Ari Around แพลตฟอร์มความอารี ที่มี AriCoin เป็นตัวกลางเชื่อมความอารีย์
Better Living

Ari Around แพลตฟอร์มความอารี ที่มี AriCoin เป็นตัวกลางเชื่อมความอารีย์

Focus
  • Ari Around แพลตฟอร์มความอารี ที่มุ่งเชื่อมโยงผู้คนและพัฒนาชุมชนในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มอาสาสมัครชาวอารีย์ เริ่มต้นจากย่านที่คุ้นเคยย่านอารีย์-ประดิพัทธ์
  • จุดยืน 3 เรื่องหลักของ Ari Around คือ Zero Waste, Circular Economy และ Community Connection เริ่มต้นเฟสแรกจากการผลักดันเรื่องการจัดการขยะ โดยมี AriCoin เป็นตัวกลางเชื่อมโยงความอารี

ตั้งแต่ช่วง Work from Home ที่ได้อยู่บ้านนาน ๆ การจัดการในบ้าน รวมถึงการจัดการขยะอย่างการแยกประเภทถือเป็นเรื่องหนึ่งที่เราหันกลับมาให้ความสำคัญกันมากขึ้น แต่จัดการแล้วไปไหน ใครหันซ้ายหันขวาแล้วเกิดคำถามแบบนี้กับพลาสติกหรือวัสดุเหลือใช้กองโตเหมือนกันบ้าง เมื่อราวกลางปีก่อน เราได้รู้จักกับแพลตฟอร์มหนึ่งที่เกิดขึ้นจากชุมชนอารีย์ กรุงเทพฯ นั่นคือ Ari Around จากงาน Bangkok Design Week 2021 ที่เปิดตัวมาพร้อมแอปพลิเคชันที่มีตัวกลางอย่างเหรียญอารีหรือ AriCoin ตัวแทนความอารีที่จะได้รับเพิ่มเมื่อนำความอารีมาแลก

Somewhere
Ari Around Station ที่โครงการ Somewhere ประดิพัทธ์ 17

AriAround เริ่มต้นเฟสแรกด้วยการสื่อสารเรื่องความอารีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างการเปิดรับขวดพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียมและหนังสือ (ที่สามารถส่งต่อได้) มาแลกเปลี่ยนเป็น AriCoin ซึ่งเหรียญดิจิทัล (ไม่ใช่เหรียญคริปโตฯ หรือใช้เงินซื้อได้) นี้สามารถนำไปแลกรับสิทธิพิเศษจากพาร์ตเนอร์ของ Ari Around ได้ต่อไป

จากรูปแบบของการแลกเปลี่ยน วัตถุประสงค์ของการเกิด AriAround จึงไม่ใช่แพลตฟอร์มการจัดการขยะเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมิติอื่น ๆ ที่มาเชื่อมโยงความเป็นชุมชนด้วยความอารีในด้านต่าง ๆ ด้วย

Ari Around
อรุ-อรุณี อธิภาพงศ์ ผู้ริเริ่มและหนึ่งในทีมงาน Ari Around

“ตอนแรกคนจะเข้าใจว่า AriAround เป็นแอปพลิเคชันเกี่ยวกับขยะ เอาขยะมาแลกเป็นเหรียญ แต่ตอนเปิดตัวเรายอมให้คนเข้าใจผิด เพราะถ้าอธิบายทั้งหมดเขาอาจจะงงไปหมดเลยว่าคืออะไรเพราะเราใหม่มาก จริง ๆ เรามี 3 คำที่เป็นจุดยืนคือ Zero Waste, Circular Economy และ Community Connection แต่ตอนแรกคนอาจไม่เข้าใจว่าจะมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร เพราะสองส่วนหลังยังบางเบาและแพลตฟอร์มของเรายังรองรับไม่ได้” อรุ-อรุณี อธิภาพงศ์ หนึ่งในทีมงานของ Ari Around กล่าว ก่อนเสริมด้วยสิ่งที่พวกเขากำลังปลุกปั้นให้เกิดขึ้นจริง

“ต่อไปแพลตฟอร์มเราจะสามารถเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้งาน (User) ได้ เช่น คุณยืมของเราได้นะ เราทำอาหารเยอะ เราทำวีแกนหม้อใหญ่คุณสามารถเอาเหรียญอารีมาแลกเราได้ หรือเรามีเครื่องดูดไรฝุ่นนะ มายืมกันได้ สามารถใช้แพลตฟอร์มนี้สนับสนุนได้ สิ่งนี้มันก็จะเกิดคอมมูนิตีคอนเน็กชันไปในตัว รวมถึงการสนับสนุนศิลปินในย่านอารีย์ที่บางทีเขาไม่มีช่องทางในการบอกว่าเขาอยู่ตรงนี้ ชุมชนสามารถมาใช้บริการเขาได้ เราก็อยากทำให้เขาได้รู้จักกับคนในชุมชน แลกเปลี่ยนกันได้ด้วย”

Ari Around
บูธกิจกรรม EVO อารีย์ ส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2022
การนำขยะเปียกจากเศษอาหาร มาแลกเหรียญอารี

ภาพ : Ari Around

สาเหตุที่ AriAround เริ่มต้นสื่อสารความเป็นแพลตฟอร์มอารีโดยโฟกัสเรื่องการจัดการขยะเป็นลำดับแรก อรุให้เหตุผลว่า “เพราะความอารีที่คนสามารถทำได้ง่าย ๆ คือ คิดก่อนทิ้ง แยกขยะก่อนทิ้ง สิ่งนี้คือความอารีแล้ว” พวกเขาจึงเริ่มสื่อสารให้คนมองเห็นถึงขั้นตอนการได้รับและการใช้ AriCoin อย่างเห็นภาพก่อน ประกอบกับด้วยเรื่องขยะนี้แหละ ที่มาจากผลสำรวจของชาวย่านอารีย์ ซึ่งกำลังมองเห็นว่าสิ่งนี้คือปัญหาอันดับ 1 ในชุมชน

“ตอนเริ่มต้น เพื่อนในทีมเราเขาไม่แน่ใจเรื่องไอเดียเลยมีการไปทำวิจัย ทำแบบสอบถามกับคนในชุมชนว่ามีปัญหาเรื่องอะไรบ้างที่เขาเห็นแล้วอยากแชร์ เขาอยากเข้ามามีส่วนร่วมจริงไหม ผลปรากฏว่าเป็นอย่างที่เราคิดไว้เลย 3 อันดับแรกที่เขาเห็นว่าเป็นปัญหาคือ การจัดการขยะ ทางเดินเท้าและการเชื่อมต่อของชุมชน ส่วนนี้ก็ได้สนับสนุนความคิดเรา คือถ้าถามว่าอยากมีส่วนร่วมกับชุมชนไหม อยากช่วยเหลืออย่างไรไหม ส่วนมากคืออยากแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะเข้ามามีส่วนร่วมตรงไหน ยินดีที่จะแบ่งปันของไหม กว่า 90 เปอร์เซ็นต์คือยินดีหมดเลย เราเลยเห็นว่า นี่ไง ทุกคนมีความใจดี เพียงแค่ไม่มีแพลตฟอร์มรองรับเท่านั้นเอง”

เมื่อชัดเจนแล้วว่าไอเดียเริ่มต้นที่ต้องการทำสิ่งหนึ่งในระยะยาวเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีผู้คนมองเห็นตรงกัน จึงประกอบไอเดียพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ โดยมีทีมเบื้องหลังที่ล้วนเป็นอาสาสมัครมาช่วยกันปลุกปั้นทั้งหมด 

Ari Around
Plant Food จากกากกาแฟร้าน Fix และะเปลือกไข่ร้าน 8 Sqm.
แลกรับได้ที่ Ari Around Station at Somewhere

“ตัวเราออกเดินทางมาก่อนหน้านี้และเราเห็นต่างประเทศเขาทำ แต่ต่างประเทศเขาไม่ได้มีระบบเหรียญแบบเรา เขาทำเป็นธรรมชาติมีความเป็นคอมมูนิตีอยู่แล้ว เขามีการไปอาสาและได้ผลตอบแทน เช่น อาหารที่ปกติต้องทิ้ง เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะมีของที่ใกล้หมดอายุ แต่เป็นของที่ยังกินได้ เราเลยเห็นช่องว่างตรงนี้ว่าน่าจะทำอะไรได้ ชวนให้คนมามีส่วนร่วมได้เพราะว่าเราไม่มีเงินที่จะให้แต่เราสามารถคอนเน็กต์แต่ละที่ให้เหมือนเป็นผลตอบแทนได้ แต่จะให้ตัวเขาไปรับตรง ๆ มันก็ไม่ได้ ต้องมีตัวกลาง เราเลยคิด AriCoin ขึ้นมา และค่อย ๆ พัฒนาไอเดียกันมาเรื่อย ๆ

“จนถึงตอนนี้ ผลตอบรับมันไม่ใช่แค่การใช้งานแพลตฟอร์มของเรา แต่มีทั้งคนมาใช้แล้วเขามีรีแอ็กที่ดี การที่คนเข้ามามีส่วนร่วมสิ่งนี้ก็เป็นผลตอบรับที่ดีมาก ๆ เราเองก็ได้เชื่อมต่อกับคนมากขึ้นและรวมพลังทำอะไรกันต่อไป ปลายทางเป็นอย่างไรไม่รู้ เรามีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดเป็นรูปธรรมแหละ แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่มต้นเรายังไม่ถึงตรงนั้น แต่แค่คนไม่รู้จักกันมาอาสาทำอะไรร่วมกันเราก็รู้สึกว่ามันอิมแพ็กมากแล้วที่คนอยากมีพื้นที่ในการมีส่วนร่วมช่วยเหลือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีและได้มีพื้นที่ทำ” อรุเล่าถึงผลตอบรับของ Ari Around ที่ส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชน และทั้งคนที่ตั้งใจเดินทางมาหาที่จุดรับขวดและกระป๋องอะลูมิเนียม ซึ่งตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6 จุดแล้ว เพื่อการนัดหมายและการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น อีกทั้งผู้คนยังได้ทำความรู้จักกับพื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชนไปด้วย

“ทุกอย่างเราเริ่มต้นจากการลอง เราแค่ลงทุนเวลากับสิ่งที่ตั้งสมมติฐานว่ามันจะโอเค ถ้ามีอะไรเราจะค่อย ๆ ปรับกัน เป้าหมายในระยะสั้นตอนนี้เราต้องรีบคิดแล้วว่าขยะที่รับมาจะเอาไปทำอะไร เพราะเริ่มล้นบ้านแล้ว ถ้ายังไม่ทันเราก็จะยังเป็นการบริจาคไปก่อน ตอนแรกเราให้ทีม Less Plastic Thailand กับ YOU เทิร์น ที่เขานำไปทำชุด PPE ช่วยคุณหมอมารับ เราอยากหาพาร์ตเนอร์ที่ไว้ใจได้ นำไปที่ที่โอเคและมีประโยชน์ หนึ่งตัวเลือกที่กำลังมองอยู่คือการร่วมมือกับ FabCafe ที่ตอนนี้อยู่ TCDC เมื่อก่อนเขาเคยอยู่แถวนี้ มาพัฒนาโมเดล Prototype อะไรกัน เรายังเลือกอยู่ว่าจะนำไปเป็นของใช้หรือฟิกเกอร์ของศิลปินส่วนแพลตฟอร์มต้องยิ่งทำให้ใช้ได้ดีขึ้น ตอนนี้เรายังต้องทำแมนวลหลังบ้านกันอยู่ สเต็ปใกล้ ๆ นี้ก็อยากจะทำให้สามารถทำงานได้สะดวกจริง ๆ” 

“ในระยะยาวเรามีความฝันว่ามันจะต้องต่อยอดไปที่ชุมชนอื่น เช่น AriAround in Nimman, AriAround in Charoenkrung หรืออะไรก็ตามที่สามารถแก้ปัญหาและสร้างความแข็งแรงในชุมชนแต่ละพื้นที่ได้ มันควรจะมีการเชื่อมต่อกันระหว่างคนทำงานโครงสร้างกับคนที่อยู่ เราหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่เราประสบเจอได้ ในระยะใกล้กึ่งยาวเหมือนเราต้องทำให้เกิดอิมแพ็กจำนวนมากจริง ๆ”

Fact File


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว