MUJI ยกความมินิมอลไปเยือนพร้อมพงษ์ พร้อมเบนโตะ MUJI Green ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไทย
Brand Story

MUJI ยกความมินิมอลไปเยือนพร้อมพงษ์ พร้อมเบนโตะ MUJI Green ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไทย

Focus
  • MUJI มาเยือนย่านพร้อมพงษ์แล้ว สำหรับสาขาใหม่ล่าสุด “MUJI The EmQuartier” ในพื้นที่กว้างขวางกว่า 1,500 ตารางเมตร
  • อีกโซนเล็ก ๆ ที่น่าสนใจคือหมวด MUJI Green เปิด Normal Shop ที่ยกผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกในชีวิตประจำวันจากวิสาหกิจชุมชนมาทำรีฟิลสเตชั่น

MUJI มาเยือนย่านพร้อมพงษ์แล้ว สำหรับสาขาใหม่ล่าสุด MUJI The EmQuartier ในพื้นที่กว้างขวางกว่า 1,500 ตารางเมตร ที่เรียกได้ว่าเกือบทั้งชั้น 2 ของโซน Building B กว้างขวางแบบที่มองผลิตภัณฑ์ได้ทั้งสองทางเดิน แต่เขาแบ่งโซนผลิตภัณฑ์เป็นจุด ๆ ให้เดินง่ายตั้งแต่หมวดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่หากใครกำลังลังเลอยู่ก็สามารถมาดูขนาดสินค้าจริงไปพร้อมกับปรึกษาอินทีเรียดีไซน์ได้เลย ทั้งนี้ยังแบ่งออกเป็นหมวดสินค้ากรีนใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าโลคอลจากท้องถิ่นไทย และมุมกาแฟ ให้ได้นั่งพักขาจิบกาแฟพร้อมเบเกอรีระหว่างช้อปปิง

การตกแต่งพื้นที่ร้านของสาขานี้ยังคงคอนเซปต์ความเรียบง่ายและความเป็นธรรมชาติในสีเอิร์ธโทนสไตล์มูจิแบบที่เราคุ้นเคย โดยวัสดุไม้ที่นำมาตกแต่งภายในร้านมาจากการคัดสรรจากพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยเน้นการใช้ไม้รีไซเคิลเป็นหลัก ไฮไลต์ที่เด่นของสาขานี้เพิ่มเติมในส่วนของผลิตภัณฑ์ “ขนมท้องถิ่น” ที่คัดสรรมาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วไทยคบทุกภาค อาทิ เลมอนอบแห้งจากเลมอนบนดอยภาคเหนือ ขนุนทอดกรอบ ทองม้วนจากสุโขทัย หรือท๊อฟฟี่นมขนมวัยเยาว์แบบที่เรามักหยิบในร้านของฝาก ทั้งหมดนำมาบรรจุในแพ็คเกจจิงแบบมินิมอลสไตล์มูจิที่น่าซื้อขึ้นมาก

ทองม้วนสุโขไทยดีไซน์มูจิ

อีกโซนเล็ก ๆ ที่น่าสนใจคือหมวด “MUJI Green” เพราะนอกจากส่วนของโปรดักต์ที่ผ่านการผลิตจากวัตถุดิบที่แคร์โลกมากขึ้น จุดนี้ยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับใครที่กำลังมองหาต้นไม้จิ๋วหรือแม้กระทั่งกระถางใหญ่สำหรับเลี้ยงง่าย ๆ ในบ้าน อยู่คู่กับโซนของ Normal Shop ที่ยกผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกในชีวิตประจำวันจากวิสาหกิจชุมชนอย่างเช่น แชมพู สเปรย์ตะไคร้ไล่ยุงหรือสบู่ มาจัดเป็นสเตชันสำหรับรีฟีล ขยายแนวคิด Zero Waste Community ของร้านมาไว้ที่นี่อีกหนึ่งจุด

ไม้รีไซเคิลจากทั่วประเทศนำมาตกแต่งร้าน

ใครท้องร้องยามบ่ายก็สามารถแวะโซนกาแฟสั่งเครื่องดื่มให้ชื่นใจไม่ว่าจะเป็นหมวดกาแฟ ชาเขียวและน้ำสปาร์กกิงโซดารสสดช่ืน แต่ที่แตกต่างจากมูจิสาขาชิดลมคือที่นี่ได้เพิ่มเติมเบนโต๊ะเมนูใหม่เข้ามา ได้แก่  บะหมี่เย็นทรงเครื่อง ฮิยาชิ จูกะ (Hiyashi Chuka) อินาริ เบนโตะ (Inari bento) มากิ โรล (Maki) และข้าวยากินิกุ (Yakiniku) ปิดท้ายด้วยของหวานอย่างไอศกรีมรสฮิต Yuzu Maple กับความเปรี้ยวสดชื่นแทรกเนื้อส้มก็เป็นการคอมพลีทมื้อได้เป็นอย่างดี หรือที่ใหม่ล่าสุดสำหรับที่นี่โดยเฉพาะคือ รสช็อกโกแลตบราวนี่ (Chocolate brownie), รสบลูเบอร์รี่ชีสเค้ก (Blueberry cheesecake), รสไวด์เบอร์รี่ (Wild Berry), รสกาแฟ (Coffee) และรสรัมเรซิน (Rum raisin) ที่จะวางจำหน่ายเฉพาะสาขาเอ็มควอเทียร์เท่านั้น 

MUJI
MUJI
MUJI

MUJI The EmQuartier เปิดทำการวันที่ 29 กันยายน 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 22.00 น. และด้วยความที่มาย่านสุขุมวิททั้งที ตอนนี้เลยมีกระเป๋าผ้าลายใหม่ออกมาแบบลิมิเต็ดสำหรับนักท่องเที่ยวและนักสะสมด้วย มี 4 ลายพิเศษคือ ลายรถสามล้อตุ๊กตุ๊ก, ลายปลาตะเพียน, ลายยักษ์ และลายช้าง เฉพาะสาขาเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ อีกเช่นกัน 

MUJI
MUJI

Fact File

  • แบรนด์MUJI ก่อตั้งขึ้นที่ญี่ปุ่นในปี 1980 วางขายสินค้าหลากหลายชนิดตั้งแต่เครื่องเขียน สินค้าในครัวเรือน จนไปถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและอาหาร
  • Mujirushi Ryohin, คำว่าMUJI ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า “สินค้าคุณภาพ ไม่มียี่ห้อ” สอดคล้องกับแก่นของผลิตภัณฑ์ที่เน้นความเรียบง่าย มีประโยชน์หลากหลาย และความพอเพียง

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