Give.me.museums มิวเซียมแห่งความฝันของ คนธรัตน์ เตชะไตรศร
Brand Story

Give.me.museums มิวเซียมแห่งความฝันของ คนธรัตน์ เตชะไตรศร

Focus
  • Give.me.museums พื้นที่ศิลปะของ ออย – คนธรัตน์ เตชะไตรศร ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อปี 2019 หรือกว่า 2 ปีที่แล้ว แต่จุดเริ่มต้นเส้นทางศิลปะของเธอ แท้จริงแล้วถูกสะสมเรื่อยมาตั้งแต่ยังเด็ก สมัยที่เธอยังชอบขีดเขียนกำแพงที่บ้านหรือวาดภาพการ์ตูนพาวเวอร์พัฟเกิร์ลลงในสมุดสเก็ตซ์
  • Blooming Home นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ Give.me.museums ออยตั้งใจเปิดประตูให้ทุกคนได้เข้าไปทำความรู้จักสิ่งเล็ก ๆ หลาย ๆ สิ่งที่ค่อย ๆ ส่งผลถึงตัวตนของเธอและสไตล์การวาดของ Give.me.museums เช่นปัจจุบันนี้

ไม่รู้ว่าผู้อ่านเป็นเหมือนกันไหม แต่ขอสารภาพตามตรงว่าเมื่อเลื่อนหน้าไทม์ไลน์ไปเจอโพสต์ของ Give.me.museums เราเหมือนได้หยุดพักจากความวุ่นวายใจไปชั่วขณะ แล้วรู้สึกฟูลฟิลจิตใจได้แทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยความสดใสของสี ไปจนถึงความสบายตาสบายใจจากภาพดอกไม้และแลนด์สเคปที่ ออย-คนธรัตน์ เตชะไตรศร ผู้อยู่เบื้องหลังมักอัปเดตให้เราเห็นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่ไม่ขาด ยิ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้เธอประกาศว่ากำลังจะมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก ก็ยิ่งตื่นเต้นที่จะได้สัมผัสกับงานจริงนอกเหนือจากการติดตามผ่านช่องทางออนไลน์ และการใช้ของกระจุกกระจิกสีสันสดใสจากแบรนด์ของเธอ

Give.me.museums

แต่ก่อนที่ประตูบ้านของออยจะเปิดให้เราได้เข้าไปทำความรู้จักเศษเสี้ยวของตัวตนที่ค่อย ๆ ประกอบขึ้นจากผลงานชิ้นน้อยใหญ่จำนวนหลักร้อยซึ่งสร้างสรรค์แบบไม่จำกัดเทคนิค มาสู่ Give.me.museums เช่นทุกวันนี้ Sarakadee Lite ขอชวนออยมาพูดคุยเพื่อปูทางก่อนไปชมนิทรรศการของเธอกัน…อยากบอกว่ารอยยิ้มสดใสตรงหน้าทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมผลงานของเธอถึงมักเติมสีสันให้กับวันหม่น ๆ ของผู้ที่พบเห็นได้เสมอ

Blooming Home Exhibition

“ขออัพเดทถึงโปรเจ็กต์ล่าสุดคือนิทรรศการที่ชื่อว่า Blooming Home เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเรา ก่อนหน้านี้เราเคยจัดนิทรรศการมาแล้ว แต่เป็นการจัดร่วมกับคนอื่น พอเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกรู้สึกว่ามันก็เป็นอะไรที่ใหญ่สำหรับเราเหมือนกันเลยอยากจะให้เครดิตกับที่บ้านด้วย หลัก ๆ คืออยากเล่าว่าเราทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ๆ ในนิทรรศการจะแบ่งออกเป็น 2 โซนหลักคือโซนปัจจุบันกับอดีต ซึ่งมีรูปผลงานตั้งแต่สมัยอนุบาลที่คุณพ่อคุณแม่เก็บไว้ทั้งหมดเลย เราก็จะเอามาโชว์ในงานด้วยส่วนหนึ่ง” 

