โอลิมปิก 2020 : มากกว่ากีฬาคือการประกาศศักยภาพ สังคมสีเขียว ของญี่ปุ่น
Better Living

โอลิมปิก 2020 : มากกว่ากีฬาคือการประกาศศักยภาพ สังคมสีเขียว ของญี่ปุ่น

Focus
  • การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไม่ได้เป็นเพียงการแสดงศักยภาพด้านการกีฬา แต่ยังเป็นการประกาศถึงศักยภาพด้านต่าง ๆ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของเจ้าภาพต่อสายตาชาวโลก
  • โอลิมปิก 2020 จัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่ทางเจ้าภาพตั้งเป้าหมายชัดเจนคือการประกาศตัวเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “Be better, together – for the planet and the people”

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไม่ได้เป็นเพียงเวทีในการแสดงศักยภาพด้านการกีฬาของแต่ละประเทศเท่านั้นแต่ยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในมิติต่าง ๆ สำหรับ โอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม ค.ศ. 2021 สิ่งที่ทางเจ้าภาพตั้งเป้าหมายชัดเจนคือการเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดในการจัดงาน “Be better, together – for the planet and the people” 

Sarakadee Lite รวบรวมไฮไลต์ที่ทางประเทศเจ้าภาพชูประเด็นการสร้างสังคมสีเขียวผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น คบเพลิง เหรียญรางวัล แท่นรับรางวัล และสนามกีฬาต่าง ๆ ที่เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการใช้วัสดุรีไซเคิล 

“เหรียญรางวัล” จากขยะอิเล็กทรอนิกส์

โอลิมปิก 2020

เหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดงจำนวนกว่า 5,000 เหรียญในการแข่งขันครั้งนี้ทำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่รวบรวมจาก 1,621 ชุมชนหรือคิดเป็น 90% ของชุมชนทั้งหมดของญี่ปุ่นได้เกือบ 79,000 ตัน และโทรศัพท์มือถือเก่าจำนวน 6.21 ล้านเครื่องจากร้าน NTT Docomo ทั่วประเทศ โดยใช้เวลารวบรวมกว่า 2 ปี ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เมื่อนำมารีไซเคิลได้ทองราว 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัม และทองแดง 2,200 กิโลกรัม

“แท่นรับรางวัล” จากขยะพลาสติก 24.5 ตัน

โอลิมปิก 2020

24.5 ตัน คือปริมาณขวดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกของสินค้าอุปโภคที่ใช้แล้วซึ่งประชาชน ร้านค้า โรงเรียน องค์กรต่าง ๆ และบริษัท P&G ได้ให้การสนับสนุนในการเก็บรวบรวมในระยะเวลา 9 เดือนเพื่อนำมารีไซเคิลทำเป็นวัสดุสำหรับสร้างแท่นรับรางวัล โตโกโละ อาซาโอะ (Tokolo Asao) ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์โอลิมปิก 2020 ซึ่งเป็นรูปทรงสิบสองเหลี่ยมต่อกันเป็นฟอร์มวงกลม เป็นผู้ออกแบบแท่นรับรางวัลครั้งนี้ด้วยโดยได้อิงกับรูปแบบตราสัญลักษณ์ โอลิมปิก 2020 คือการเชื่อมโยงกันของทรงลูกบาศก์ที่แฝงความหมายถึงความสามัคคี แท่นรับรางวัลจึงเกิดจากการนำลูกบาศก์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลหลายลูกมาเรียงต่อกันโดยแต่ละลูกรับน้ำหนักได้ 1.5 กิโลกรัม

“คบเพลิง” จากอะลูมิเนียมรีไซเคิลในเหตุการณ์สึนามิ

โอลิมปิก 2020

คบเพลิงโอลิมปิก 2020 ขึ้นรูปจากแผ่นอะลูมิเนียมแผ่นเดียวด้วยเทคโนโลยีเดียวกับการผลิตรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นโดยดีไซน์ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของดอกซากุระบาน ร้อยละ 30 ของคบเพลิงเป็นอะลูมิเนียมรีไซเคิลที่เคยใช้สร้างที่พักชั่วคราวให้แก่ผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิบริเวณภูมิภาคโทโฮคุเมื่อ ค.ศ.2011 นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การแข่งขันโอลิมปิกที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในการจุดคบเพลิงเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่โรงงานในเมืองนามิเอะ จังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิและอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ 

อ่านเพิ่มเติม : ถอดรหัส คบเพลิงโอลิมปิก 2020 ที่เปลี่ยนภัยพิบัติเป็นความหวังของชาวญี่ปุ่น

“ชุดนักวิ่งคบเพลิง” จากขวด Coca-Cola

ขวดพลาสติกรีไซเคิลจากการรวบรวมของบริษัท Coca-Cola ได้นำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับการตัดชุดนักวิ่งคบเพลิง

“หมู่บ้านนักกีฬา” กล่องกระดาษรีไซเคิล

นอกจากเตียงนอนภายในห้องพักนักกีฬาที่ทำมาจากกล่องกระดาษรีไซเคิล อาคารอเนกประสงค์ หรือ Village Plaza ที่มีขนาด 5,300 ตารางเมตรภายในหมู่บ้านนักกีฬายังสร้างจากไม้แปรรูปจำนวนกว่า 40,000 ชิ้นที่ได้รับการบริจาคจากเทศบาล 63 แห่งทั่วประเทศ ไม้แต่ละชิ้นจะประทับชื่อของเทศบาลที่บริจาคเพื่อชี้ให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของไม้แต่ละชนิดของแต่ละสถานที่โดยไฮไลต์คือไม้ที่มาจากจังหวัดอิวาเตะ จังหวัดมิยางิ และจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งเป็น 3 จังหวัดในภูมิภาคโทโฮคุที่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ ค.ศ.2011 เมื่อ โอลิมปิก ปิดฉากลงและมีการรื้อถอนอาคารอเนกประสงค์ ไม้เหล่านี้จะส่งกลับคืนไปยังหน่วยงานเทศบาลที่บริจาคเพื่อนำไปใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน เช่น ทำเป็นเก้าอี้สาธารณะหรือสร้างอาคารสำหรับโรงเรียน

“สนามกีฬา” จากคอนกรีตมวลรวมรีไซเคิล

Musashino Forest Sports Plaza ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาฟันดาบและแบดมินตันใช้คอนกรีตจากมวลรวมรีไซเคิล (Recycled Aggregate Concrete) เพื่อลดปริมาณเศษวัสดุคอนกรีตจากการก่อสร้างและทดแทนวัสดุหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ รวมถึงการใช้เหล็ก กระเบื้องและพื้นไวนิลรีไซเคิล ส่วนสนาม Oi Hockey Stadium สถานที่สำหรับการแข่งขันกีฬาฮอกกี้ใช้หญ้าเทียมที่ทำมาจากวัสดุชีวภาพคือเส้นใยของอ้อยที่เหลือทิ้งจากการเกษตรซึ่งช่วยลดการใช้น้ำถึงสองในสามเมื่อเปรียบเทียบกับสนามฮอกกี้เดิมที่เคยใช้จัดการแข่งขันโอลิมปิกที่ผ่านมา นอกจากนี้วัสดุรีไซเคิลอื่น ๆ ได้นำมาใช้ในการก่อสร้างสนามอีก 5 แห่งคือ Ariake Arena, Sea Forest Waterway, Tokyo Aquatics Centre, Kasai Canoe Slalom Centre และ Yumenoshima Park Archery Field

เครดิตภาพ : ©Tokyo 2020

อ้างอิง


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