คลุกวงใน “ยูโอบี” กับภารกิจด้านศิลปะที่เติบโตพร้อมสังคมกว่า 11 ปี
Better Living

คลุกวงใน “ยูโอบี” กับภารกิจด้านศิลปะที่เติบโตพร้อมสังคมกว่า 11 ปี

Focus
  • การประกวดจิตรกรรมยูโอบี (UOB Painting of the Year) นับเป็นหนึ่งในการประกวดงานศิลปะที่ยาวนานที่สุดในประเทศสิงคโปร์เริ่มจัดการประกวดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525
  • สำหรับประเทศไทยกิจกรรมประกวดจิตรกรรมยูโอบี ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 11 ปี พร้อมกิจกรรมส่งเสริมศิลปะด้านอื่นๆ โดยผู้ชนะจากประเทศไทย จะได้ไปประกวดในเวทีระดับภูมิภาค และแสดงงานที่ประเทศสิงคโปร์

“ในสังคมที่เจริญเติบโตรุ่งเรือง ศิลปะก็เจริญเติบโตรุ่งเรืองด้วย แม้แต่ในสังคมยุคมืด ศิลปะก็ยังคงอยู่ แต่อาจจะออกมาในด้านที่มืดมนเช่นเดียวกับสังคมในช่วงนั้นๆ”

ว่ากันว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” ดังนั้นภารกิจด้านการส่งเสริมศิลปะสู่สังคมจึงกลายมาเป็นหัวใจหลักของเครือธนาคารยูโอบี สำหรับในประเทศไทยนั้นกิจกรรม ประกวดจิตรกรรมยูโอบี (UOB Painting of the Year) ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 11 ปี โดยมีจุดเริ่มจริงๆ คือ ธนาคารยูโอบี สาขาสิงคโปร์ซึ่งได้ริเริ่มการประกวดงานจิตรกรรมมาตั้งแต่ พ.ศ.2525 นับเป็นหนึ่งในการประกวดงานศิลปะที่ยาวนานที่สุดในประเทศสิงคโปร์

สังคมที่ยั่งยืน คือสังคมที่หัวใจได้เติบโต

“เรามีความเชื่อว่าถ้าองค์กรใดจะโตอย่างยั่งยืน องค์กรนั้นจะโตด้วยตัวเองโดยไม่สนใจสังคมรอบข้างไม่ได้ ด้วยพื้นฐานแนวคิดแบบนี้ เราจึงต้องสนใจสภาพแวดล้อมทางสังคมด้วยถึงจะเติบโตไปด้วยกันได้ สำหรับยูโอบีเราเน้นความสำคัญอยู่ 3 ด้าน คือ ศิลปะ การศึกษา และเยาวชน

“ และการที่ยูโอบีให้ความสำคัญด้านศิลปะมาอย่างต่อเนื่องถึง 39 ปี หรืออย่างในไทยก็ 11 ปี สำหรับกิจกรรมประกวดจิตรกรรมยูโอบี เพราะเราเห็นว่าศิลปะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างเสริมสังคมให้เติบโตไปได้ สังเกตจากอารยธรรมของโลก ในทุกยุคสมัยของมนุษย์ความเจริญมักมาพร้อมศิลปะ ในสังคมที่เจริญเติบโตรุ่งเรือง ศิลปะก็เจริญเติบโตรุ่งเรืองด้วย แม้แต่ในสังคมยุคมืด ศิลปะก็ยังคงอยู่ แต่อาจจะออกมาในด้านที่มืดมนเช่นเดียวกับสังคมในช่วงนั้นๆ ที่สำคัญมนุษย์จะเจริญเติบโตทางร่างกายอย่างเดียวไม่ได้ต้องเติบโตทางด้านจิตใจไปพร้อมกัน”

สัญชัย อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและสนับสนุนธุรกิจธนาคาร ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวถึงเหตุผลที่ธุรกิจด้านการเงินแห่งหนึ่งตัดสินใจสนับสนุนด้านศิลปะ ซึ่งการประกวดจิตรกรรมยูโอบีเปรียบเหมือนประตูบานแรกให้ศิลปินไทยได้ก้าวไปยืนบนเวทีประกวดระดับเอเชียและก้าวไปยืนกลางสปอตไลต์ของวงการศิลปะระดับสากลมากกว่าการประกวดจิตรกรรมยูโอบียังจริงจังไปถึงการกระจายความรู้ด้านศิลปะลงไปสู่พนักงานและคนทั่วไป เป็นการกระตุ้นแวดวงศิลปะอย่างครบวงจรเลยก็ว่าได้

“เรามองว่าเราจะทำอย่างไรให้เติบโตไปพร้อมกับสังคม ศิลปะก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้สังคมมีการเติบโตทางจิตใจ ทางวัฒนธรรมไปพร้อมกับการเติบโตของเมือง เศรษฐกิจ เราเลยสร้างเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง มีเวทีให้ศิลปินไทยได้ส่งงานเข้าประกวด ซึ่งไม่ใช่แค่เวทีในประเทศไทย ผู้ชนะจากเวทียูโอบียังได้ไปร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคที่สิงคโปร์ ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนศิลปะที่ไม่ใช่แค่ระดับเอเชีย แต่นักสะสม สตูดิโอระดับโลกก็ให้ความสนใจวงการศิลปะในสิงคโปร์ และต่อให้ไม่ชนะที่เวทีระดับภูมิภาค ก็อาจจะมีโอกาสได้คัดเลือกโครงการศิลปินในพำนัก ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ไปเก็บประสบการณ์ด้านศิลปะต่อเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีศิลปินไทยที่ไม่ได้รางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคแต่ได้รับการคัดเลือกให้ไปเป็นศิลปินในพำนักที่ญี่ปุ่นก็มีมาแล้ว และก็มีสตูดิโอจากฟากยุโรปเข้ามาติดต่อให้ศิลปินไทยไปร่วมทำงานด้วย”