ออยเริ่มต้นเล่าถึงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอ พร้อมบอกความคาดหวังว่าอยากให้นิทรรศการครั้งนี้ดูเข้าถึงได้ เกิดการพูดคุย และได้รู้จักเธอมากขึ้น 

Give.me.museums

“โซนอดีต จะเน้นว่าเราทำงานประมาณไหน คนจะคิดว่าเราหาสไตล์ได้อย่างไร เราไม่ได้หาแต่เกิดจากการที่เราทำมานานจนเป็นแบบนี้เอง มันสั่งสมมาตั้งแต่เรายังเด็ก เราเลยอยากให้รู้ว่ามันต้องใช้เวลา อยากให้คนมางานนี้แล้วได้แรงบันดาลใจว่าบางอย่างเขาไม่สามารถรีบได้ มันต้องทำ ทำเยอะ ๆ โซนนี้จะไล่เป็นพีเรียดไปตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย อีกโซนจะเป็นช่วงเกือบปัจจุบันที่เป็นภาพเพนติ้ง และปัจจุบันจริง ๆ ที่บางวันเราอาจจะไปนั่งวาดรูปตรงนั้น

ส่วนตัวนิทรรศการหลัก ๆ เราอยากให้ไม่เหมือนการไปนิทรรศการหรือแกลเลอรีที่ต้องยืนดูห่าง ๆ นิ่ง ๆ อยากให้มีความเฟรนด์ลี่ จับต้องได้เหมือนไปบ้านเพื่อนหรือเขามาเที่ยวบ้านเรามากกว่า ในโซนเด็กก็จะได้เห็นโซฟา ภาพครอบครัวที่เราวาด ของเล่นหรือเฟอร์นิเจอร์ที่เราเพนต์เป็นลายตัวเอง และตอนเด็ก ๆ เราชอบเขียนกำแพง ในนิทรรศการเลยจะมีโซนหนึ่งเป็นกำแพงขาว ๆ ให้คนมาเขียนเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

Give.me.museums

“โดยปกติเราจะโชว์แค่พาร์ตเดียวคือพาร์ตปัจจุบัน นิทรรศการนี้เราถือโอกาสแนะนำตัวไปด้วยเลย มีเอาสมุดสเก็ตช์ตอนเด็ก ๆ มาให้ดูด้วย มีประมาณสิบเล่มได้ ตอนนั้นยังวาดเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่เลย ดูการ์ตูนก็จะวาดการ์ตูน วาดพาวเวอร์พัฟฟ์เกิลส์อะไรแบบนี้ แล้วก็จะมีพวกหนังสือตอนเด็ก ๆ ที่บางเล่มเราวาดรูปลงไปด้วย ระบายสีลงไปในภาพประกอบ ก็จะมีมาวางในนิทรรศการบางส่วน เรารู้สึกว่าหนังสือพวกนี้ตอนอ่านช่วงเด็ก ๆ เราไม่รู้อะไรหรอก แค่รู้สึกว่ามันสนุก แต่พอโตแล้วก็คิดว่ามันส่งผลกับเราเหมือนกันนะ เราชอบของ Jacqueline Wilson เขาจะเขียนเกี่ยวกับเด็กอีกทีหนึ่งแล้วมันสะท้อนปัญหาสังคม ตอนเด็ก ๆ เราไม่รู้เลยว่าเขาพูดถึงเรื่องอะไร แค่สนุกเฉย ๆ พอโตแล้วมองย้อนกลับไป หนังสือพวกนี้แหละที่ทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้”

สำหรับเรื่องสไตล์การวาด ออยบอกว่าเธอชอบสี ๆ มาตั้งแต่เด็ก เหตุผลส่วนหนึ่งคงเพราะคุณพ่อคุณแม่ ออยย้อนเล่าว่าตอนเด็ก ๆ กิจกรรมที่เธอทำก็คือทำเทียนกับแม่ หล่อเทียน ปั้นดิน ปั้นทราย จัดดอกไม้ ซึ่งออยจะต้องไปช่วยแม่เลือกสี 

“เราเลยชอบดอกไม้ ชอบต้นไม้ ส่วนที่เราวาดแลนด์สเคปเพราะที่บ้านเราไปเที่ยวบ่อยมาก ทุกปิดเทอมจะต้องไปดำน้ำ กางเต็นท์ อะไรแบบนั้น เลยน่าจะสะสมมาตั้งแต่เด็ก ๆ”

Give Me a Museum and I’ll Fill It – Pablo Picasso 

ย้อนกลับไปสักหน่อย Give.me.museums เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 2019 หรือราว 2 ปี 3 เดือนก่อน แต่ในตอนนั้นออยยังคงใช้ชื่อ Khontarat หรือชื่อจริงในการฝากขายสติกเกอร์รูปแวนโก๊ะซึ่งในตอนแรกเธอตั้งใจทำมาใช้เอง

“พอเรียนจบมหาวิทยาลัย เราทำงานครีเอทีฟที่ Oglivy เป็นที่แรก แต่พอทำไปปีแรกเราก็รู้สึกเครียด ปกติเราจะแต่งตัวเป็นสีสัน แต่รู้ตัวอีกทีเราก็จะใส่เท่ ๆ สีขาวดำ มันไม่มีเวลาจนใส่สีดำเรียบ ๆ นี่แหละ ง่ายที่สุด จนถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึกเครียดเกินไป เลยหาอะไรทำให้ผ่อนคลาย ตอนนั้นก็กลับมาวาดรูปอีกครั้ง จนเริ่มอยากใช้ของที่มันไม่ต้องคูลขนาดนั้นแล้ว ซึ่งจริง ๆ แบบนั้นเราก็ชอบนะ แต่มีอีกหนึ่งตัวตนที่เราทิ้งเขาไปนานเหมือนกัน เลยเริ่มทำสติกเกอร์ขึ้นมา เป็นสติกเกอร์รูปแวนโก๊ะ อันนี้มีต้นฉบับอยู่ที่นิทรรศการด้วยนะ (หัวเราะ) เราอยากเริ่มทำใช้เองแต่มันสั่งทำน้อยไม่ได้ ซึ่งเยอะของเราตอนนั้นก็สิบกว่าอันนั่นแหละ มันเยอะเกินที่หนึ่งคนจะใช้ เราเลยเริ่มเอาไปฝากขายที่ Happening Shop คือมีของอยู่สิบชิ้นแต่พี่เขาก็รับนะ ไม่รู้จักกันด้วย พอมองย้อนกลับไปก็คิดว่า เราก็กล้าดีเนอะ (หัวเราะ)” 

จากสติกเกอร์แวนโก๊ะราวสิบชิ้นในวันนั้น ทำให้คนเริ่มถามช่องทางติดตามผลงานจากเธอมากขึ้น อินสตาแกรมแอ็กเคานต์ชื่อ Give.me.museums เลยถือกำเนิดขึ้นมาจากโควตหนึ่งของ ปีกัสโซ ศิลปินคนหนึ่งในดวงใจของเธอ

“ตอนแรกเป็น Give me a museum แต่เราตัด a ออกแล้วเติม s เข้าไปให้มันเป็นหลาย ๆ มิวเซียมเพราะรู้สึกว่ามันยังไม่ติดหู คำมันเยอะจังแล้วก็ไม่อยากให้ผิดแกรมมาร์ (หัวเราะ) เป็นคำที่เราชอบตั้งแต่ช่วงมัธยมถึงมหาวิทยาลัยแล้ว มันดูแบบเป็นใคร จะมาขอมิวเซียมแล้วจะเติมให้เต็มเลย ดูทะเยอทะยาน ล้น ๆ แบบฉันอยากจะต้องทำงานเยอะ ๆ ซึ่งเรามาตีความต่อว่าผลงานที่จะได้แสดงในมิวเซียมจะต้องถูกคัดเลือกมาแล้ว ซึ่งเราจะทำงานดี ๆ เหล่านั้นเพื่อให้ไปอยู่ในมิวเซียม อันนี้คือความคิดแรก แต่พอทำมาเรื่อย ๆ เราไม่ได้ตีความมิวเซียมเป็นแบบนั้นแล้ว มิวเซียมของเราตอนนี้คือพื้นที่แสดงออกทางศิลปะ เราอยากทำให้ศิลปะเข้าถึงได้และอยากกระจายพื้นที่ศิลปะนี้ไปทุกที่ เราเลยไม่ได้เน้นขายภาพแคนวาสชิ้นใหญ่ ๆ เป็นหลัก เราอยากทำของชิ้นเล็ก ๆ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของผลงานศิลปะเหล่านี้ได้และศิลปะก็ควรจะอยู่ได้ทุกที่ด้วย”

หลังจาก Give.me.museums ผ่านเวลาไปขวบปี ออยตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ก้าวเข้าสู่เบื้องหลังมิวเซียมของตัวเองอย่างเต็มตัว ด้วยคิดว่าไม่สามารถให้เวลาอย่างเต็มที่กับทั้งสองสิ่งได้ และเธอก็อยากเติบโตไปกับ Give.me.museums มากกว่า ทำให้ภาพวาดของออยจากหลากเทคนิคไม่ว่าจะสีไม้ สีน้ำหรือสีอะคริลิกได้กระจายไปเป็นทั้งสติกเกอร์ หมวก กระจก เคสโทรศัพท์ Griptok และโปรดักต์ไลฟ์สไตล์มากมายที่คนสามารถหยิบใช้ได้ทุก ๆ วัน โดยที่อาจเรียกได้ว่าออยอยู่ในทุกขั้นตอนของโปรดักต์ชิ้นหนึ่งก็ว่าได้ ทั้งวาด คิดโปรดักต์ ถ่ายภาพหรือการโพสต์ลงโซเชียลมีเดียล้วนผ่านสองมือของเธอมาทั้งนั้น

เมื่อ Give.me.museums กลายเป็นงานหลักแล้ว ทำให้ต้องแลกตัวตนบางอย่างไปหรือเปล่า 

“ไม่เลย คือเราจะเบสจากการชอบสิ่งหนึ่งก่อน เราไม่ได้ทำเพราะไปดูว่าตอนนี้เขาทำอะไรกัน แล้วเดี๋ยวเราทำบ้าง เราจะทำแบบที่เราชอบ เลยรู้สึกว่าตัวตนเราไม่ได้หายไป รู้สึกว่ามันเพิ่มขึ้น ได้เป็นตัวเองมากขึ้น เหมือนเวลาได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ เรารู้สึกว่าไม่ได้ออกจากคอมฟอร์ตโซน แต่คอมฟอร์ตโซนเราขยายใหญ่ขึ้น เราเลยแฮปปี้กับมัน”

คำจำกัดความของ Give.me.museums

“ตอนแรกเราสร้างแบรนด์ขึ้นมา แต่เราตั้งใจตั้งแต่แรกเลยว่าไม่อยากให้ดูเป็นแบรนด์ หรือ Official Account เราอยากให้ดูเป็นคนมากกว่า คือสื่อสารได้ สามารถทักเรามาได้ ไม่อยากดูเป็นบอตขนาดนั้น”

ตัววัดความสำเร็จ

“ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จหรือยัง เราไม่รู้ว่าเท่าไหนเพราะไม่ได้วางอะไรไว้ แต่ว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็โอเคแล้ว เรามีความสุขเราก็โอเค มีความสุขของเราคือรวมทั้งการมีรายได้ที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ทำงานแล้วไม่เครียด ไม่รู้สึกว่ากดดันหรือไม่เป็นตัวเอง ตัวเราโอเคและคนรอบข้างเราก็โอเคกับที่เราเป็น”

ระหว่างทำตามความฝันกับทำงานประจำ

“สำหรับเรา เราทำสองอย่างคือยอมเหนื่อยนิดหนึ่ง เพราะเราไม่รู้ว่าศิลปะในประเทศไทยจะมั่นคงได้อย่างไร เราเลยทำควบคู่ไปสองอย่างก่อนแล้วก็ไม่ได้คิดว่าฉันไม่ไหวแล้ว ฉันจะออก เราแพลนไว้ประมาณหนึ่งก่อนว่า ต้องมีรายได้ประมาณเท่านี้ เป็นเวลาเท่านี้

“จริง ๆ มีช่วงหนึ่งที่เปรียบเทียบชั้นกันมากเลย เราคุยกับลูกค้าของเราแล้วก็คุยกับลูกค้าเอเจนซีเรารู้สึกว่าทำไมต่างกันจัง เลยเริ่มมีจุดเปรียบเทียบแล้วเราก็แพลนไว้ ถ้าเกิดเป็นเรื่องรายได้ เราไม่แนะนำให้คนออกมาโดยไม่รู้ว่าตัวเองจะไปอย่างไรต่อ เคยมีคนถามเหมือนกันว่าลาออกจากงานประจำแล้วไม่เคว้งเหรอ เราก็บอกว่าไม่เพราะเราได้ทำอย่างเต็มที่ไว้ ตอนที่จะลาออกหัวหน้าก็น่ารักมาก เขาแนะนำเราด้วยว่าวาดอันนี้สิ แล้วก็ถามว่าแพลนไว้ไหมว่าออกไปจะเป็นอย่างไร เราก็บอกว่าแพลนไว้แล้ว เราเลยโอเค 

“คนที่ไม่ได้แพลนแต่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว อยากจะออกไปทำตามความฝัน คือมันอาจจะดูใจร้าย แต่เราว่าโลกมันโหดร้ายกว่านั้น อยากให้ใจเย็น ๆ ลองแพลนไว้ประมาณหนึ่ง ตอนที่เราอยากลาออกเราก็คิดก่อนว่าอันนี้เป็นเหตุผลหรืออารมณ์ เป็นความชั่ววูบ ณ ตอนนี้หรือเปล่า ลองดูอีกสักหน่อยไหมหรือว่าอย่างไร มันแล้วแต่คนนะ ถ้ารู้อยู่แล้วว่าไม่ได้อยากเติบโตไปทางสายอาชีพนี้ มีชีวิตไลฟ์สไตล์ประมาณนี้ สังคมแบบนี้ เราว่าก็ลองคิดดู มันมีหลายปัจจัยมาก เราว่าต้องชัดเจนมากกว่าแค่ฉันไม่โอเค ต้องมองให้กว้างกว่านั้น”

Give.me.museums

เคยรู้สึกว่าคน Wanna Be ที่จะเป็นศิลปินกันเยอะหรือเปล่า

“เราว่าก็มีเยอะ แต่สำหรับเราเป็นเรื่องที่ดีนะ หมายถึงว่า อยากเป็นอะไรก็ต้องทำเพื่อให้ได้เป็น ถ้ารู้ว่าตัวเองอยากเป็นศิลปินก็ไม่แปลกที่จะ Wanna Be ดีกว่าอยากเป็นแต่ว่าฉันไม่ทำอะไรเลย แล้วจะเป็นได้อย่างไร เราเลยรู้สึกว่าการ Wanna Be ไม่ได้ผิดสำหรับเรา บางคนอาจจะรู้สึกว่าทำไม Wanna Be จัง ก่อนหน้านี้ไม่เห็นทำแบบนี้ ทำไมอยู่ ๆ เปลี่ยนไป คนเรามันเปลี่ยนแปลงกันได้ นี่อาจจะเป็นช่วงที่เขากำลังลองผิดลองถูก บางอย่างเลยอาจจะยังดูไม่เข้ากับเขา แต่ถ้าเขาไม่ได้ลองแล้วเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าไม่เวิร์ก มันเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา เราไม่ไปตัดสินเขา มันอาจจะเป็นช่วงที่เขากำลังเติบโตก็ได้”

มองศิลปะไทยตอนนี้เป็นอย่างไร 

“เรารู้สึกว่ามันจะดีขึ้น ถูกพูดถึงมากขึ้น ได้รับการยอมรับและเข้าถึงคนได้มากขึ้น แต่เราว่ายังไม่มากพอ เราเลยบอกว่าถ้าการเมืองดี มันจะดีขึ้น เอาง่าย ๆ เลย อย่างคนที่จะเข้าถึงงานศิลปะ การจะมาหอศิลป์ซึ่งมีแค่กรุงเทพฯ ที่เดียวแล้วก็จะปิดอีก ขนาดคนกรุงเทพฯ เองจะมาดูงานศิลปะยังยากเลย แล้วคนต่างจังหวัดคือไม่ต้องพูดถึง มันไม่สนับสนุนเขาเลย แล้วคนก็ยังกินอยู่ไม่สบายแล้วจะเอาเงินเอาอะไรที่ไหนมาสนับสนุนศิลปะอีก เราเลยต้องลงงานออนไลน์ให้เขาเห็น เราว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ช่วยได้เยอะแต่ว่ามันก็ยังรู้สึกไม่ถูกต้อง”

ข้อดีและข้อจำกัดของศิลปินที่ลงผลงานในโลกออนไลน์

ข้อดีคือคนเห็นงานเราง่ายขึ้น แต่ว่าข้อจำกัดคือพอคนเห็นงานง่ายขึ้น คนลงงานก็มากขึ้นเหมือนกัน การที่เห็นงานเยอะ ๆ เราว่าบางคนก็อาจจะไม่แข็งพอที่จะไม่หลุดไปตามกระแสที่คนทำเยอะ ๆ บางทีเราไม่ได้ตั้งใจที่จะไปในทางที่มันเป็นเทรนด์ แต่เราเห็นจนมันกลายเป็นภาพจำโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วจะมีช่วงหนึ่งที่งานทุกคนออกมาคล้าย ๆ กัน”

Give.me.museums เคยมีภาวะนั้นหรือเปล่า

“เราไม่ค่อยนะ เราดูงานเยอะเหมือนกัน แต่สำหรับเราดูเพื่อ อ๋อ เราจะไม่ทำแบบนี้ จะไม่ทำให้ออกมาเหมือนเขามากกว่า แล้วเราก็รู้สึกว่าสไตล์ที่เราทำมามันเปลี่ยนยากเหมือนกัน ถ้าเปลี่ยนก็คงค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ”

กลุ่มศิลปินที่ลงผลงานในอินสตาแกรม มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันบ้างไหม

“ก็มีคุยกัน แต่ไม่ได้แชร์ไอเดียขนาดนั้น จะถามเป็นข้อมูลต่าง ๆ กันมากกว่าว่าทำงานนี้คอลแลบแล้วเป็นอย่างไร มันทำให้เราเกิดเพื่อนใหม่ ๆ เยอะเหมือนกัน บางคนเราไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย เหมือนได้สังคมใหม่ไปด้วย”

Give.me.museums ในอนาคตคิดว่าจะสามารถเป็นอะไรได้อีก

“เราอยากทำโรงเรียนสอนศิลปะ ตอนมหาวิทยาลัยเราเคยเป็นพี่ติวเข้าสถาปัตย์อยู่ช่วงหนึ่ง เราชอบตอนสอนคนที่มีแพสชันแล้วเขาประสบความสำเร็จ ชอบความรู้สึกที่ได้เห็นคนตั้งใจ เราอยากช่วยเขา อยากกระจายความรู้ต่าง ๆ อยากให้ Give.me.museumsเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ศิลปะไทยโตขึ้นด้วย”

Fact File

  • นิทรรศการ Blooming Home จัดแสดงวันที่ 6 มีนาคม – 25 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 11.00 – 20.00 น. ที่ The Jam Factory Bangkok (เข้าชมฟรี)
  • Facebook : Give.me.museums
  • Instagram : give.me.museums
  • Twitter : @GiveMuseums
  • เว็บไซต์ : www.givememuseums.com

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว