ดูหนังควบประวัติศาสตร์การเมือง และมหากาพย์ชีวิตของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล
Faces

ดูหนังควบประวัติศาสตร์การเมือง และมหากาพย์ชีวิตของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล

Focus
  • จุฬญาณนนท์ ศิริผล คือหนึ่งในนักทำหนังรุ่นใหม่ที่มีผลงานต่อเนื่อง และปรากฏผลงานทั้งภาพยนตร์สั้นทดลองภาพยนตร์เชิงศิลปะ งานศิลปะจัดวาง งานนิทรรศการศิลปะ และอื่นๆ อีกมากมาย
  • ครั้งนี้เขากลับมาพร้อมกับโปรแกรมการฉายหนังควบ 2 เรื่อง คือ Forget Me Not และ100 Times Reproduction of Democracy เต็มอิ่มกว่า 3 ชั่วโมง ฉายที่โรงภาพยนตร์ Bangkok Screening Room

จุฬญาณนนท์ ศิริผล คือหนึ่งในนักทำหนังที่มีผลงานต่อเนื่องและหลากหลาย ทั้งภาพยนตร์สั้นทดลอง ภาพยนตร์เชิงศิลปะ งานศิลปะจัดวาง งานนิทรรศการศิลปะ ซึ่งทุกงานแม้จะแตกต่าง แต่ล้วนชัดเจนในเอกลักษณ์ด้านงานภาพและเนื้อหาที่มักจะผสานเรื่องของการตีความประวัติศาสตร์การเมืองและความเชื่อ ส่วนในฐานะนักทำหนังชื่อของจุฬญาณนนท์ได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนหมู่มากจากภาพยนตร์ Ten Years Thailand (2018) และในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้ เตรียมตัวพบกันภาพยนตร์ของเขาอีกครั้งในฉบับเต็มและจุใจ เพราะจุฬญาณนนท์จะมาพร้อมกับการฉายภาพยนตร์ขนาดยาว 2 เรื่องควบ! ณ โรงภาพยนตร์ Bangkok Screening Room

มหากาพย์ภาพยนตร์ขนาดยาวของจุฬญาณนนท์ ศิริผล ที่กำลังจะเข้าฉายในรูปแบบการฉายหนังควบนั้นผู้ชมสามารถซื้อบัตรชม 1 ใบแล้วได้ดู 2 เรื่องควบต่อเนื่องกันกว่า 3 ชั่วโมง คือ ภาพยนตร์เรื่อง Forget Me Not และ 100 Times Reproduction of Democracy เรียกว่าเป็นวาระพิเศษทั้งสำหรับผู้ชมภาพยนตร์และผู้ติดตามผลงานของจุฬญาณนนท์ ศิริผล 

ในวาระมหากาพย์ภาพยนตร์ของจุฬญาณนนท์เข้าฉาย Sarakadee Lite จึงชวนคนทำหนังคนนี้มาพูดคุยเรื่องภาพยนตร์ในสายตาของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล

จุฬญาณนนท์ ศิริผล

อะไรคือ Forget Me Not และ 100 Times Reproduction of Democracy

Forget Me Not เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวที่ได้แรงบันดาลใจจากนิยาย ข้างหลังภาพของ ศรีบูรพาเราใช้นวนิยายเรื่องนี้มารีเมคใหม่โดยเราเล่นเป็น นพพรและกีรติหนังเรื่องนี้เชื่อมโยงกับโครงการศิลปะตอนที่เราทำโครงการศิลปินพำนักที่ญี่ปุ่นหลังการรัฐประหารปี 57 พอดี เราเลยอยากเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของไทย-ญี่ปุ่นกับการเมืองของไทยเข้าด้วยกัน เลยเลือกนิยายเรื่องนี้เป็นจุดเชื่อม Forget Me Not จึงเริ่มที่ญี่ปุ่นและพัฒนาต่อโดยตัวหนัง มี 2 ส่วน คือ 1.ญี่ปุ่น 2.ไทยภาพยนตร์เรื่อง Forget Me Not เรื่องนี้เคยจัดแสดงเป็น Solo Exhibition ในชื่อ Behind the Painting และพัฒนามาจัดแสดงอีกทีเป็น Museum of Kirati ที่ Bangkok CityCity Gallery ส่วน Forget Me Not ฉบับที่กำลังจะฉายวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้เป็นฉบับเต็มที่ได้เคยฉายในนิทรรศการ Museum of Kirati  อีกเรื่องที่ฉายควบกันคือ 100 Times Reproduction of Democracy ไม่มีชื่อไทยแต่ถ้าแปลก็คือ การผลิตซ้ำประชาธิปไตย 100 ครั้งเป็นการตั้งคำถามถึงลิขสิทธิ์และกรรมสิทธิ์ของประชาธิปไตยในประเทศไทยว่าใครมีสิทธิ์ในการถือครอง

จุฬญาณนนท์ ศิริผล

อะไรเป็นแรงขับให้ต้องทำหนังทั้งสองเรื่อง

โฟกัสอยู่ที่ปัญหาการเมืองของไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อน อีกแรงขับที่ทำให้เราผลิตภาพยนตร์สองชิ้นนี้คือความเคียดแค้นที่ปัญหาการเมืองมอบให้เรา แล้วเราต้องพยายามที่จะระบายความแค้นนี้ออกมาผ่านภาพยนตร์

อะไรคือความเคียดแค้นที่การเมืองมอบให้จุฬญาณนนท์

แค้นความไม่ยุติธรรมของประวัติศาสตร์ที่มันไม่ยุติธรรม เรามองว่ามีชุดเรื่องเล่า หรือคำอธิบายทางประวัติศาสตร์การเมืองแค่ชุดเดียว เรารู้สึกว่าเราอยู่ภายใต้ชุดนั้นมาตลอด พอเราเจอชุดอื่น ๆ มันทำให้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์เป็น Fiction แบบหนึ่ง

การมาทำเรื่องนี้เป็นการสร้าง Fiction ตอบกับ Fiction ที่เคยมีมาด้วยการใช้เรื่องเล่าที่มันมีอยู่แล้วมาดัดแปลงและใส่แบบของตัวเองลงไปเช่นข้างหลังภาพก็เป็น Fiction ที่ศรีบูรพาสร้างเรื่องประวัติศาสตร์หลัง 2475 ผ่านเส้นเรื่องของศรีบูรพาที่เขียนในปี 2479 และต่อมาเรื่องนั้นก็มีคนมาตีความในมุมมองที่หลากหลายเราก็มีโอกาสอ่านหลายมุมมองและเราก็เลือกหยิบมาอ่านผ่านมุมมองของเราว่าการสถาปนาประวัติศาสตร์และเรื่องเล่ามันไม่ตายตัว

การทำงานในโรงภาพยนตร์กับการทำงานในพื้นที่ศิลปะหรืออาร์ตแกลเลอรีต่างกันไหม

มีส่วนที่ต่างและไม่ต่างความต่างอยู่ที่เราพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ผู้ชม และผลงานเช่นในโรงภาพยนตร์คนดูมีความสัมพันธ์ที่อดทนกับภาพยนตร์ถึงมันจะ Slow Cinema แค่ไหนก็อาจนั่งดูอยู่ถึงแม้ไม่ทั้งหมดก็ตามแต่หมายถึงคนดูบางส่วนก็จะไม่ลุกออกไป ส่วนในอาร์ตแกลเลอรี ความสัมพันธ์มีโครงสร้างต่างกัน คือผู้ชมเลือกดูอะไร เลือกไม่ดูอะไรได้ และสามารถดูอย่างไม่ลำดับไม่จำกัดเวลาว่าจะดูนานแค่ไหนส่วนนี้ทำให้เราคิดว่าเราจะเสนอ Time based Media อย่างไรส่วนที่เหมือนระหว่างโรงภาพยนตร์กับแกลเลอรีคือการแสดงออกของศิลปิน

จุฬญาณนนท์ ศิริผล

ทำไมหนังทั้งสองเรื่องจึงออกแบบให้เป็นหนังที่ศิลปินเป็นตัวแสดงเอง

เรามองว่าเรากำลังทำ Performance Art หรือ Happenings Art เราใช้ร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเรามองว่าในForget Me Not ตัวเองเป็นร่างกายที่เป็น Character นพพรหรือกีรติได้เรามองว่าเป็นบทบาทที่เราได้รับเป็นวิญญาณที่สวมทับร่างกายของเราและกำลังหาทางนำทางหรือควบคุมโดยร่างกายเราเองอยู่ใต้อาณานิคมที่ควบคุมอยู่ ส่วนใน 100 Times Reproduction of Democracy เราปรากฏในตัวเราเอง แต่เป็นการใช้ร่างกายในอีกแบบที่ไม่ได้เป็นตัวละคร ใช้ร่างกายตัวเองเสนอตัวเองเราตั้งคำถามกับ Body และ Spirit ที่มาควบคุม

