ท่องไปในโลกหิมพานต์ของศิลปินชั้นครู “ท่านกูฏ” ที่ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์
Brand Story

ท่องไปในโลกหิมพานต์ของศิลปินชั้นครู “ท่านกูฏ” ที่ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์

Focus
  • โรงแรมมณเฑียร ซึ่งแปลว่า “เรือนหลวง” เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวาเลนไทน์ พ.ศ. 2510 ปัจจุบันได้รีโนเวทปรับโฉมใหม่ภายใต้การอนุรักษ์โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งผลงานภาพจิตรกรรมของ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ที่ยังคงเก็บรักษาไว้
  • ยุคหนึ่งโรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ เคยเป็นที่ตั้งของโรงละครมณเฑียรทอง โดยมีละครเวทีเรื่อง ฉันผู้ชายนะยะ นำแสดงโดย ดร.เสรี วงษ์มณฑา รวมทั้งการแสดงคอนเสิร์ต The Impossible และวง Isn’t เป็นการแสดงที่สร้างชื่อของโรงละคร

โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ ชื่อนี้ไม่ได้มีเพียงตำนานข้าวมันไก่เรือนต้นที่ได้ติดลิสต์มิชลินไกด์ ประจำประเทศไทย แต่ย้อนไปเมื่อ 53 ปีก่อน ตรงกับวาเลนไทน์ พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นวันเปิดให้บริการอย่างเป็นทาง ชื่อ มณเฑียร สุรวงศ์ ก็กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ทั้งในฐานะจุดหมายของเหล่าดาราฮอลีวูด เป็นศูนย์กลางความบันเทิงที่ตั้งของโรงละครมณเฑียรทอง สถานที่จัดคอนเสิร์ต แสดงละครเวที ส่วนในแง่สถาปัตยกรรมนั้น ฟาซาด (Façade ) ทรงเรขาคณิตถือได้ว่าเป็นความโมเดิร์นอย่างสุดๆ ในยุคนั้น แต่ภายใต้ความโมเดิร์น มณเฑียร สุรวงศ์ กลับจัดวางงานของศิลปินชั้นครู ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ หรือ ท่านกูฏ ไว้ได้อย่างร่วมสมัย

โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์

หลังจากที่ทางโรงแรมได้ทยอยปรับปรุงอาคารต่างๆ ไป ล่าสุดตุลาคมปี 2563 ก็ถึงเวลาที่ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ จะกลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ ที่ยังคงยืนยันจะนำเสน่ห์การตกแต่งที่สะท้อนศิลปะไทยให้เดินไปข้างหน้าคู่กับความร่วมสมัย ย้ำถึงการอนุรักษ์ความเป็นไอคอนแห่งยุค 70 และ 80 เอาไว้ โดยไม่ปฏิเสธที่จะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใส่ไว้ในการพักผ่อน

 ท่านกูฏ
ฟาซาดอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงแรม

“ฟาซาดของอาคาร South Wing ถูกออกแบบให้เหมือนลำปล้องของต้นไผ่ ในขณะที่อาคาร North Wing ถูกออกแบบให้ตำแหน่งห้องพักและหน้าต่างสลับกันเป็นฟันปลาระหว่างชั้น ส่งผลให้ฟาซาดของโรงแรมมณเฑียรมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นสะดุดตามาก”

สุพิชญา รักปัญญา หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจและสร้างสรรค์ กล่าวถึงงานออกแบบที่ยังคงสวยงามข้ามกาลเวลา ซึ่งงานออกแบบสถาปัตยกรรมของ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ นี้เป็นผลงานของ หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกผู้ออกแบบและก่อสร้างโรงแรม รวมทั้งยังเป็นผู้เสนอให้ตั้งชื่อโรงแรมแห่งนี้ว่า มณเฑียร แปลว่า เรือนหลวง สื่อว่าที่พักแห่งนี้พร้อมจะต้อนรับแขกที่เข้าพักอย่างพิเศษสุด และนอกจากงานออกแบบอาคารแล้ว หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี ยังเป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของโรงแรมที่มีลายเส้นเป็นรูปปราสาทเพื่อสื่อถึงชื่อของโรงแรมอีกด้วย

โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์
 ท่านกูฏ
การอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมภายในโรงแรม

สำหรับโครงสร้างนั้นโรงแรมมณเฑียรแบ่งห้องพักออกเป็น 2 อาคารหลัก ได้แก่ อาคารทิศใต้ (South Wing) จำนวน 200 ห้องเปิดให้บริการใน พ.ศ. 2510 และอีก 10 ปีถัดมาจึงขยายเปิดอาคารทิศเหนือ (North Wing) จำนวน 300 ห้อง และที่สำคัญไม่แพ้งานออกแบบโครงสร้างคือการตกแต่งภายใน รวมทั้งการนำผลงานภาพจิตรกรรมของศิลปินไทยชั้นครู ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ หรือ ท่านกูฏ หนึ่งในศิษย์เอกของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่สืบสานงานด้านจิตรกรรมฝาผนังมาประดับไว้ในโรงแรม

 ท่านกูฏ

ผลงานของท่านกูฏมีทั้งหมด 5 ภาพ ติดตั้งภายในห้องล็อบบี้ ห้องมณเฑียรทิพย์ (Red Room) และห้องพัก Imperial Suite โดยเนื้อหาหลักในภาพเป็นเรื่องราวของเหล่าเทพเทวดาที่สถิตในปราสาทตามความหมายของชื่อ มณเฑียร นอกจากนี้ยังมีภาพของกระบวนพยุหยาตราชลมารค และลายเส้นสัตว์ป่าหิมพานต์อันเป็นเอกลักษณ์ของท่านกูฏ

 โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์
ภาพสัตว์หิมพานต์ของท่านกูฏถูกนำมาเปลี่ยนเป็นงานตกแต่งภายใน

ต่อเมื่อมีการรีโนเวทปรับโฉมโรงแรม แนวคิดในการอนุรักษ์โครงสร้างและการตกแต่งจึงเป็นอีกเรื่องที่ทางทีมผู้บริหารดึงออกมาเป็นหัวใจหลัก นอกจากการเก็บรักษาโครงสร้างของฟาซาด บันไดเวียนหินอ่อน รวมทั้งราวบันไดทองเหลืองที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมในโถงต้อนรับไว้แล้ว ทางโรงแรมก็ได้ชุบชีวิตภาพของท่านกูฏขึ้นมาใหม่ ติดตั้งอยู่ในห้องรับรองแขกและห้องประชุมส่วนกลาง

 โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์

มากกว่านั้น Bing Bing Deng จาก Bing Design ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์และกราฟิกได้ตัดสินใจนำภาพสัตว์หิมพานต์ที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังของ ท่านกูฏ มาต่อยอดเป็นงานกราฟิกและข้าวของเครื่องใช้ภายในโรงแรม เช่น งานตกแต่งฝาผนังในห้องพัก คีย์การ์ด ป้ายแขวนประตู ชุดของใช้ในห้องน้ำ สินค้าที่ระลึก บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งต่อมรดกทางศิลปะไทยให้เดินทางจากอดีตถึงปัจจุบัน

Fact File


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์