10 ประเด็น วิกฤติแพทย์ด่านหน้า ปัญหาที่รัฐบาลต้องฟัง!
Better Living

10 ประเด็น วิกฤติแพทย์ด่านหน้า ปัญหาที่รัฐบาลต้องฟัง!

Focus
  • วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในกลางปี 2564 คือ วิกฤติแพทย์ด่านหน้า โดยในส่วนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 จากการระบาดรอบล่าสุดแล้วประมาณ 60 คน
  • ตอนนี้สิ่งที่แพทย์ด้านหน้าอยากฝากไปถึงรัฐบาล คือ ความชัดเจนในนโยบายไม่ว่าจะเป็นแผนวัคซีนทั้งของประชาชนและของบุคลากรการแพทย์ แนวทางการดูแลผู้ป่วย การจัดการ Home Isolation

จากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ท่ามกลางมาตรการเข้มงวดจากรัฐบาลรอบแล้วรอบเล่า สิ่งนี้สะท้อนถึง วิกฤติด้านสาธารณะสุขไทยที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งย่อมรวมถึง วิกฤติแพทย์ด่านหน้า กับปัญหาที่กำลังถาโถมไปสู่ทีมบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งนอกจากจะต้องดูแลผู้ป่วยด้วยความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 แล้ว แพทย์ด่านหน้าเหล่านี้ยังต้องแบ่งกำลังบางส่วนไปฉีดวัคซีน ให้บริการด้านการตรวจคัดกรอง และทำการบริหารทรัพยากรการแพทย์ทั้งหมดที่มีอยู่ในมือ

Sarakadee Lite ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งขอเป็นตัวแทนส่งเสียงสะท้อนจากแพทย์ด่านหน้าที่ประจำอยู่หน้างานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไปถึงรัฐบาล กับปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข และการจัดการอย่างเป็นระบบที่ต้องทำอย่างทันท่วงที

วิกฤติแพทย์ด่านหน้า
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

1. บุคลากรทางการแพทย์ทยอยติดโควิด-19 : ขณะนี้ปัญหาที่วิกฤติไม่น้อยไปกว่าการติดเชื้อของประชาชนคือ วิกฤติแพทย์ด่านหน้า เริ่มจากการที่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลทยอยติดเชื้อโควิด-19 โดยในส่วนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 จากการระบาดรอบล่าสุดแล้วประมาณ 60 คน โดย 90 เปอร์เซ็นต์ติดมาจากชุมชนที่พักอาศัยและครอบครัว ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ติดจากผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีอายุน้อย และฉีดวัคซีนซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว จึงทำให้อาการป่วยส่วนใหญ่ไม่หนักถึงกับต้องเข้าห้องไอซียู แต่ก็ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่

2. งานดูแลผู้ป่วยที่ลดไม่ได้ : การติดเชื้อโควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์รอบนี้มีผลโดยตรงต่อการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพราะคนที่ติดส่วนใหญ่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด แต่ในสถานการณ์จริงโรงพยาบาลไม่สามารถลดงานการดูแลผู้ป่วยได้ ซึ่งตอนนี้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติรองรับผู้ป่วยอยู่ที่ประมาณ 70-80 เตียง ในโรงพยาบาลหลัก ส่วนโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยที่อยู่ 300 เตียง

3. ทางเลือกโฮม Home Isolation : สำหรับการแก้ไขสถานการณ์ตอนนี้ทางโรงพยาบาลได้พยายามประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงรักษาตัวเองที่บ้าน โดยเข้าตามระบบโฮมไอโซเลชัน (Home Isolation) เพราะถ้าเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลทั้งหมดกำลังบุคลากรทางการแพทย์ที่จะรองรับมีไม่เพียงพอซึ่งจากสถิติพบว่าในผู้ป่วย 100 คน มีผู้ป่วยขั้นวิกฤติอยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ป่วยที่รักษาตัวเองที่บ้านได้มี 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยลดความแออัด และลดการแพร่ระบาดมาสู่บุคลากรทางการแพทย์ได้

4. แผนที่ชัดเจน ทำได้จริง : ตอนนี้สิ่งที่ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม อยากฝากไปถึงรัฐบาล คือ ความชัดเจนในนโยบายรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งต้องประกาศออกมาชัดเจน เช่น คนที่มีอาการหนักแพทย์จะนำเข้าระบบเพื่อดูอาการ และให้มารักษาที่โรงพยาบาลเป็นราย ๆ ไป แต่ตอนนี้ภาพที่เห็นคือผู้ป่วยวิ่งหาเตียงกันอย่างโกลาหล ซึ่งนี่เป็นการรับรู้ตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ในรอบแรกว่า เมื่อเป็นแล้วต้องมารักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ในสภาวะตอนนี้ที่มีผู้ป่วยมากเกินกว่าที่โรงพยาบาลจะรับไหว ถ้าทุกเคสมานอนโรงพยาบาลหมด ผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤติจะเสียโอกาสในการรักษา ดังนั้นการประกาศระบบโฮมไอโซเลชันจึงต้องมีความชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่และผู้ป่วยต้องเข้าถึงระบบนี้ได้จริง

5.วิกฤติห้องไอซียู : สิ่งที่ตามมาจากวิกฤติผู่ป่วยล้นโรงพยาบาลคือ วิกฤติห้องไอซียู ผู้ป่วยหลายรายต้องรักษาแบบประคับประคอง หรือ เป็นการรักษาในลักษณะผู้ป่วยระยะสุดท้าย เนื่องจากไม่สามารถนำผู้ป่วยทุกคนเข้าไปรักษาในห้องไอซียูได้หมด เช่น มีผู้ป่วยอายุเกิน 60 ปี อยู่ 10 คน แต่ห้องผู้ป่วยไอซียู ที่มีเครื่องช่วยหายใจอยู่แค่ 6 ห้อง นี่ยังไม่รวมผู้ป่วยที่มีอายุน้อย แต่มีภาวะของโรครุนแรงที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นจึงต้องใช้กระบวนการรักษาแบบประคับประคองมาช่วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านจิตใจต่อบุคลากรทางการแพทย์และญาติผู้ป่วย

6. ปัญหาแผนวัคซีนที่ไม่แน่นอน : อย่างที่กล่าวไว้ว่าแพทย์ด่านหน้า นอกจากการดูแลคนไข้ปกติ คนไข้โควิด-19 แล้ว ยังต้องมีส่วนหนึ่งมาทำงานบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชน แต่ล่าสุดหลังจากที่รัฐบาลประกาศอนุมัติการใช้แผนการฉีดวัคซีนใหม่ โดยให้ฉีดวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค 1 เข็ม และสลับมาเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเข็ม 2 สิ่งที่เกิดมาทันทีคือปัญหาในด้านการบริหารจัดการ เพราะนโยบายรัฐบาลประกาศออกมา แต่ตัวแผนการในการรับวัคซีน หรือปริมาณวัคซีนที่จะได้รับยังไม่มีการประกาศออกมาชัดเจนจากรัฐบาล สิ่งนี้ทำให้กระบวนการจัดการหน้างานมีปัญหา เพราะเมื่อรัฐบาลประกาศออกมาทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งก่อนหน้านี้ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 1 เข็ม เมื่อมาฉีดเข็มที่ 2 ในช่วงที่รัฐบาลประกาศแผนใหม่ที่ออกมา ก็มีความประสงค์จะรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามสูตรผสมที่รัฐบาลประกาศ แต่เนื่องจากเป็นการประกาศแผนวัคซีนแบบกะทันหัน ทางโรงพยาบาลจึงไม่ได้มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เพียงพอฉีดให้ตามแผนฟ้าผ่าของรัฐบาลได้ โดยเฉพาะคนที่มารับวัคซีนในกลางเดือนไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2564

7.ความกังวลในการจัดการวัคซีนสูตรสลับ : การเปลี่ยนมาใช้วัคซีนสูตรสลับระหว่างซีโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้าในทุกกลุ่มช่วงอายุ ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มผู้สูงวัยและ 7 โรคเสี่ยง ทำให้ประชาชนหลายคนเริ่มมีความกังวล และมีการเรียกร้องกับแพทย์ประจำหน้างาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ตอนเริ่มลงทะเบียนได้รับการยืนยันได้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่พอมาเปลี่ยนสูตรการฉีดวัคซีนแบบผสมกะทันหัน จึงทำให้เกิดปัญหาการจัดการวัคซีนหน้างาน อีกทั้งเรื่องการร้องเรียนต่าง ๆ นั้นแพทย์ประจำหน้างานต้องเป็นผู้รับไว้ทั้งหมด ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลประกาศให้ชัดเจนถึงปริมาณวัคซีน ระยะเวลาที่จะจัดสรร รวมถึงวันที่เริ่มต้นฉีด เพื่อจะวางแผนวัคซีนให้เพียงพอเหมาะสมกับระยะเวลาที่กำหนด โดยรัฐบาลควรฉีดแอสตร้าเซนเนก้าสูตรเดิมให้เสร็จสิ้นตามโควตาจนถึงสิ้นเดือนนี้ก่อน แล้วค่อยมีการกำหนดการฉีดสูตรผสมแบบใหม่ในเดือนถัดไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องประกาศให้ชัดเจน ชี้แจงให้ได้ว่า วัคซีนที่จะเข้ามาเพียงพอกับการฉีดแบบผสมผสานหรือไม่อย่างไร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อแพทย์และผู้บริหารจัดการหน้างาน

8.แผนงานที่ไม่เอื้อต่อผู้ปฏิบัติ : ผลกระทบของการประกาศวัคซีนสูตรสลับนั้นพบว่าประชาชนส่วนหนึ่งมีความกังวลกับการฉีดวัคซีนแบบสลับยี่ห้อ บางคนจึงไม่ยินยอมและปฏิเสธการฉีดที่หน้างาน โดยการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลจะต้องฉีดให้ประชาชนวันละ 2,000-2,500 คน ดังนั้นจึงกระทบอย่างเป็นลูกโซ่ทั้งต่อผู้ที่เข้ามารับการฉีด การวางแผนที่หน้างาน โดยหลายปัญหาก็เกินกว่าความสามารถที่บุคลากรทางการแพทย์หน้างานจะแก้ไขได้

9.ความชัดเจนในแผนวัคซีนของแพทย์ด่านหน้า :นอกจากแผนงานการบริหารวัคซีนสำหรับประชาชนแล้ว แผนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก็ยังคงเต็มไปด้วยปัญหาโดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม กล่าวว่าทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ถือว่าโชคดีกว่าที่อื่น ๆ ที่มีวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ได้รับการจัดสรรอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ก็เปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์เลือกว่าวัคซีนเข็มที่ 3 จะฉีดของแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ที่มีการเร่งจัดสรรเข้ามาเช่นเดียวกับวัคซีนโมเดอร์นาที่คาดว่าจะเข้ามาในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2564

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่คาดหวังจะฉีดวัคซีนชนิด mRNA เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ก็ยังมีความกังวลว่าหากยังไม่มีกำหนดการนำวัคซีนเข้ามาอย่างแน่ชัดรวมทั้งจำนวนที่นำเข้ามาชัดเจน จะเป็นปัญหาต่อการตัดสินใจของบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งนี้อย่างมาก

10. การจัดสรรวัคซีนที่ สอบตก ของรัฐบาล :ในฐานะที่รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดมทำงานอยู่กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจึงขอใช้พื้นที่นี้ส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลพูดเรื่องการจัดสรรวัคซีน ด้วยความจริง มีความชัดเจน โดยเฉพาะยี่ห้อวัคซีนที่ได้รับ ระยะเวลา ปริมาณที่แน่นอน และต้องมีการแจ้งที่ชัดเจนทุกครั้ง เพราะมีผลต่อการจัดการในระดับหน้างาน กระบวนการจัดการวัคซีนของรัฐบาลตอนนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม ถือว่า “สอบตก” เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีความชัดเจน ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนครั้งใหญ่เมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นมาจนถึงตอนนี้เป็นเวลากว่าเดือนเศษ

อ้างอิง

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite