13 ปี บุ๊คโทเปีย ร้านหนังสือในโรงรถเก่าที่พิสูจน์แล้วว่าวรรณกรรมยังไม่ตาย
Brand Story

13 ปี บุ๊คโทเปีย ร้านหนังสือในโรงรถเก่าที่พิสูจน์แล้วว่าวรรณกรรมยังไม่ตาย

Focus
  • บุ๊คโทเปีย คือชื่อของร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ในจังหวัดอุทัยธานีที่ปัดฝุ่นโรงรถเก่าให้กลายเป็นชุมชนนักอ่านที่รัก หนังสือ และวรรณกรรมอย่างเหนียวแน่นมาตลอด 13 ปี
  • วิรัตน์ โตอารีย์มิตร นักเขียน และคอลัมนิสต์นามปากกา ญามิลา,ปลาอ้วน คือผู้ก่อตั้ง บุ๊คโทเปีย ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เพียงร้านหนังสือ แต่ บุ๊คโทเปีย ยังได้เชื่อมสังคมคนอุทัยฯ หลากหลายอาชีพเข้าหากันผ่านตัวหนังสือ

20 ปี ในกรุงเทพฯ คงมากพอจะทำให้ตกตะกอนความคิดบางอย่าง… นั่นคือ จุดเปลี่ยนสำคัญที่ วิรัตน์ โตอารีย์มิตร หรือ พี่อ้วน นักเขียน คอลัมนิสต์นามปากกา ญามิลา,ปลาอ้วน ตัดสินใจย้ายกลับไปยังบ้านเกิดอุทัยธานี และค่อยๆ ปัดฝุ่นโรงรถชั้นล่างตึกแถวในเมือง ให้เป็นร้านหนังสือ บุ๊คโทเปีย (Booktopia) ซึ่งกว่า 13 ปี ได้พิสูจน์แล้วว่า ไฟฝันของเขาไม่ได้มอดดับลง

“ตอนนั้นเราคิดว่าอาชีพนักเขียนฟรีแลนซ์ไม่ยั่งยืน แล้วมันก็จริง ด้วยโลกเปลี่ยน พอกลับมาบ้าน เลยมาทำร้านหนังสือ บุ๊คโทเปีย เพราะเป็นสิ่งที่ถนัด แต่อยู่ไปสักพัก โลกก็เปลี่ยนอีก ด้วยมีโลกโซเชียลเข้ามา แต่ก็เป็นข้อดีที่จะใช้ช่องทางสื่อเหล่านี้โปรโมตร้าน เพราะเราทำนิตยสารมาก่อน เลยพยายามประยุกต์ความรู้เก่ามาใช้ในสื่อใหม่”

ร้านหนังสือ
ที่นี่มีทั้งหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ และ หนังสือที่พิม์เอง ขายเอง

การกลับมาบ้านเกิดช่วงแรกๆ พี่อ้วนต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะตอนอยู่กรุงเทพฯ ทำงานกว่าจะได้นอนก็ตีสอง ตีสาม แต่ที่อุทัยฯ สามทุ่มก็เริ่มปิดบ้านนอนกันหมด จะมาคึกคักอีกทีช่วงตีสามถึงตีห้า ชาวบ้านจะออกมาค้าขาย นี่ถือเป็นธรรมชาติความเรียบง่ายของคนที่นี่ 

แต่โจทย์ใหญ่คือ การทำร้านหนังสือ ที่ต้องมีรายได้ และคนทำต้องมีใจ ถ้าไม่มีใจร้านก็อยู่ยาก เพราะการทำ ร้านหนังสือ ไม่เหมือนกับทำร้านก๋วยเตี๋ยว อย่างบางคนเดินเข้ามา เขาไม่ได้ตั้งใจมาซื้อ หนังสือ เพียงมาเดินดูแล้วก็ออกไป แต่ที่สำคัญคือ ต้องทักทาย พูดคุยกับลูกค้า อย่างน้อยก็ได้รู้ความต้องการของเขา ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมา มีค่ามากกว่านั้น 

ร้านหนังสือ
Sad Café นิยายเล่มใหม่ของวิรัตน์ โตอารีย์มิตร

ด้วยความหมายของจุดเริ่มต้นร้าน บุ๊คโทเปีย ไม่ต่างจากนิยายเล่มใหม่ของพี่อ้วนเรื่อง “แซดคาเฟ่” (Sad Cafe) ที่วัตถุประสงค์ไม่ใช่แค่การทำร้านหนังสือ แต่ได้เชื่อมสังคมเข้าหากัน จนกลายเป็นสังคมเล็กๆ ผ่าน ร้านหนังสือ เพราะลูกค้าที่เข้ามามีทั้งหมอ นักเรียน ผู้พิพากษา พอได้พูดคุย รู้จักกันมากขึ้น ก็เริ่มจัดกิจกรรมทำร่วมกัน เช่น รวมกลุ่มคนอ่านไปทำนาอินทรีย์ หรือไปห้วยขาแข้ง แล้วเล่าถึงหนังสือที่ตัวเองประทับใจ 

ทุกวันนี้ระบบร้านหนังสือขนาดใหญ่ค่อนข้างมีปัญหา เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด เวลาเราเข้าไปซื้อก็เหมือนเจอคนแห้งๆ ขาดชีวิตชีวา จะถามแต่ว่ามีบัตรสมาชิกไหม แต่คนในโลกยุคใหม่ ต้องการคอนเนกชั่นเพื่อเชื่อมต่อกัน สิ่งเหล่านี้ก็เพิ่งมาค้นพบว่า เวลามีการจัดงานที่ร้าน ลูกค้าจะมาช่วยงาน เลยกลายเป็นสังคมที่เชื่อมคนหลากหลายเข้าด้วยกันอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน 

บุ๊คโทเปีย
แม้ร้านจะเล็กแต่อัดแน่นด้วยหนังสือเล่มหาอ่านยาก

“การเปิด ร้านหนังสือ ไม่ว่ายุคไหนยากเหมือนกันหมด ยุคนี้คนยังอ่านอยู่ เพียงแต่เขาไม่ได้อ่านจากหนังสือเหมือนเดิม เขาหันไปอ่านตามโทรศัพท์มือถือหรือแพลตฟอร์มอื่นที่มีความรวดเร็วกว่าเดิม แต่กลุ่มคนอ่านวรรณกรรมยังมีอยู่ เป็นเรื่องที่น่าดีใจ อย่างเด็กบางคนเรียนอยู่แค่ ม.6 เข้ามาที่ร้านอ่านงานของ โฮเมอร์”

หนังสือในร้านจะเน้นงานวรรณกรรม หรือเรื่องแปลจากต่างประเทศ ทุกวันนี้ร้านอยู่ได้เพราะแฟนหนังสือ นอกจากแฟนประจำในพื้นที่แล้ว ยังมีกลุ่มคนอ่านที่แวะมาที่ร้าน เช่น เป็นทางผ่านที่เขาจะไปเชียงใหม่ หรือจะลงไปกรุงเทพฯ ก็จะมาที่ร้านอยู่เป็นประจำ เช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาหรือคนที่ทำงานอนุรักษ์ ก่อนจะเข้าไปยังห้วยขาแข้ง จะมาหาซื้อหนังสือไปอ่าน 

บุ๊คโทเปีย
ป้ายร้านสุดคลาสสิคเข้ากับบรรยากาศเก่าๆ ในเมืองอุทัยฯ

นอกจากนี้ ที่ร้านก็ทำหนังสือขายเอง เช่นเรื่อง “เธอไม่เคยรู้ว่ามีเพลงนี้อยู่บนโลก” ของ ญามิลา หรือ งานเขียนของพี่เชน มล.ปริญญากร วรวรรณ ที่มักแวะมาพูดคุย และอ่านหนังสือที่ร้าน ซึ่งหนังสือเหล่านี้จะพิมพ์เอง ขายเองผ่านเพจของร้าน และส่งให้ทางไปรษณีย์ ถือเป็นอีกรายได้ที่ทำให้ร้านสามารถยืนอยู่ได้ และเป็นอีกช่องทางที่ทำให้แฟนหนังสือของนักเขียนได้แวะมาซื้อหนังสือที่หาจากที่อื่นไม่ได้ 

นอกจากนี้การกลับมายังบ้านเกิดยังทำให้ได้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆ มากขึ้น เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ทำหนังสือ “อุทัยฯ ในอภิรมย์” เพื่อแจกนักท่องเที่ยว ทำให้ได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ ที่ไม่มีโอกาสได้ไป เช่น เส้นทางแก่นมะกรูด หรือไปหาพี่ทองลี้ ที่สืบทอดการทำผ้าทอลาวครั่ง มาเป็นรุ่นที่ 9 ใน อ.บ้านไร่ ซึ่งพื้นที่นี้ สมัยก่อนเดินทางยากมาก ถ้าไม่ได้ทำหนังสือก็ไม่มีโอกาสเห็นอุทัยฯ ในมุมมองใหม่

บุ๊คโทเปีย
มุมนี้มีหนังสือหาอ่านยากให้ได้เลือกซื้อ

“เสน่ห์เมืองอุทัยฯ คือ ความง่าย ความซื่อ ถ้าเทียบกับเมืองอื่น จริตค่อนข้างน้อยกว่า อย่างแต่ก่อนพ่อค้าแม่ค้ายังเป็นแบบบ้านๆ บางครั้งคนมาซื้อของก็ไม่ขอบคุณ แต่พอมาช่วงหลังๆ มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ก็เริ่มปรับตัว และเริ่มปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอื่นมากขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายท่องเที่ยว”

ถ้าเปรียบเมืองอุทัยธานีเหมือนเพลง พี่อ้วนใช้ความคิดอยู่นาน… ก่อนตอบว่า It’s My Life ของ Bon Jovi ที่มีหลายรสชาติ หลากอารมณ์ ในที่เดียวกัน 

จากทางเลือก ที่นำสู่ทางรอด 13 ปี ของร้านหนังสือ บุ๊คโทเปีย เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงนิยามความหมาย ที่เหมือนกับแผ่นป้ายสีแดง ซึ่งติดไว้บนผนังในสุดของร้านว่า…. “อารีมิตร”

Fact File

  • ร้านหนังสือ บุ๊คโทเปีย ถนนณรงค์วิถี ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.30-19.30 น.
  • โทร  0-5651-2932
  • Facebook : Booktopia

Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