ทำไมใครๆ ต้อง Save Ralph แคมเปญยุติการใช้สัตว์ทดลองในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
Better Living

ทำไมใครๆ ต้อง Save Ralph แคมเปญยุติการใช้สัตว์ทดลองในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

Focus
  • ผู้กำกับและนักแสดงฮอลลิวูด ร่วมแสดงพลังกับ Humane Society International (HSI) สร้าง Save Ralph แอนิเมชันแบบสต็อปโมชัน เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกยุติการใช้เครื่องสำอางที่ทดลองกับสัตว์
  • #SaveRalph ตั้งใจเป็นกระบอกเสียงแทนเหล่าสัตว์ทดลองที่ต้องทนทุกข์กับการทดลองผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งในปัจจุบันมีแบรนด์กว่า 2,000 แบรนด์ที่ยุติการทดลองในสัตว์แล้ว

แฮชแท็ก #SaveRalph ติดเทรนด์แทบทุกโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วหลังจากที่ภาพยนตร์แอนิเมชัน Save Ralph ถูกโพสต์ขึ้นทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ Save Ralph เล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย ถ่ายทอดเรื่องราวกระต่าย ราล์ฟ (Ralph) ที่ตาข้างหนึ่งบอด หูข้างหนึ่งไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยนอกจากเสียง อี๊… ที่ช่างน่ารำคาญ แถมที่หลังยังโดนโกนขนออกไปเล็กน้อยเผยให้เห็นผิวหนังถูกเผาจากสารเคมีนิดหน่อย เจ็บนิดหน่อยเหมือนโดนผึ้งต่อยเท่านั้นเอง

Save Ralph
กระต่าย ราล์ฟ (Ralph)

แม้ราล์ฟจะบอกว่าทุกอาการที่เขาเป็นอยู่ซึ่งเป็นผลจากการทำงานในห้องทดลองนั้นจะส่งผลให้บางครั้งเขารู้สึกเจ็บมาก แต่กระต่ายอย่างราล์ฟก็พยายามเข้าใจว่า ราล์ฟและครอบครัวกระต่ายกำลังทำภารกิจยิ่งใหญ่เพื่อมนุษย์ ด้วยเหตุผลว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่สูงส่ง มนุษย์เคยไปดวงจันทร์ ไม่เคยมีกระต่ายตัวไหนหรอกที่เคยไปยืนบนนั้น ดังนั้นราล์ฟพร้อมด้วยครอบครัวกระต่ายของเขาจึงขอทำหน้าที่เป็นเพียง สัตว์ทดลอง ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและความงามของมนุษย์เหล่านี้

Save Ralph

ทำไมต้อง #SaveRalph

Save Ralph เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันแบบสต็อปโมชันที่สั้นเพียง 4 นาที แต่บอกเลยว่าเป็น 4 นาทีที่ค่อนข้างบีบหัวใจกับเรื่องเบื้องหลังอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่หลายคนอาจจะไม่เคยได้สนใจมาก่อนว่า กว่าจะเป็นลิปสติก ยาสระผม อายไลเนอร์ ฯลฯ หนึ่งชิ้นต้องผ่านความเจ็บปวดของครอบครัวกระต่าย Ralph มาอย่างไร และนั่นจึงทำให้แคมเปญ #SaveRalph เกิดขึ้นโดย Humane Society International (HSI) ตั้งใจเป็นกระบอกเสียงแทนเหล่าสัตว์ที่ต้องทนทุกข์กับการทดลองในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

เรื่องราวของราล์ฟ เขียนบทและกำกับโดย สเปนเซอร์ ซัสเซอร์ จาก Hesher และ The Greatest Showman ส่วนผู้อำนวยการสร้างได้แก่ เจฟฟ์ เวสปาร์ จาก Voice of Parkland โดยความร่วมมือกับสตูดิโอ Arch Model และดาราฮอลีวูดในการปลุกชีวิตให้กับเจ้ากระต่ายราล์ฟ ล่าสุดมีการพากษ์เป็นภาษาโปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส และเวียดนาม พร้อมกันนี้ยังมีคำบรรยายเวอร์ชั่นภาษาต่างๆ ในเอเชีย เช่น ไทย เขมร ลาว อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

“แคมเปญนี้เป็นสัญญาณเตือนให้เราตระหนักถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์ทดลองเครื่องสำอาง ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมมือกับการยุติการทารุณกรรมนี้พร้อมกันทั่วโลก เพราะทุกวันนี้เรามีผลิตภัณฑ์ทางเลือกจำนวนมากที่เชื่อถือได้ และมีความปลอดภัยในการใช้งานโดยไม่ต้องทำการทดลองกับสัตว์ ดังนั้นจึงไม่ควรมีข้ออ้างใดๆ ที่จะต้องสร้างความทรมานให้แก่สัตว์อย่างราล์ฟ”

เจฟฟรีย์ ฟล็อคเคน ประธานกรรมการองค์การ Humane Society International กล่าวถึงการเกิดขึ้นของแคมเปญ

Save Ralph

อุตสาหกรรมเครื่องสำอางกับตัวเลขสัตว์ทดลอง

ทราบหรือไม่ว่าแม้ปัจจุบันจะมีการรณรงค์ให้ทั่วโลกยุติการใช้เครื่องสำอางที่ทดลองกับสัตว์ และมีผลบังคับใช้ห้ามทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์ใน 40 ประเทศ แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่ยังคงมีการผลิตเครื่องสำอางโดยทดลองกับสัตว์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในบางประเทศมีการหันกลับมาทดลองกับสัตว์อย่างเงียบๆ ซึ่งหมายความว่ายังมีสัตว์จำนวนมากที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตโดยไม่มีเหตุจำเป็นอย่างเงียบๆ จากการผลิตเครื่องสำอางเช่นกันเคยมีการเก็บสถิติที่น่าตกใจในปี ค.ศ. 2015 ว่ามีสัตว์ทดลองถูกใช้มากถึง 192.1 ล้านตัว * ทั้งในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง

“#SaveRalph เป็นโครงการสาธารณะระดับโลกที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนและรณรงค์ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงความทุกข์ทรมานอันเลวร้ายที่สัตว์ต้องทนในการทดสอบเครื่องสำอาง แคมเปญนี้จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้ออกกฎหมายเห็นความจำเป็นที่ต้องมีการห้ามการทดลองในสัตว์อย่างจริงจัง ไม่ควรมีสัตว์ตัวไหนต้องทนทรมานหรือตายเพื่อความงามอีกต่อไป เมื่อปี พงศ. 2562 เคยมีการสำรวจจาก Ipsos โดย Humane Society International แสดงให้เห็นว่าในอาเซียนได้มีการร่วมกันต่อต้านการทดลองกับสัตว์ในกระบวนการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งกว่า 83% เป็นเสียงจากคนไทย และโดยเฉลี่ย 87% เป็นเสียงจากผู้คนจากประเทศต่างๆ ทั่วอาเซียน”

คลอเดีย ดังถิเฟืองเถา ผู้จัดการแคมเปญ Humane Society International ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวถึงผลสำรวจล่าสุดซึ่งระบุว่า 83% ของคนไทยต่อต้านการทดลองในสัตว์

ทั้งนี้นอกจากกระต่าแล้ว ยังมีหนูตะเภา และหนูชนิดอื่นๆ ที่ถูกใช้ในการทดลองเครื่องสำอางก่อนที่จะนำมาทดสอบกับมนุษย์ เช่น การหยดส่วนผสมลงที่ดวงตา บนหู รวมทั้งการโกนขนทิ้งเพื่อหยดส่วนผสมลงไปทดสอบทางเคมีกับผิวหนัง และที่ผ่านมาก็ไม่มีสัตว์ตัวไหนเลยที่ได้รับยาแก้ปวด สุดท้ายพวกมันก็ต้องถูกฆ่าทั้งหมด

และถ้าถามว่าเพื่อความปลอดภัยในการสร้างความสวยงามแก่มนุษย์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการใช้สัตว์ทดลองมิใช่หรือ ทว่าเมื่อหันกลับมามองอุตสาหกรรมความงามนี้ให้ชัดอีกครั้งเราจะพบว่า ขณะนี้มีแบรนด์เครื่องสำอางกว่า 2,000 แบรนด์ทั่วโลกที่ยกเลิกการทดลองกับสัตว์อย่างสิ้นเชิงจนได้ชื่อเป็นเครื่องสำอางที่ปราศจากความโหดร้าย (Cruelty-free) เช่น Lush, Garnier, Dove, Herbal Essences และ H&M โดยบริษัทเหล่านี้ใช้ส่วนผสมที่ผ่านการใช้งานอย่างปลอดภัยมาแล้วร่วมกับเครื่องมือประเมินความปลอดภัยในการใช้งานที่ทันสมัยโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทดลองกับสัตว์แต่อย่างใด

สำหรับใครที่ต้องการสนับสนุนแบรนด์เครื่องสำอางที่ไม่ทดลองกับสัตว์ สามารถเช็คได้ที่ LeapingBunny.org

*หมายเหตุ: อ้างอิงจาก https://www.crueltyfreeinternational.org/why-we-do-it/facts-and-figures-animal-testing