สัญชัยย้ำถึงความแตกต่างระหว่างเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบีที่แตกต่างจากเวทีอื่นๆ ตรงที่เป็นประตูที่เปิดโอกาสให้ศิลปินไทยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นมืออาชีพได้เปิดตัวสู่เวทีระดับภูมิภาคและเวทีสากล ได้แสดงงานที่หอศิลป์ยูโอบี ณ ธนาคารยูโอบี สำนักงานใหญ่ ประเทศสิงคโปร์ บางปีก็มีศิลปินที่อายุเพียง 12 ขวบส่งผลงานเข้าร่วมประกวด และหากย้อนไปเมื่อ 11 ปีก่อน ก็บอกได้เลยว่าเป็นเรื่องยากที่ศิลปินไทยจะมีโอกาสได้ไปแสดงงานยังต่างประเทศ ถ้าจะมีก็มีเพียงหยิบมือ

“โดยเฉพาะศิลปินที่เป็นโลคัลอาร์ทิสต์จริงๆ เขาแทบไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปเมืองนอกด้วยตัวเอง งานของเขาจะเป็นที่รู้จักก็ต่อเมื่อมีนักสะสม นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยและไปเที่ยวแกลเลอรีและก็อาจจะบังเอิญไปเจอผลงานนั้นๆ แต่ถ้าเขาชนะเวทีนี้ งานของเขาจะได้ไปอยู่ที่หอศิลป์ยูโอบี สิงคโปร์ ซึ่งสิงคโปร์ก็โด่งดังในเรื่องศิลปะ นักสะสม แกลเลอรีชั้นนำก็อยู่ที่สิงคโปร์”

นอกจากจะเปิดเวทีให้ศิลปินไทยไปสู่ระดับสากลแล้ว ยูโอบียังมุ่งเฟ้นหาศิลปินหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมโรดโชว์ไปตามสถานศึกษาในภูมิภาคต่างๆ กิจกรรมเวิร์กชอปด้านศิลปะ หนังสือ Art Around ให้ความรู้ด้านศิลปะสำหรับผู้เสพทั่วไปที่ไม่ต้องมีความลึกซึ้งทางศิลปะ และล่าสุดคือ Art Explorer เว็บไซต์ที่ให้ความรู้ด้านศิลปะทั้งต่อศิลปินและคนทั่วไปที่สนใจเสพงานศิลปะ

“นอกจากศิลปินหน้าใหม่ ศิลปินมืออาชีพ ผู้ที่เสพงานศิลปะแล้ว ทางยูโอบียังสนับสนุนให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นได้เข้าถึงงานศิลปะ อย่างโครงการ UOB Please Touch กรุณาสัมผัส โดยธนาคารยูโอบี จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5เราได้เชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเพื่อผู้พิการทางสายตา เพื่อออกแบบหลักสูตรด้านทฤษฎีและกิจกรรมทางศิลปะแขนงต่างๆ ที่ผู้พิการทางสายตาสามารถนำไปต่อยอดได้ และเราก็พิสูจน์ได้ว่าทุกคนสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้จริง และก็สามารถมีนิทรรศการศิลปะของเขาได้จริงๆ”

ศิลปะเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เสน่ห์อย่างหนึ่งของการจัดประกวดจิตรกรรมยูโอบีคือ การเปิดกว้างไม่มีหัวข้อการประกวด แต่สำหรับการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 11ประจำปี 2563นับเป็นครั้งแรกของการจัดการประกวดจิตรกรรมยูโอบีที่มีการกำหนดหัวข้อของการประกวด ในหัวข้อ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (Solidarity) เพื่อสะท้อนถึงช่วงเวลาที่ทุกคนในสังคมและคนทั้งโลกกำลังก้าวผ่านอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยพลังบวกและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“ตามปกติเราเน้นภาพเขียนโดยไม่มีข้อจำกัดด้านแนวคิด แต่ทุกปีภาพก็สามารถสะท้อนช่วงเวลา เหตุการณ์ บริบทในสังคมช่วงเวลานั้นๆ ออกมาเอง เช่น ช่วงฉลองครองราชย์ ภาพที่ส่งประกวดก็จะเป็นภาพในหลวง การเฉลิมฉลอง ความสดใส หรือในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจภาพก็จะออกมาสะท้อนสังคมช่วงนั้น ส่วนในปีนี้คนไทยและคนทั้งโลกต่างต้องการสร้างกำลังใจ เราทุกคนคือนักสู้ที่ต้องเผชิญวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เราเลยใช้แนวคิดเราจะสู้ไปด้วยกัน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นหัวข้อการประกวด และส่งต่อกำลังใจนี้”

นอกจากจะเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดหัวข้อในการประกวดแล้ว ในปีนี้ยังเป็นปีแรกที่มีการจัดส่งผลงานทางออนไลน์ และการจัดกิจกรรม อบรมด้านศิลปะต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 และจะประกาศผลในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และสำหรับผู้ที่สนใจชมนิทรรศการ UOB Painting of the Year ประจำปี 2019 สามารถรับชมได้ทางระบบออนไลน์ในแบบเวอร์ชันทัวร์ คลิก https://bit.ly/3jpLvCs

Fact File


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"