50 ปี Earth Day จากประท้วงใหญ่ในอเมริกาสู่ Earth Challenge 2020
Better Living

50 ปี Earth Day จากประท้วงใหญ่ในอเมริกาสู่ Earth Challenge 2020

Focus
  • นับย้อนไปวันนี้เมื่อ 50 ปีก่อน 22 เมษายน ค.ศ.1970 วันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • ในวันนั้นได้มีนักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่งร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงพลังครั้งใหญ่ และมีพลเมืองอเมริกันที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมกว่า 20 ล้านคน พร้อมใจกันมาออกมาชุมนุมประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก

นับย้อนไปวันนี้เมื่อ 50 ปีก่อน ตรงกับ 22 เมษายน ค.ศ.1970 วันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในวันนั้นได้มีนักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่งร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงพลังครั้งใหญ่ และมีพลเมืองอเมริกันที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมกว่า 20 ล้านคน พร้อมใจกันมาออกมาชุมนุมประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก

ต้นเหตุแห่งการเกิด วันคุ้มครองโลก ครั้งแรก มาจากสมาชิกวุฒิสภานาม เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) แห่งรัฐวิสคอนซิน ซึ่งเขาต้องทนเห็นสภาพแวดล้อมยับเยินทุกมิติมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ซานตาบาบารา แคลิฟอร์เนีย

Earth Day
ภาพการชุมนุมใหญ่เพื่อรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมครั้งแรก (ภาพ NYC Parks)

หลังจากเขาเห็นพลังของขบวนการนักศึกษาที่เดินขบวนต่อต้านสงคราม ท่าน สว.หนุ่มไฟแรงจึงเริ่มผลักดันให้พลังของนักศึกษาออกมาเป็นทัพหน้าในการปลุกจิตสำนักรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะตอนนั้นอากาศพิษจากโรงงาน รวมทั้งท่อไอเสียรถยนต์ก็ในอเมริกาเริ่มเป็นปัญหามาก อีกทั้งแหล่งน้ำก็เกิดมลพิษจากการทิ้งขยะ

ท่าน สว.เกย์ลอร์ด ได้ตั้งตนเป็นประธานจัดงาน และจ้างนักศึกษาหนุ่มนักเคลื่อนไหวแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชื่อ เดนิส เฮย์ส (Denis Hayes) เป็นผู้นำปลุกระดม สร้างกระแสให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยออกมารวมตัวกัน เรียกร้องให้ชาวอเมริกันหันมาพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

ทำไมมนุษย์ต้องลุกมาคุ้มครองโลก

เหตุผลที่เลือกวันที่ 22 เมษายน เพราะเป็นช่วงวันกลางสัปดาห์ อีกอย่างเดือนนี้ตรงกับปิดเทอมฤดูใบไม้ผลิ ก่อนถึงช่วงสอบไล่ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาพอดี ทำให้นักศึกษาสามารถเข้าร่วมชุมนุมได้เป็นจำนวนมาก ผลลัพธ์คือในวันนั้นมีทั้งนักศึกษาและประชาชนกว่า 20 ล้านคน ที่ออกมารณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม คิดเป็น 10 เปอร์เซนต์ของประชากรทั้งประเทศในตอนนั้น

หลังจากการชุมนุมครั้งนั้นก็มีผลพวงให้เกิดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ออกมามากมายในสหรัฐอเมริกา เช่น พ.ศ. 2513 สหรัฐอเมริกาออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา มีและการจัดตั้งสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (U.S. Environmental Protection Agency) ขึ้น

ถัดมาอีก 2 ปี สหรัฐอเมริกาประกาศใช้กฎหมายอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Act) กฎหมายน้ำสะอาด (Clean Water Act of 1972) และ กฎหมายว่าด้วยสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ ใน พ.ศ. 2516 (Endangered Species Act of 1973)

Earth Day
พลังของเยาวชนที่ออกมารณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม (ภาพ NYC Parks)

ผลชัดเจนจากกฎหมายเหล่านี้คือ บทบัญญัติที่บังคับให้รถยนต์ต้องใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว และวิ่งได้ระยะทางอย่างน้อยเท่าที่กฎหมายกำหนดต่อน้ำมันหนึ่งแกลลอน ตลอดจนมีเครื่องฟอกไอเสีย ที่ช่วยลดปริมาณควันพิษที่ปล่อยออกจากท่อไอเสียรถยนต์ ด้านผลพวงเรื่องจิตสำนึกสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดภารกิจสำคัญในบ้านของอเมริกันชนทุกคนนั่นก็คือ การแยกขยะ เพื่อนำไปรีไซเคิล

ในช่วง 10-20 ปีหลังงานวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ครั้งแรกเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงในระดับเทศบาลเท่านั้นที่เน้นการนำขยะมารีไซเคิล แปรรูปให้เป็นผลผลิตที่มีประโยชน์ ทว่าบริษัทห้างร้านต่างๆ ซึ่งเริ่มจับกระแสผู้บริโภคที่หันมาตระหนักเรื่องการใช้ทรัพยากรเพื่อรักษ์โลกมากขึ้น ไม่ว่าจะออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้วิธีการผลิตที่เพิ่มประสิทธิภาพและลดจำนวนกากของเสียจากอุตสาหกรรม

สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (U.S. Environmental Protection Agency) มีเป้าหมายสำคัญในการจัด วันคุ้มครองโลก 7 ข้อ

1. เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ

2. เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป

3. เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ

4. เพื่อห้ามการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป

5. เพื่อคงสภาพระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่

6. เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์

7. เพื่อสร้างสำนึกในอันที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชนและชาติ

วันคุ้มครองโลก

วันคุ้มครองโลกในประเทศไทย

สำหรับวันคุ้มครองโลกในประเทศไทย จัดครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน พ.ศ. 2533  โดยคณะอาจารย์และนักศึกษาคณะกรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมจาก 16 สถาบัน ถือเป็นการเริ่มต้นของสังคมไทยยุคที่มองเห็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทั้งรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของป่าอนุรักษ์ และตระหนักถึงวิกฤตการทำลายสัตว์ป่าและป่าไม้ประเทศไทยร่วมด้วย ในปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมจัดกิจกรรม วันคุ้มครองโลก มากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก

นอกจากกิจกรรมรณรงค์เพื่อรักษ์โลกแล้ว อีกไฮไลต์ในยุคสมัยจัดงาน วันคุ้มครองโลก ครั้งแรกๆ ในไทยคือ คอนเสิร์ตวันคุ้มครองโลก โดยศิลปินป๊อปชื่อดังของไทยในยุคนั้น คอนเสิร์ตวันคุ้มครองโลกเกิดขึ้นครั้งแรก ในวันที่ 22 เมษายน ปี 2534 ณ สนามกีฬากองทัพบก โดยมีค่ายเพลงแกรมมี่เป็นเจ้าภาพในการขนทัพศิลปินไปร่วมงาน ซึ่งเต็มไปด้วยศิลปินเบอร์ท็อปของเมืองไทยรวมถึง วงนูโว วงดนตรีขวัญใจวัยรุ่นยุคนั้น ซึ่งมีเพลงเด่นเชื่อมโยงแนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อเพลง “เก็บไว้ให้เธอ” เป็นรูปแบบการร้องแบบประสานเสียง ไม่มีดนตรีประกอบ

กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มถูกนำไปรวมกับเพลงมากขึ้น โดยศิลปินของค่ายแกรมมี่เกือบทุกรายจะมีเพลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในอัลบั้ม  และในปี 2535 คอนเสิร์ตวันคุ้มครองโลก ของค่ายแกรมมี่ก็ได้ออกเพลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่โด่งดังมาถึงตอนนี้ ร้องนำโดยธงไชย แม็คอินไตย ชื่อเพลง “โลกสวยด้วยมือเรา” เป็นเพลงสำหรับศิลปินหมู่มวลออกมาร้องตอนปิดคอนเสิร์ต ค่ายเพลงแกรมมี่ จัดคอนเสิร์ตวันคุ้มครองโลก เป็นฟรีคอนเสิร์ตต่อเนื่องทุกปีจนถึงปี 2555

วันคุ้มครองโลก

 #EarthDayNetwork

22 เมษายน 2563 แม้จะเป็นวันครบ 50 ปีวันคุ้มครองโลก แต่ด้วยวิกฤติที่ทั้งโลกกำลังเผชิญไวรัสโควิด-19 จึงไม่มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ การรวมตัวกันแสดงพลัง การจัดประชุมสัมมนา และกิจกรรมบันเทิงใดๆ พร้อมทั้งเปลี่ยนรูปแบบการแสดงออกเป็นเรื่องการคุ้มครองโลกเป็นกิจกรรมบนโลกออนไลน์ ติดแฮ็ชแท็ก #EarthDayNetwork พร้อมกันทั่วโลก สำหรับใครก็ตามที่ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อรักษ์โลก

ส่วนที่อเมริกาก็มี Challenge น่ารักๆ ให้ประชาชนร่วมกันทำ Earth Challenge 2020 อัพโหลดรูปภาพเพื่อแจ้งพิกัดขยะพลาสติกหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตนเองเจอพร้อมใส่พิกัดเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปแก้ปัญหาต่อไปได้

ด้าน เดนิส เฮย์ อดีตผู้นำนักศึกษานักอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนึ่งในผู้ร่วมก่อการจัดงานวันคุ้มครองโลกครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 50 ปีก่อน ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ Seattle Times เนื่องในวาระ Earth Day ว่า

“แม้โควิด19 ปล้นวันเอิร์ธเดย์ในปีนี้ไป แต่เราสามารถช่วยกันทำให้วันเลือกตั้งกลายเป็นวันเอิร์ธเดย์ได้”

เดนิส เฮย์ ได้ขอให้ชาวอเมริกันผลักดันวาระการคุ้มครองโลกให้เกิดในวันเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนปีนี้  เพราะวาระสำคัญของการกู้วิกฤติสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือการกู้โลกร้อนในวันนี้คือสิ่งสำคัญระดับนโยบาย ดังนั้นการเลือกผู้นำที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากิจกรรมรณรงค์เสียอีก

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป