เคาะประตู ‘บ้าน’ ดับเบิลกวีซีไรต์ อังคาร จันทาทิพย์
Faces

เคาะประตู ‘บ้าน’ ดับเบิลกวีซีไรต์ อังคาร จันทาทิพย์

Focus
  • อังคาร จันทาทิพย์ กวีหนุ่มจากกลุ่มกวีหน้ารามฯ วัย 45 ปี นำผลงานรวมบทกวี “ระหว่างทางกลับบ้าน” สร้างประวัติศาสตร์เป็นดับเบิลซีไรต์คนที่ 4 ให้กับแวดวงน้ำหมึกของไทยได้ หลังจากที่ชาติ กอบจิตติ, วินทร์ เลียววารินทร์ และวีรพร นิติประภา เคยทำมา
  • อังคาร จันทาทิพย์ คือเจ้าของผลงานกวีนิพนธ์ “หัวใจห้องที่ห้า” ซึ่งคว้ารางวัลซีไรต์ ประจำปี 2556 มาครอง และการคว้ารางวัลซีไรต์ปี 2562 ทำให้เขาเป็นดับเบิลซีไรต์สายกวีนิพนธ์คนแรกของไทย

ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข่าวประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า รางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) ช่วยสร้างสีสันเล็ก ๆ ให้กับสังคมไทยที่กำลังตกอยู่ท่ามกลางคลื่นข่าวการขยายตัวอย่างรุนแรงของโรคระบาดได้เป็นอย่างดี แต่ไม่นานความสนใจก็เลือนหายไป ไม่ต่างจากครั้งที่กระแสข่าวรางวัลวรรณกรรมระดับชาตินี้ครบรอบ 40 ปีที่ได้ซาไปอย่างเงียบ ๆ เมื่อปลายปีที่แล้ว

แต่แวดวงกวีนิพนธ์ไทยก็ใจจดจ่อรอผลประกาศผู้ชนะเลิศอยู่ไม่น้อยว่าจะเกิดขึ้นช่วงไหนท่ามกลางสภาวการณ์เพราะต้องรออีกถึงสามปีกว่าซีไรต์จะวนมาให้รางวัลงานประเภทนี้อีกการให้รางวัลครั้งนี้อย่างน้อยก็ช่วยดึงความสนใจให้กับกวีนิพนธ์ กลุ่มงานเขียนที่คนอ่านคนซื้อดูจะมีจำนวนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับงานเขียนสร้างสรรค์แขนงอื่น อย่างนิยาย เรื่องสั้น หรือสารคดี

อังคาร จันทาทิพย์

ผู้เข้ารอบ Shortlist ทั้ง 8 คน มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกวีผู้พิการทางสายตา กวีที่เข้ารอบมาแล้วถึง 5 ครั้งแต่ยังไม่เคยพิชิตรางวัลได้ กวีนิรนามที่ไม่มีใครรู้จักตัวตนจริงและหนึ่งรายในชื่อนั้นก็มีกวีที่เคยได้ซีไรต์มาแล้วอย่าง อังคาร จันทาทิพย์

และในที่สุด อังคาร จันทาทิพย์ กวีหนุ่มจากกลุ่มกวีหน้ารามฯ วัย 45 ปี ก็นำผลงานรวมบทกวี ระหว่างทางกลับบ้าน (สำนักพิมพ์ ผจญภัย) ของเขาสร้างประวัติศาสตร์เป็นดับเบิลซีไรต์คนที่ 4 ให้กับแวดวงน้ำหมึกของไทยได้ หลังจากที่ชาติ กอบจิตติ, วินทร์ เลียววารินทร์ และวีรพร นิติประภา เคยทำมาบางคนอาจจะรู้สึกเฉย ๆ กับความสำเร็จครั้งนี้ของอังคาร เพราะมองว่าการได้รางวัลซ้ำเป็นดัชนีชี้ถึงปริมาณนักเขียนคุณภาพที่หดตัวลงแต่สิ่งที่ไม่ซ้ำมาก่อนก็คือหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร Mars คนนี้เป็นดับเบิลซีไรต์สายกวีนิพนธ์คนแรก

ในคำนิยมจากคณะกรรมการรอบสุดท้าย ได้บรรยายถึงจุดเด่นของ ระหว่างทางกลับบ้าน โดย อังคาร จันทาทิพย์ ไว้ว่า

“นำเสนอมิติใหม่ของคำว่า ‘บ้าน’ และ ‘การเดินทางกลับบ้าน’ …บ้านจึงมีความหมายที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ หากแต่เป็นความรักและความผูกพัน ช่วยหลอมรวมจิตวิญญาณของมนุษย์”

แต่สำหรับตัว อังคาร จันทาทิพย์ เองแล้ว เขามีเบื้องหลังในการผลิตผลงาน ระหว่างทางกลับบ้าน อย่างไร และรู้สึกอย่างไรกับแวดวงกวีนิพนธ์ ที่เปรียบเสมือนกับบ้านที่เขาใช้ชีวิตมานานกว่ายี่สิบปี

อังคาร จันทาทิพย์

บ้าน ที่ไม่ใช่บ้านหลังใหม่

บ้านเคยปรากฏเป็นแก่นในงานของอังคารมาแล้วอย่างเด่นชัดในบทกวี ‘บ้านไม่มีใครอยู่’และ‘หนทางและที่พักพิง’ แต่จริง ๆ กวีอีสานผู้นี้อธิบายว่าเขาจับเรื่องบ้านอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เล่ม ‘หัวใจห้องที่ห้า’ที่ได้ซีไรต์เมื่อปี พ.ศ. 2556

“ในท้ายเล่มหัวใจห้องที่ห้าผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับพ่อและแม่ เป็นช่วงที่พวกท่านไม่สบาย ก่อนเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน และผมต้องกลับบ้านต่างจังหวัดบ่อยขึ้น จึงได้ความคิดว่าไม่ใช่เฉพาะเราที่อยู่ในสถานการณ์ไกลบ้านแบบนี้ ชีวิตของการมีสองภาค ทำงานในเมืองกับมีครอบครัวพ่อแม่พี่น้องที่ต่างจังหวัดเป็นเรื่องราวและภาพสะท้อนทางสังคมและยุคสมัย ทั้งที่เคยผ่านมาและในสมัยปัจจุบัน การที่ผู้คนอพยพเคลื่อนย้ายจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง มันต้องมีเงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง และอีกนัยหนึ่งผมอยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องราวการเดินทางตั้งแต่ต้นจนถึงบ้านหลังสุดท้ายของชีวิตด้วย

“ก่อนไปถึงจุดนั้น ผมได้ข้อสรุปว่า มนุษย์พยายามแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิต สังคมชนบทอาจไม่ตอบโจทย์บางข้อของการดำเนินชีวิตการพาตัวเองเพื่อไปอยู่ในอีกพื้นที่หนึ่งเพื่อทำงานเก็บเงินส่งกลับบ้านเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องยาวนาน แต่ยังไง‘บ้าน’ก็ยังเป็นหน่วยย่อยทางสังคมที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะอยู่ชนบท เมือง หรือมีลักษณะวิถีทางวัฒนธรรมอย่างใดก็ตาม ไม่ว่าผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้นจะมีความสุขหรือทุกข์”

อังคาร จันทาทิพย์

กวี… นอกจากกลั่นกรอง ขบคิด ยังต้องค้นคว้า

นอกจากร่ายกลอนว่าด้วยบ้านของตัวเองแล้ว บทกวีของอังคารยังว่าด้วยบ้านของผู้คนหลากหลายอาชีพ นักสื่อมวลชน คนงานก่อสร้าง ผู้ต้องขัง คนชรา ชาวบ้านในชายแดนใต้ ผู้คนอพยพจากภัยสงครามในซีเรีย หรือแม้แต่บ้านของจิตวิญญาณ ทำอย่างไร เมื่อต้องจับเนื้อหาที่ถอยออกไปจากตัว

“พอจะทำเป็นรวมเล่ม เรื่องเล่าส่วนตัวว่าด้วยบ้านของตัวเองมันน้อยเกินไป ต้องขยายไปสู่เรื่องราวของครอบครัวและบ้านหลังอื่น พื้นที่อื่น จากอีสาน ไปสู่ภาคกลาง ภาคใต้ จนกระทั่งส่วนอื่น ๆ ของโลก ถ้าเป็นเรื่องที่ใหญ่ ที่ไกลตัว ก็จะหาข้อมูลผ่านการอ่าน พยายามย่อยมัน อย่างกรณีซีเรียและชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวกับความรุนแรง สงคราม ผมวางโครงเรื่องเกี่ยวกับบ้านที่อยู่ภายใต้ภาวะสงคราม ซึ่งพล็อตมาจากเรื่องจริง ๆ ในช่วงสงครามที่ซีเรียกำลังปะทุผมเห็นครอบครัวชาวซีเรียที่พอมีฐานะมาเช่าอะพาร์ตเมนต์ที่ผมเช่าอยู่ ตอนแรกผมก็งงว่าทำไมมีชาวต่างชาติมาอยู่เยอะ ถามคนดูแลอะพาร์ตเมนต์จึงรู้ว่ามาจากซีเรีย ภาพของพ่อแม่มองจากระเบียงห้องเช่าดูเด็ก ๆ วิ่งเล่นที่ลานจอดรถของอะพาร์ตเมนต์พวกเขาอาจจะกำลังคิดถึงที่ที่จากมาซึ่งตกอยู่ท่ามกลางสงคราม บ้านเรือนพังทลาย ญาติพี่น้องกระจัดพลัดพราย สร้างความหดหู่และสะเทือนใจ

“ผมวางโครงเรื่องให้บ้านแต่ละหลังแทนปัญหาแต่ละแบบ แม้แต่องค์กรสื่อ ผมถือว่าเป็นบ้านหลังหนึ่งเหมือนกัน เพราะใช้ชีวิตอยู่กับมันมานาน เจ้าของสื่อเหมือนเจ้าของบ้าน ที่จำเป็นต้องคิดอย่างหนักว่าจะปรับเปลี่ยนบ้านของตนเองในสถานการณ์ที่แพลตฟอร์มใหม่อย่างดิจิทัลและออนไลน์เข้ามาแทนหน้ากระดาษเช่นไร

“หรืออย่างในบทกวีว่าด้วยคนงานก่อสร้างบ้าน เขารับจ้างสร้างบ้านให้คนอื่นแต่ก็เหมือนกำลังสร้างบ้านและสร้างครอบครัวของตัวเองไปด้วย ซึ่งช่างแต่ละคนมีความชำนาญคนละอย่างแตกต่างกัน ช่างปูน ช่างไม้ จะว่าไปเป็นความหลากหลายของแต่ละส่วนที่ยึดโยงโครงสร้างของบ้านหลังหนึ่งเอาไว้ด้วยกัน ประเด็นความเหลื่อมซ้อนเหล่านี้สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของกลวิธีและเทคนิคในการนำเสนอได้หมด”

กวีซีไรต์

เมื่อจุดง่ายกลายเป็นจุดเด่น

ตลอดทั้งเล่มของ ระหว่างทางกลับบ้าน ไม่มีฉันทลักษณ์ใดเข้ามาปะปนเลยนอกจากกลอนสุภาพ ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาและคำที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา ซึ่งดูเป็นลายเซ็นของกวีมือรางวัลผู้นี้ไปเสียแล้ว

“คิดมาหลายปีว่าทำยังไงให้กวีนิพนธ์เข้าถึงคนได้ง่าย ผมอยากเปลี่ยนภาพจำที่คนส่วนใหญ่มองว่าบทกวีเป็นงานที่ต้องอ่านยากเข้าใจยากแม้ว่าจะใช้คำพื้น ๆ แต่คำในภาษาไทยมีให้เรายักย้ายถ่ายเทเพื่อสื่อสารได้มากเพียงพอ ภาษากวีมีการปรับไปตามยุคตามสมัยของมัน เราจะไปเขียนเรื่องเล่ายุคสมัยนี้ด้วยคำ ด้วยวิธีการแบบเดียวกับต้นรัตนโกสินทร์หรืออยุธยาคงประดักประเดิดน่าดู

“ที่ใช้กลอนตลอดทั้งเล่มเพราะคิดว่าเข้าถึงคนอ่านได้ง่าย และเล่าเรื่องราวได้ตามที่เราตั้งใจไว้มากกว่า ฉันทลักษณ์อื่นอาจจะมีข้อบังคับ หรือข้อจำกัดบางอย่างเยอะกว่ากลอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็มีทั้งข้อยากและข้อง่าย ที่ยากคือต้องหนีความซ้ำ ไม่ให้ซ้ำกับเรื่องที่เขียนไปก่อนหน้า การที่เรามีเรื่องเล่าที่หลากหลาย ประเด็นที่หลากหลาย มีตัวละครที่หลากหลายจะช่วยให้เรามีคำและวิธีการนำเสนอที่ใช้ได้หลากหลายมากขึ้นด้วย เช่น ถ้าผมเล่าเรื่องที่พ่อแม่ลูกแชตคุยกันอย่างในบท ‘บ้านของเรา (อยู่ในยุคสังคมออนไลน์)’ ผมจะใช้ภาษาที่เขาคุยแชตกันจริงๆเอาอีโมติคอนที่ใช้ในการแชตมาใส่”

กวีซีไรต์

หมกมุ่น วินัย และผองเพื่อน ตัวช่วยในการทำงาน

หัวหน้ากองบรรณาธิการ Mars อย่าง อังคาร จันทาทิพย์ แบ่งตัวเองเป็นสองภาค ทั้งงานประจำในภาคตัวหนังสือสำหรับนิตยสารผู้ชายและงานกวีนิพนธ์

“ดำรงชีพด้วยการเขียนอย่างเดียวในเมืองไทยน่าจะอยู่ยากโดยเฉพาะบทกวีไม่พอเลี้ยงชีพหรอกครับจำเป็นต้องมีงานประจำทำด้วย ข้อดีของการทำงานประจำสำหรับผมคือนอกจากอยู่ใกล้ข้อมูลข่าวสารแล้ว เรามีรายได้จุนเจือตัวเองแน่นอน ทำให้เขียนกวีได้แบบไม่ต้องรีบร้อน ค่อย ๆ ทำไป ไม่ต้องคอยมากังวลเรื่องเศรษฐกิจมากเกินไปนัก สามารถจัดสรรเวลาที่เหลือมาทำงานกวีได้

“ผมหมกมุ่นอยู่กับงานกวีมาโดยตลอด พอเสร็จจากที่ทำงานประจำในแต่ละวัน ก็จะคิดถึงงานที่เขียนค้างไว้ว่าจะนำเสนองานกวีชิ้นต่อไปอย่างไร คอยดูไม่ให้ซ้ำกับที่เคยเขียนมาแล้ว ถ้าซ้ำโดยไม่มีมิติอะไรใหม่ ผมถือว่าเป็นความล้มเหลว พยายามให้มีพัฒนาการอยู่เสมอ จะมากจะน้อยก็ขอให้มี

“อีกอย่างผมว่าผมค่อนข้างเป็นคนโชคดีที่มีพี่มีเพื่อนคอยช่วยเหลือ แนะนำ ต้องขอบคุณพี่และเพื่อนอย่างคุณศิริวร แก้วกาญจน์,คุณเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์,พี่บัญชา อ่อนดี, คุณเรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ และอีกหลาย ๆ คนคนเหล่านี้เขาเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นครู ช่วยอ่านต้นฉบับให้ มีอะไรยังไม่ดีจะไม่ยอมปล่อยผ่าน”

กวีซีไรต์

จุดเปลี่ยนกวีนิพนธ์ไทย

กวีซีไรต์ที่เคยปล่อยผลงานของ อังคาร จันทาทิพย์ ขายในตลาด e-Book มาแล้ว ได้ให้ข้อคิดว่า “หลายปีที่ผ่านมา ยอดพิมพ์และยอดขายหนังสือรวมบทกวีลดลงจริงๆคนอ่านกลุ่มเดิมก็ยังพอมีอยู่ แต่เรายังอาจเข้าไม่ถึงกลุ่มอ่านคนใหม่ ๆ ซึ่งเขาอาจจะอ่านงานเขียนแนวอื่น ๆ ที่เขาชอบ และปัจจุบันมีสื่อแขนงอื่น ๆ ที่ดึงดูดความสนใจของเขาได้มากกว่า

“แต่เท่าที่เห็น ผมว่าปัจจุบันคนเขียนกวีเยอะขึ้นด้วยซ้ำ เขียนในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้นด้วยแต่แนวทางของเขาอาจจะไม่ตรงกับแนวของเรา คนเขียนกลอนเปล่าอาจจะไม่ชอบฉันทลักษณ์ ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งโลกใบเก่ากับใบใหม่มันมีข้อดีข้อเสียของมัน โลกออนไลน์มาเร็ว และก็หายไปเร็ว ขณะที่โลกใบเก่าที่มี บ.ก.และระบบคัดกรองแข็งแรง อาจจะใช้เวลาช้าและนานกว่า แต่คุณภาพของงานอาจจะดีกว่า เมื่อผลงานถูกปฏิเสธจาก บ.ก. ก็มีเวลาทบทวนจุดด้อยงานตัวเอง

“สำหรับผม ผมไม่แยกหรอกว่าเป็นกลอนเปล่าหรือฉันทลักษณ์บทกวีก็คือบทกวี ขอให้มันสั่นสะเทือนหัวใจและความรู้สึกนึกคิดของเราได้เป็นพอ ผมว่าอย่าพยายามไปนิยามเลยว่าบทกวีคืออะไรให้ตัวบทกวีและเรื่องราวในบทกวีนิยามตัวมันเองดีกว่า”

อังคาร จันทาทิพย์

ไปต่อกับซีไรต์?

“เทียบกับตอนที่ผมได้รางวัลเมื่อปี พ.ศ. 2556 จากเล่ม ‘หัวใจห้องที่ห้า’ มีคนมาสัมภาษณ์น้อยลง แต่ได้น้ำได้เนื้อมากกว่ามันสะท้อนความสนใจของสื่อและผู้คนต่อวงการกวีนิพนธ์และวัฒนธรรมการอ่านการเขียนที่น้อยลงไม่ได้เกี่ยวกับกระแสว่าตกหรือไม่ หรือมีจำนวนผลงานที่ดีน้อยลง แต่สะท้อนให้เห็นว่าทุกวันนี้มีอะไรต่อมิอะไรให้สื่อและผู้คนสนใจใคร่รู้มากขึ้นมากกว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การต้องสื่อสารและเสพก็จำเป็นต้องอาศัยวุฒิภาวะและความใส่ใจอยู่ดี

“ส่วนเรื่องได้หรือไม่ได้รางวัล ส่งผลยังไง ผมจะพูดตลอดว่าผมคิดถึงการเขียน การสร้างงานก่อนรางวัลเสมอ รางวัลเป็นส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น เกิดขึ้นภายหลัง เช่นเดียวกับเมื่อทำงานเล่มหนึ่งเสร็จ หมดหน้าที่ผมแล้ว เรื่องการประเมินเป็นเรื่องของคนอ่านและคนอื่น หากจะยังเหลือหน้าที่อยู่ก็คือกลับไปดูว่ามันพอจะมีข้อดีอะไรให้ไปต่อยอดได้บ้าง หรือมีข้อด้อยที่ควรถูกปรับปรุงเมื่อเขียนงานชิ้นต่อไป เล่มต่อไปอย่างไร

“หลายคนชอบมองว่ารางวัลประกวดวรรณกรรมเป็นผู้ร้ายเสมอ ซึ่งก็ไม่ถูกทั้งหมด รางวัลพวกนี้ส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชนจัดประกวด ไม่รู้ว่าภาครัฐคิดถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านการเขียนของสังคมอย่างจริงหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ โลกของการอ่านการเขียนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเข้มแข็งในมุมมองของผมผมคิดว่าการอ่านทำให้คนเราไม่จำเป็นต้องพาตัวเองไปทดลองอยู่ในสถานการณ์อะไรบางอย่างซึ่งส่งผลสะเทือนด้านลบกับชีวิตแต่เราเรียนรู้ผ่านการอ่านงานวรรณกรรมได้ ถ้าสังคมการอ่านการเขียนอ่อนแอ ภูมิต้านทานของคนก็อาจจะอ่อนแอตามและทนต่อแรงเสียดทานความทุกข์ในชีวิตได้น้อยลง” อังคาร จันทาทิพย์ กวีดับเบิลซีไรต์คนแรกกล่าวทิ้งท้าย

Fact File

  • การประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A Write) ครั้งที่ 41 ประจำปี 2562 มีผลงานกวีนิพนธ์มากถึง 66 เล่ม มีแนวไร้ฉันทลักษณ์ส่งจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนในปีก่อนๆ โดยมีแนวฉันทลักษณ์ 30 เล่มแนวไร้ฉันทลักษณ์ 28 เล่มและผสมผสานทั้งสองแนวอีก 8 เล่ม
  • การคัดเลือกแบ่งเป็น 2 รอบ โดยรอบแรก Longlist คัดให้เหลือ 18 เล่ม และรอบสอง คือรอบ Shortlist เป็นรอบสุดท้ายที่จะคัดหนังสือเหลือเพียง 8 เล่ม
  • การประกาศผลรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2562 ในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 นี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศผลผ่านทางระบบออนไลน์ Live สดจากวังสวนผักกาด

Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

ณิชกานต์ ช่างสาร
ช่างภาพผู้ชอบกินผัก ที่ฝันอยากจะสร้างป่ารอบบ้านตัวเอง