Malibarn : eco florist & herbarium  ร้านดอกไม้สายอีโค่  ที่พาไปเปิดโลกนักพฤกษศาสตร์
Brand Story

Malibarn : eco florist & herbarium ร้านดอกไม้สายอีโค่ ที่พาไปเปิดโลกนักพฤกษศาสตร์

Focus
  • Malibarn eco-florist & herbarium ย่อมาจาก eco-friendly florist ร้านดอกไม้ที่เป็นมิตรและใจดีกับธรรมชาติ ส่วน Herbarium คือนอกจากที่นี่จะเป็นร้านดอกไม้ยังมีโซนหอพรรณไม้ให้ความรู้ทางพฤกษศาสตร์และระบบนิเวศในป่าด้วย
  • ความตั้งใจหนึ่งของ มะลิ-กมลรัตน์ ชยามฤต และหุ้นส่วนอีกสามคนคืออยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ชวนให้คนมาทำ Eco-florist หันมาใช้ดอกไม้ไทยกันมากขึ้น

เพียงก้าวเข้าไปใน Malibarn : eco florist & herbarium ร้านดอกไม้ที่ปัจจุบันตั้งอยู่บนชั้น 2 ของโครงการ Slow Combo ไม่ไกลจากสามย่านมิตรทาวน์ กลิ่นหอม (ที่เรามารู้ทีหลังว่าคือยูคาลิปตัสจากเชียงใหม่) และสีสันน่ารักของดอกไม้ในร้านต่างพากันเข้ามาทักทายเราก่อนใคร  ที่ต้องบอกว่าปัจจุบัน เพราะแม้ที่นี่จะเปิดทำการมาได้ไม่ถึงปี แต่ชื่อของ Malibarn เกิดขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ.2015 นับตั้งแต่ร้านแห่งแรกก่อตั้งขึ้นที่หลวงพระบาง

Malibarn : eco florist & herbarium
Malibarn : eco florist & herbarium
มะลิ-กมลรัตน์ ชยามฤต

มะลิ-กมลรัตน์ ชยามฤต เปิดร้านดอกไม้แห่งแรกที่ สปป.ลาว นานถึง 4-5 ปี จากการรับซื้อผลผลิตของครอบครัวเกษตรกรชาวลาวที่เธอตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพวกเขา เดิมทีผลผลิตขายได้ในราคาต่ำ มะลิชวนพูดคุยลองเปลี่ยนสิ่งที่ปลูกและชวนเกษตรกรจากเชียงใหม่เข้าไปช่วยสอนตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างแปลง รวมถึงสัญญาว่าเมื่อผลผลิตเติบโตขึ้นเธอจะรับซื้อเอง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับชาวบ้าน

หลังปิดกิจการแห่งแรกไป ก็มีโอกาสให้ Malibarn แห่งที่ 2 เกิดขึ้นใน ค.ศ.2023 โดยที่เธอยังคงตั้งใจช่วยเหลือเกษตรกรอยู่เช่นเดิม แต่ขณะเดียวกันยังมีจุดมุ่งหมายในการแก้ Pain Point ของอุตสาหกรรมดอกไม้ไทยที่ศึกษาและสังเกตเห็น  Malibarn จึงไม่ใช่แค่ร้านดอกไม้ที่มีดอกไม้ให้ซื้อ แต่ยังมีมุมมองของนักพฤกษศาสตร์ต่อพรรณไม้รวมไว้อยู่

Malibarn : eco florist & herbarium
Malibarn : eco florist & herbarium

“Malibarn eco-florist ย่อมาจาก eco-friendly florist เราเป็นร้านดอกไม้ที่เป็นมิตรและใจดีกับธรรมชาติ ส่วน Herbarium หอพรรณไม้คือเราให้ความรู้ทางพฤกษศาสตร์และให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศในป่าด้วย ซึ่งก็คือ Terrarium” มะลิอธิบายคอนเซปต์ของร้าน

Pain Point ข้อแรกและข้อใหญ่คือปัญหาอุตสาหกรรมดอกไม้ที่มีส่วนทำร้ายธรรมชาติ ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการปลูกที่เร่งผลผลิต เร่งสี เร่งความสมบูรณ์ของดอกไม้ด้วยการใช้สารเคมี ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าชีวิตของคนปลูกต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีไปด้วย แต่ค่าตอบแทนที่ได้รับกลับสวนทางและไม่ช่วยให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Malibarn : eco florist & herbarium

ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของ Sustainable Floristy Network (SFN) ที่เชื่อว่าอนาคตของดอกไม้สามารถยั่งยืนได้ จึงเน้นขายดอกไม้ที่ปลูกในประเทศไทยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งจากเกษตรกรชาวเชียงใหม่ ระยอง แพร่ และรับซื้อจากปากคลองตลาดอยู่บ้าง โดยคัดเลือกเฉพาะดอกไม้ที่มาจากแหล่งปลูกในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอนฟุตพรินต์จากการขนส่งและเพื่อให้เกษตรกรได้รับค่าแรงที่เหมาะสม ดอกไม้ที่ทุกคนเจอที่นี่เลยจะมีตัวแปรอยู่ที่ฤดูกาล ซึ่งนั่นก็ทำให้ทุกคนได้รู้จักกับดอกไม้ไทยที่หลากหลายและสวยไม่แพ้ที่ไหน

ปัจจุบัน Malibarn มีผู้ร่วมก่อตั้งอีกสามคนคือ พงศ์รัตน์ อรุณวัฒนาธร ที่ร่วมอุดมการณ์กับมะลิมาตั้งแต่ต้น  สุนิตย์ เชรษฐา จาก Change Fusion นักกิจการเพื่อสังคม และ Julia Kim-Davies เพื่อนสถาปนิกที่กำลังจะไปเรียนรู้เรื่อง Eco-Florist ด้วยกันกับมะลิอย่างจริงจัง

หากเปิดประตูเดินเข้าไปในร้าน โซนแรกเราจะพบกับ Flower Bar ที่มะลิกล่าวว่าได้แรงบันดาลใจมาจากสลัดบาร์ให้ลูกค้าสามารถหยิบผสมเลือกซื้อกลับไปเองได้เลย ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ราว 15 บาทเท่านั้น ซึ่งหากใครสนใจอยากจัดเป็นช่อที่นี่ก็มีบริการจัดให้จากวัสดุย่อยสลายได้เกือบทั้งหมด ทำให้ Malibarn เองก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ในการจัดดอกไม้รวมถึงการขนส่งไปถึงมือลูกค้า 

กลางห้องมีตู้ Terrarium หรือสวนขวดขยายใหญ่ ที่เราแอบรู้มาว่าเป็นการลงทุนที่แพงที่สุดในร้าน ตู้นี้จำลองระบบนิเวศในป่ามาให้เด็กๆ ได้สำรวจการอยู่ร่วมกันของระบบนิเวศ มีตั้งแต่พืชพรรณอย่างบีโกเนีย เฟินก้านดำ กนกนารี มอสที่ช่วยให้ความชื้น และที่เราได้เจอคือกบและหอยทากที่ออกมารับแขกในครั้งนั้นด้วย 

ตู้กระจกริมผนังเต็มไปด้วยขวดแก้วที่เก็บรักษาดอกไม้ใกล้รั้วบ้านตามวิธีของนักพฤกษศาสตร์แบบที่มะลิคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเก็บตัวอย่างพรรณไม้ดองในแอลกอฮอล์เพื่อรักษาอวัยวะของดอกไม้ให้อยู่ครบ การดองดอกไม้ใน Mineral Oil เพื่อรักษาสีและความสวยของดอกไม้ให้อยู่คงนาน การเก็บตัวอย่างแบบ Herbarium Sheet หรือภาพสเกตช์ที่ทำให้เห็นโครงสร้างของดอกไม้แบบที่มองเผินๆ อาจไม่เคยสังเกตเห็น

“เราอยากเป็นส่วนเล็กๆ ที่นำเอาธรรมชาติมาใกล้ชิดกับคนเมืองมากขึ้น เพราะอิมแพกต์หลายๆ อย่างเริ่มจากบริบทของเมือง เราอยากโปรโมตความหลากหลายทางชีววิทยา เริ่มจากตัวอย่างพรรณไม้คอลเลกชันแรกที่เราอยากนำพืชง่ายๆ มาให้เด็กๆ ได้ใกล้ชิด เราทำงานกับนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่เขาทำสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วเพื่อวิเคราะห์และจำแนกพรรณไม้ สำหรับดอกไม้ที่อยู่ในหอพรรณไม้ของเรา บางอันเรายืมมาจากพิพิธภัณฑ์ หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 ที่แม่ของมะลิ (ดร.ก่องกานดา ชยามฤต) เป็นคณะกรรมการอยู่ที่นั่น มีกลุ่มพืชหายาก เช่น ดารารัตน์ที่อยู่ในกลุ่มหัวหอม หม้อข้าวหม้อแกงลิง หรือลูกยาง นำมาเพื่อเพิ่มความตื่นตาตื่นใจให้เด็กๆ ด้วย” มะลิ นักพฤกษศาสตร์จากการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการเดินป่ากับคุณแม่และเติบโตมาในหอพรรณไม้อธิบาย 

ฟังดูอาจรู้สึกว่าที่นี่เหมาะสำหรับเด็กๆ แต่จริงๆ แล้วมะลิตั้งใจว่าใครที่อยากเรียนรู้ก็สามารถมาชมและพูดคุยกันได้โดยที่เธอยินดีอธิบาย รวมถึงคอลเลกชันตัวอย่างพรรณไม้ก็จะพยายามเปลี่ยนไปเรื่อยๆ  แต่หากใครชอบกิจกรรมที่นี่กำลังผลักดันเวิร์กช็อปอยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งผลปรากฏว่าคลาสมาลัยดอกไม้ไทยฮอตที่สุด ตรงกับความตั้งใจของมะลิที่อยากให้คนมาเรียนรู้ว่ามาลัยดอกไม้ไทยต้องใช้ทักษะและเวลา เธออยากให้อาชีพนี้สามารถอยู่ได้จากการได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับทักษะที่ละเมียดละไมและอดทน นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปจัดดอกไม้ หรือใครอยากทดลองทำ Herbarium Sheet ด้วยตัวเองก็สามารถติดตามกับทาง Malibarn ได้เลย ที่นี่มีเวิร์กช็อปเป็นประจำทุกเดือน

“เราอยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ชวนให้คนมาทำ Eco-florist หันมาใช้ดอกไม้ไทย ลดการใช้โฟม พลาสติก หรืออะไรที่อู้ฟู่ สิ่งนี้ทำให้ราคาช่อดอกไม้ลดลงด้วย เมื่อราคาดอกไม้ลดลง คนก็จะซื้อมากขึ้น เพราะคนเข้าถึงง่ายขึ้น ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์เขาได้ และเมื่อเรามีร้านดอกไม้ที่คิดคล้ายกันแบบนี้ เกษตรกรก็จะมีรายได้ที่ดีขึ้น ราคาสามารถจะแข่งขันกันได้ในระดับการปลูก มีธุรกิจเล็กๆ ที่เกิดขึ้น อันนี้เรามั่นใจเลย อยากให้มีธุรกิจกระดาษหรือโอเอซิสย่อยสลายได้ เราว่ามันมีโอกาสทางธุรกิจอีกหลายๆ อย่างที่อยู่รอบข้าง เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของเพื่อนบ้านด้วย ลูกค้าที่มากที่สุดของเราคือกลุ่มนักเรียนและเพื่อนบ้านแถวนี้ อยากให้เขาสามารถใช้ดอกไม้ในชีวิตประจำวันไปด้วยได้” มะลิกล่าวปิดท้ายถึงภาพในอนาคตของอุตสาหกรรมดอกไม้แบบ Eco-florist ที่เธอกำลังเรียนรู้และผลักดันผ่านพื้นที่เล็กๆ ที่ Malibarn : eco florist & herbarium แห่งนี้

Fact File


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม