รินศรัทธา กาญจนวดี : กวีผู้ใช้หัวใจแทนดวงตาอันมืดมิด
Faces

รินศรัทธา กาญจนวดี : กวีผู้ใช้หัวใจแทนดวงตาอันมืดมิด

Focus
  • ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ แต่งโดย รินศรัทธา กาญจนวดี หรือ หทัยรัตน์ จตุรวัฒนากวีผู้มีดวงตาอันมืดมิด คือหนึ่งในหนังสือบทกวีที่เข้ารอบ Shortlist 8 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประจำปี 2562
  • วิชาภาษาไทยและการแต่งบทกวีคือสิ่งที่กวีผู้นี้เกลียด เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เธอถูกเพื่อนบูลลี่และส่งให้เธอแสดงพฤติกรรมด้านลบในวัยเด็ก แต่แล้ววันหนึ่งกวีก็เป็นแสงสว่างในชีวิตที่ทั้งหล่อเลี้ยงชีวิต และทำให้เธอได้อยากส่งต่อแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

หนึ่งในหนังสือบทกวีที่เข้ารอบ 8 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประจำปี 2562 คือ ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ ที่แต่งโดย รินศรัทธา กาญจนวดี กวีผู้มีดวงตาอันมืดมิด ในวัย 28 ปี เธอยังคงร่าเริงและส่งยิ้มให้ผู้คนรอบข้างบ่อยครั้ง แต่ในรอยยิ้มและความมานะบากบั่น ในการฝึกฝนแต่งบทกวี ทั้งที่ดวงตาทั้งสองข้างมองไม่เห็น ก็เป็นอีกสิ่งที่จะต่อเติมพลังใจให้กับใครหลายคนได้มองเห็นโลกที่แตกต่างโดยใช้ใจสัมผัส

รินศรัทธา กาญจนวดี

ถูกบูลลี่จนชีวิตหักเห

“เขาทั้งคู่คงมีเหตุผลบางอย่าง” หทัยรัตน์ จตุรวัฒนา  เจ้าของนามปากกา รินศรัทธา กาญจนวดี กวีผู้สูญเสียดวงตาเล่าถึงเหตุผลที่ไม่ต้องการคำตอบ ในห้วงเวลาที่เธอลืมตาดูโลกก่อนกำหนดคลอด การจากไปของพ่อ-แม่ หลังนำทารกมาทิ้งไว้กับญาติผู้ใหญ่ ที่ต่อมาคือ แม่บุญธรรม ผู้เป็นแสงสว่างนำทาง

ถึงเธอจะไม่ได้ดำดิ่งสู่โลกมืดตั้งแต่กำเนิด แต่ด้วยหลังคลอด แสงไฟในตู้อบทารกทำร้ายดวงตาข้างซ้ายจนบอดสนิท ขณะที่ดวงตาขวายังมองเห็นโลกของเด็กๆ ที่ยังโลดเต้นสนุกสนานในบ้านสวน จังหวัดนครปฐม

ภาพความร่าเริงของเด็กหญิงวัย 2 ขวบที่วิ่งเล่นรั้งท้ายเพื่อนผู้ละแวกบ้าน ทำให้แม่บุญธรรมกลับเกิดความวิตกกังวลเมื่อนึกถึงคำที่หมอบอกว่า เด็กน้อยอาจสูญเสียการมองเห็นดวงตาข้างเดียวในอนาคต ทางออกที่ดีที่สุดคือการพาน้องไปฝึกเรียนอ่านเขียนอักษรเบรลล์ ในโรงเรียนที่กรุงเทพฯ

“ภาพที่เราเห็นตอนนั้น ทุกเช้ามืดตอนตี 4 แม่จะปลุกให้ตื่นเพื่ออาบน้ำ เดินทางไปเรียนในกรุงเทพฯ ทุกวัน แม้อายุแค่ 2 ขวบ แต่แม่ก็ยอมลำบากเพื่อให้เราได้รับการศึกษา โดยจะเดินทางไปกลับ นครปฐม-กรุงเทพฯ จนพอขึ้นชั้น ป.2 แม่บุญธรรมแต่งงานต้องย้ายไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล แม่เลยให้มาอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ”

รินศรัทธา กาญจนวดี

แต่การห่างอกแม่บุญธรรมก็นำไปสู่การดำดิ่งในห้วงความรู้สึก เพราะเวลานั้นเธอได้แต่ย้ำคิดว่าทำไมแม่ต้องทิ้งให้มาอยู่กับญาติ ทุกเย็นหลังเลิกเรียน เพื่อน ๆ จะมีพ่อแม่มารับที่โรงเรียน แต่เธอไม่มีเหมือนเพื่อน ๆ ยิ่งทุกครั้งที่แม่มาส่งทุกวันจันทร์ ภาพที่แม่ค่อย ๆ เดินห่างออกไปเหมือนบาดแผลที่ถูกกรีดลึกซ้ำ ๆ

ห้วงเวลานั้น การเรียนติดลบพอ ๆ กับชีวิตที่ถูกผู้คนรอบข้างบูลลี่ แม้มองเห็นเพียงข้างเดียว แต่การใช้ชีวิตก็ดูจะเชื่องช้า และกดลึกด้วยถ้อยคำเช่น…

“แกไปเถลไถลที่ไหนมา อ๋อ… ลืมไปแกมันตาบอด ทำอะไรก็ช้าเป็นปกติ”

“อย่างเธอ ภาษาพ่อ-แม่ยังเรียนไม่ได้ แค่แต่งกลอนง่าย ๆ ยังแต่งไม่ได้ ต่อไปจะไปทำอะไรกิน”

สิ่งนี้กระตุ้นให้เด็กหญิงในวันนั้นแสดงพฤติกรรมด้านลบออกมา เพราะการอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ บางครั้งก็จะถูกตีโดยไม่ทราบสาเหตุบ่อยครั้งเข้าจึงเริ่มแสดงออกด้วยพฤติกรรมขี้ขโมย ที่พอเห็นเพื่อนกินขนมแล้ววางไว้จะไปแอบเอามากินเพราะไม่ได้กินเหมือนตอนอยู่กับแม่ ที่หนักคือตอนที่ขึ้น ป.5 ในชั่วโมงเรียนภาษาไทย ครูให้ทุกคนเขียนกลอนแล้วออกไปอ่านหน้าห้อง เธอทำเท่าที่ความสามารถจะมี แต่เมื่อก้าวออกไปอ่านบทกวีหน้าชั้นเรียน เพื่อนทั้งห้องกลับหัวเราะบทกวีที่เธอเขียนถึงแม่ สิ่งนี้ตอกย้ำและผลักให้เธอไม่สนใจเรียนวิชาภาษาไทย ครูเองก็ไม่สนใจในพฤติกรรมลบที่เธอแสดงออก กลับปล่อยให้ล่วงเลยจนผลสุดท้ายต้องตกวิชานี้

“พอย้อนกลับไปมองเรื่องราวในช่วงเวลานั้น มันทำให้เราเข้มแข็งขึ้น เพราะตอนนั้นเราไม่สนใจอะไรเลย คิดแต่อยากจะให้ถึงวันศุกร์เร็ว ๆ เพราะแม่จะมารับกลับนครปฐม จะได้ไปหาอาม่า และไม่อยากให้ถึงวันจันทร์ที่แม่จะมาส่งให้อยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ หลังจากจบ ป.6 ก็ขอแม่กลับไปเรียนที่นครปฐม เพราะทนไม่ไหวกับสิ่งที่เกิดขึ้น” เธอเล่า พร้อม ๆ กับปาดน้ำตาเมื่อนึกถึงอดีตที่เกิดขึ้น

รินศรัทธา กาญจนวดี

รุ่งเช้าที่สูญเสียดวงตาอีกข้าง

“เช้านั้นตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงนกร้อง แต่ดวงตาของเราทั้งสองข้างกลับมืดสนิท แรก ๆ ก็ถามตัวเองว่า ยังมืดอยู่ใช่ไหม แต่เสียงนกร้องคือธรรมชาติที่ไม่เคยโกงมนุษย์ นาทีนั้นก็รู้แล้วว่าเราได้ตาบอดทั้งสองข้าง แต่เช้านั้นไม่มีเวลาให้คิดอะไรมาก เพราะต้องรีบไปโรงเรียน” รินศรัทธาอธิบายถึงความผิดปกติ ในวัย 14 ปี

ในเช้าที่ไม่เหมือนเก่า… เธอกระโจนเข้าไปเกาะหลังเพื่อนสนิทตั้งแต่เข้าแถวตอนเช้า เพื่อหวังให้เพื่อนทำหน้าที่แทนดวงตาข้างเดียวที่เสียไป แต่ในช่วงพักเที่ยง ความรู้สึกบางอย่างกลับเปลี่ยนแปลงเธอไปตลอดชีวิต

“ช่วงพักเที่ยงเพื่อนจูงขึ้นมาบนตึกเรียน เราคิดว่าเพื่อนจะพามานั่งคุยกันริมระเบียง แต่ในความมืดบอดเราได้ยินเสียงฝีเท้าของเพื่อนห่างออกไปเรื่อย ๆ ความรู้สึกตอนนั้นไม่ได้เสียใจ เราไม่เคยเสียใจที่ตาบอด แต่มันเป็นความรู้สึกว่าเราไร้ค่า เหมือนเรากำลังจมอยู่ในทะเลที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เสียงฝีเท้าของเพื่อนที่ทิ้งห่างออกไปกำลังไปสู่แสงสว่าง แต่เราค่อย ๆ จมลงในความมืดทีละมิลลิเมตร ราวกับในโลกนี้เหลือเราเพียงคนเดียว แต่ระหว่างที่จมลึกไปเรื่อย ๆ กลับได้ยินเสียงฝีเท้าอีกคู่ค่อย ๆ เดินเข้ามานั่งข้าง ๆ แล้วก็เอ่ยขึ้นว่า มาอ่านหนังสือกัน เราจำได้ว่าเป็นเสียงครูสอนภาษาไทยที่เคยสอนตอน ม.2 ซึ่งหลังจากนั้นทุกพักกลางวันจะมาหาครู เพื่อให้ครูอ่านบทกวีให้ฟัง”

จากเด็กที่เคยสอบตกวิชาภาษาไทย และดวงตาได้มืดบอดลงทั้งสองข้าง แต่กลับเห็นแสงสว่างจากเสียงอ่านบทกวีของครู ในห้วงเวลาที่สิ้นหวัง สิ่งนี้ทำให้เธอค้นพบว่า จะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยบทกวี และหลังจากนั้นครูก็ได้ชักชวนให้เข้าอบรมค่ายของสมาคมนักกลอน และได้เจอกับ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่เธอชื่นชอบบทกวีของท่าน และอดไม่ได้ที่จะถามถึงการบ่มเพาะความเป็นกวีว่าหากตัวเองอยากเขียนได้อย่างท่านจะต้องทำอย่างไร

คำตอบที่ได้จากอาจารย์เนาวรัตน์ คือ ต้องหัดเขียนกวีให้ได้วันละ 1 บท แม้เธอจะไม่มีความมั่นใจ แต่ก็เริ่มเขียนกวีวันละบทในทุกวัน ช่วงแรก ๆ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะไม่รู้จะเขียนอะไร เนื่องจากชีวิตทุกวันก็ซ้ำ ๆ กัน แต่ในความไม่มีอะไรก็ทำให้เริ่มหันมาสังเกตชีวิตตัวเองในทุกวัน จนพบว่า ในรายละเอียดของชีวิตแต่ละวัน จะมีแง่มุมความรู้สึกที่แตกต่างกันไป และนี้คือวัตถุดิบสำคัญของกวี

แต่ด้วยดวงตาที่มองไม่เห็นทั้งสองข้าง เทคนิคการฝึกฝนการเขียนบทกวี นอกจากการท่องโลกอินเทอร์เน็ตด้วยการฟังเสียงจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่แปลงบทกวีจากไฟล์ดิจิตอลให้เป็นเสียงแล้ว การติดตามข่าวสารบ้านเมืองก็ทำให้เริ่มสั่งสมวัตดุดิบทางความคิดมากขึ้นเรื่อย ๆ

รินศรัทธา กาญจนวดี

ขณะเดียวกัน เธอก็ฝึกฝนการสร้างมโนภาพในบทกวี ด้วยการศึกษาบทกวีของ สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์ กวีชาวใต้ผู้ล่วงลับ โดยฝึกเขียนกลอนรัก โต้ตอบกับบทกวีที่ท่านสนธิกาญจน์เขียนไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต แม้บทกวีของเธอจะไม่ได้เผยแพร่ แต่ถือเป็นเทคนิคที่ทำให้เธอมีรากฐานด้านอักษรที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ

และเมื่อเริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ในคณะนิเทศศาสตร์ เธอก็เริ่มสนใจบทกวีในแนวทางเพื่อชีวิตและสังคมมากขึ้น บทกวีของนักเขียนยุคแสวงหาหลายท่านตราตรึงในดวงใจ แต่การจะค้นหาวัตถุดิบของการเขียนแต่ในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างเดียงคงไม่ได้ ซึ่งในปี พ.ศ.2552-2553 เป็นช่วงเวลาที่มีการประท้วงแบบประจันหน้าของทั้งสองฝ่ายการเมือง เธอจึงตัดสินใจเดินทางเข้ามาในพื้นที่การชุมนุม

“ตอนนั้นเป็นการชุมนุมของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เราไปฟังพวกเขาทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการอ่านบทกวีบนเวทีปราศรัย พอไปฟังเราก็มาคิดตกตะกอนด้วยตัวเอง เขาทั้งสองฝ่ายต่างก็มีความหวังดีแต่มองกันคนละมุม ห้วงเวลานั้นกระแสความเกลียดชังมีต่อกันสูงมาก การไปชุมนุมถ้าเราเลือกไปฟังแค่ฝ่ายเดียวก็จะถูกหล่อหลอมให้มองฝ่ายตรงข้ามเหมือนปีศาจ แต่ถ้าเรามองคนที่คิดต่างด้วยความรัก ไม่เป็นเหมือนปีศาจ การคุยกันก็จะง่ายขึ้น และไม่เกิดความรุนแรงอย่างที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้”   

สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ ทำให้เธอตกตะกอนความคิด จากการเขียนบทกวีรัก เริ่มจะวิพากษ์วิจารณ์สังคมผ่านตัวอักษร ขณะเดียวกันเธอก็หาวัตถุดิบในการเขียนผ่านโลกออนไลน์ และการอ่านวรรณกรรมที่วิจารณ์สังคม ในเรื่องระบบชนชั้นของนักเขียนไทยและต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ

สู่เส้นทางบทกวีเล่มที่ 2

การเขียนบทกวีวันละ 1 บท จากความคิดแรกเริ่มที่เธอไม่มั่นใจ และตั้งใจจะหอบความสิ้นหวังไปบอกกับอาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในปีถัดไปที่จะได้เจอกันว่า เธอทำไม่ได้ด้วยความสิ้นหวังและไร้แสง แต่ 13 ปี ที่เขียนบทกวีทุกวัน กลับกลายเป็นแสงสว่างที่เข้ามาทดแทนความมืดมิดในดวงตา

เพราะหลังจากรวมเล่มบทกวีเล่มแรกที่ชื่อ “รินศรัทธา” ที่เนื้อหาส่วนใหญ่เน้นกลอนรัก ความฟุ้งหวานในแบบของเด็กสาว และการฝึกปรือโต้ตอบบทกวีตามแบบมโนภาพที่ฝึกฝน โอกาสของการรวมเล่มบทกวีเล่มที่ 2 ก็เปิดขึ้น เมื่อ อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ขอดูบทกวีที่เธอเขียนเก็บไว้เพื่อนำไปรวมเล่ม ส่วนหนึ่งก็เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เธอต้องไปโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ

หลังจากนั้นอีก 4 เดือน การเดินทางของบทกวีทั้ง 130 สำนวน ก็ได้รับการขัดเกลาและเลือกสรรจากบรรณาธิการสำนักพิมพ์ On Art จนเหลือ 70 สำนวน และกลายมาเป็นหนังสือรวมบทกวีเล่มที่ 2 ในชีวิตที่ชื่อ “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” เนื้อหาภายในเล่ม นอกจากจะเป็นเรื่องราวของเธอที่สูญเสียดวงตาแล้ว ยังเติมเต็มด้วยบทกวีที่เธอเน้นย้ำว่า เป็นการมองโลกที่ขยายขอบเขตมากกว่าเรื่องของตัวเอง

“ภาพในหัวเมื่อได้รับชักชวนให้รวมเล่มบทกวี ‘ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ’ สิ่งที่คิดไว้คือ ภาพท้องฟ้า ทะเล และภูเขา ซึ่งเราเก็บงำภาพนี้ไว้โดยไม่ได้บอกบรรณาธิการ จนวันที่หนังสือเปิดตัว ภาพปกของหนังสือเป็นเหมือนภาพที่เราคิดไว้ มันน่าอัศจรรย์มาก เพราะสิ่งที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า บทกวีเขามีชีวิต เขาต้องการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้กับผู้คนในสังคมได้ยิน โดยมีเราที่เป็นเพียงผู้ส่งสาร”

บทกวีทำให้เธอเห็นดวงตาที่ซ่อนอยู่ภายในของทุกคน ไม่จำเป็นว่าต้องไปนั่งสมาธิ หรือกำหนดจิตเพื่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา เพียงแต่เราต้องอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ เรียนรู้และยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งนี้จะทำให้เราสัมผัสดวงตาที่อยู่ภายในใจของตัวเอง เช่นเดียวกับบทกวี ไม่ว่าจะเป็นกวีเศร้า หรือเบิกบาน ทุกคนจะสัมผัสได้หากเป็นไปอย่างธรรมชาติ แต่สิ่งที่เธอได้เรียนรู้และตกตะกอนมาเป็นรวมเล่มบทกวี “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” คือ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทั้งโลกได้ แต่เราสามารถทำให้โลกรอบตัวเราชุ่มฉ่ำได้ จากหัวใจของเรา ที่หยาดหยดลงสู่คนรอบข้าง

และจากการที่หนังสือรวมบทกวีเล่มนี้เข้ารอบ 8 เล่มสุดท้าย รางวัลซีไรต์ประจำปี 2562 ถือว่ามาไกลเกินฝัน เพราะรางวัลไม่ใช่สิ่งที่โฟกัสตั้งแต่เริ่มต้นเขียนบทกวี แต่บทกวีเป็นแสงสว่างในโลกที่มืดมิด และวันนี้บทกวีเหล่านี้ก็ได้ขยายขอบเขตไปสร้างแสงสว่างและให้กำลังใจกับผู้คนที่ได้อ่านมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นเป้าหมายที่ต้องการ

“สำหรับคนตาบอดคนหนึ่งที่มีความรักในการเขียนบทกวี การได้เขียนกลอนทุกวัน วันละ 1 บท เป็นความสุขที่ได้รับตอบแทนอยู่แล้วในทุกวัน ไม่มีอะไรจะต้องเสียใจ เพราะบทกวีได้เดินทางมาไกลถึงรอบ 8 เล่มสุดท้ายก็พิเศษที่สุดแล้ว มันเป็นยิ่งกว่าความฝันของคนที่รักในการเขียนกวี ได้หรือไม่ได้รางวัลก็ไม่มีความเสียใจใดๆ มีแต่ความอบอุ่นใจที่มาถึงจุดนี้”

บนชั้นดาดฟ้าของตึกใจกลางเมืองหลวง… “รินศรัทธา กาญจนวดี” ยังคงยิ้มแย้มส่งเสียงหัวเราะตลอดการสัมภาษณ์ ในโลกอันมืดมิดของเธอ ประสาทสัมผัสที่เหลืออยู่ สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การฝึกฝนแสวงหาความเชี่ยวชาญผ่านบทกวี หากแต่ยังต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อบ่มเพาะความคิดให้เห็นสัจธรรมของโลกทั้งด้านมืดและสว่างไสว

Fact File

  • สั่งซื้อบทกวี “ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” ได้ที่สำนักพิมพ์ On Art
  • Facebook : On Art | ออน อาร์ต หรือ โทร.097-224-9933

Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม