4 งานศิลปะชั้นครูที่ซ่อนอยู่ใน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  โฉมใหม่
Brand Story

4 งานศิลปะชั้นครูที่ซ่อนอยู่ใน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่

Focus
  • แม้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่จะเป็นการพลิกโฉมงานดีไซน์เดิมแต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คือ งานศิลปะชั้นครูที่ยังคงรักษาไว้
  • ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  โฉมใหม่ใหญ่กว่าเดิม 5 ภายใต้แนวคิดการออกแบบที่สะท้อนความเป็นไทยสู่สากล

กลับมาเปิดให้บริการแล้วสำหรับ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  โฉมใหม่ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่าพร้อมรับการจัดงานประชุมระดับนานาชาติภายใต้แนวคิดการออกแบบที่สะท้อนความเป็นไทยผ่านการดึงลวดลายผ้าทอราชสำนักและผ้าพื้นเมืองมาผสมผสานกับงานช่างศิลป์ไทยในสาขาต่างๆ ทั้งยังปรับมุมมองนำเอกลักษณ์ความเป็นไทยสู่ความเป็นสากลที่มากขึ้นผสมผสานไปกับแนวคิดการออกแบบอาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

และแม้ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่ที่เปิดให้บริการในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565 จะเป็นการพลิกโฉมงานดีไซน์ทั้งโครงสร้างและการตกแต่งภายในแตกต่างจากเดิมไปมาก ทว่าสิ่งหนึ่งที่ทางศูนย์การประชุมฯ ยังเก็บรักษาไว้คือ “งานศิลปะชิ้นเยี่ยมจากศิลปินชั้นครู” ไอโคนิกที่อยู่คู่ศูนย์การประชุมฯ มาตั้งแต่ พ.ศ.2534 มีด้วยกันทั้งหมด 4 ชิ้น ส่วนจะมีชิ้นไหนบ้างSarakadee Lite ชวนไปปักหมุด

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ชื่องาน : โลกุตระ

ศิลปิน : ชลูด นิ่มเสมอ

“โลกุตระ” ที่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และกลายเป็นสัญลักษณ์ของหอประชุมแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ.2534 เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี พ.ศ. 2541 อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ เป็นผู้บุกเบิกการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมแบบถาวรขนาดใหญ่ ติดตั้งกับที่สาธารณะที่เรียกว่า “ศิลปะกับสิ่งแวดล้อม” โดยมีผลงานชิ้นเอกที่ผู้คนจดจำคือ “โลกุตระ”

อาจารย์ชลูดเคยกล่าวว่า แนวคิดของงานออกแบบ “โลกุตระ” ซึ่งตั้งเป็นศิลปะสาธารณะ ตั้งกลมกลืนอยู่กับสิ่งแวดล้อมนั้นเริ่มจากการตีความเปลวรัศมีว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงปัญญา หมายถึงปัญญาที่จะหลุดพ้นจากกิเลส ส่วนแท่นสีดำด้านล่างที่เป็นฐานทำจากหินแกรนิตเป็นตัวแทนกิเลสของฝ่ายโลกียะ และพุ่มเปลวที่มี 8 พูหมายถึง “มรรคมีองค์ 8”หนทางแห่งการหลุดพ้นและยังมีอีกหนึ่งสัญลักษณ์ซ้อนอยู่นั่นคือ ดอกบัวกำลังแย้มบานจำนวน8 ก้านที่ผนึกรวมกัน โผล่ผุดขึ้นจากแท่นหิน อันเปรียบได้กับดอกบัวที่โผล่พ้นจากโคลนตม

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ชื่องาน : พระราชพิธีอินทราภิเษก

ศิลปิน : จรูญ มาถนอม

ผลงานจำหลักไม้ขนาดใหญ่ที่ติดไว้บนฝาผนังนี้อยู่คู่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มาตั้งแต่ พ.ศ.2534ผลงานของ จรูญ มาถนอม ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังปราสาทไม้แกะสลักขนาดใหญ่ที่พัทยา “ปราสาทสัจธรรม” โดยชิ้นงาน พระราชพิธีอินทราภิเษก เป็นการจำหลักลงบนไม้จำนวน 56 แผ่น วัดความยาวได้ราว 23 เมตร สูงราว 6.30 เมตรใช้เวลาทำงานจำหลักไม้ทั้งหมด4 เดือนและอบไม้อีก 2 เดือน มีเรื่องราวเล่าถึงพระอินทร์ตอนที่ได้ทำพิธีสถาปนาขึ้นเป็นผู้ปกครองทวยเทพ หรือในอีกความหมายก็เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ชื่องาน : เสาช้าง ลูกโลก

ศิลปิน : ธานี กลิ่นขจร 

ประติมากรรมลอยตัวรูปช้างสี่เศียรที่รองรับลูกโลกสีทองตั้งอยู่บนฐานเสาสูงนี้เคยตั้งตระหง่านอยู่บริเวณโถงต้อนรับของศูนย์การประชุมฯ หลังเก่า ถือเป็นผลงานที่มีการผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับสากลอย่างชัดเจน เป็นศิลปะไทยร่วมสมัยที่บ่งบอกถึงเป้าหมายของการสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติแห่งแรกในไทยขึ้นเพื่อให้ทัดเทียมกับต่างชาติ โดยงานประชุมแรกที่เกิดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็คืองานประชุมธนาคารโลกหรือ World Bank เมื่อ พ.ศ. 2534

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ชื่องาน : ประตูกัลปพฤกษ์ มือจับพญานาค

ศิลปิน : ไพเวช วังบอน 

ประตูลายต้นกัลปพฤกษ์สีทองอร่ามทั้ง 16 บานพร้อมมือจับรูปพญานาคทำจากสัมฤทธิ์ ถูกถอดมาจากประตูเพลนนารี ฮอลล์ ของศูนย์การประชุมฯ เดิม และเมื่อมีการสร้างศูนย์การประชุมฯ แห่งใหม่ ทางทีมสถาปนิกก็ตั้งใจออกแบบพื้นที่เพื่อให้สามารถนำประตูเดิมมาติดตั้งได้ เพียงแต่อาจจะไม่ได้จัดวางเรียงในแบบเดิมที่นำประตูมาเรียงต่อกัน โดยประตูกัลปพฤกษ์นี้ศิลปินคือ ไพเวช วังบอน ได้จำลองลวดลายมาจากบานประตูลายรดน้ำที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ส่วนในขั้นตอนการทำก็ยังคงอนุรักษ์วิธีการรดน้ำปิดทองแบบช่างโบราณ ด้านความหมายของต้นกัลปพฤกษ์นั้นถือเป็นต้นไม้มงคลที่นิยมใช้ในการเขียนลายไทย และเมื่อนำมาติดตั้งใหม่ก็ได้ผ่านขั้นตอนอนุรักษ์ให้สีทองเดิมอร่ามและสว่างยิ่งขึ้น


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์