เช็กอิน โอโซน สามย่าน หลังปรับโรงแรมเป็นสถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19
Better Living

เช็กอิน โอโซน สามย่าน หลังปรับโรงแรมเป็นสถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19

Focus
  • โรงแรม โอโซน สามย่าน (OZONE Hotel Samyan) ได้ปรับธุรกิจเปลี่ยนโรงแรมเป็น Isolation Unit สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 หรือ Isolation Unit นอกโรงพยาบาลเป็นสถานที่สำหรับพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการดีขึ้น สามารถดูแลตัวเองได้ แต่ยังกลับบ้านไม่ได้ ยังคงต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์จนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้กลับไปใช้ชีวิตปกติ

หลังจากเปิดทำการมาเพียง 3 เดือน โรงแรมบูติกเปิดใหม่ โอโซน สามย่าน (OZONE Hotel Samyan) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ทำเลชอปปิงกลางเมืองก็ต้องพบวิกฤติโควิด-19 พร้อมกับโรงแรมอื่นๆ ในไทยและทั่วโลก แต่ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บวกด้วยความพร้อมในด้านโครงสร้างและบริการพื้นฐาน ทำให้ โอโซน สามย่าน เปลี่ยนฟังก์ชันจากโรงแรมรับนักท่องเที่ยว มาเป็น สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 หรือ Isolation Unit รับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการดีขึ้น สามารถดูแลตัวเองได้ แต่ยังกลับบ้านไม่ได้ เพื่อลดภาระของโรงพยาบาล และลดการแพร่ระบาดของเชื้อ

การตัดสินใจเปลี่ยนโรงแรมเป็น สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 ในครั้งนี้เป็นโปรเจกต์ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU)

Sarakadee Lite พร้อมด้วย ทันตแพทย์หญิงจุไรภรณ์ วิจักขณวงศ์ เจ้าของโรงแรม โอโซน สามย่าน ขอพาผู้อ่านไปอินสเป็กสถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 แห่งแรกของโรงพยาบาลจุฬาฯ อย่างละเอียดแบบชั้นต่อชั้น ห้องต่อห้อง ถึงการนำงานสาธารณสุขมาผสานเข้ากับการบริหารโรงแรม

โอโซน สามย่าน
บรรยากาศในห้องพักที่ยังคงความสะดวกสบายเหมือนเช็กอินในโรงแรม

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อ โอโซน สามย่าน ต้องเปลี่ยนเป็น สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19

เป็นธรรมดาที่เมื่อรู้ว่าจะมีผู้ป่วยโควิด-19มาพัก พนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกคนจะมีความรู้สึกกลัวและก็กังวลอยู่นิดหนึ่ง แต่เพราะเราเป็นทันตแพทย์อยู่แล้ว เลยไปศึกษาดูว่าโรคนี้เป็นอย่างไร การติดต่อเป็นอย่างไร เลยทำให้เราเชื่อมั่นว่าโรงแรมเราสามารถที่จะช่วยทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้หลังจากที่มีการติดต่อเข้ามา ตอนเริ่มคุยกับทางโรงพยาบาลจุฬาฯ เรายังไม่กล้าบอกพนักงาน เพราะกลัวเขาตื่นกลัว ก็ค่อยๆ ให้ข้อมูลโรคนี้ ให้รู้จักธรรมชาติของโรค กับวิธีการป้องกันตัวเอง พอเขาเข้าใจวิธีการต่างๆ ก็สามารถทำงานไปได้อย่างสุขใจ

จริงๆ ก่อนที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ติดต่อเข้ามาช่วงก่อนปีใหม่ถึงต้นปี 2563 ที่โรคนี้เริ่มระบาดในต่างประเทศ ทางโรงแรมก็เริ่มมีการจัดการเรื่องการป้องกันโรคในเบื้องต้นอยู่แล้วเพราะคนจีนมาพักกับเราเยอะ เราเริ่มบันทึกประวัติคนเข้าพักแบบละเอียดไม่ใช่แค่มาจากไหน แต่มีคำถามเรื่องการเดินทาง เช่น เคยไปเมืองจีนมาก่อนหรือเปล่า ติดตั้งระบบการวัดอุณหภูมิ แอลกอฮอล์ และจุดล้างมือเหล่านี้เราทำมาอยู่แล้ว

