คลองชองกเยชอน ต้นแบบการฟื้นชีวิตคลองโบราณ สร้างพื้นที่แบ่งปันให้คนเมือง
Better Living

คลองชองกเยชอน ต้นแบบการฟื้นชีวิตคลองโบราณ สร้างพื้นที่แบ่งปันให้คนเมือง

Focus
  • คลองชองกเยชอน มีความยาวทั้งสิ้น 11 กิโลเมตร ทอดยาวผ่านสะพาน 22 แห่ง ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำฮันกัง
  • คลองชองกเยชอนเป็นคลองน้ำโบราณที่มีมานานก่อนสมัยราชวงศ์โชซอน หลังจากสิ้นสุดสงคราม เกาหลีใต้ก็เริ่มแผนฟื้นฟูประเทศเร่งด่วน โดยมีคลองชองกเยชอนเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาเร่งด่วน

เมื่อเอ่ยถึงโปรเจ็กต์การพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เป็นต้นแบบระดับโลก แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ คลองชองกเยชอน ( Cheonggyecheon ) ผลงานชิ้นเอกของ อี มย็อง-บัก (Lee Myung-bak) ผู้ว่าราชการกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ซึ่งฝากผลงานการพัฒนาคลองน้ำเสื่อมโทรมให้กลายเป็นคลองสวยน้ำใส และเป็นพื้นที่แบ่งปันสำหรับคนเมืองหลวง และปฏิเสธไม่ได้ว่าจากโปรเจกต์คลองชองกเยชอนนี่เองที่ส่งให้อีมย็อง-บัก ชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในเวลาต่อมา พร้อมส่งต่อแผนการพัฒนาเมืองและคลองชองกเยชอนให้ผู้ว่าฯ คนต่อมา นั่นก็คือ ปัก วอนซุน (Park Won-soon) ซึ่งไม่นานหลังจากรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ สมัยที่สอง ปักวอนซุนก็พัฒนาจากคลองสู่โครงการต่อเนื่อง “โซล เมืองแห่งการแบ่งปัน”ด้วยการไม่ทิ้งวิสัยทัศน์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าใหม่ๆ สร้างพื้นที่สาธารณะให้เพิ่มขึ้น และสร้างความรู้สึกผูกพันกันเป็นชุมชนในหมู่คนเมืองใหญ่ 

คลองชองกเยชอน

สำหรับ คลองชองกเยชอน มีความยาวทั้งสิ้น 11 กิโลเมตร ทอดยาวผ่านสะพาน 22 แห่ง ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำฮันกัง คลองแห่งนี้แม้จะถูกพัฒนาให้ดูโมเดิร์นแต่ความจริงแล้ว คลองชองกเยชอนเป็นคลองน้ำโบราณที่มีมานานก่อนสมัยราชวงศ์โชซอน (Joseon Dynasty ค.ศ.1392-1910) 

หลังจากสิ้นสุดสงครามแบ่งแยกเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ (ระหว่างปี ค.ศ. 1950-1953) เกาหลีใต้ก็เริ่มแผนฟื้นฟูประเทศและการพัฒนาเมืองหลวงก็เป็นหนึ่งในแผนเร่งด่วนนั้น โดยมีคลองชองกเยชอนเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพียงความสวยงามของเมือง ทว่ายังเพื่อเอื้้อประโยชน์แก่คุณภาพชีวิตของชาวเมืองหลวงกรุงโซล เป็นทั้งสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกาย และใช้สอยต่างๆ 

คลองชองกเยชอน

การพัฒนา คลองชองกเยชอน เริ่มดำเนินการเมื่อปี ค.ศ. 2003 ผู้รับผิดชอบคือ รัฐบาลท้องถิ่นเขตปกครองพิเศษกรุงโซล นำแนวคิดการออกแบบพื้นที่สาธารณะในชุมชนเมือง ชูความเป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ตลอดสองฝั่งคลอง ที่สำคัญคือมีการบำบัดน้ำเสียที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนานให้เป็นน้ำใสได้จริงและใสสะอาดมายาวนานถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังได้สร้างทางเดินขนาดใหญ่รองรับประชากรทุกวัย มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อผู้พิการและผู้สูงอายุ อีกทั้งยังเอื้อต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะและวัฒนธรรม มีกิจกรรมสอดรับกับการสืบสานศิลปวัฒนธรรมตลอดเส้นทาง

เมืองแห่งการแบ่งปัน ไม่ได้ทำเพียงแค่การออกแบบคลองหลักกลางเมือง แต่ทางเทศบาลต่างๆ ในกรุงโซล ยังส่งเสริมการแบ่งปันพื้นที่สาธารณะทั้งหมด เช่น เปิดอาคารบางส่วนให้ประชาชนใช้นอกเวลาทำการ ขยายเวลาให้บริการสถานที่สาธารณะบางแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรีศิลปะ และจัดงานเทศกาลที่เป็นงานแฟร์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม ตั้งแต่บริเวณหน้าชองกเยพลาซา (Cheonggye Plaza) ไปจนถึงสะพานชางทงกโย (Jangtong Bridge Area) และอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับแลนด์มาร์กยุคใหม่ของกรุงโซล อย่าง ทงแดมุน ดีไซน์ พลาซา (DDP) ที่เป็นอาคารอเนกประสงค์ สถาปัตยกรรมโดดเด่นยุคใหม่ ออกแบบโดย ซาฮา ฮาดิดสถาปนิกระดับโลก ผสมผสานพื้นที่ศิลปะและชอปปิงมอลล์

Cheonggyecheon
พิพิธภัณฑ์ชองกเยชอน (Cheonggyecheon Museum)

ต่อยอดจากการพัฒนาคลอง รัฐบาลกรุงโซลยังได้สร้าง พิพิธภัณฑ์ชองกเยชอน (Cheonggyecheon Museum) บันทึกประวัติความเป็นมาของพื้นที่รวมถึงขั้นตอนการพัฒนาคลองน้ำเน่าเป็นพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตคนเมือง พิพิธภัณฑ์ชองกเยชอน เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเมื่อปี ค.ศ. 2005

นอกจากจะเป็นสถานที่พักผ่อนของคนเกาหลี คลองชองกเยชอน ยังเป็นหมุดหมายด้านท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่มาตามรอยฉากโรแมนติกในซีรีส์เกาหลีฮิตๆ ตั้งแต่ยุคแรก โดยเฉพาะฉากจีบกันของนางเอกและพระเอก Lovers in Prague (แสดงโดย จอนโดยอนและคิมจูฮยอก) ออกอากาศครั้งแรกในเกาหลี ค.ศ.2005

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป