หมอต้นไม้ หรือ รุกขกร ผู้จ่ายยาให้ “ไม้เมือง” ในป่าคอนกรีต
Better Living

หมอต้นไม้ หรือ รุกขกร ผู้จ่ายยาให้ “ไม้เมือง” ในป่าคอนกรีต

Focus

• รุกขกรหรือหมอต้นไม้เริ่มเป็นคำที่พูดถึงมากขึ้นเพื่อรักษาและดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างถูกโรคถูกวิธีท่ามกลางการขยายตัวของเมือง

• ตามธรรมชาติต้นไม้รักษาตัวเองได้ แต่หรับต้นไม้เมือง หมอต้นไม้ต้องช่วยดูแลสุขภาพของต้นไม้เพื่อความปลอดภัยต่อคนและสถานที่ด้วย

• ในประเทศไทยยังไม่มีการเรียนการสอนสาขารุกขกรรมอย่างเป็นทางการและยังไม่เป็นวิชาชีพในสารบบวิชาการป่าไม้ไทย

ด้วยเกรงว่ากิ่งก้านของต้นมะม่วงขนาดใหญ่สองต้นอายุกว่า 30 ปีที่ปลูกภายในบริเวณบ้านอาจหักโค่นได้เมื่อมีพายุฝนฟ้าคะนอง กุลยา กาศสกุล เจ้าของบริษัทประชาสัมพันธ์แห่งหนึ่งจึงติดต่อไปที่สำนักงานเขตในพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่เขตมาช่วย “เล็ม” กิ่งก้านบางส่วนออก แต่เมื่อกลับถึงบ้านในตอนเย็นเธอแทบเป็นลม เพราะต้นไม้ของเธอโดนตัดแทบเหี้ยนเหลือแต่ลำต้น

“ก่อนออกจากบ้านเราก็ย้ำว่าแค่ช่วย “เล็ม” กิ่งก้านที่มันรกๆ ออก กลับมาเห็นแทบร้องไห้ ต้นขนาดย่อมอื่นๆ เช่น ลั่นทม เข็มขาว มะลิ พุดซ้อนก็โดนตัดจนเหลือแต่ตอ ส่วนหนึ่งเราก็ผิดที่ไม่ได้อยู่คอยดูแลตลอดเพราะไม่คิดว่าเขาจะตัดซะเกลี้ยงขนาดนี้ เพื่อนมาบอกทีหลังว่าทำไมเราไม่จ้าง “รุกขกร” ที่มีความรู้ในการดูแลต้นไม้แทน เราเคยได้ยินคำนี้ แต่คิดว่าอาชีพนี้เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐไม่คิดว่ามีเอกชนรับจ้างตัดตามบ้านด้วย” 

ครูต้อ-ธราดล ทันด่วน วัย 72ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นรุกขกรรุ่นแรกของเมืองไทยกล่าวว่าหัวใจของการตัดแต่งไม่ใช่แค่ “แก้ปัญหา” แต่ต้อง “งาม” ด้วย

“ตัดถูกตำแหน่งและถูกวิธี” ครูต้อชี้นำแล้วลงรายละเอียดว่า “กิ่งที่ไม่สร้างปัญหาไม่ต้องตัด ต้นไม้โบราณในบ้านเราส่วนหนึ่งที่เสียไปเพราะตัดกิ่งผิดตำแหน่ง ตัดเหลือโคนกิ่ง ถ้าตัดถึงคอกิ่งแผลจะหายเมื่อเปลือกงอกมาหุ้มมิด แต่ถ้าเหลือโคนกิ่งยาวกิ่งนั้นจะแห้งตาย ผุเป็นโพรง”

หมอต้นไม้
ครูต้อ-ธราดลทันด่วน วัย 72 ปี รุกขกรรุ่นแรกของเมืองไทย

หมอต้นไม้ที่เข้าใจธรรมชาติและเมือง

รุกขกร หรือเรียกง่ายๆ ว่า หมอต้นไม้ (tree doctor) เริ่มเป็นคำที่มีการพูดถึงมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแต่หลายคนยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของรุกขกรมากนัก  คำนี้มาจากคำว่า arborist ที่ใช้เรียกคนใน วิชาชีพรุกขกรรม (arboriculture) ที่ว่าด้วยการดูแลจัดการต้นไม้ใหญ่ รู้จักและเข้าใจต้นไม้ รู้วิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อต้นไม้เป็นรายชนิด เข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้กับมนุษย์ที่ต้องอยู่ด้วยกันในสภาพแวดล้อมเมือง คือทำหน้าที่เหมือนหมอตรวจอาการคนไข้และรักษาให้ตรงโรค

ครูต้อคลุกคลีกับงานตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ในเมืองมากว่า 20 ปี เริ่มจากที่บ้านตัวเองในซอยเอกมัย ย่านสุขุมวิท  บ้านเพื่อน บ้านญาติ ทำแล้วได้รับเสียงชมว่าดูดีจึงเริ่มทำเป็นธุรกิจขนาดเล็ก บริการตัดแต่งต้นไม้ตามบ้านที่มีต้นไม้ใหญ่

ความเสี่ยงของ หมอต้นไม้

“ผมจบคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พอรู้เรื่องต้นไม้อยู่บ้าง ก็เอามาย่อยมาปรับใช้กับต้นไม้ในเมือง ซึ่งแม้แต่ในตำราฝรั่งก็ยังไม่ชัด อาจเพราะต้นไม้ของเขามีทรงพุ่มฉัตรแบบเดียว เขาถึงแนะนำให้สางกิ่งกระโดง ไม่ตัดยอด เพราะทรงพุ่มจะเสีย แต่ไม้เมืองร้อนตัดได้และฟอร์มก็มีหลากหลาย  ผมยังเจอต้นไม้ทรงพุ่มแปลกๆ อยู่เสมอ องค์ความรู้ของเราจึงต้องพัฒนาเอาเอง”

ครูต้อเปรียบต้นไม้เป็นเสมือน “เสื้อผ้าหน้าผม” ของเมือง

“ต้นไม้เป็นบุคลิกภาพของเมือง เป็นหน้าเป็นตาของเมือง มีประโยชน์อะไรถ้าเรามีห้างสรรพสินค้าดีๆ แต่พอออกมาข้างนอกเจอต้นไม้ห่วยๆ อยากเห็นความเจริญของเมือง เราต้องพัฒนาต้นไม้ควบคู่ไปด้วย  ต้นไม้ใน กทม. ต้องคิดตั้งแต่ปลูก  ถนนสายหนึ่งปลูกไม้ชนิดเดียวตอนออกดอกก็สวย ตอนตัดแต่งก็ง่าย ทำตัวอย่างต้นเดียวเป็นต้นแบบ จบเลยเมื่อบอกคนงานว่าต้องการเหมือนต้นนี้  เมืองนอกเขาไปไกลถึงขั้นเก็บใบมาวิจัยว่าไม้ต้นนี้ขาดอะไร  บ้านเราเอาแค่ตัดแต่งให้ดีให้ได้ก่อนเถอะ” 

“การดูแลต้นไม้เมืองไม่ใช่แค่เอามีดหรือเลื่อยมาฟันฉับเดียว แล้วบอกว่าดูแลแล้ว” บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และหัวหน้าทีมโครงการจิตอาสา หมอต้นไม้ (Tree Doctor Volunteer) กล่าวเสริม

การอยู่ร่วมกันของต้นไม้ใหญ่และเมืองขยาย

โครงการหลักที่ทีม หมอต้นไม้ ของบรรจงร่วมกับเครือข่ายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ คือการรักษาฟื้นฟูระบบรากของต้นยางขนาดสองคนโอบและอายุกว่า 100 ปี ริมถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน และต้นจามจุรีสายเชียงใหม่-สันกำแพง จากต้นยางกว่า 2,000 ต้นที่ปลูกสองข้างทางตั้งแต่ปี 2445 เมื่ออาจารย์บรรจงและคณะทำงานสำรวจเมื่อปี 2550 พบว่าช่วงต้นถนนที่อยู่ในเขตตัวเมือง ต้นยางโบราณหายไปหมดแล้วและเหลืออยู่ประมาณ 900 ต้นตลอดเส้นทาง นอกจากปัญหาศัตรูทางธรรมชาติแล้วการขยายตัวของเมืองเป็นอีกสาเหตุหลัก

การรบกวนต้นไม้ไม่ใช่แค่การขยายถนน แต่ยังหมายถึงขยะได้อีกด้วย

“ต้นไม้ถูกรบกวนจากถนนที่ขยายออก รถวิ่งผ่านเยอะ อาคารสร้างเบียดต้นไม้ ข้างบนก็มีสายพาดระโยงระยางก็ได้โจทย์ว่าต้องหารูปแบบที่เหมาะสมในการฟื้นฟู อย่างการใช้เครื่องมือเจาะพื้นให้น้ำ อาหารผ่านลงไปหารากของต้นไม้ให้ได้ เราพยายามหารูปแบบที่จะอยู่ร่วมกัน ช่วยต้นไม้ให้อยู่รอดและคนก็อยู่ได้ด้วยอย่างพึ่งพิงกัน”

“สิ่งแวดล้อมเมืองเป็นปัจจัยให้ต้นไม้อ่อนแอ ปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตหายไป ถนนกดทับ พื้นปูนร้อน การตัดแต่งไม่ถูกวิธี” อาจารย์บรรจงสรุปสภาพปัญหาแล้วเสนอทางออก “นี่เป็นเหตุที่ต้องเกิดวิชาการป่าไม้ในเมือง”

“ต้นไม้อาจถูกมองเป็นภัยของสายไฟ กิ่งโน้มก่าย ต้นเสี่ยงล้มทับสายทับเสาไฟ  แต่ไม้ต้นเดียวกันนั้นก็ให้ความร่มรื่นชื่นเย็นที่คนต้องการการตัดแต่งที่ถูกต้อง จึงเป็นจุดร่วมที่จะทำให้ต้นไม้อยู่ร่วมกับเมืองได้ ถ้าตัดแต่งอย่างถูกวิธีแม้ต้นไม้จะอยู่ผิดที่ผิดทาง หรือเลือกไม้มาปลูกผิดชนิดในตอนต้น ก็ยังช่วยให้ต้นไม้กับเสาไฟพออยู่ร่วมกันได้”

ต้นไม้และสายไฟอีกปัญหาใหญ่ของป่าในเมือง

ตามสถานที่เก่าแก่ในชุมชน เฉพาะในตัวเมืองเชียงใหม่ อาจารย์บรรจงระบุตัวเลขว่ายังมีต้นไม้ใหญ่อยู่หลักหมื่นต้น แค่ภายในแนวคูเมืองเก่ามีประมาณ 3,000-4,000 ต้น และที่ผ่านกระบวนการดูแลของ หมอต้นไม้ ราว 2,000-3,000 ต้น

“การทำงานของเรามีสามขั้นตอน คือ สำรวจ ขึ้นทะเบียน บันทึกที่อยู่ จากนั้นก็วินิจฉัยหาวิธีจัดการรักษา”อาจารย์บรรจงเล่าพลางใช้เครื่องมือแกะเขี่ยเศษดินเศษไม้ออกจากปากแผลที่โคนกิ่งต้นการบูรบริเวณถนนเลียบคูเมืองเชียงใหม่ บางต้นโคนกลวงกลางเป็นโพรงใหญ่ ให้คนมักง่ายที่เดินผ่านไปมาเที่ยวหย่อนเศษขยะใส่ไว้ หมอต้นไม้ แคะคุ้ยออกจนโพรงไม้สะอาดกับได้ขยะกองโต

“โดนปลวกกิน เนื้อไม้แห้ง ต้องเอาออกและอุดโพรงแผล  แผลไม้มีหลายลักษณะ ถ้าเป็นด้านข้างก็ไม่ค่อยเป็นไร แต่ถ้าแผลหงายน้ำขังจะเป็นเหตุให้ต้นเน่า ต้องอุดปากแผล” อาจารย์บรรจงพูดพลางหย่อนเศษโฟมที่ย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยรวมลงในถังพลาสติก แล้วเทน้ำยาเคมีเหลวตามลงไป ใช้ไม้กวนสักพัก เนื้อโฟมคลุกเคล้ากับน้ำหลอมละลาย เหนียวหนืดพองฟูขึ้นมาเหมือนก้อนฟองน้ำ

หมอต้นไม้

ขั้นตอนการรักษาบาดแผลให้ต้นไม้เมือง

“เมื่อก่อนจะใช้ซีเมนต์อุด แต่ปูนมันอมความร้อน เลยเปลี่ยนมาใช้โพลียูรีเทนโฟม” เขาพูดพลางเทเนื้อโฟมที่พองฟูคล้ายฟองน้ำลงในโพรงไม้ซึ่งต้องแม่นยำและทันเวลา เพราะเนื้อโฟมที่หลอมละลายนั้นจะแปรสภาพเป็นก้อนโฟมแข็งในเวลารวดเร็ว ส่วนที่ย้อยยื่นพ้นปากแผลออกมาจะได้รับการปาดแต่งให้เรียบเข้ารูปแล้วทาสีให้ดูกลมกลืนกับเปลือกไม้

