Stoondio วงดนตรีท่วงทำนองชีวิตคนเมือง ที่ไม่อยากหยุดอยู่แค่การทำเพลง
Brand Story

Stoondio วงดนตรีท่วงทำนองชีวิตคนเมือง ที่ไม่อยากหยุดอยู่แค่การทำเพลง

Focus
  • Stoondio วงดนตรีสัญชาติไทย ที่เกิดจากความชอบและงานอดิเรกของ ตูน-โชติกา คำวงศ์ปิน ที่ชอบฟังเพลงตั้งแต่ยังเด็ก และเริ่มสนุกกับการเล่นโปรแกรมเสียงแก้เบื่อสมัยเรียน จนต่อมากลายเป็นงานอดิเรกที่มีกลุ่มคนฟังและแฟนเพลงที่เหนียวแน่น แบบที่มักมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตกันอยู่เสมอ
  • ตูน ชื่นชอบการอ่าน ติดตามข่าวและข้อมูลความเป็นจริง โดยบอกว่าการแต่งเพลงของเธอเป็นนิสัยมากกว่าอาชีพ และมองว่า Stoondio จะไม่หยุดอยู่แค่เพลง แต่สามารถเป็นอะไรก็ได้

คุณเคยมีเพื่อนทำวงดนตรีไหม เพื่อนที่เล่าเรื่องด้วยเพลง เพลงที่เข้าใจว่าความสัมพันธ์ที่คุณมีอยู่มันดีจัง เพลงที่ในยามอกหักไม่ได้ปลอบด้วยการบอกให้คุณกลั้นน้ำตา หรือเพลงที่บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาถึงสัจธรรมของชีวิต ในจำนวนเพลงที่มีอยู่มากมาย ไม่มากก็น้อยเราขอเดาว่าใครที่ได้ฟังผลงานของ Stoondio หรือ ตูน-โชติกา คำวงศ์ปิน ต้องมีเพลงของเธอเป็นเหมือนเรื่องเล่าที่ดีจากเพื่อนคนหนึ่งแน่ ๆ และเพื่อรู้จักเจ้าของเรื่องเล่านี้ให้มากขึ้น Sarakdadee Lite เลยขอชวนตูนมาพูดคุยถึงการทำงานและมุมมองความคิดในชีวิตของเธอกัน

ตลอดเวลาราวหนึ่งชั่วโมงกว่าของการสนทนา นอกจากจะทำให้เราอยากกลับไปฟังเพลงของเธอมากขึ้นแล้วบทสนทนานี้เรายังได้ ‘รู้จักเธอ เท่าที่เธอให้ฉันรู้จัก’ (โปรดอ่านเป็นทำนอง) และยังพบว่าเรื่องราวในชีวิตของตูน Stoondio หรือแม้แต่กับทุก ๆ คนมีมิติเกินกว่าที่คำใดคำหนึ่งจะตัดสินได้

การก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน 

ว่างงาน คือคำตอบเมื่อเราถามถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา ตูนก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนอีกครั้งในชีวิต ด้วยการลุกออกจากเก้าอี้พนักงานประจำ ตำแหน่งครีเอทีฟ มาเป็นฟรีแลนซ์ครั้งแรก ซึ่งหลังจากสี่เดือนที่ผ่านมาก็พบว่าไม่ได้น่ากลัวนักสำหรับเธอ

“เรียกว่าว่างงานก็อาจจะดูเศร้า ๆ แต่เราอยากออกมาทำอะไรเอง พอเราใช้ชีวิตเป็นพนักงานประจำมาสิบกว่าปีหลังจากเรียนจบ มันรู้สึกเบิร์นเอาต์เลยอยากจะลอง เผื่อว่าแทนที่เราจะทำงานให้องค์กร ความสามารถเราจะเอามาทำอะไรให้กับตัวเองก็ได้ ซึ่งจริง ๆ เราก็ยังรับงานทั่วไป รับงานกราฟิก ครีเอทีฟ เพียงแต่ว่าไม่ผ่านบริษัท” 

ปลดล็อกชุดความคิดของการอวดเก่ง

หากย้อนกลับไปตามเส้นทางดนตรี Stoondio ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นผลของการออกจากเซฟโซนของตูนเช่นกัน เพราะสมัยเด็กตูนเลือกที่จะได้รับการจดจำในฐานะเด็กวาดรูปเก่ง ชอบครีเอทีฟ แต่อีกด้านของความชอบ ตูนเลือกที่จะเก็บผลงานเพลงเอาไว้ในพื้นที่ส่วนตัวหรือไม่ก็ส่งให้เพื่อน ๆ ฟังทาง MSN มากกว่า

“คนไทยจะถูกฟอร์มว่าการบอกว่าฉันถนัดอะไร เป็นเรื่องอวดเก่ง มันเป็นความคิดที่ไม่ดีของคนยุคเรา เป็นอารมณ์เหมือน ‘อย่าเด่น จะซวย’ อะไรแบบนี้ แต่สำหรับเรามันแค่เรื่องจริง ถนัดอะไรก็แค่ยอมรับ ถ้าไม่ถนัดก็แค่ยอมรับว่าไม่ถนัด ชุดความคิดแบบนั้นมันทำให้คนเสียเซลฟ์เอสตีม (Self Esteem) และเสียเวลากับชีวิตไปเยอะ ถ้าเรามองทุกอย่างเป็น Fact ว่าถ้าคุณเก่งเรื่องนี้ก็ทำไปสิ เรามองว่ามันธรรมดาที่คนเราจะต้องมีสักเรื่องที่เก่ง แล้วมันเกี่ยวกับว่าเขาอวดตัวเองตรงไหน

พอเราเริ่มมีชุดความคิดใหม่ขึ้นมา เพื่อนเคยถามว่าโพสต์เพลงตัวเองเยอะ ๆ ไม่กลัวคนหมั่นไส้เหรอ กลัวทำไม ก็เราทำได้ แล้วมันคือ Facebook เรา ถ้าเขารำคาญแสดงว่าเขาต้องมีบางอย่างที่อาจจะรู้สึกไม่ยินดีหรืออิจฉาหรือเปล่า เราเป็นคนไม่ติดเลยที่ใครจะมีเรื่องดี ๆ แชร์ลง Facebook เพราะเราไม่ได้อิจฉาอะไรเขา เรายินดีเสียอีก แต่เพราะเราไม่ได้เอาตัวเราไปเปรียบเทียบด้วย เขามีความสุขของเขาแบบนั้น เขาภูมิใจ เราก็ยินดี ชุดความคิดนี้เลยทำให้เรารู้สึกว่าต้องอันล็อก อันล็อกสังคมด้วย เด็กรุ่นใหม่ด้วย ไม่อย่างนั้นมานั่งท้อแท้เอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น อย่างเพื่อนเป็นเน็ตไอดอล เราเป็นโนบอดี้ เรารู้สึกว่ามันไม่เมกเซนส์

พอเราไม่ใส่ใจ คนก็เริ่มชินว่าเราทำเพลงได้ มันเป็นเรื่องธรรมดา นี่คืองานเรา นี่คืออาชีพเรา ถ้าคุณขายกาแฟแล้วคุณไม่โพสต์ว่าขายกาแฟก็ไม่ต้องทำก็ได้ นี่คือคำตอบว่าทำไมถึงไม่กล้า ชุดความคิดเก่ามันสอนเราแบบนั้น canceltimesharegeek ซึ่งเราเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่อยากให้คนอื่นมาคิดแบบเรา ทำให้ปกติ แล้วมันจะไม่รู้สึกว่าเป็นการอวดหรือไม่อวด มันคือการพูดเรื่องจริง”

การเขียนเพลงเป็นนิสัย 

ตูนเล่าให้ฟังว่า ความชอบฟังเพลงถูกสะสมมาตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยคนในครอบครัวต่างชอบฟัง จนช่วงวัยมัธยมเธอจึงเริ่มฝึกและเล่นกีตาร์เป็นแบบพื้นฐาน เขียนเพลงแซวเพื่อนอยู่บ้าง แต่เริ่มมีเพลงที่เขียนเป็นชิ้นเป็นอันตอนมหาวิทยาลัย มีวงที่เล่นดนตรีกลางคืนกับเพื่อนชื่อ Toon & The chum และได้พบกับเพื่อนพ้องในวงการดนตรีมากมายจากตอนนั้น แต่เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยพร้อมความชอบวิชาโฆษณา ตูนก็เลือกเดินหน้าเข้าสู่เอเจนซีใหญ่ และห่างหายจากการทำเพลงไปช่วงหนี่ง 

“พอเรียนจบแล้วทำงานประจำ ซึ่งเราอยู่เอเจนซีมันโหดอยู่แล้ว ตอนนั้นเราจะดูไม่ได้เรื่องเลย เพราะมาตรฐานเขา เราเองก็ชั่วโมงบินต่ำ เราต้องใช้เวลา ตอนนั้นเราตัดเรื่องดนตรีออกไปเลย แต่ในระหว่างที่งานเริ่มอยู่มือแล้ว เราทิ้งดนตรีไปไม่ได้ เรายังมีนิสัยชอบแต่งเพลง เวลาที่เหลือจากงาน เราก็ทำเพลงของเราไป

“เราเป็นคนซีเรียสเรื่องความรับผิดชอบมากนะ งานต้องทำให้เสร็จ ทำให้ดีด้วย ค่อนข้างจะเพอร์เฟกชันนิสต์เบา ๆ เพราะไม่ค่อยอยากให้ใครมาด่า บางทีคนจะมองว่าเราเนิร์ด แต่เราแค่ไม่ชอบการทำงานซ้ำ ชอบทำงานทีเดียวให้เสร็จ ซึ่งพอเราทำงานดีทำงานเร็ว เสร็จทันเวลา มีเวลาเหลือเยอะ เราก็จะไปทำเพลง ซึ่งการทำเพลงเราทำตลอดเวลา คิดอยู่ในหัว ทุกอย่างที่คิดไม่ใช่เป็นเพลงนะ แต่คิดไปเรื่อย คิดคอนเทนต์ บางทีคุยกับแฟนในรถ ส่วนมากเราจะดิสคัสกัน พูดไปเรื่อยจนสุดท้ายมันได้ประเด็นอะไรบางอย่าง แล้วถ้าพอมันแตกหน่อเป็นเพลง อันนั้นแป๊บเดียวก็ทำเสร็จ”

ภาพ : Lurzer’s Archive

เมื่อเราถามเธอต่อถึงวิธีการทำงานของ Stoondio คำตอบส่วนมากเธอมักขึ้นต้นประโยคด้วย “เวลาทำโฆษณา…” “สิ่งที่ครีเอทีฟคิด…” ทำให้เราเชื่อที่ตูนบอกว่า “โฆษณาสอนอะไรเราเยอะมาก” และตัวเธอเองก็ลงแรงไปกับมันเยอะ แต่นั่นก็เพราะเธอชอบมันด้วย ซึ่งเราก็เพิ่งได้รู้จากตูนในตอนนั้นเองว่า เธอเป็นดีไซเนอร์ หนึ่งในทีมที่เคยเข้ารอบ Shortlist เวที Spikes asia และ Cannes Lions ปี 2014 จากผลงานแพ็กเกจจิ้งดีไซน์ที่ชื่อ Expired Once It Turns Into This Colour ขณะทำงานอยู่ที่ Y&R Thailand ด้วย “ถ้าเราไม่ได้ทำเพลง เราคงอยากเห็นตัวเองเป็นกรุ๊ปเฮดหรือไดเรกเตอร์” เธอกล่าวแบบนั้นหลังจากบอกเล่าถึงช่วงเวลาที่ยังคงทำงานประจำ

แนวเพลงที่สะสมมาจากสิ่งแวดล้อมที่เจอ

“เราไม่รู้ว่าเพลงของ Stoondio เรียกว่าแนวดนตรีอะไร แต่ถ้าจากเนื้อร้องลูกเพจเขาบอกว่าเป็น เพื่อชีวิตคนเมือง คือเราเห็นบรรยากาศของคนเมือง เราก็เล่าในสิ่งที่เราเจอ เราโตมากับคนเมือง ทุนนิยม เราเห็นความ Suck Life จากตรงนี้แล้วก็เห็นแง่งามของมัน…แนวเพลงสะสมมาจากสิ่งแวดล้อมที่เราเจอ เราไม่สามารถจะเขียนในสิ่งที่เราไม่เข้าใจหรือไม่รู้ได้

“ส่วนแนวดนตรี ตอนเด็ก ๆ เราอยู่โรงเรียนคริสต์เราชอบเพลงในโบสถ์มากเลย บรรยากาศเพลงที่มันกังวาน เอาจริง ๆ เราไม่รู้ความหมายนะ แต่เข้าไปฟังความกังวานแล้วจะร้องไห้เอา ไม่รู้เป็นเพราะอะไร มันรู้สึกเหมือนโดนกอด นึกออกไหมเสียงระฆัง เสียงกลองฟลอร์ทอม เสียงกลองใหญ่ที่มันฮึ่ม ๆ เสียงซิมฟานี เราไม่รู้ความหมายหรอก แต่เสียงประสานมันฟังแล้วจะร้องไห้ แค่นั้นเลยคือดนตรีมันทำงานตรงนั้นแล้วเราชอบอะไรแบบนี้มาก เรารู้สึกว่าเป็นแค่ธุลีเล็ก ๆ ที่มีคนเห็น ตอนเด็กๆ ก็เลยจะฟังแนวนั้นเยอะ จากโรงเรียนด้วย แล้วจริง ๆ สมัยเด็ก ๆ เราจะชอบ R&B ของฝรั่ง ที่เขาใช้ซาวนด์กอสเปล (Gospel) เพลงคนดำอะไรแบบนี้”

เรื่องราวความเป็นจริง

นอกจากเรื่องความรู้สึก ส่วนผสมที่สำคัญมาก ๆ อย่างหนึ่งในเนื้อเพลงของ Stoondio ตูนบอกว่าคือเรื่องจริง ซึ่งมาจากความชอบอ่านข่าว อ่านข้อมูล และพบว่าเรื่องจริงมันเซอร์ไพรส์สำหรับเธอเสมอ “ถ้าเรามีคอนเทนต์ที่ดี เนื้อเพลงจะสวย ถ้ามุมมองมันดี เนื้อเพลงมันสวยแน่ ถ้าเรารู้แล้วว่าจะเล่าแง่งามนี้เดี๋ยวหัวท้ายมันจะมาเอง

“เราว่าโฆษณาสอนอะไรเราเยอะ เป็นวิธีคิดที่จะทำให้เรามองมากกว่าที่คนมองในเบื้องต้น สมมติเราเห็นสีแดง จะบอกว่าเป็นสีแดง แต่โฆษณาจะบอกว่าสีแดงจริง ๆ แล้วมันคือสีอะไรผสมกับอะไร จะมีอะไรที่ลึกไปกว่านั้น เป็นการดึงความจริงที่คนไม่เห็นขึ้นมา เช่นเวลาเขียนเพลงเราจะรู้สึกว่า คนไม่ได้มีแค่เรื่องของความรัก ความไม่รัก มันมีเรื่องที่ซ่อนอยู่ในนั้นเยอะ แต่น้อยคนที่จะเลือกมาพูดว่า ความไม่รักคืออะไร ดีเทลมันเยอะมาก มันมีความรำคาญ หงุดหงิด น่าเบื่อ ในความรักมันมีอะไรอยู่ เรารู้สึกว่าถ้าเราถอดมันออกมาได้ว่า เห้ย ทำไมเราถึงชอบคนนี้ เราชอบเพราะว่าเรารู้สึกรักตัวเองมากขึ้นว่ะ อะไรแบบนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นเรื่องจริง แต่ว่าน้อยคนที่จะเอามาพูดกัน

