10 ข้อควรรู้ อะไรคือ ซีเซียม-137 อันตรายแค่ไหน พร้อมแนวทางการป้องกัน
Better Living

10 ข้อควรรู้ อะไรคือ ซีเซียม-137 อันตรายแค่ไหน พร้อมแนวทางการป้องกัน

Focus
  • วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ได้สูญหายในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566
  • ซีเซียม-137 หรือชื่อภาษาอังกฤษ Cesium-137, Cs-137 เป็นสารกัมมันตภาพรังสี มีลักษณะเป็นของแข็ง คล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายได้เมื่อแตกออกจากวัสดุที่ห่อหุ้มไว้

ซีเซียม-137 คำนี้ได้กลายเป็นคำค้นหาติดท็อปเสิร์ชของประเทศไทยหลังกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ได้สูญหายในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566 โดยวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ดังกล่าวมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยท่อเหล็กกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 6 นิ้ว ความยาว ประมาณ 8-9 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม

วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่หายไป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้แถลงข่าวว่าได้ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ไอโซโทปรังสีในการตรวจสอบ เพื่อใช้สำรวจปริมาณรังสีและวิเคราะห์ชนิดของสารกัมมันตรังสีในในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้วในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 5 แห่ง ในรัศมี 10 กิโลเมตร ผลการตรวจสอบพบว่ามีโรงงานแห่งหนึ่งมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะที่ได้จากผลิตโลหะ ซึ่งการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นแดงเกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิลที่มีการปะปนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอมโลหะ และซีเซียม-137 เมื่อถูกหลอมจะระเหยกลายเป็นไอกระจายอยู่ในเตาหลอม ทำให้ซีเซียม-137 จะปนเปื้อนไปอยู่ในฝุ่นโลหะที่ได้ ซึ่งก็ทำให้เกิดข้อกังวลในภาคส่วนประชาชนตามมาว่าจะมีการฟุ้งกระจายของซีเซียม-137 ออกสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนหรือไม่ เพราะถ้าย้อนไปในเหตุการณ์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl nuclear power plant) ระเบิดก็ทำให้มีการรั่วไหลของสารซีเซียม-137 ตกค้างอยู่ในระบบนิเวศเป็นระยะเวลานานเช่นกัน

Sarakadee Lite ชวนไปทำความรู้จักกับ ซีเซียม-137 กันสักนิดว่าคืออะไร และน่ากังวลขนาดไหนต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ซีเซียม-137
ตัวอย่างสัญลักษณ์เตือนภัยจากรังสี

01 อะไรคือซีเซียม-137 : ซีเซียม-137 หรือชื่อภาษาอังกฤษ Cesium-137, Cs-137 เป็นสารกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) 

02 ลักษณะทางกายภาย : มีลักษณะเป็นของแข็ง คล้ายผงเกลือ มีลักษณะเป็นโลหะอ่อนมากสีทองเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่มักจะจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก ปล่อยรังสีเบต้า และแกมม่า สามารถฟุ้งกระจายได้เมื่อแตกออกจากวัสดุที่ห่อหุ้มไว้

03 ค่าครึ่งชีวิต : 30.08 ปี

04 กลไกการสลายตัว: แบบบีตา สลายตัวให้รังสีบีตาและแกมมา แล้วกลายสภาพไปเป็นธาตุแบเรียม-137 (Ba-137)

05 การใช้งาน : ซีเซียม-137 ถูกนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ในอุปกรณ์วัดความชื้น วัดอัตราการไหลของเหลว วัดความหนาวัสดุ ใช้ในโรงงาน นอกจากนี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ในการรักษามะเร็ง

06 การรับเข้าสู่ร่างกาย : ด้วยซีเซียม-137 มีลักษณะเป็นของแข็ง สภาพคล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายและปนเปื้อนได้ง่ายหากแตกออกจากแคปซูลหรือวัสดุที่ห่อหุ้มไว้ คนทั่วไปอาจได้รับซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล การหายใจ หรือรับประทานน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนผงซีเซียม-137 เข้าไป และเมื่อซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกายจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อน (SOFT TISSUE) ของอวัยวะต่าง ๆ และแผ่รังสีให้แก่อวัยวะเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ของอวัยวะที่ซีเซียม-137 นั้นเข้าไปสะสมอยู่

07 อันตราย : การได้รับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากซีเซียม-137 เป็นระยะเวลาสั้น ๆ จะไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายที่เห็นผลชัดเจนในทันที แต่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเกิดโรคมะเร็งได้ ในกรณีหากได้รับปริมาณรังสีต่อเนื่องเป็นระยะ เวลานานก็อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ผิวหนังแสบร้อนและมีผื่นแดงคล้ายน้ำร้อนลวกหรือโดนไฟไหม้ หรืออาจมีอาการคลื่นเหียนอาเจียนได้ถ้าหากได้รับปริมาณรังสีที่สูงมากพอ ทั้งนี้ในกรณีสัมผัสปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อระบบเลือด กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้

08 หากสัมผัสซีเซียม-137 ต้องทำอย่างไร : ข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัส ซีเซียม-137 คือต้องพยายามลดการปนเปื้อนให้มากที่สุด เช่น ล้างตาให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตาด้วยน้ำสะอาด ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าและนำเสื้อผ้าใส่ถุงปิดปากให้สนิทเพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรีงสีหรือไม่จากนั้นจึงรีบพบแพทย์ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะสัมผัสซีเซียม-137 แนะนำให้สังเกตอาการว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลวมากเกินกว่า 2 ครั้ง มีไข้ หนาวสั่น ชักเกร็ง มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่งภายในหนึ่งสัปดาห์หลังโดนรังสี หรือมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน

ซีเซียม-137
สัญลักษณ์เตือนภัยจากรังสี ที่ติดอยู่บนวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่หายไป

09 สัญลักษณ์วัสดุกัมมันตรังสี : วัสดุกัมมันตรังสีอย่าง ซีเซียม-137 จัดเป็นวัตถุอันตรายประเภทหนึ่งที่สังเกตได้ยากเพราะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการติดป้ายสัญลักษณ์ให้รู้ว่าเป็นวัสดุกัมมันตรังสีหรือบริเวณที่มีการใช้งานวัสดุกัมมันตรังสี หรือติดอยู่บนยานพาหนะสำหรับขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี เรียกป้ายนี้ว่า Radiation warning symbol หรือ สัญลักษณ์เตือนภัยจากรังสี เป็นสัญลักษณ์สากลรูปใบพัด 3 แฉก ดังนั้นหากพบวัสดุหรือเขตพื้นที่ที่มีสัญลักษณ์คล้ายใบพัดสามใบ สามแฉก ติดอยู่ ให้รู้ไว้ว่านั่นคือ สัญลักษณ์เตือนภัยจากรังสี ซึ่งส่วนใหญ่จะติดอยู่กับวัสดุนั้นๆ หรือบริเวณที่มีรังสี ทั้งนี้สัญลักษณ์เตือนภัยจากรังสีส่วนใหญ่จะเป็นพื้นสีเหลือง ส่วนตัวสัญลักษณ์ใบพัดเป็นสีดำ แดง หรือม่วง เพื่อให้เห็นเด่นชัด บางป้ายจะมีระดับรังสีที่ระยะ 1 เมตรระบุไว้ด้วย ซึ่งระดับรังสีที่น้อยที่สุดป้ายจะเป็นสีขาว ส่วนถ้าป้ายสีเหลืองก็จะเป็นระดับรังสีที่มากขึ้น เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามหากเราไม่เข้าใจตัวอักษรที่กำกับไว้ ก็ให้ดูสัญลัษณ์คล้ายใบพัดสามแฉกไว้ก็เพียงพอ

10 หากพบวัตถุต้องสงสัย : หากพบวัตถุต้องสงสัยว่าจะเป็นวัสดุกัมมันตรังสี สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ หรือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยสายด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โทร.1296

Fact File

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ทาง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้สรุปเหตุการณ์วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 สูญหายว่า ฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 มีการปนเปื้อนในบริเวณที่จำกัด และถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ทำให้เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สู่สิ่งแวดล้อม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite