีอ้างอิงมาจากจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่ระเบียงคดวัดพระแก้วและลายรดน้ำของตู้พระธรรม แต่เราก็ต้องนำมาตีความและออกแบบใหม่ในรูปแบบของโขนมูลนิธิฯและผสมผสานเทคนิคของศิลปะไทย เช่น การนำเอารูปแบบการเขียนลายกำมะลอมาใช้ในบางส่วนของภาพ คือเป็นลายรดน้ำผสมเขียนสีเพื่อให้เกิดน้ำหนักของภาพอย่างเช่นเส้นสีทองที่เราลงสีบริเวณสันเขาในฉากที่หนุมานจับแมลงภู่ที่ไมยราพถอดจิตไว้เพื่อขับเน้นให้บริเวณนั้นเด่นเมื่อต้องแสงไฟบนเวที” อาจารย์วิชัย รักชาติ จากวิทยาลัยเพาะช่างมหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นผู้ดูแลการเขียนฉากอธิบาย

ออกแบบม่านเวทีผืนใหม่สำหรับศูนย์วัฒนธรรมฯ

นอกจากการสร้างสรรค์ฉากจิตรกรรมและประติมากรรมสำหรับการแสดงโขนแล้ว สิ่งที่ทางฝ่ายศิลปกรรมของมูลนิธิฯต้องจัดทำอย่างเร่งด่วนคือการออกแบบและจัดทำม่านเวทีการแสดงสำหรับหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื่องจากม่านผืนเดิมที่เรียกว่า ม่านพระ ซึ่งทอด้วยพรมเป็นภาพจิตรกรรมไทยประเพณีรูปเทพชุมนุมมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและออกแบบโดยอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ชำรุดเสียหายต้องนำไปซ่อมแซม

อาจารย์สุดสาคร ชายเสม กับภาพร่างม่านเวทีการแสดง

“เราจะใช้ม่านธรรมดาสีเทาทดแทนไม่ได้เพราะจะไม่สง่างาม หน้าม่านเป็นหน้าตาของโรงละคร เราจึงต้องออกแบบและทำม่านพระผืนใหม่ในเวลาเพียง 1สัปดาห์ โดยผมเป็นคนออกแบบและให้ทางทีมของอาจารย์วิชัยเป็นผู้ดูแล เราใช้ผ้าแคนวาสไร้รอยต่อจากประเทศจีนขนาดสูง 12 เมตร ยาว 20 เมตร ก่อนการแสดงจะมีการบรรเลงปี่พาทย์เพลงสาธุการเพื่ออัญเชิญพระพุทธเจ้า เทพยดาและบูชาครู ในการออกแบบม่านพระจึงเป็นรูปพระพุทธเจ้าและทวยเทพทั้งหลายที่เราอัญเชิญมาเพื่อความเป็นสิริมงคลเช่น พระอิศวร พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ พระพิฆเนศวร และพระวิษณุกรรม” อาจารย์สุดสาครกล่าว

เนื่องด้วยเวลาที่จำกัด การสร้างสรรค์ม่านพระขนาดใหญ่จึงไม่สามารถทำตามแบบร่างที่มีการลงสีได้ ทางทีมงานจึงใช้เทคนิคการลงสีคล้ายการลงรักปิดทอง คือพื้นหลังลงด้วยอะคริลิกสีดำและตัวภาพลงสีทองโดยให้ค่าน้ำหนักของสีทองต่างกันเพื่อให้ภาพมีความลึกที่แตกต่างกัน

“การเขียนภาพสำหรับม่านพระต้องเป๊ะ เป็นระเบียบแบบแผน ช่างเขียนต้องมีทักษะการเขียนแบบจิตรกรรมไทยประเพณีและมีความเข้าใจในเรื่องนาฏยลักษณ์ คือ ท่าทางการยืน เดิน นั่ง อันเป็นลักษณะเฉพาะตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทย” อาจารย์วิชัยกล่าว

Fact File

  • การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 2565 ตอน “สะกดทัพ” กำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม พ.ศ. 2565 (หยุดพักการแสดงทุกวันจันทร์และอังคาร) ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • บัตรเข้าชมจำหน่ายที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 1,820 / 1,520 / 1,020 / 820 / 620 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท
  • รายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook: Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