“เราแค่พูดเรื่องจริง บอกไม่ได้ว่าเพลงเราปลอบคนฟังหรือเปล่า แต่มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น จริง ๆ เวลาเจอปัญหาคนเราไม่ได้ต้องการทางออก เราอาจต้องการแค่คนฟัง ต้องการเพลงที่จะมาอยู่เน่า ๆ กับเขา คือเพลงเราไม่ได้ชี้ทางออกว่าเธอต้องสู้ต้องเก่ง คนมันไม่มีแรงนะเอาจริง ๆ คนมันเฮิร์ตมันไม่ไหวหรอก เพลงเรามีหน้าที่เป็นเบาะ ไม่ใช่เชือกที่ดึงเขาขึ้น แต่มันก็หลายมิติ บางคนจะรู้สึกว่าฉันจะไดร์ฟได้ดีกว่า ถ้าเพลงดันเขาขึ้น แต่โดยพื้นฐานอะไรแบบนั้นจะไม่ค่อยทำงานกับเรา เราเลยเลือกที่จะเขียนแบบ อยากร้องไห้ก็ร้อง ก็คนเสียใจ จะมาบอกไม่ให้เสียใจได้อย่างไร อกหักก็อกหักสิ จะมาดีขึ้นในสองวัน โกหก เราก็แค่อยู่เป็นเพื่อนเขาในเวลานั้น แค่นั้นเอง”

โจทย์ที่ดี

ในช่วงที่ผ่านมา Stoondio ได้ทำเพลงร่วมกับหลาย ๆ องค์กร หนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิกระจกเงา และ Peaceful Death โครงการที่สนับสนุนให้สังคมไทยเกิดการตระหนักถึงการเตรียมตัวตายที่ดี เมื่อเราถามว่าเธอโอเคกับการทำตามโจทย์หรือเปล่า ตูนตอบแทบจะทันทีว่า “ทำได้ แต่ต้องเป็นโจทย์ที่ดี” 

“เราเป็นคนซีเรียสเรื่องทำอะไรออกไป เราแคร์สังคมนะ เพราะเรารู้สึกว่าเราก็อยากอยู่ในสังคมที่ดี และสิ่งที่เราทำควรออกมาเมกเซนส์ ถ้าเราไม่ได้รักในพื้นที่ที่เราอยู่ มันก็เหมือนเราไม่รักตัวเอง เราแคร์สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะสุดท้ายเราจะเป็นคนที่รับเอฟเฟกต์นั้นเอง

“การทำงานกับองค์กร องค์กรเขาจะมาด้วยประเด็น เช่นมูลนิธิกระจกเงาเขาพูดถึงเรื่องคนหาย เพียงแต่ในคนที่หาย เราไม่ได้มองแค่ว่าเขาหาย เรามองในมุมของคนที่รอเขากลับมาด้วย พอเปลี่ยนมุมมองปุ๊บเราก็จะได้เนื้อเพลงอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเราเล่าในมุมของคนที่หายเราอาจจะไม่รู้ แต่ในมุมคนที่รอเรื่องมันเต็มไปหมดเลยนะ อันนี้ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่เราชอบ

“Peaceful Death ก็เหมือนกัน แต่ว่าอันนี้เราอาจจะมีต้นทุนบางอย่าง หนึ่งคือเพลงเราเล่าความสุขุมของชีวิตแบบนี้อยู่แล้ว สองคือเราเคยอยู่คลาสมรณานุสติหรือการเตรียมตัวตาย เราก็จะมีความเข้าใจแบบที่เวลาเขียนเพลงนี้แล้วเรารู้สึกไม่ปลอม เพราะเราเคยปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ในเรื่องของการเตรียมตัวตายมาแล้ว เมื่อประมาน 2 ปีก่อน แต่จริง ๆ เราเป็นคนมีแนวคิดแบบนี้อยู่แล้ว เป็นคนไม่ได้กลัวความตาย มันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่พูดกันได้เรื่อย ๆ เพียงแต่เราไปเลี่ยงเพื่อจะบอกว่ามันไม่มงคล แต่สำหรับเราปกติ มันพูดกันได้ องค์กรเขาเลยต้องการความคิดของคนรุ่นใหม่ ๆ เพื่อที่จะบอกได้ว่าเรื่องพวกนี้มันธรรมดานะ มันควรจะเตรียมตัวแล้วก็จัดการตัวเองกันก่อนที่จะไม่ได้เคลียร์ก่อนไปด้วยซ้ำ คนเรามีเยอะแยะมากที่ไม่ได้เคลียร์ บางทีปัญหากับคนที่เสียไปแล้วมันเยอะมาก เรื่องพวกนี้เลยมีมาให้เคลียร์กัน สุดท้ายแล้วคำเดียวเลยคือมันลดทิฐิ การจากไปทำให้ทิฐิมันลดลง เราก็เลยพูดในมุมคนรุ่นใหม่ที่อยากให้คนรุ่นเราเองกล้าไปพูดกับพ่อแม่ มันเลยไม่ได้เป็นเรื่องที่เหนือความพยายามที่จะเขียน เราชอบด้วยเพราะเราได้เล่าในสิ่งที่เราคิดแล้วก็มีอีกหลาย ๆ คนที่เดินทางมาสู่ความคิดใกล้ ๆ กัน หลาย ๆ คนชอบเพลงนี้มาก ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องถูกใจทุกคน มันเข้าถึงแค่บางกลุ่มคนที่พาเมสเสจนี้ไปให้เขาเข้าถึงก็ได้”

อนาคตที่อยากทำให้สิ่งแวดล้อมของ Stoondio ดีขึ้น

นอกจากผลงานและโปรเจกต์ใหม่ ๆ ที่เรารอติดตามต่อไป อีกหนึ่งความตั้งใจของตูน คือการทำสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ Stoondio โดยที่เธอไม่ได้มองว่า Stoondio จะหยุดอยู่แค่เพลง แต่เป็นอะไรได้หลายอย่าง 

“ถ้าเรามองว่าเพลงคือเพลงจะหยุดที่ตรงนั้น แต่สำหรับเรามันเป็นนิสัย เป็นไลฟ์สไตล์ เรารู้สึกว่าคนที่ชอบงานเรา เขาชอบเพลงส่วนหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วเขาชอบที่เขาชอบวงเรา เขาชอบตัวเขาเองด้วย เขาภูมิใจนะ เราโคตรนับถือเลย เพราะคนที่ชอบเพลงเราไม่เยอะ แต่ในทุกคนที่รักมันจริง ๆ เขาภูมิใจที่เขาได้รักวงนี้ หน้าที่เราคือทำให้เขารับรู้ว่าเรารู้นะว่าคุณภูมิใจ และเราจะทำให้คุณภูมิใจขึ้นที่ชอบเพลงเรา

“เราอยากทำให้มันเป็นคัลเจอร์ จริง ๆ มันเป็นวิธีการคิดของแบรนดิ้ง เราเชื่อว่าถ้าวันหนึ่งเราเกิดพลาดอะไรขึ้นมา เขาจะไม่ทำร้ายเราแน่นอน เราต้องทำให้เขาได้อะไรบางอย่างจากเราไปมากกว่าการซื้อขายซีดี เขาต้องได้ความตั้งใจ ความรักจากเรากลับไปด้วย มันต้องมีความเป็นมนุษย์มนาหน่อยหนึ่ง วันหนึ่งเขาอาจจะไปเจอวงอื่นหรือไปฟังอะไรก็ได้ แต่ว่าถึงอย่างไร ถ้าวันหนึ่งเขาได้ยิน ยินดีที่ได้พบเธอ แล้วเขาได้ย้อนมาฟัง เราว่าตอนนั้นแฟลชแบ็กทำงานแล้ว

“เราอยากลองทำแต่ไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่านะ แต่ใจเรารู้สึกว่าจริง ๆ มันได้ ลึก ๆ แล้วสำหรับ Stoondio เพลงอาจจะเป็นแค่อินเตอร์เฟดก็ได้ สุดท้าย Stoondio อาจจะเป็นกลุ่มที่มาแชร์แนวคิดกัน แค่เพลงเป็นหนึ่งในหน้าตาของมันที่มาก่อน จริง ๆ เราอยากเป็นนักเคลื่อนไหว ชอบมาก ถ้าเรามีโอกาสทำอะไรที่มันได้เคลื่อนไหวสังคมหรืออะไรได้ เราทำอยู่นะ แต่เราทำผ่านเพลง ซึ่งกำลังจะเขยิบไปโดยรอบ เราอยากจะเล่นดนตรีในร้านที่ไม่จำเป็นต้องมีแอลกอฮอล์ มีเด็กอีกเยอะมากที่อยากฟังดนตรีแล้วเขาอายุไม่ถึง 18 และเขาไม่อยากกินเหล้า อยากกลับบ้านเร็ว แล้วทำไมเราต้องให้เขาไปรอตอนห้าทุ่ม ซึ่งร้านไม่ผิดนะ แต่คัลเจอร์เราไม่เคยเปิดประตูให้พื้นที่อื่นเลย เราเลยคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่ Stoondio จะเล่นตอนหกโมงเช้าเพื่อไปดูพระอาทิตย์ขึ้นหรือเล่นในร้านกาแฟ เราไม่แน่ใจว่าวิธีนี้มันจะเกิดขึ้นในบ้านเราได้ไหม เป็นมูฟเมนต์ใหม่ได้ไหม เราอาจจะทำเพลงที่คนไม่ได้พาแค่เพื่อนมาฟัง แต่พาแม่มาฟังด้วย เป็นวงแรกที่คนจะไม่เขิน เราแค่อยากทำมูฟเมนต์บางอย่าง และเพื่อตอบสนองความชอบของตัวเองด้วย”

stoondio

ด้วยเวลาที่มีมากขึ้น เราน่าจะได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ จาก Stoondio อยู่เรื่อย ๆ ในปีนี้และต่อ ๆ ไป เห็นแว่ว ๆ ว่าเธออยากทำพอดแคสต์แต่ยังอยู่ในช่วงคิดหาแนวทาง เพราะเธอไม่อยากทำแล้วปล่อยมันหายไป ส่วนปีนี้นอกจาก Stoondio Houseblend แล้ว เธอว่าน่าจะมีโปรเจกต์เกี่ยวกับกาแฟออกมาอีก ซึ่งเราคงต้องรอติดตามกันต่อไป 

ก่อนจบบทสนทนา เราถามทิ้งท้ายกับตูนว่าถ้าตอนนี้จะเขียนเพลงขึ้นมาสักเพลง อยากเล่าเกี่ยวกับอะไร และนั่นก็ทำให้เราได้พบกับอีกหนึ่งความชอบ และอีกหนึ่งรูปแบบความรักของเธอ

“อยากเขียนเกี่ยวกับแมว เพราะเรารักแมวเรา เราชอบมัน มันน่ารัก จริง ๆ เราชอบคอนเซ็ปต์พฤติกรรมแมวนะ เวลาเขียนเพลงโคตรมีเสน่ห์เลย มันมีความนิ่งของมันแต่มันรับรู้นะว่ามันรักเรา ความไม่แยแสของมันมีเสน่ห์มาก แล้วเราก็ยังชอบมันที่เป็นแบบนั้น มันข่วนเราเราก็ยังรักมัน ก็เลยรู้สึกว่า เราชอบสัตว์ชนิดนี้” 

สิ่งที่ Stoondio อยากบอกกับแฟนเพลง

“อย่าเพิ่งรำคาญเราแล้วกัน (หัวเราะ) ฝากให้เขายังอยู่ในวงโคจรเรา แค่นั้นแหละ อย่างน้อย ๆ มาแวะเวียนกันบ้าง อะไรกันบ้าง เราไม่ได้คาดหวังให้ใครมาทรีตหรือสนใจเราขนาดนั้น แต่เวลาเซ็ง ๆ เฮิร์ต ๆ แล้วเพลงที่จะไปช่วยบรรเทาอะไรเขาได้ให้นึกถึงเพลงเรา แค่นี้ดีกว่า ให้นึกถึงเราบ้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นสุขอย่างเดียวนะ ทุกข์อะไรได้หมด อยากให้เขานึกถึงเพลงเรา ให้มันไปอยู่ใน Ost. ของชีวิตเขาหน่อยแล้วกัน”

Fact File

ขอบคุณสถานที่ : Walden Home Cafe ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ย่านคลองสาน


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"