อะไรคือความหลักสำคัญในการทำภาพยนตร์

เราคิดว่ามันคือ Space ของคนดูกับคนทำหนัง ต้องดูว่าสองส่วนนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เหมือนเรากำลังเล่มเกมกันอยู่เกมที่ภาพยนตร์คนทำจะเดินหมากอย่างไรให้คนดูเสพเราจะควบคุมเรื่องนี้ให้เป็นอย่างไร ภาพยนตร์มันจึงเหมือนเป็นศิลปะของการปกปิดและเปิดเผยบางอย่าง

มุมมองต่อวงการภาพยนตร์ไทยในตอนนี้

ภาพยนตร์มีหลายโลกโลกธุรกิจโลกหนังอิสระโลกของหนังอินดี้คล้ายกับโลกศิลปะที่มันมีหน้าที่เสนอความคิดแต่ก็มีเรื่องทุนอย่างทุนจากภาครัฐก็ไม่เปิดรับมา 2 ปีแล้วทำให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญกับทุนหนังแบบไหนส่วนทุนต่างประเทศก็มีแต่ก็จะมีความยากในการแข่งขันด้วยที่ผู้ขอรับเป็นผู้กำกับจากเอเชียบ้างหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ทุนต่างประเทศก็จะมีข่าวดีบ่อยว่าคนทำหนังไทยได้ทุนพวกนี้อยู่

เราว่าขั้นตอนในการไปเสนอและขอทุนหนังยาวนั้นเหนื่อยและเสียพลังงานกับการหาทุนเราเลยเลือกใช้ทุนในการทำที่ต่ำลงและเล่นกับความเป็นหนังทุนต่ำแต่จะหาความคมคายอย่างไรได้บ้างอย่างทั้งสองเรื่องนี้ก็เป็นหนังทุนต่ำถึงไม่ได้นำเสนอแบบแมส แต่มันก็มีศักดิ์ศรีของมันอยู่เราทำหนังยาวแต่ทำหนังอินดี้ที่ไม่ใช้ทุนมากแต่ก็ยังคิดถึงเรื่องการทำอย่างไรให้มันคมคายและนำเสนอความคิดออกมา

หนังที่จุฬญาณนนท์ชอบดู

ชอบดูหนัง Cult ที่เป็น Magical Realism และมีความ Weird ส่วนผู้กำกับที่ชื่นชอบคือ Shuji Terayama เป็นผู้กำกับชาวญี่ปุ่นเขาเป็นกวีทำละครเวทีและทำหนังผลงานภาพยนตร์ของเขาจะเกี่ยวกับความเจ็บปวดความสัมพันธ์และมีความทดลองอีกคนก็ Alejandro Jodorowsky เราชอบอะไรแบบนี้ดูเหมือนเมาๆ (หัวเราะ) แล้วก็ Roy Andersson โทนๆนี้ที่ชอบ

ชวนคนมาดูหนังควบโปรแกรมนี้อย่างไรดี

ชวนไปดูมหากาพย์ของชีวิตจุฬญาณนนท์ และมหากาพย์การเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2475 ถึง 2563 ผ่านหนังควบ 3 ชั่วโมงครึ่ง!

FactFile

  • สามารถซื้อตั๋วชมภาพยนตร์และติดตามรอบฉายได้ที่ https://bit.ly/3mJCaHs
  • การจัดฉายภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องของจุฬญาณนนท์ศิริผลเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ Documentary Club ร่วมกับ Filmvirus จัดฉายโครงการภาพยนตร์ที่มีประเด็นร่วมกันโดยแบ่งเป็น Bangkok Screening Room จัดฉายภาพยนตร์ Forget Me Not และ 100 Times Reproduction of Democracy ส่วน DAM’N CINECLUB ฉายภาพยนตร์ของ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ซึ่งชุดที่ฉายประกอบด้วย 0.เสียงออกไม่ได้ในราชอาณาจักรทางภาษาของคุณ 1.มะนีจันเปล่งเสียงไม่ได้ในทวิภูมิทางภาษาของคุณ 2.แหม่มแอนนาหัวนมมาการองและการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3.อนินทรีย์แดงสามรถติดตามรอบฉายโครงการนี้ได้ที่ www.facebook.com/damncineclub และ
    www.facebook.com/bangkokscreeningroom

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน