อัปเดต 5 เทรนด์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มาแรง ประจำปี ค.ศ. 2021
Better Living

อัปเดต 5 เทรนด์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มาแรง ประจำปี ค.ศ. 2021

Focus
  • ภัยพิบัติจากโรคระบาดโควิด-19 ได้แพร่กระจายไปทั่วดาวเคราะห์ของเรามาแล้วกว่า 2 ปี คร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 5 ล้านคน นับได้ว่าเป็นผลกระทบที่รุนแรงครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 21 แต่ภายใต้แรงกดดันและสถานการณ์ที่บีบบังคับให้มนุษย์ต้องเอาตัวรอด กลับเกิดนวัตกรรม การคิดค้น และองค์ความรู้ใหม่ ๆ ภายในระยะเวลาอันสั้น
  • สำหรับปีค.ศ. 2021 สปอตไลต์ของโลกยังคงจับจ้องมาที่วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจะเปลี่ยนโลกนี้ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การเงิน หรือการใช้ชีวิต

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิกฤตโรคระบาดคือเหตุผลหนึ่งที่กระตุ้นให้นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับการคิดค้นอย่างเร่งด่วนเพื่อนำมาแก้ปัญหา ไม่แน่ว่าอนาคตในยุคหลังการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 เราจะได้เห็นหรือใช้งานนวัตกรรมเหล่านี้มากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นมาตรฐานของใหม่ของการใช้ชีวิตไปเลยด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับ 5 เทรนด์ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กระแสหลักประจำปี ค.ศ. 2021 ที่เราหยิบมาฝากกัน

เทรนด์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2021

1. การพัฒนาด้านการแพทย์แบบก้าวกระโดด

วงการแพทย์และงานด้านสุขภาพยังถือได้ว่าเป็นประเด็นอันดับ 1 ใน เทรนด์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2021ในยุคการระบาดของโควิด-19 ซึ่งนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดย่อมไม่พ้นการคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จะทำให้เราสามารถรอดพ้นหรืออย่างน้อยก็อยู่ร่วมกับโรคระบาดต่อไปได้อย่างเป็นปกติ ในบรรดาชนิดวัคซีนทั้งหมดนั้น กลุ่มวัคซีน mRNA ของบริษัทอย่าง Pfizer และ Moderna คือนวัตกรรมด้านการแพทย์ที่กลายเป็นความหวังของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ อันที่จริงวัคซีน mRNA ได้รับการวิจัยและพัฒนามาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด ทว่ามีการเร่งพัฒนาผ่านการทุ่มทรัพยากรลงไปในโครงการวิจัยนี้อย่างเร่งด่วนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่สุดและรับมือได้กับการกลายพันธุ์

การที่วัคซีน mRNA นั้นดูโดดเด่นกว่าใครเพื่อนก็เพราะว่าเป็นกระบวนการในการนำเข้าตัวอย่างเชื้อไปให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยใช้โมเลกุล Messenger Ribonucleic Acid (mRNA) ซึ่งถูกฝังรหัสพันธุกรรมในลักษณะของแอนติเจนเอาไว้โดยไม่ใช้เชื้อตายหรือเศษเชื้อแบบเดิม ๆ เซลล์ภูมิคุ้มกันจะเอาแอนติเจนตัวนี้ไปสร้างโปรตีนเพื่อกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันได้อยู่ดีไม่ต่างจากวัคซีนทั่วไป แต่ข้อดีมหาศาลที่กลับคืนมาคือการที่วัคซีนประเภทนี้มีโอกาสติดเชื้อจากตัวกลางที่ใช้ในวัคซีนนั้นต่ำที่สุด (เพราะไม่ได้ไปยุ่งกับเชื้อจริงนั่นเอง เอามาแค่รหัสพันธุกรรมเป็นหลัก) ช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตนั้นต่ำไปด้วยอีกทั้งยังมีประสิทธิภาพที่สูงมากถึง 95% แถมสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว (หากไวรัสนั้น ๆ มีการกลายพันธุ์) ผ่านการแก้รหัสพันธุกรรมโดยตรง กรณีตัวอย่างของ Moderna นั้นใช้เวลาแค่ 2 วันในการออกแบบวัคซีนรุ่น mRNA-1273 นั่นแปลว่าใช้เวลาเพียงน้อยนิดก็สามารถผลิตวัคซีนไปใช้ในกระบวนการทดสอบทางการแพทย์ต่อได้ทันที (เพิ่ม Responsive Rate) ท้ายที่สุดคือการกระตุ้นที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเซลล์ ก็จะนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันทั้งในแบบ Cellular Immunity และ Humoral Immunity ไปพร้อม ๆ กันด้วย