“ธรรมชาติของต้นไม้รักษาตัวเองได้ แต่การที่เราช่วยอุดโพรงก็เหมือนกับสร้างสะพานให้เปลือกไม้หุ้มปิดปากแผลได้ง่ายขึ้น”

งานประณีตผสมแอดเวนเจอร์

งานของหมอต้นไม้เป็นงานประณีตบรรจงและต้องมีความรู้ทางพฤกษศาสตร์และเข้าใจสภาพแวดล้อมของสังคมปัจจุบันด้วย  ทีมงานหลักของอาจารย์บรรจงคือนักศึกษาและอาสาสมัครที่รักต้นไม้และมีจิตสาธารณะ 

ทักษะทางด้านแอดเวนเจอร์ (adventure) เพื่อปีนป่ายต้นไม้สูงใหญ่ก็สำคัญ หนุ่ย หรือ วีรยุทธ เงินชุ่ม เป็นหนึ่งในอาสาสมัครแนวแอดเวนเจอร์ ในชุดสีส้มสดที่ไต่ตามเส้นเชือกขึ้นสู่ยอดไม้ โหนตัวไต่สู่กิ่งนั้นกิ่งนี้ตามเป้าหมายของการตัดแต่งต้นยางนาริมถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน  หนุ่ยกับเพื่อนร่วมทีมแอดเวนเจอร์ มีพื้นฐานปีนหน้าผามาก่อนจนมารู้จักกับอาจารย์บรรจงก็ได้รับการชักชวนให้มาปีนต้นไม้ดูบ้างโดยศึกษาเพิ่มเติมเรื่องต้นไม้ก่อนปีนขึ้นไปตัดแต่งกิ่งและซ่อมต้นไม้

หมอต้นไม้
ทีมแอดเวนเจอร์ที่ร่วมงานอาสาสมัครดูแลต้นไม้

ทีมแอดเวนเจอร์ต้องมีอย่างน้อยสามคน หนุ่มผู้เพิ่งชนะในรายการ “Thailand Tree Climbing Championship 2018” อธิบายพลางหยิบเครื่องมือชิ้นแรกที่ต้องใช้ในการทำงานออกมาจากกล่อง เป็นง่ามเหล็กคล้ายง่ามหนังสติ๊กต่อด้ามสามท่อน ซึ่งเมื่อประกอบกันแล้วสูงเสมอหัว มีรังและยางยืดสำหรับยิงบอลนำเชือกขึ้นไปคล้องคาคบไม้ เลือกกิ่งที่เป็นเป้าหมายได้แล้ว ก็เล็งยิงบอลนำเชือกไนลอนเส้นเล็กขึ้นไปพาดกิ่งนั้นให้ได้ 

พอยิงเชือกเล็กผ่านคาคบกิ่งที่ต้องการได้แล้วก็ผูกปลายเชือกปีนลากขึ้นไปพาดคล้องห้อยลงมาเป็นสองทบ ผูกปลายเชือกด้านหนึ่งไว้ให้มั่นคง เพื่ออีกด้านรุกขกรจะใช้ไต่ขึ้นไปทำงานได้อย่างมั่นใจ โดยมีอุปกรณ์ความปลอดภัยอีกครบครันนอกจากหมวกนิรภัยและการแต่งกายที่รัดกุม ห่วงนั่งหรือฮาร์เนส (harness) ที่สวมผ่านสองขาและรัดรั้งรอบเอว ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอีกชิ้น  รุกขกรจะนั่งบนห่วงฮาร์เนสเกือบตลอดเวลาที่ทำงานอยู่บนต้นไม้

การไต่เส้นเชือกขึ้นสู่ยอดไม้ตามแนวดิ่งมี กรีกรี (grigri) ช่วยผ่อนแรง ย่อ งอเข่า เหยียดขา ยืดตัวขึ้นไปทีละช่วงตัวเหมือนการกระดืบตัวของหนอนพร้อมกับแบกอุปกรณ์มากมายทั้งขดเชือกสำหรับผูกรั้งตัวเองไว้กับต้นไม้ตอนทำงานตัดแต่ง เชือกเส้นยาวสำหรับโยงรั้งกิ่งที่จะตัดให้ดีดออกไปในทิศทางที่ต้องการ มีด เลื่อยมือ และที่มีน้ำหนักมากสุดคือเลื่อยยนต์ที่ผูกห้อยไว้กับเอว

“คนขึ้นตัดแต่งต้องมีพื้นฐานเรื่องเทคนิคการปีนด้วยเชือก การหย่อนโรยตัว รู้พื้นฐานเรื่องเชือก การผูกเงื่อน คำนวณน้ำหนักกิ่ง ทิศทางการตัดกิ่งและการเอากิ่งลง และรู้ทางหลบหลีก รู้ทางหนีทีไล่ว่ากิ่งไม้ที่ถูกตัดขาดจะพุ่งไปทางไหน รวมถึงการคำนวณว่าจะหย่อนกิ่งลงทางแนวขวางหรือแนวตั้ง ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดจุดผูกเชือก”

วิชาและอาชีพที่ยังรอการสนับสนุน

อาจารย์บรรจงผู้ได้รับรางวัลประเภทบุคคลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ภาคเหนือ ด้านสภาพแวดล้อมสร้างสรรค์ จากสมาคมสถาปนิกล้านนา ในงานสถาปนิกล้านนา 2557เล่าประสบการณ์ที่ได้เห็นการทำงานของรุกขกรที่ประเทศญี่ปุ่นว่า 

“เขามีวิชาชีพเฉพาะทางด้านนี้ เขาเอาจริงมาก ฤดูหนาวนี่ห่มผ้าให้ต้นไม้ ต้นที่เอียงตอกหมุดยึด โคนมีวัสดุรองพื้นซึ่งน้ำสามารถซึมผ่านได้ เขาคิดหมดทุกอย่าง ตัดแต่งกิ่งทำเป็นทีม แม้แค่กิ่งเล็กกิ่งน้อยเขาเล็งแล้วเล็งอีกกว่าจะตัดโดยมีการถ่ายภาพไว้เปรียบเทียบก่อนและหลังการตัดแต่ง เป็นอาชีพหนึ่งที่คนทำมีรายได้ด้วย”

อุปกรณ์พื้นฐานของบรรดาหมอต้นไม้

อาจารย์จึงเริ่มจับมือกับ “เชียงใหม่ เขียว สวย หอม” องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่จัดอบรมให้ความรู้เรื่องเทคนิควิธีการ และขอความร่วมมือกับบริษัทเอกชนในเรื่องงบประมาณ ทั้งยังพยายามผลักดันให้เกิดหลักสูตรการป่าไม้ในเมืองในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย

สำหรับครูต้อนั้นนอกจากบรรยายให้ความรู้ตามคำเชิญขององค์กร หน่วยงานต่างๆ เขายังรับบัณฑิตสายเกษตรป่าไม้มาทำงานอยู่ด้วยจนชำนาญออกไปตั้งบริษัทของตัวเองได้  ครูยังร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กลุ่มบิ๊กทรี สร้างหลักสูตรคนดูแลต้นไม้ และยังเขียนหนังสือ สนุกกับต้นไม้ใหญ่

กระนั้นครูต้อยืนยันอยู่เสมอว่า ตัวเขาไม่ใช่รุกขกร เป็นแค่คนรับจ้างตัดแต่งต้นไม้

“ในอเมริกาแต่ละภูมิภาคเขาจะมีอาร์บอริสต์ (arborist) กลุ่มหนึ่ง แต่ต้นไม้เมืองไทยหลากหลายกว่าเมืองนอกหลายเท่ามากจนผมยังไม่รู้จักต้นไม้ดีพอ มีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ การไม่รู้นิสัยไม่รู้ความต้องการ ทำให้เราปฏิบัติต่อเขาได้ไม่เต็มที่ คนจะเป็นรุกขกรต้องรู้อะไรอีกเยอะ ผมถึงบอกว่าผมแค่คนรับจ้างตัดกิ่งไม้”

ต้นเรื่อง: นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 379 เดือนกันยายน 2559

Fact File

รู้จักหมอต้นไม้มากยิ่งขึ้นคลิก

  • Facebook : หมอต้นไม้ 
  • Facebook : BigTrees