พอเราเริ่มแผนปรับโรงแรมมารับผู้พักฟื้นเราให้ผู้ชำนาญการจากโรงพยาบาลจุฬาฯ มาให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความมั่นใจ เรามีการซ้อมแล้วซ้อมอีก กลายเป็นว่าพนักงานเขาไม่ได้กังวลอย่างที่เราคาดไว้ แต่กลับดูดีใจที่ได้ทำ คือเราบอกเขาว่านี่เหมือนการทำบุญใหญ่ให้กับประเทศเรา เราถือเป็นหนึ่งในส่วนของโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ได้ช่วยคนอื่นนะ พนักงานก็น่าจะภูมิใจ

โอโซน สามย่าน
ทันตแพทย์หญิงจุไรภรณ์ วิจักขณวงศ์ เจ้าของโรงแรมโอโซน สามย่าน

การรับผู้ป่วยโควิด-19 มีเกณฑ์การเข้าพัก ระบบเช็กอินอย่างไร

ผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะเข้าพักที่นี่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการเบา สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลจุฬาฯ จะเป็นผู้คัดกรองและส่งมา ผ่านการทำสัญญายินยอมเข้าพักในสถานพักฟื้นนอกโรงพยาบาล ส่วนวิธีการเข้าพักคือต้องเช็กอินผ่านระบบเหมือนผู้เข้าพักโรงแรมทั่วไป เพื่อที่ห้องพักจะได้ถูกจองเลย เหมือนตอนเราเปิดโรงแรม ก่อนมาจะต้องโทร. มาแจ้งก่อน เพราะเราจะไม่ให้คนไข้จับต้องอะไรในพื้นที่ส่วนกลางของโรงแรมเลย

เริ่มจากรถโรงพยาบาลมาส่งตัว คนไข้มาถึงเดินเข้าห้อง เปิดประตูไว้รอใส่คีย์การ์ดไว้แล้วเขาก็ปิดประตู เข้าห้องไป เราคิดถึงขนาดว่า เขาอยู่ 7 วันจะทำอย่างไร เราถึงกับต้องมีชุดทำความสะอาดวางไว้ในห้องน้ำให้เรียบร้อย ใน 7 วันผู้ที่เข้าพักไม่ต้องออกมาเลยใช้ชีวิตอยู่ในห้องของตัวเอง

พอมาคิดถึงเรื่องอาหารว่าจะต้องทำอย่างไร เราเลยเอาโต๊ะมาวางไว้หน้าห้องแต่ละห้อง มีพนักงานทำอาหารไปวางในแต่ละช่วงเวลาผู้เข้าพักเปิดประตูมาหยิบอาหารประมาณกี่โมงเพราะหลังจากนั้นจะมีการเข้าไปทำความสะอาดส่วนทางเดินตรงกลาง สรุปคือเราวางอาหารเช้าให้ช่วง 7-8 โมงเช้า พอเสร็จปุ๊บพนักงานก็เข้าทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางทางเดินต่างๆ เที่ยงก็เป็นเวลาอาหารเที่ยง บ่ายสองโมงครึ่งให้แต่ละห้องนำถุงขยะมาวางไว้ด้านหน้า พนักงานโรงแรมก็ค่อยไปเก็บขยะจากหน้าห้องตอน14.45 น. เรามีการเช็กซ้ำจากกล้องวงจรปิดตลอดเพื่อให้แน่ใจเลยว่า แต่ละห้องรับอาหารแล้ว นำถุงขยะออกมาวางไว้ข้างหน้าห้องแล้ว และตอนบ่ายสามโมง ทางโรงพยาบาลจะส่งรถขยะมารับขยะติดเชื้อต่างๆ ไปจัดการต่อ

ที่สำคัญคือที่จุดเช็กอินเราจะไม่บอกชื่อของผู้เข้าพัก พนักงานโรงแรมและทางโรงแรมจะไม่มีสิทธิ์รู้ว่าใครบ้างที่พักอยู่ที่นี่ เราตกลงกันแล้วว่าให้พยาบาลผู้ดูแลเท่านั้นที่จะรู้ว่าใครชื่ออะไรพักห้องไหน

โอโซน สามย่าน
บรรยากาศโรงแรม โอโซน สามย่าน

ตามเงื่อนไขที่โรงพยาบาลจุฬาฯบอกว่า โรงแรมจะสามารถเป็น Isolation Unit ได้ต่อเมื่อไม่มีชุมชนคนอาศัย แต่สามย่านมีตลาดมีสถานีตำรวจ ต้องมีการประสานงานกับชุมชนอย่างไร

หลังจากที่เราคุยกันแล้ว เราเองกลัวว่าชุมชนตรงนี้จะไม่เข้าใจ ยิ่งมันมีเรื่องขยะติดเชื้อด้วย เราก็รีบโทรศัพท์ไปบอกทางทรัพย์สินจุฬาฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ให้ช่วยออกจดหมายส่งถึงลูกบ้านทั้งหมดที่อยู่ตรงนี้ เพื่อให้เขาสบายใจ เพราะเราเห็นเหมือนกันว่ามีคนมาด้อมๆ มองๆ เพราะมีรถพยาบาลจอดสแตนด์บายด้านหน้าตลอดเวลา เราออกจดหมายเวียนออกไปก่อนที่คนไข้จะมาเข้าพักจริง

การปรับโรงแรมเป็นสถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19ต้องประสานงานกับฝ่ายปกครองท้องถิ่นไหม

เราก็ถามกรมการปกครองที่อนุญาตโรงแรมเรา เขาก็บอกให้แจ้งที่เขตได้ แจ้งสำนักงานอนามัยเขตว่าโรงแรมเราร่วมมือกับโรงพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็ทำจดหมายแจ้งให้กทม.ว่าจะมีการทำงานร่วมกับโรงแรม ช่วงแรกทุกหน่วยงานกำลังสับสนว่าตัวเองต้องเป็นเจ้าภาพหรือเปล่า เราคิดว่าเราก็ทำถูกกฎหมายทุกอย่าง โดยทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็ประสานไปทางกระทรวงสาธารณสุขว่าเราจะทำแบบนี้ แล้วก็ดูเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็รองรับและดำเนินการได้

เช็คกล้องวงจรปิดอีกครั้งก่อนที่พนักงานจะไปเก็บขยะ

ต้องมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ส่วนกลางของโรงแรมไหม

เราไม่ได้เปลี่ยนโรงแรมเป็นวอร์ด (ตึกผู้ป่วยโรงพยาบาล) แต่เราใช้ห้องพักชั้น 2 และชั้น 3 ทั้งหมด เป็นห้องพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19และมีพื้นที่บางส่วนที่ปรับเป็นเหมือนออฟฟิศของพยาบาลมีห้องสวีตซึ่งเปิดเป็นห้องของผู้พักฟื้นที่มีอาการป่วยทั้งครอบครัวพักได้ 3 คน

ด้วยความที่โครงสร้างโรงแรมเราแบ่งเป็นโซนค่อนข้างดี ชั้นหนึ่งจึงแบ่งเป็นโซนของทีมพยาบาลไปเลย พยาบาลแต่ละชุดจะพักที่นี่เลย 12 ชั่วโมงก็จะมีชุดใหม่มาเปลี่ยน จะมีแค่อุปกรณ์ของพยาบาลบางส่วนที่เพิ่มเข้ามาเช่น เครื่องวัดความดัน ปรอท

ยืนยันว่าที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่เราประสานกับทางโรงพยาบาลจุฬาฯ อยู่แล้ว ถ้ามีอะไรฉุกเฉินก็เรียกให้รถพยาบาลมารับได้เลย เราจะไม่ทำอะไรที่เป็นเรื่องของการรักษา ระยะทาง 5 นาทีรถสามารถวิ่งไปถึงโรงพยาบาลแล้ว ซอร์วิสของทางโรงแรมเราให้ครบทุกอย่าง ความสะดวกสบาย อินเทอร์เน็ต ซึ่งเขาต้องอยู่ในห้องทั้งวัน จนกว่าจะเช็กเอาต์ตอนแพทย์อนุญาต

สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19
สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19
อุปกรณ์ยังชีพจากทางโรงพยาบาลและทางโรงเรียนที่เตรียมให้ผู้เข้าพักทุกคน

แปลว่าคนที่มาพักฟื้นเข้าพัก ห้ามเข้า-ออกจากห้องพักจนกว่าแพทย์จะอนุญาต

เราไม่ให้เจอใครเลยแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ ญาติเองก็เยี่ยมไม่ได้ แต่เอาของมาส่งแล้วฝากเราไว้ได้ เรากำหนดเวลาฝากของไว้เฉพาะช่วง 16.00-18.00 น. แล้วไม่ให้เข้าไปข้างในอยู่ได้แค่ข้างหน้าโรงแรม แล้วเจ้าหน้าที่จะเอาเข้าไปให้ บางครั้งเราก็ไม่มั่นใจว่าคนมาฝาก ฝากจริงไม่จริง เราจะให้คนในห้องโทรศัพท์มาบอกคนข้างล่างไว้ก่อน เดี๋ยวมีผู้ไม่ประสงค์ดีเอาอะไรมาฝากเราจะไม่ทราบ มีเรื่องความระวังตรงนี้เหมือนกันหมอก็โทร. เช็กอาการ พยาบาลก็มอนิเตอร์อยู่ชั้นล่าง จะไม่พบหน้ากันโดยตรง

ช่วงเวลาการเตรียมงานก่อนที่จะเปิดรับผู้พักฟื้นนานไหม

เราคุยกับทางโรงพยาบาลจุฬาฯ(ผศ.พญ.ยุวรีย์ พิชิตโชค รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กรและทรัพยากรบุคคล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้ริเริ่มโครงการ) มาดูสถานที่ 21 มี.ค. และตกลงวันที่ 23 มี.ค. แล้วเปิดวันที่ 26 มี.ค. ใช้เวลาแค่ 3 วัน

สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19

ในส่วนของอาหาร โรงพยาบาลจุฬาฯ หรือโรงแรมเป็นผู้จัดการโภชนาการให้ผู้พักฟื้น

ทางโรงแรมจัดให้เลย เราก็พยายามใช้ความรู้ที่มีจัดอาหารให้ มีผลัดเปลี่ยนทำให้ครบห้าหมู่แล้วทำให้เหมาะสมกับคนไข้ ช่วงแรกจนถึงตอนนี้ก็ยังมีเสิร์ฟน้ำขิงมะนาวเพื่อที่จะเพิ่มวิตามินซี ผักผลไม้มีให้ทุกวัน ในแต่ละวันมีกาแฟให้คนละแก้ว บางวันมีน้ำสมุนไพรให้ เราคิดว่าเขาอยู่ห้องทั้งวันมันคงน่าเบื่อ บางทีอาหารแถวนี้มีร้านไหนดังเราก็จะเสิร์ฟให้เขาสักสัปดาห์ละครั้ง พวกบัวลอยน้ำขิงก็มีให้ น้ำเต้าหู้เจ๊วรรณร้านดังก็ให้พนักงานไปซื้อมาเสิร์ฟ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนดูแลแขกเราจริงๆ

เราก็ดูแลให้ทุกคนก็รู้สึกว่าที่นี่เหมือนบ้าน มีบางวันที่ลูกค้าอยากกินอะไรพิเศษก็โทรศัพท์มาบอกเด็กๆ เหมือนกัน เด็กก็ทำให้อยู่ มีบางวันอยากกินชานมไข่มุกเด็กก็ทำแจกทุกห้องตามคอนเซ็ปต์ของทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่บอกว่าที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาล หลายอย่างจึงรีแลกซ์ เพื่อเตรียมให้คนป่วยกลับบ้าน พยาบาลที่ประจำในโรงแรมจึงไม่ได้ใส่ชุดพยาบาล

จากซ้าย : ผศ.พญ.ยุวรีย์ พิชิตโชค รองผู้อำนวยการ ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กรและทรัพยากรบุคคล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์,  ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ทพ.ญ จุไรภรณ์ วิจักขณวงศ์ เจ้าของโรงแรมโอโซน สามย่าน

สำหรับคนทำธุรกิจโรงแรม ถ้ามองสถานการณ์ทั้งหมดที่เจอมา คิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

เราเปิดโรงแรมมาตั้งแต่ตุลาคม 2562 กราฟจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นดีเลย มาจนถึงเดือนธันวาคม พอสัปดาห์ที่ 3-4 เราเต็มร้อยเลย ทุกห้องเต็มจนถึงช่วงตรุษจีน (ปลายมกราคม 2563) คือตอนนั้นโควิด-19 ยังระบาดอยู่ที่จีนเยอะ แต่ 30-40% ของลูกค้าเรามาจากทางยุโรป จากอังกฤษ อิตาลี สเปน เยอรมนี

ตอนแรกๆ เราก็คิดว่าคงไม่กระทบเราเยอะขนาดนี้ ไม่คิดว่าเมืองไทยจะกระทบเยอะ มาเริ่มจะเห็นผลกระทบจริงๆ ก็ตอนที่เคสผู้ติดเชื้อเยอะขึ้น เริ่มจะมีการปิดประเทศ ตอนนั้นเราก็ยังคิดว่าคงต้องปรับตัวมาทำตลาดคนไทยให้มากขึ้น เพราะช่วงศุกร์ เสาร์อาทิตย์ ยังมีคนต่างจังหวัดมาพักเหมือนกัน เราคิดว่าคงจะกลับมาลุยตลาดคนไทย

แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ที่ทุกอย่างหยุดชะงัก เราก็เลยเลือกทำโปรเจกต์กับโรงพยาบาลจุฬาฯ ระยะเวลา 6 เดือนนี้ เริ่มมีนาคม 2563 ส่วนอนาคตเราอาจจะทำเป็นสถานที่พักพิง เพราะจริงๆ มันมีลูกค้าอีกวัยหนึ่งคือผู้สูงอายุที่เราสนใจก็และคิดว่าถ้าเรารับดูแลผู้สูงอายุ และทำเลในเมือง คงเป็นการแบ่งเบาภาระของคนที่บ้าน เพราะโรงแรมเราอยู่ใกล้โรงพยาบาล และเราก็มีประสบการณ์การดูแลผู้พักฟื้นจากตอนนี้

Fact File

  • Isolation Unitต่าง จาก Quarantine คือ Quarantine สถานที่กักตัวคนที่ยังไม่ป่วย แต่อาจเสี่ยงติดเชื้อหรือเป็นพาหะ เช่น คนที่กลับมาจากต่างประเทศเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ Isolation Unit สถานที่กักแยก หรือ พักฟื้น หมายถึงสถานที่สำหรับพักพิงของคนที่ถูกวินัจฉัยแล้วว่าเป็นมีอาการโควิด-19 แต่เป็นกลุ่มอาการเบา ให้แยกตัวจากคนอื่นจนหายขาด
  • สำหรับค่าใช้จ่ายสถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นผู้เช่าเหมาห้องพักโรงแรมโอโซน สามย่าน เพื่อบริหารจัดการตามมาตรการของโรงพยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่เกณฑ์ดูแลตัวเองได้ แต่ต้องกักแยก โดยโรงพยาบาลเก็บจากคนไข้ หรือในรายที่ไม่สามารถจ่ายครอบคลุม ทางโรงพยาบาลช่วยเหลือจากกองทุนบริจาคต่างๆ ผู้มีสถานะทางการเงินไม่สามารถจ่ายได้
  • โรงแรมโอโซน สามย่าน (OZONE Hotel Samyan) ซอยจุฬาลงกรณ์ 5 ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โทร. 0-2219-3175 www.ozonehotelthailand.com

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"