New และไม่ Normal เบื้องหลัง Blackout บาร์ลับไม่มีในโลก ซีรีส์แนวตั้งเรื่องแรกของ นาดาว บางกอก
Faces

New และไม่ Normal เบื้องหลัง Blackout บาร์ลับไม่มีในโลก ซีรีส์แนวตั้งเรื่องแรกของ นาดาว บางกอก

Focus
  • Blackout บาร์ลับไม่มีในโลก ซีรีส์เรื่องใหม่จาก นาดาว บางกอก กับเบื้องหลังที่ออกแบบมาเพื่อการรับชมด้วยสกรีนแนวตั้งโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังถ่ายทำแบบ Longtake และมีลูกเล่นอยู่ที่การนำจอแนวตั้ง 4 จอมาเรียงต่อกันเพื่อมุมมองที่ครบถ้วนขึ้นได้
  • โจทย์สำคัญซึ่งเป็นหัวใจหลักของโปรเจคต์นี้คือการเล่นกับ ความเป็นแนวตั้ง หรือ ความเห็นไม่ครบ ซึ่งทำให้ทีมงานต้องปรับวิธีการคิด การเขียนบท การออกแบบดีไซน์มุมกล้อง เพื่อให้ภาพที่ออกมาช่วยส่งเสริมเรื่องราวและความรู้สึกของคนดู มากกว่าการเป็นเพียงวิดีโอแนวตั้งเฉย ๆ

ก่อนภาพตัดพวกเขาจำอะไรได้บ้าง… Blackout บาร์ลับไม่มีในโลก ซีรีส์เรื่องใหม่จาก นาดาว บางกอก ที่มีนิยามว่าเป็นซีรีส์แนวตั้ง ถ่ายทำแบบ Longtake และขณะรับชมสามารถนำ 4 จอมาซิงก์ (Sync) ต่อกันเพื่อดูในอีกมุมมองหนึ่งได้ ฟังแค่นี้ก็ชวนให้คนดูอย่างเรานึกภาพตามอย่างใจเต้นแล้วว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

แต่ก่อนที่ภาพจะตัด ให้เราได้ติดตามหาต้นตอของเหตุการณ์ชวนระทึก เราขอชวนทุกคนเดินตามบทสนทนากับสองผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์เรื่องนี้กันเสียหน่อยว่า ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร โปรดิวเซอร์พ่วงตำแหน่งผู้กำกับ และ เน็ท-อธิศ กิจศุภไพศาล ผู้กำกับรุ่นใหม่ รวมถึงทีมงาน ต้องผ่านด่านโหดหินอะไรกันมาบ้าง กว่าจะออกมาเป็น Blackout บาร์ลับไม่มีในโลก ซึ่งกำลังจะออกฉายตอนแรกผ่านทาง AIS Play ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้

ก่อนอื่นเราขอชวนกดดู Trailer ของซีรีส์เรื่องนี้เพื่อให้เราเห็นภาพที่ตรงกันมากขึ้น แต่หากใครดูแล้ว เราขอชวนตะลุยเบื้องหลังที่ทั้งปิงและเน็ทต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ยากมาก! แต่รู้สึกว่า “ต้องลอง”

เท้าความกันสักนิด จุดเริ่มต้นเกิดจากที่ปิงเห็นว่าทุกวันนี้ผู้คนมักจะรับชมสื่อด้วยสกรีนแนวตั้งกันมากขึ้น เลยคิดว่าน่าสนุกที่จะลองปรับคอนเทนต์ตามพฤติกรรมของคนดูที่เปลี่ยนไป บวกกับเขาเองยังไม่เคยเห็นคอนเทนต์แนวตั้งแบบจริงจังที่เกิดจากกระบวนการทำเพื่อสกรีนแนวตั้งโดยเฉพาะ สิ่งนี้เลยกลายเป็นโจทย์สำคัญของการเริ่มโปรเจกต์ที่ปักลงในใจเลยว่าจะใช้ ความเป็นแนวตั้ง หรือ ความเห็นไม่ครบ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการคิดการเขียนบท การออกแบบ User Experience เพื่อให้ภาพที่ออกมาช่วยส่งเสริมเรื่องราวและความรู้สึกของคนดู มากกว่าการเป็นเพียงวิดีโอแนวตั้งเฉย ๆ 

พวกเขาหาแนวทางกันอย่างไร…เราสงสัย

ซ้าย : ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร และ ขวา : เน็ท-อธิศ กิจศุภไพศาล

เน็ท : ผมเคยดูคอนเทนต์แนวตั้งและลองเข้าไปศึกษามาบ้างแล้ว ซึ่งพบว่าจริง ๆ ทางฝั่งยุโรปเขามีเทศกาลหนังแนวตั้งอยู่ น่าจะประมาณปี 2018-2019 แต่ช่วงหลังก็หายไป หนังแนวตั้งส่วนใหญ่ที่เขาทำเป็นหนังสั้น ค่อนข้างเป็นแนวทดลองมาก ๆ แทบไม่ได้เล่าเรื่องเลย หรือไม่ก็จะใช้ Voice Over เป็นหลัก มีความยาวไม่น่าเกิน 15 นาที เราเอาข้อมูลนี้มาแชร์กับพี่ปิง โจทย์ที่ออกมาเลยเหมือนกับว่าหนังแนวตั้งจะเหมาะกับเวลาประมาณ 15 นาทีที่คนยังถือโทรศัพท์ดูได้ โดยที่เขาไม่รู้สึกปวดข้อมือและยังอยู่กับเรื่องได้ อีกสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกตอนดูคือ ความรู้สึกอึดอัด ที่เห็นหลัก ๆ คือเขาจะถ่ายตามตัวละคร ไม่ค่อยเห็นบรรยากาศอื่นรอบข้างของตัวละครเท่าไรซึ่งทำให้เราเกิดความสงสัยว่าตัวละครนั้นทำอะไรอยู่ หรืออยู่กับใคร ตรงนี้เลยเป็นจุดเริ่มของการทำเป็นซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวน

Blackout บาร์ลับไม่มีในโลก

Blackout บาร์ลับไม่มีในโลกเล่าเรื่องราวของ ฝ้าย (รับบทโดย แพรว-นฤภรกมล ฉายแสง) สาวปาร์ตี้ซึ่งตื่นขึ้นมาที่บาร์ลับแห่งหนึ่งในสภาพ Blackout หรืออาการภาพตัด หมดสติ จําเหตุการณ์บางส่วนที่เกิดขึ้นก่อนหน้าไม่ได้ โดยมี มิว (รับบทโดย วี-วิโอเลต วอเทียร์) และ เอ (รับบทโดย กัปตัน-ชลธร คงยิ่งยง) อยู่ที่นั่นด้วย แต่ทั้งคู่ก็จำไม่ได้เช่นกันว่าไปอยู่ที่นั่นได้อย่างไร จำได้เพียงเลือนรางว่ามาฉลองวันเกิดของฝ้ายที่ EDEN ผับของ บิลลี่ (รับบทโดย โอบ-โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์) รุ่นพี่คนสนิทของฝ้าย แต่ไม่รู้ว่าทำไมทุกคนถึงไปอยู่ที่บาร์ลับ ซึ่งที่น่าตกใจคือระหว่างหาทางออก พวกเขากลับพบร่างของบิลลี่นอนจมกองเลือดและบาดเจ็บหนักอยู่

เกิดอะไรขึ้นในคืนนั้นกันแน่? นี่คือสิ่งที่เราในฐานะผู้ชมต้องเดินตาม 4 มุมมองจาก 4 ตัวละคร กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน แล้วไขความจริงออกมา 

ปิง : เรานึกถึง Reference อันหนึ่ง คือละครเวทีเรื่อง Sleep no more ที่นิวยอร์ก ซึ่งเขาออกแบบมาให้เราเป็นผู้ชมที่เดินดูเรื่องได้เอง เขาเซตอัปฉากอยู่ในโรงแรมเก่าแห่งหนึ่งเป็นตึกประมาณห้าชั้น ซึ่งเข้าไปแล้วเราต้องวิ่งตามเส้นเรื่องเองว่านักแสดงหรือตัวละครคนนี้จะไปทำอะไรต่อ ถ้าเราเจอตัวละครสองตัวที่เขาเจอกันตรงกลางแล้วต่อไปเขาต้องเดินแยกกัน เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะตามไปทางไหน มันเป็นประสบการณ์การดูที่ตื่นเต้นมาก เราไปดูอยู่ 2-3 รอบแล้วพบว่าประสบการณ์ที่ได้รับไม่เหมือนกันเลย ซึ่งวิธีการนี้มันเหมือนติดคาอยู่ในใจเรา ตอนเริ่มโปรเจกต์ Blackout เลยมีการอ้างอิงถึงวิธีการของมันทางความรู้สึกอยู่ว่าประสบการณ์นี้น่าสนุกดี

นอกจากวิธีการเล่าผ่านมุมมอง สิ่งสำคัญข้อหนึ่งที่พวกเขาตั้งธงไว้ในใจคือ หากอ่านบทของ Blackout ที่แม้เหตุการณ์ของตัวละครที่หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่ละตอนจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน สถานที่เดียวกัน แต่อ่านแล้วต้องรู้สึกว่าไม่เหมือนกัน โดยคาดหวังว่าคนดูควรต้องรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ดูตอนใหม่ ได้รู้ข้อมูลใหม่ของเรื่องเสมอ จนนำมาปะติดปะต่อแล้วเข้าใจความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบาร์ลับแห่งนั้นได้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีอีกกิมมิกสนุก ๆ นั่นคือผู้ชมสามารถวางจอแนวตั้ง 4 จอ (4 ตอน) ต่อกัน เพื่อให้เห็นเหตุการณ์ในมุมมองที่ครบถ้วนขึ้นได้ 

Blackout บาร์ลับไม่มีในโลก

ปิง : ไอเดียนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเราเดินเข้าไปคุยกับ AIS Play ด้วยความอาจหาญเลยครับ (หัวเราะ) เราดีไซน์ไปตั้งแต่วันแรก ตอนนั้นเราแค่ชอบสกรีนแนวตั้ง แต่เราก็ยังอยากลิงก์กับภาพแนวนอนที่คนยังคุ้นเคยอยู่ อยากให้คนดูเห็นว่าภาพแนวตั้งกับแนวนอนมีความต่างกัน ทั้งในแง่ประสบการณ์ว่าการเห็นสิ่งที่กว้างกว่าทำให้เกิดความรู้สึกอะไร 

กิมมิกนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเลือกเล่าด้วย 4 ตัวละคร 4 มุมมองด้วย เพราะเมื่อวางจอแนวตั้งคูณสี่มันจะเป็นภาพแนวนอนที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราคุ้นเคยพอดี หมายถึงว่าควรจะเป็นซีรีส์ที่ดูตอนเดียวแล้วคอมพลีตในตัวเองด้วยนะ แต่เมื่อดู 4 จอเมื่อไรก็ควรจะเห็นและรู้สึกอะไรมากขึ้น เช่นเห็นการปฏิสัมพันธ์ของตัวละคร ด้วยวิธีการเล่าเรื่อง เราเลยต้องคอยเช็กอยู่เสมอถึงภาพที่สอดรับกับการรับชมแบบแนวตั้งและสามารถนำภาพมาต่อกันได้จริง นั่นทำให้ทีมงานมีความจำเป็นต้องปรับวิธีการเขียนบทให้เห็นภาพมากขึ้นกว่าการเขียนซีรีส์เรื่องก่อน ๆ 

เน็ท : ตอนแรกมึนมาก เราเขียนบทกับรุ่นน้องอีกคนหนึ่ง ลองเขียนกันคนละอีพีซึ่งเล่าตัวละครคนละคน สมมติเราพูดถึงซีนโต๊ะปาร์ตี้ แต่จินตนาการของเรากับน้องคิดภาพกันคนละแบบ แต่เรื่องมันเกิดในเวลา สถานที่เดียวกัน พอเขียนแล้วมาอ่านเรารู้สึกว่าภาพไม่ตรงกัน สมมติตัวละครของเราเดินไปทางซ้าย แล้วตรงนั้นเป็นห้องน้ำ แต่ซ้ายของน้องอีกคนดันเป็นอีกห้องหนึ่ง ทำให้เราต้องมานั่งจูนกันด้วยว่าสรุปเราจะวางแปลนอย่างไร เราต้องมาวาดผังกัน ว่าห้องนี้จะอยู่ซ้ายหรือขวา ต้องเดินไปทางไหน ในห้องจะเห็นอะไรบ้าง บางทีเราเขียนว่าตัวละครหนึ่งเห็นสิ่งนี้ ตัวละครของน้องอีกคนก็ต้องเห็นสิ่งที่เราเขียนลงไปเหมือนกัน อันนี้คือความยาก 

Blackout บาร์ลับไม่มีในโลก

ปิง : เรื่องผังจริง ๆ แล้วยากกว่าที่เคยทำมามาก ๆ เลย เพราะเป็นเรื่องที่อิงว่าใครเห็นหรือไม่เห็นอะไรอยู่เยอะพอสมควร เราเลยต้องคอยเช็กว่าสิ่งนี้อยู่ชั้นไหน ถ้าอยู่ชั้นสามแล้วตอนนั้นตัวละครพูดเสียงดังขนาดนี้ ตัวละครชั้นสองจะได้ยินไหม ซึ่งพอยังไม่มีโลเคชันจริง ๆ เราอ้างอิงกับ Reference อะไรไม่ได้เลย สมมติเขียนเกี่ยวกับโรงเรียนเรายังพอนึกออกว่าจะมีห้องเรียน มีระเบียงหน้าห้อง แต่พอเป็นบาร์ลับแล้วเรายังไม่รู้ว่าจะถ่ายที่ไหน เราเลยต้องทำผังไกด์อยู่เรื่อย ๆ รอบแรกก็ไกด์ขึ้นมาลอย ๆ ว่าอยากให้มีอะไรบ้าง เช่นโถงตรงกลางที่ตัวละครต้องมาเจอกันหรือต้องมีปีกบันไดด้านซ้าย ขวา ซึ่งเวลาเขียนเราจะเกาะกับไดเรกชันไว้ เช่นว่าตัวละครหนึ่งต้องเลี้ยวซ้ายนะ อีกคนถึงจะเลี้ยวขวามาแล้วไม่เจอกัน การจำลองผังระหว่างเขียนบทเป็นวิธีการที่เราไม่เคยทำในกระบวนการเขียนบทมาก่อน และเป็นส่วนที่ยากมาก ๆ ครับ (หัวเราะ) สุดท้ายยังต้องมาหาโลเคชันที่รับกับผังนี้อีก แล้วต้องได้เป๊ะด้วยนะ มันมีความยากแบบนี้อยู่ สุดท้ายเราต้องมีการปรับหน้างานกันค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นเหตุให้เราหาโลเคชันไม่ได้ ต้องเซตโลเคชันใหม่ขึ้นมาด้วย

จนถึงตอนนี้ เดาอย่างไรก็น่าจะถูกว่าการถ่ายทำต้องไม่ง่ายแน่ ซึ่งทั้งคู่ตอบกลับแทบจะทันทีว่า “ยากมาก ๆ จนไม่รู้ว่าจะใช้ไม้ยมกกี่ตัว” 

เน็ท : พอมีโจทย์เรื่อง 4 จอต่อกัน เราตั้งใจอยู่แล้วว่าจะต้องมีช่วงเวลาที่ตัวละครสองตัวเดินไปด้วยกันหรือมีซีนที่เขาหันหน้าคุยกัน แต่ที่ยากคือพอเรายังไม่มีสถานที่ถ่ายทำจริง เราเลยต้องคิดช็อตจากแค่บทก่อนว่าพื้นที่มันน่าจะประมาณนี้ แต่พอไปเจอสถานที่จริงซึ่งยังไม่ได้เซตขึ้นสำเร็จ เราก็จะคิดได้อีกสเต็ปหนึ่ง ลองคิดจินตนาการสร้างกำแพงขึ้นมาในหัวเองว่าเวลายืนจะกว้างเท่านี้แล้วลองเขียนออกมา จากนั้นเราให้นักแสดงเข้ามาซ้อม แล้วใช้โทรศัพท์มือถือลองถ่ายมาดู 

พอเริ่มสร้างฉากจริงขึ้นมา เราก็จะไปลองเดินเองก่อนว่าถ้าเป็นตัวละครนี้จะรู้สึกอย่างไร เพราะการดีไซน์มุมกล้องในแต่ละตอนต้องสื่อสารความรู้สึกของตัวละครตัวนั้นออกมาให้ได้ด้วย ซึ่งพอเป็น Long Take เราต้องคิดตั้งแต่ต้นว่ากล้องต้องรับหน้าหรือรับหลัง เช่นถ้าอยากให้คนดูรู้สึกกลัวเหมือนตัวละคร ต้องเห็นภาพทางเดินแคบ ๆ มืด ๆ เห็นภาพเดียวกับที่ตัวละครเห็น ขณะเดียวกันกล้องก็อาจจะต้องเคลื่อนมารับหน้านักแสดงให้คนดูรู้ด้วยว่าตอนนี้ตัวละครรู้สึกแบบนี้อยู่ เราต้องคิดดีเทลในทุกช่วงการเดินเลย พอคิดแล้วก็จะเอาไปแชร์กับตากล้อง ปรับกับช่างภาพอีกที พอมาลองกับนักแสดงจริงก็จะมีการปรับอีกทีว่าในการถ่ายทำจริงมันเป็นแบบที่วางไว้จริง ๆ หรือเปล่า

หากถามเรื่องความต่างในขั้นตอนการถ่ายทำ ปิงกล่าวว่าซีรีส์เรื่องนี้มีความคล้ายกับละครเวที การซ้อมกับสถานที่จริงเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ไม่มีในซีรีส์เรื่องก่อน ๆ แต่เพิ่มเข้ามาด้วยความที่นักแสดงต้องชินกับบล็อกกิง คุ้นเคยกับโลเคชัน และการที่ทีมงานต้องหาดีไซน์กล้องให้สามารถเก็บโมเมนต์ได้ครบอย่างที่ตั้งใจ รวมทั้งวันถ่ายทำจริง นักแสดงก็ต้องเล่นกับเหตุการณ์เดิมซ้ำหลาย ๆ รอบเหมือนละครเวที ซึ่งเขารู้สึกประทับใจในเคมีและความเป็นทีมเวิร์กของนักแสดงที่พร้อมแก้ไขระหว่างถ่ายทำไปด้วยกัน 

ปิง : Long Take เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้วิธีการถ่ายทำยากขึ้น พอเราพยายามทำให้ช็อตที่ออกมาไม่เหมือนการเดินตามนักแสดงไปเรื่อย ๆ ทำให้เราต้องดีไซน์ให้มีอารมณ์ในช็อตนั้น ๆ และออกมาสวยด้วย เราถ่ายแบบ Long Take ทั้งตอนก็จริง แต่เป็น Long Take แบบที่มี Hidden Cut มีการซ่อนรอยต่อเอาไว้ด้วย ซึ่งการเชื่อมรอยต่อก็สำคัญ เพราะมันส่งผลกับลำดับด้วยว่าเราจะทำอย่างไรดีให้คนรู้สึกถึงรอยต่อนี้น้อยที่สุด การเครนกล้องตอนซ้อมเราก็ไม่ได้นึกถึงเลย มันค่อย ๆ เพิ่มเข้ามาในตอนที่เราเห็นแอ็กติ้ง เห็นทุกอย่างได้ครบหมดแล้วจริง ๆ การดีไซน์หรือเรื่องอุปกรณ์ที่แตกต่างจากเรื่องอื่นคือ ปกติเครนจะถูกใช้ในฟังก์ชันของช็อตดีไซน์พิเศษที่เป็นเรื่องความรู้สึก แต่ตอนนี้เราเอาเครนหรืออุปกรณ์มาใช้เพื่อรองรับการเคลื่อนไหวด้วย เช่นการตามนักแสดงจากชั้นสองลงมาที่ชั้นหนึ่ง พอลงมาแล้วอีกกล้องก็จะต้องรับต่อเหมือนเป็นกล้องเครนตัวนั้นที่ตามนักแสดงลงมาจริง ๆ ทำให้นักแสดงต้องมีโฟกัสชัดตลอดเวลา อันนี้เป็นวิธีการที่เราไม่คุ้นเคยเท่าไรกับการทำงานซีรีส์

เน็ท : ต้องเล่าย้อนไปด้วยว่า ก่อนที่เราจะถ่ายซีรีส์เรื่องนี้ เรามีวันที่ถ่ายคลิปมาสเตอร์ด้วย คือให้นักแสดงทุกคนเริ่มต้นเล่นพร้อมกันทั้งหมด แล้วให้ตากล้องสี่คนลองใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายตามตัวละครตัวนั้นไปก่อนคร่าว ๆ ตามภาพที่เราอยากจะได้ พอเขาถ่ายเสร็จจะได้ภาพที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันของ 4 นักแสดง ซึ่งเรานำไปตัดต่อแล้วลองมาวาง 4 จอเรียงกันจริง ๆ ตามภาพที่เราอยากจะได้ในวันถ่ายทำ เราเลยต้องดูจอมอนิเตอร์หลักที่เป็นกล้องหนัง ควบคู่กับคลิปมาสเตอร์จากโทรศัพท์ที่นำมาเรียงกันสี่จอไปด้วย เพื่อใช้คลิปมาสเตอร์ยึดเป็นหลักในตอนที่เราถ่าย ให้เวลาของเหตุการณ์แต่ละตอนออกมาใกล้เคียงกัน

ปิง : เราต้องคอยเช็กกับคลิปมาสเตอร์ด้วยครับ สมมติเวลาจริงมันห่างจากมาสเตอร์ไปเยอะ เช่นนักแสดงเล่นเร็วเกินไป เราจะเริ่มกังวลแล้วว่าภาพจะเอาไปใช้จริงได้ไหม ถ้าไม่แน่ใจบางทีเราต้องคัตเลย เพื่อกลับมาเช็กว่าเราหลุดคิวอะไรไปหรือเปล่า

ทุก ๆ คำตอบที่ได้ฟังจากทั้งสองผู้กำกับ ตั้งแต่เรื่องเล่าเริ่มต้นโปรเจกต์จนกระทั่งใกล้ถึงวันที่ซีรีส์จ่อคิวฉาย เราพบว่า “ความยากมีอยู่ในทุกขั้นตอนจริง ๆ”  ซึ่งนั่นก็เป็นคำตอบโดยพร้อมเพรียงด้วยเช่นกัน เมื่อเราถามว่าขั้นตอนไหนถือว่ายากที่สุดสำหรับซีรีส์เรื่องนี้

เน็ท : ยากหมดเลย ทุกวันนี้ขั้นตอน Post Production ก็ยังยากอยู่ (หัวเราะ) ซีรีส์เรื่องนี้เป็นโจทย์ยากของทุก ๆ ฝ่ายจริง ๆ อย่างเรื่องเพลง ตอนแรกหลายคนจะห่วงว่าเอา 4 จอมาต่อกันแล้วเพลงจะไม่ตีกันเหรอ เพราะแต่ละตอนเพลงก็ต้องตามอารมณ์ของตัวละครนั้น ๆ ด้วย นี่เป็นโจทย์ที่เราโยนให้คนทำเพลง ซึ่งผลออกมาเขาทำให้เพลงไม่ตีกันได้จริง ๆ อันนี้เป็นสิ่งที่เราว้าวมากเราคิดว่าทุกคนทุกฝ่ายทำสิ่งที่ยากหมด แต่เป็นยากในเชิงที่ท้าทายและมีข้อดีตรงที่ไม่มีใครยอมกันเลย เหมือนว่าตากล้อง ผู้กำกับ นักแสดงทำมาขนาดนี้แล้ว คนตัดต่อหรือคนทำเพลงเขาก็จะยอมไม่ได้เหมือนกัน

ปิง : มันมีความโรคจิตนิดหนึ่งเหมือนกันนะ (หัวเราะ) อย่างที่เน็ทบอก คือจริง ๆ บางขั้นตอนมันมีวิธีการแก้ปัญหาที่ง่ายกว่านี้ แต่จะชอบมีประโยคที่บอกว่าอุตส่าห์ถ่ายมาขนาดนี้แล้ว ยอมยากขึ้นกว่านี้อีกนิดหนึ่งไหมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่วางไว้หรือเมจิกกว่า เลยทำให้ไม่มีใครยอมใครจริง ๆ

เน็ท : การทำซีรีส์เรื่องนี้เปิดโลกเรามาก ๆ ตั้งแต่ตอนเขียนบท ถ่ายทำจนถึง Post Production พอมันเป็นวิธีการใหม่ เราเลยเหมือนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ตอนออกกองแล้วเจอปัญหาเยอะ ๆ ตอนแรกก็เครียดว่าเราจะแก้ไขอย่างไร แต่พี่ผู้ช่วยผู้กำกับก็บอกว่าต้องยอมรับนะ ว่าตอนนี้เรากำลังทำสิ่งที่ยากอยู่ ค่อย ๆ เรียนรู้จากมันไปนี่แหละ พี่ผู้ช่วยผู้กำกับเอง เขาอยู่ในวงการนี้มาเป็นสิบปี การทำซีรีส์เรื่องนี้ก็เป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่สำหรับเขาเหมือนกัน สำหรับเราสิ่งที่ได้มันคือประสบการณ์และความท้าทายขีดความสามารถมาก ๆ

ปิง : มีสิ่งหนึ่งที่เราเห็นชัดขึ้นมาก ๆ จากโปรเจกต์นี้คือเรื่องทีมงานและการเป็นทีมเวิร์กการทำให้ทีมงานเห็นภาพเป้าหมายเดียวกันให้ได้สำคัญมาก ๆ กับโปรเจกต์นี้ ผมว่า ณ วันแรกผมรู้ตัวดีมั้งว่า มันจะเป็นภาพที่ไม่น่าจะมีใครเห็นได้ว่าจะเป็นอย่างไรหรืออ่านบทแล้วไม่เข้าใจ พูดขึ้นมาแล้วยังไม่เก็ตในทันทีต้องอธิบายกันยาว ๆ เรากับเน็ทเลยทำการบ้านเยอะมาก ให้คนทุกคนสามารถเก็ตได้ ต้องทำภาพตัวอย่าง ทำสไลด์จำลองขึ้นมา เราต้องอธิบายสิ่งนี้ซ้ำ ๆ กับทีมงานด้วยว่าผลลัพธ์ปลายทางมันจะหน้าตาเป็นแบบนี้ แต่ยิ่งเราทำการบ้านพาร์ตนี้หนักเท่าไรเขาจะช่วยเราได้เยอะมาก ๆ 

การเห็นภาพเดียวกันมันสำคัญมากตรงที่ว่า ถ้าเขารู้สึกว่าสิ่งนี้ดีอย่างไร เขาจะซัปพอร์ตเราเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งนี้ทำให้เรารู้ว่าไดเรกเตอร์ไม่ใช่ผู้นำ ไม่ใช่แกนนำที่อยู่เหนือสุดของพีระมิด มันเป็นการทำงานแบบที่ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน ไดเรกเตอร์เป็นแค่เซ็นเตอร์ในการที่ทุกคนจะวนกลับมาเช็กพอยต์ว่าถูกจุดหรือเปล่า เรารู้สึกว่าการทำหนัง ซีรีส์หรือโปรเจกต์หนึ่งนั้นเต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ สาขา เราไม่ได้มีหน้าที่ในการจะต้องเก่งกว่าทุกคน เรามีหน้าที่ในการทำให้ทุกคนเห็นว่าผลลัพธ์ที่อยากได้คืออะไร แล้วเขาจะกลับไปช่วยทำในมุมของเขามานำเสนอ เราแค่บอกว่าสิ่งนี้อยู่ในเรื่องนี้ไหม หลุดไดเรกชันหรือเปล่า แล้วต้องอธิบายให้ได้ว่ามันหลุดอย่างไร ซึ่งถ้าเขาเก็ต เขาจะกลับไปทำต่อด้วยความเข้าใจ หาวิธีการมาเสนอให้เราตลอด 

เรารู้สึกว่าซีรีส์เรื่องนี้สำเร็จได้ด้วยทีมงานมาก ๆ นึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่มีทีมนี้จะเป็นอย่างไร ถ้ามีใครสักคนไม่เต็มที่กับเรา ผมว่ามีสิทธิ์ที่จะหลุดได้ โชคดีมาก ๆ ที่ทุกคนเต็มที่ไปด้วยกัน อันนี้เป็นสิ่งที่เราประทับใจและเรียนรู้เลยว่าการบรีฟสำคัญมาก ๆ เพื่อให้ทุกคนจับมือไปด้วยกันอย่างถูกที่

ก่อนบทสัมภาษณ์นี้จะจบลงและถึงวันที่ภาพปลายทางของพวกเขาออกฉาย สิ่งที่สองผู้กำกับอยากบอกกับผู้ชมคือ…

เน็ท : อยากให้ทุกคนมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่นี้ด้วยกันครับ เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนวิธีการดูของเขามาก ๆ อยากให้ลองดูว่าเขาจะชอบหรือรับสิ่งนี้ได้ไหม อยากเห็นฟีดแบ็กที่กลับมา เพื่อให้เราปรับปรุงในงานต่อ ๆ ไปด้วย”

ปิง : พอมันเป็นประสบการณ์ใหม่ของคนทำ สำหรับคอนเทนต์เรื่องนี้เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างเป็นการทดลองและได้เรียนรู้เยอะมาก ซึ่งเราคิดว่าจะเป็นประสบการณ์ใหม่ของคนดูด้วย เราเองก็คาดหวังกับการที่คนจะเริ่มลองดู พอเราทำสิ่งใหม่เสร็จ เราจะอยากรู้แหละว่าสิ่งนี้เวิร์กหรือไม่เวิร์กซึ่งมันตัดสินที่คนทำอย่างเดียวไม่ได้ เราจำเป็นต้องออกฉายและจำเป็นเหมือนกันที่เราต้องเรียนรู้จากคนดู สมมติถ้าเขาเห็นว่าโปรเจกต์นี้น่าสนใจ เราอยากให้เขาลองดู แล้วเราจะรอฟังว่าเขาจะพูดถึงซีรีส์ว่าอย่างไร ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ตาม 

ถ้าได้ลองดูซีรีส์เรื่องนี้ เราอาจจะฝากนิดหนึ่งว่าฝากเขียนถึงมันหน่อย ช่องทางใดก็ได้ เราอยากไปตามอ่านเพราะเราอยากเรียนรู้จริง ๆ ว่าสิ่งที่ทำไปออกมาเวิร์กไหม มีอะไรที่ได้หรือไม่ได้ แล้วเดี๋ยวเราจะไปแกะว่าเป็นเพราะอะไร เราคิดว่ามันจะเป็นข้อดีมาก ๆ กับคนทำงานทุกคน ซึ่งส่วนที่ทำให้เราลองทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเพราะเราอยากพัฒนาคนทำงานไปด้วยกัน หมายถึงทั้งตัวเราเองและพัฒนาหนังไทย การทำคอนเทนต์ไทยทั้งหมดด้วย 

การเรียนรู้จากคนดู เราต้องเริ่มจากการฟังคนดูเยอะ ๆ ไม่ใช่แค่คำชมแต่เราอยากฟังทุกอย่าง ดูแล้วรู้สึกอะไรบอกเราได้เลย เราคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์กับเราและทีมงานมาก ๆ ในการทำคอนเทนต์ต่อ ๆ ไปในอนาคตครับ

Fact Flie

  • Blackout บาร์ลับไม่มีในโลก ซีรีส์แนวตั้งความยาว 8 ตอนรับชม 4 ตอนแรกอย่างต่อเนื่อง วันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 20:00 น. ได้ทาง AIS Play 
  • ติดตามความเคลื่อนไหวของซีรีส์และนาดาว บางกอก ได้ทาง Facebook : Nadao Content และ Nadao Bangkok 
  • Twitter : NadaoBangkok
  • Instagram : nadaobangkok 

ภาพ : Nadao Bangkok


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