ข้อเสียหลักเพียงอย่างเดียงของวัคซีน mRNA คือความเปราะบางของมัน เพราะรหัสพันธุกรรมเป็นอะไรที่สลายตัวได้ง่ายมาก เมื่อทำการผลิตออกมาแล้ว การจะเก็บรักษาและขนส่งให้ถึงที่หมายโดยสมบูรณ์จะต้องทำภายใต้อุณหภูมิที่เย็นแบบสุด ๆ ที่ -80 องศาเซลเซียส (ประมาณ -20 องศาเซลเซียสในบางชนิดเท่านั้น ซึ่งพอ ๆ กับอุณหภูมิของช่องฟรีซตู้เย็น) ซึ่งเป็นการเพิ่มความซับซ้อนในการเก็บรักษาและค่าขนส่ง

เทรนด์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2021
ตู้แช่แข็งสำหรับเก็บวัคซีน mRNA ของ Pfizer
(ภาพ : Navy Medicine) 

ส่วนความกังวลในเรื่องผลข้างเคียงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่วงการแพทย์ให้ความสนใจ เพราะ mRNA เป็นเทคโนโลยีที่นับว่าใหม่มาก ข้อมูลที่มีจึงจำกัด นี่ทำให้เกิดช่องโหว่ในการปล่อยข่าวออกมาต่อต้านวัคซีนประเภทนี้อยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นความจริง และโดยรวมแล้วผลกระทบจากวัคซีน mRNA ก็เทียบเท่าได้กับวัคซีนทั่ว ๆ ไปนั่นแหละครับ

บุคคลที่สำคัญที่สุดในผลงานแห่งทศวรรษนี้มีด้วยกันหลายท่าน แต่ชื่อของ ดร.เคทลิน คาริโก (Dr. Katalin Kariko) นั้นจะเป็นที่จดจำอย่างแน่นอน เพราะเธอช่วยนำวงการงานวิจัยอันแสนจะใหม่เอี่ยมฝ่ามรสุมมากมายมาจนเป็นต้นกำเนิดให้วัคซีน mRNA ในปัจจุบัน ทั้งยังทำลายทุกข้อกังขาและพิสูจน์ถึงความสามารถของเทคโนโลยีนี้ไปด้วยในตัว 

นอกเหนือจากวัคซีนหลักเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 แล้ว เทคโนโลยีอย่าง Universal Flu Vaccine หรือวัคซีนที่ใช้กันไข้หวัดแทบทุกชนิดก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาด้วยเช่นกัน นี่ยังไม่นับความเป็นไปได้ของวัคซีนที่จะรักษาโรคอื่น ๆ อย่าง mRNA HIV Vaccine ที่อาจจะกลายเป็นหมุดหมายใหญ่ของมนุษยชาติในอนาคตอันใกล้นี้

เทรนด์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2021
ดร.เคทลิน คาริโก ในห้องวิจัย (ภาพ : BioNTech SE 2021)

โดยรวมแล้ว โควิด-19 เป็นบททดสอบที่ร้ายแรงและกระทบวงการแพทย์อย่างหนักหน่วงที่สุดเท่าที่เราเคยเจอมาในยุคสมัยใหม่เลยก็ว่าได้ ข้อจำกัดและแรงตึงเครียดนี้ส่งผลดีในแง่ของการเตือนสติให้หน่วยงานและระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องหันกลับมาปรับปรุงรูปแบบการทำงานของตนเองกันใหม่ และสรรหาวิธีรับมือภัยพิบัตินี้ให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แน่นอนว่าไม่ใช่แค่วัคซีนที่แย่งสปอตไลต์อยู่บนเวทีตอนนี้ แต่ยารักษาโรคโควิด-19 ระบบการขนส่งวัคซีน ระบบการสืบสวนโรคการดูแลและเยียวยาผู้ป่วยไปจนถึงการจัดการกับผลกระทบเชิงจิตวิทยาก็กำลังก้าวไปข้างหน้าภายใต้สถานการณ์อันตึงเครียดนี้ด้วยเช่นกัน

NFT

2. สินทรัพย์ดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซี และ NFT 

ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ในยุคนี้ใคร ๆ ก็ต้องพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ประกอบกับอนาคตทางการเงิน (และการงาน) ที่ไม่แน่นอน ความต้องการในการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ ที่ดูจะให้ผลตอบแทนสวยงามจึงดึงผู้คนจากทั่วโลกมาเข้าวงการนี้อย่างรวดเร็ว 

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เข้าไปลงทุนและทดลองระบบคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) สมัยบิตคอยน์ (BitCoin) เริ่มมาใหม่ ๆ มีการทดลองทั้งขุดทั้งเทรดมาแล้วเหมือนกันในช่วงหลัง ๆ การได้เห็นวงการนี้เดินทางมาจนถึงปัจจุบันจึงเป็นอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองแก่เกินวัยไปพอสมควรทีเดียวเพราะหลายอย่างนั้นพัฒนาไปแบบสายฟ้าแลบ (จริง ๆ ก็ไม่แปลกมาก เพราะวงการที่เกี่ยวข้องอย่างคอมพิวเตอร์ก็เป็นอะไรที่พัฒนาเร็วมากอยู่แล้ว)

NFT
โมเดลเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีสกุลบิตคอยน์ที่ถูกผลิตขึ้นมาจริง ๆ
ทั้งนี้คริปโตเคอร์เรนซีไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุที่จับต้องได้เหมือนเงินตราทั่วไป
ในกรณีนี้จึงมักถูกผลิตมาเป็นเครื่องประดับ หรือฝังชิปลงไปเพื่อใช้ทำเป็นกระเป๋าเก็บข้อมูลเงินดิจิทัล
(ภาพ : CryptoWallet.com Images)

ถ้าจะให้สรุปง่าย ๆ เลย สินทรัพย์ดิจิทัลก็คือชุดข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่มนุษย์อย่างเรา ๆ เชื่อถือในมูลค่าของมันนั่นเองครับ ซึ่งในรูปแบบพื้นฐานที่สุดก็มักจะต้องผูกกับทรัพย์สินในโลกแห่งความเป็นจริงเอาไว้ด้วย แต่ในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นมาและเราเริ่มจะคุ้นชินกันแล้วในปัจจุบันคือการใช้ระบบประมวลผลบันทึกข้อมูลและเข้ารหัส มารักษาชุดข้อมูลเลขฐานสองเหล่านี้ให้มีมูลค่าได้ ป้องกันการปลอมแปลงและอีกหลายปัญหาที่อาจจะตามมาได้ครับ หนึ่งในชื่อที่ทุกคนต้องได้ยินย่อมไม่พ้นเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) นั่นเอง (ยังมีอีกสารพัดกรรมวิธีนอกเหนือจากนี้ในการสร้างและรักษามูลค่าของสินทรัพย์และสกุลเงินดิจิทัลนะครับ)

กระบวนการข้างต้นนั้นมักจะต้องใช้กำลังการประมวลผลและทรัพยากรมหาศาลในการจัดการดูแลระบบ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ในปัจจุบันที่สมาร์ตโฟนขนาดกะทัดรัดมีความสามารถเทียบเท่ากับกับคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปแล้ว ข้อจำกัดทั้งหมดจึงถูกทำลายไปเป็นที่เรียบร้อย

ทุกอย่างดูจะเข้าทางมากยิ่งขึ้นเมื่ออินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน ส่งผลให้การมีอยู่ของสินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็นอะไรที่เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อผู้คนซึ่งเปรียบเสมือนความต้องการ (Demand) หลั่งไหลกันเข้าสู่ระบบ มูลค่าของสินค้า (Supply) ย่อมเพิ่มขึ้นตามอยู่แล้ว ไม่ต่างจากยุคเริ่มเทรดหุ้นออนไลน์เลยด้วยซ้ำ

NFT
เหมือง (ประมวลผล) ขุดคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไอซ์แลนด์พัดลมปริมาณมหาศาลมีไว้เพื่อระบายความร้อนโดยเฉพาะ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฟาร์มขนาดเล็กเริ่มเข้าถึงประชาชนทั่วไปในระดับครัวเรือนแล้วเช่นกัน
 (ภาพ: Marco Krohn)

ผมมองว่าโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลในกลุ่มคริปโตเคอร์เรนซีที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลซึ่งถูกสร้างมาสำหรับใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน และ NFT (Non-Fungible Token) ที่เป็นชุดข้อมูลที่ถูกสร้างมูลค่าขึ้นมาผ่านการปกป้องการทำซ้ำด้วยบล็อกเชน (เป็นตัวสร้างมูลค่า) ทั้งสองอย่างนั้นมีการเติบโตที่ “รุนแรง” มาก ๆ เพราะรวมเอาวงการที่เดือดสุด ๆ อย่างการเงินและการลงทุนมาผูกกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ความเป็นดาบสองคมของมันจึงคมกริบชนิดที่แค่มองก็รู้สึกเหมือนถูกกรีดแทงเข้ามาได้ในทันที (ข้อดีของเทคโนโลยีเหล่านี้นั้นโดดเด่นพอ ๆ กับข้อเสียและอันตรายที่มีด้วยเช่นกัน) สิ่งหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธคือสถานะในอนาคตของทั้งคู่ เพราะแค่ 2 ปี วงการนี้ก็ได้ฝังรากลึกลงไปในสังคมของพวกเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมีนวัตกรรมที่เกี่ยวโยงกันเกิดขึ้นตามมาอีกหลายอย่าง เช่น Decentralized Finance (DeFi), GameFi, Crypto Market และอื่น ๆ อีกเพียบ

การที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในยุคหลังการระบาดของโควิด-19 จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินความเป็นจริงสักเท่าไร ขอให้ทุกคนเตรียมตัวให้พร้อม แล้วมาใช้ข้อดีของสิ่งเหล่านี้ให้คุ้มไปเลยดีกว่า เพราะเรายังมีหนทางอีกยาวไกลให้ค้นหาในวงการนี้ครับ (ผมต้องขอย้ำอีกครั้งนะครับว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง หากคุณผู้อ่านมีเวลา ก็ควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน และอ้างอิงจากหลายแหล่งก่อนที่จะถลุงเงินเก็บของคุณนะครับ)

NFT

3. การเปลี่ยนผ่านสู่ “เมตาเวิร์ส” 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) แห่งบริษัทเมตา (Meta) (อดีต Facebook) ทิ้งทวนปลายปี ค.ศ. 2021 ด้วยการที่ทำให้คำว่า เมตาเวิร์ส (Metaverse) ติดเทรนด์โลกในชั่วข้ามคืนจากแผนการใหม่ของเขา หลังจากที่รีแบรนด์บริษัทของตัวเองไปท่ามกลางข้อครหาครั้งใหญ่ โดย เมตาเวิร์สหรือในคำแปลไทย “จักรวาลนฤมิต” ในความหมายที่ตรงตัวที่สุดคือ “โลกเสมือน” ที่เชื่อมกับอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใช้งานได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ระดับพื้นฐานภายใต้สภาพแวดล้อม 3 มิติที่ใกล้เคียงกับโลกแห่งความเป็นจริง จะมองว่านี่คือเกม The Sim ที่เราเป็นผู้เล่นและใช้ชีวิตที่สองในนั้นได้จริง ๆ ก็ไม่ผิดนัก และถ้าใครที่เป็นแฟนหนังไซไฟ (Sci-Fi) ก็คงจะพบเจอกับคอนเซ็ปต์ของเมตาเวิร์สมามากพอสมควรแล้วเช่นกัน (ทั้ง The Matrix, Ready Player One, และ Sword Art Online เป็นต้น)

ถึงแม้ว่าเมตาเวิร์สจะต้องพึ่งเทคโนโลยีหลายอย่างทั้ง Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR), Environment Awareness, Real-time Processing และอื่น ๆ อีกหลายรายการในการทำให้ผู้ใช้สัมผัสได้ถึงประสบการณ์เสมือนจริงอย่างที่ผู้พัฒนาตั้งเป้าไว้ในระดับที่เหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ย่อมต้องใช้เวลาอีกพอสมควร และระหว่างทางเราอาจจะได้เห็นแค่ผลงานที่ก้ำกึ่งเป็น เมตาเวิร์สอย่าง Second Life, VR Chat (ผมต้องขอเก็บไว้เล่าทีหลังจริง ๆ เพราะมันเถื่อนมากครับ) หรือ Pokemon Go ที่ทำเอาหลายคนต้องกุมขมับแล้วย้อนกลับไปตั้งคำถามคลาสสิกที่ว่า “เมตาเวิร์สคืออะไรกันแน่และผลงานระดับไหนถึงจะนับว่าใช่เมตาเวิร์สจริง ๆ”

Metaverse

คำตอบในวงการตอนนี้คงยังไม่ตายตัว และก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไปได้อีกแหละครับ เพราะพวกเทคโนโลยีเกี่ยวข้องถูกพัฒนามาหลายสิบปีแล้วก็จริง แต่ในตอนนี้แทบทั้งหมดยังคงอยู่ในระดับทดลองทั้งสิ้น ในกรณีของฮาร์ดแวร์และซอร์ฟแวร์ที่ใช้ในการสร้างโลกเสมือน แล้วก็ยังไม่สามารถเข้ามาตีตลาดกระแสหลักได้ด้วยราคาและข้อจำกัดที่มีอยู่

โดยส่วนตัวผมคาดการณ์ว่า เมตาเวิร์สนั้นไม่น่าจะต่างจากพลุที่ถูกจงใจจุดให้กลายเป็นหัวข้อที่ทั้งโลกให้ความสนใจ ก่อนที่จะค่อย ๆ เลือนหายไปและกลับมาอีกทีหนึ่งในตอนที่เทคโนโลยีทั้งหมดนั้นพร้อมเต็มที่และเข้าที่เข้าทางแล้ว ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ดูล้ำเกินยุคแบบนี้ก็ไล่มาตั้งแต่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและสมาร์ตโฟนยุคแรกเริ่มแว่นตา AR ชุดระบบ VR แบบเต็มตัวเป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้มักจะเรียกกระแสได้เป็นระยะ ๆ แต่กว่าจะใช้งานกันได้ทั่วไปก็จำเป็นต้องให้เวลาในการพัฒนาสักพักหนึ่งเหมือนกัน

สุดท้ายแล้วไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร เมตาเวิร์สโดยตัวมันเองนั้นมีศักยภาพที่สูงลิบแน่นอน และบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งก็จ้องจะผูกเทคโนโลยีนี้เข้ากับพวกสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้เกิดพื้นที่ในการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาในอนาคตในระดับที่ Microtransaction ในเกมกาชา (Gacha) ปัจจุบันนั้นเทียบไม่ติดเลยทีเดียว

สรุปแล้วความต้องการและปัจจัยในการพัฒนา (Incentive) นั้นมีมากพอที่จะดึงทรัพยากรมาลงทุนเพื่อสร้างเมตาเวิร์สได้อย่างไร้ข้อกังขา แต่อีกกี่ปีเราถึงจะได้สัมผัสกับเทคโนโลยีนี้จริง ๆ คงเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องติดตามกันต่อไป

Metaverse

4. เทคโนโลยีกับไลฟ์สไตล์หลังยุคโควิด-19

ตอนนี้หลายคนเริ่มตั้งนิยามถึงชีวิตในยุคหลังโควิด-19 กันแล้ว เพราะเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างเร่งด่วนตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มทำให้หลายคนชินกับการใช้ชีวิตที่กลายเป็นความปกติใหม่ไปแล้ว ยิ่งการที่โรคโควิด-19 นั้นกระทบกับทุกคนและทุกฝ่าย โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์ระหว่างสังคมตลอดจนวัฒนธรรมกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ เทคโนโลยีจึงจำต้องแปรเปลี่ยนไปเพื่อรับมือกับปัญหานี้ ซึ่งแนวทางในการแก้ไขนานัปการที่ได้ออกมาจึงมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปเป็นมาตรฐานที่อาจจะคงอยู่กับเราต่อไปได้เมื่อโลกใบนี้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง (ไม่มากก็น้อย) 

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดเห็นจะไม่พ้น Work from Home หรือการทำงานนอกออฟฟิศ ที่เมื่อก่อนจะถูกจำกัดไว้แค่บางตำแหน่งหรืออาชีพ แต่โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้องค์กรทั้งหลายต้องปรับตัวให้แทบจะทุกตำแหน่งต้องทำงานจากบ้านอันเป็นพื้นที่ปลอดภัยหลักที่ลดการระบาดของโรค เทคโนโลยีในด้านของโปรแกรมการทำงานร่วมกันในระบบออนไลน์จึงบานสะพรั่งตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบจัดเก็บไฟล์และจัดการข้อมูลส่งต่อข่าวสารปาร์ตี้สังสรรค์ ฯลฯ บางเทคโนโลยีเช่นโปรแกรมประชุมออนไลน์ที่เดิมก็เป็นมาตรฐานอยู่แล้วก็ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเราแทบทุกคน และไม่ได้จำกัดแค่การทำงานด้วยซ้ำไป

Work from Home เป็นคอนเซ็ปต์ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่โดยรวมแล้วข้อดีที่มีเยอะกว่า และความสามารถในการประหยัดทรัพยากรจึงเป็นตัวเร่งหลักที่จะทำให้วัฒนธรรมการทำงานหลังการระบาดของโควิด-19 ไม่ถูกจำกัดอยู่ในออฟฟิศอีกต่อไป การตอกบัตรอาจจะสูญพันธุ์ไปเลยเมื่อออฟฟิศกลายสภาพไปเป็นพื้นที่ผสมผสานที่ให้พนักงานเข้าไปใช้สอยได้ยามจำเป็นเท่านั้น

บริษัท Co-Working Space แทบทั้งหมดล้วนถูกดิสรัปต์ (Disrupt) อย่างรุนแรงจากโควิด-19
(ภาพ : Ajay Suresh from New York, NY, USA – WeWork)

ในด้านการศึกษาเองก็ได้รับผลกระทบมากพอสมควร การที่นักเรียนนักศึกษาไม่สามารถเข้าห้องเรียนได้ทำให้การเรียนออนไลน์กลายเป็นมาตรฐานในลักษณะเดียวกับ Work from Home และพวกแพลตฟอร์มคอสเรียนออนไลน์เฉพาะทาง (e-learning หรือ MOOC) ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย (นอกจากเนื้อหาการเรียนในสถาบัน ซึ่งคุณภาพมักจะตกลง) คนรุ่นใหม่อาจจะได้เรียนมหาวิทยาลัยออนไลน์กันมากขึ้น หรือทดสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรออนไลน์กันไปเลย สิ่งเหล่านี้มักจะถูกดูแคลนในอดีต แต่ปัจจุบันการเรียนออนไลน์ก็กำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น โดยแน่นอนอีกแหละครับว่าโควิด-19 คือตัวแปรสำคัญที่ช่วยเร่งกระบวนการทั้งหมดนี้ได้เป็นอย่างดี

ในด้านของเว็บไซต์ซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์บริการขนส่งและโลจิสติกส์ระบบดูแลและจัดการลูกค้า ก็ได้อานิสงส์ไปด้วย เพราะร้านค้าทั่วไปที่ครั้งหนึ่งเคยเข้าไปเดินเลือกซื้อของได้ก็มีอันต้องปิดหน้าร้านนั้นไปในยุคโควิด-19 (หลายกรณีคือปิดกิจการเลยด้วยซ้ำ) จำนวนลูกค้าออฟไลน์ที่หลั่งไหลกันเข้าไปสู่ระบบออนไลน์จึงเติมเต็มความต้องการต่อสินค้าได้ใกล้เคียงเดิม เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบเท่านั้นครับ ถ้ายังจำกันได้ถึงกรณีเรือติดคลองสุเอซช่วงต้นปีที่น่าจะยังคงหลอกหลอนวงการนี้กันอยู่ได้ละก็ ความสัมพันธ์ระหว่างระบบทั้งหมดนี้กับการขนส่งสินค้าในโลกแห่งความเป็นจริงก็จะชัดเจนขึ้นมากเลยละครับ

โดยรวมแล้วเทคโนโลยีใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบออนไลน์อินเทอร์เน็ตการปฏิบัติการทางไกลทั้งหลาย ล้วนเติบโตกันอย่างก้าวกระโดดในยุคโควิด-19 และจะคงอยู่ต่อไปหลังจากนี้ในสถานะที่แข็งแกร่งกว่าแต่ก่อนแน่ ๆ คลับคล้ายคลับคลากับช่วงต้น ค.ศ. 2000 ที่เกิดการระเบิดของบริษัท .com โดยมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตยุคแรก ๆ เป็นแรงผลักดันนั่นแหละครับ

เทรนด์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2021
(ภาพ : SpaceX)

5. การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศ

ปีนี้เป็นปีที่วงการอวกาศเอกชนนั้นแข่งขันกันอย่างดุเดือดสุด ๆ คู่ขนานไปกับโครงการสำคัญต่าง ๆ ขององค์การอวกาศทั้งเล็กและใหญ่ที่ก็ยังคงประชันกันในเวทีโลกแบบไม่มีใครยอมใครเช่นเดิม ซึ่งต้องเป็นเพราะปี ค.ศ. 2020 นั้นเป็นช่วงช็อกจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำเอาหลายงานต้องชะงักไป (แต่พอมีวัคซีนแล้วงานก็เลยเดินต่อได้แบบติดไฟ)

พวกเรามีโอกาสได้เห็น SpaceX ที่ทำผลงานได้ดีมาโดยตลอดทำการส่งนักท่องเที่ยวอวกาศขึ้นไปกับยาน Crew Dragon 2 เป็นครั้งแรกของโลก (ไม่มีนักบินอวกาศอยู่ในทีมลูกเรือด้วยนะ) กับภารกิจ Inspiration-4 ในขณะที่ Blue Origin คู่แข่งตัวฉกาจที่มาพร้อมกระแสแง่ลบเสียส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองรั้งท้าย มีการส่งนักท่องเที่ยวอวกาศขึ้นไปแตะขอบอวกาศกับยาน New Shepard เป็นระยะ ๆ เหมือนกันในปีนี้ กลายเป็นที่มาของคำว่า Billionaire Space Race หรือการแข่งขันด้านอวกาศของมหาเศรษฐีที่ทำให้ภาพลักษณ์ของการสำรวจอวกาศนั้นดูแปลกตาไปจากเดิม

เทรนด์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2021
ลูกเรือทั้ง 4 คนในยาน Crew Dragon 2 ก่อนเริ่มภารกิจ Inspiration-4
(ภาพ : SpaceX)

เอาเข้าจริง ๆ แล้วบริษัทขนาดเล็กที่ประกอบธุรกิจด้านจรวดดาวเทียมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องก็มีการโชว์ผลงานให้เห็นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเช่นกัน (มีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว ปะปนกันไปตามสไตล์โครงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชั้นสูงที่ต้องผ่านกระบวนการทดลองหลายครั้ง)

สำหรับโครงการจากภาครัฐและสถาบันต่าง ๆ ในปีนี้ก็ต้องไล่ตั้งแต่ภารกิจส่งยานสำรวจไปดาวอังคารจากสหรัฐอเมริกาจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์การจัดเตรียมภารกิจสำรวจดวงจันทร์โดยมนุษย์อีกครั้งกับโครงการ Artemis การต่อเติมสถานีอวกาศนานาชาติในส่วนของโมดูลฝั่งรัสเซียการถ่ายภาพยนตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติโดยผู้กำกับและนักแสดงชาวรัสเซียการทดลองปลูกพริกในอวกาศ (กินได้แล้วจริง ๆ) และอื่น ๆ อีกเพียบ

ปิดท้ายด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ (James Webb Space Telescope: JWST) ที่จะทำการปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในช่วงปลายเดือนธันวาคมในวันคริสต์มาสพอดิบพอดี เป็นการฉลองภารกิจแห่งศตวรรษที่กำลังจะเปิดเผยความลับอันแสนยิ่งใหญ่ของเอกภพได้ลึกล้ำยิ่งกว่าที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเคยปูทางเอาไว้ให้

จรวด Ariane 5 เตรียมส่ง JWST ขึ้นสู่จุดหมาย ณ บริเวณ L2 ระหว่างวงโคจรโลกกับดวงอาทิตย์
(ภาพ : NASA/Bill Ingalls) 

ผมคิดว่าเทคโนโลยีด้านอวกาศที่เหมือนจะเป็นปลายหอกในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ของมนุษยชาติได้เดินทางมาสู่ช่วงที่ผู้คนทั่วไปเริ่มเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้นใน (ปลาย) ยุคโควิด-19 โดยมีการนำเอาศาสตร์และศิลป์ด้านอื่น ๆ เข้ามาผสมผสานรวมกันมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม รับประกันได้เลยว่าในปี ค.ศ. 2022 จะต้องมีอะไรใหม่ ๆ ให้เราได้เห็นกันอีกแน่นอน

บทส่งท้าย

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการดำรงอยู่ของมนุษย์คือความพยายามในการเอาชีวิตรอดและก้าวต่อไปข้างหน้าในฐานะสายพันธุ์หนึ่งของสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะทำหน้าที่นี้ได้อย่างไร้ที่ติ แต่โดยรวมแล้วพวกเราล้วนขับเคลื่อนอารยธรรมของตนเองต่อไปเรื่อย ๆ ในเส้นทางกาลเวลาที่ถาโถมเข้าใส่อย่างไม่ยั้งมือนี้โดยใช้ความสามารถที่แตกต่างกันไป ภายใต้กรอบทางความคิดและการใช้ชีวิตที่ห่อหุ้มอยู่หลายมิติทีเดียว

โควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของพวกเราในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ว่านี้ แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มาไกลจนหยุดไม่ให้ประชากรเกินกว่าครึ่งโลกต้องถูกกวาดหายไปในชั่วพริบตาจากมุมมองของจักรวาลอันกว้างใหญ่

เราเลือกที่จะสู้และดูแลกันในวันที่ศัตรูของเราเป็นเพียงสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อุปสรรคอันยากลำบากนี้ในบางครั้งยังถูกเพิ่มความรุนแรงขึ้นไปอีกโดยคนบางกลุ่มเสียอย่างนั้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว วิทยาศาสตร์จะยังคงเป็นเครื่องมืออันมีค่าที่วิวัฒนาการไปพร้อม ๆ กับพวกเรา 

จงลงมือทำ เพื่อโลกที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้ และอย่าลืมติดตามถึงผลลัพธ์ของอนาคตที่ทยอยเป็นความจริงจากความพยายามในปัจจุบันของพวกเรา

สุขสันต์วันปีใหม่ล่วงหน้าครับ

อ้างอิง


Author

ฌาณัฐย์ สิทธิปรีดานันท์
นักคิดนักเขียน ผู้กำกับ นักวิจัยมือสมัครเล่น และศิลปินอิสระ ผู้ชื่นชอบวิทยาศาสตร์กับศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ เอนจอยกับการไปโผล่ท่ามกลางธรรมชาติและมีความสุขมาก (จริง ๆ นะ) ในการเป็น workaholic มีโอกาสได้ลงผลงานที่ A Day Bulletin, GM Magazine, และ The Momentum