เบื้องหลัง Crybaby จากความหลงใหลในของเล่น น้ำตาและงานประดิษฐ์ สู่เส้นทางอาร์ตทอย
Faces

เบื้องหลัง Crybaby จากความหลงใหลในของเล่น น้ำตาและงานประดิษฐ์ สู่เส้นทางอาร์ตทอย

Focus
  • Crybaby คาแรกเตอร์ที่ตกผลึกมาจากความหลงใหลตั้งแต่วัยเด็กของ มอลลี่ หรือ มด-นิสา ศรีคำดี ทั้งงานประดิษฐ์ ของเล่น ของสะสม น้ำตาและความฝันที่อยากเป็นนักประดิษฐ์ของเล่นเพื่อจะได้มีของเล่นเยอะ ๆ
  •  นิทรรศการ Cry Me A River เป็นการพา Crybaby มาสู่ประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วยศิลปินมองว่า Crybaby คือส่วนหนึ่งของเธอ การที่คาแรกเตอร์นี้สามารถอยู่ได้ทุกที่ในรูปแบบที่หลากหลาย นั่นเท่ากับว่าเธอได้เดินบนเส้นทางใหม่ไปด้วย

ช่วงเดือนนี้หลายคนน่าจะเห็นน้องแก้มป่องน้ำตาซึม Crybaby ผ่านหน้าฟีดกันอยู่บ่อย ๆ เพราะเหล่าน้อง ๆ กำลังจัดแสดงอยู่ที่ 333Anywhere ในชื่อนิทรรศการ Cry Me A River พื้นที่ที่ มด-นิสา ศรีคำดี หรือ มอลลี่ ศิลปินเจ้าของคาแรกเตอร์ ตั้งใจอยากให้ผู้ชมได้มาระบายความเศร้าหรือเรื่องที่อัดอั้นอยู่ในใจด้วยความคิดที่ว่า “ทุก ๆ ด้านอารมณ์ของตัวเรามันควรจะโอเค” หลังจากที่เธอตั้งคำถามและให้ความสนใจในประเด็นนี้อยู่เสมอว่า เหตุใดคนเราจึงพยายามจะเปิดเผยเฉพาะด้านที่มีความสุขเท่านั้น

Crybaby Molly
มด-นิสา ศรีคำดี (มอลลี่)

“Crybaby มาจากประสบการณ์ของเราเลยเพราะตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่มีคนถามว่าเราเป็นอย่างไรบ้าง เราจะต้องตอบว่าไม่เป็นไร ทุกคนจะต้องรีบตอบไปโดยอัตโนมัติว่าโอเค มดรู้สึกว่าทำไม แล้วถ้าเราเป็นอะไรล่ะ ทำไมเราถึงบอกไปไม่ได้ ทำไมเราต้องไปแอบร้องไห้ในห้องน้ำ ทำไมตั้งแต่เล็ก ๆ เวลาร้องไห้แม่ต้องคอยบอกเราให้หยุด ไม่อย่างนั้นโดนตีนะ เลยรู้สึกว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เราสนใจมันมาก ๆ และเราเป็นคนที่หลงใหลลักษณะของน้ำตามาตลอด เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่าย ๆ ถ้าเทียบกับลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ เช่น การหัวเราะเราจะเห็นการแสดงออกได้ชัดกว่า แต่น้ำตาเหมือนเป็นสิ่งที่ต้องกลั่นกรองผ่านความรู้สึกที่บางครั้งเราไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ มันอาจไม่ใช่แค่ความทุกข์ ความเสียใจแต่บางครั้งมันอาจเป็นความท่วมท้นในใจหรือตื้นตันจนน้ำตาเราไหลออกมา”

Crybaby Molly
Crybaby Molly

Cry Me A River เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของมอลลี่ แต่หากใครรู้สึกคุ้นเคยก็ไม่แปลกเพราะ Crybaby เดินเส้นทางอาร์ตทอยมาก่อนหน้านี้แล้วถึง 5 ปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 โดยที่จุดเริ่มต้นสะสมมาจากความสนใจตั้งแต่เด็กของมอลลี่ที่วนเวียนหลงใหลอยู่กับของเล่น ศิลปะ และงานประดิษฐ์ทำมือ ไม่ว่าจะเป็นการเย็บตุ๊กตา ถักโครเชต์ ทำตุ๊กตากระดาษ สะสมโมเดลรถหรือการวาดรูปลงสี เธอมักจะทำขึ้นเองทั้งหมด จนวันหนึ่งที่มีเวลาจากการว่างงาน เธอจึงตัดสินใจขลุกอยู่กับการปั้นและสเก็ตช์อาร์ตทอย สานฝันวัยเด็กที่อยากเป็นนักออกแบบของเล่นเพื่อที่วันหนึ่งจะได้มีของเล่นเยอะ ๆ โดยไม่ได้คิดมาก่อนว่าสิ่งนี้จะกลายมาเป็นเส้นทางหลักของเธอ

“ตอนแรกเราไม่ได้คิดเลยว่าสิ่งนี้จะมาเป็นอาชีพ แต่แค่คิดว่าได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ตั้งแต่เช้าเราตื่นมาก็คือเริ่มปั้นและสเก็ตช์ ปั้นแล้วเฉือนทิ้งวนไปอย่างนั้น ตั้งแต่ 6 โมงถึงตี 2-3 ของทุกวัน กินข้าวก็ถือมันไว้ นอนก็เอามานอนด้วย มันเหมือนเราชอบมาก ๆ เราเลยให้เวลากับมันอย่างเต็มที่เป็นเวลาประมาณ 2 เดือนจนออกมารู้สึกว่าเราชอบแล้วเลยได้ต้นแบบน้อง Crybaby ขึ้นมา พอดีกับตอนนั้นเราเพิ่งเริ่มเล่นอินสตาแกรม เราถ่ายรูปลงแล้วก็ใส่แฮชแท็กเกี่ยวกับทอยลงไป พอดีมีคนจีนคนหนึ่งเขาเห็น เขาส่งข้อความมาตลอดเลยว่าเมื่อไรจะทำขาย อย่างที่บอกว่าเมื่อก่อนเราไม่รู้เลยว่ามันมีอะไรแบบนี้อยู่ด้วย เราเลยไม่ได้สนใจ ผ่านไปหลายเดือน เขาก็ยังส่งข้อความมาทุกวันคอยถามว่าขายเมื่อไรขายได้ไหม จนวันหนึ่งเราคิดว่าลองทำดูแล้วกัน จำได้ว่าแรก ๆ เราตั้งราคาไว้ถูกมากเพราะไม่ได้คิดว่าจะมีคนสนใจจริง ๆ แล้วคนจีนคนนั้นเขาก็เอารูปไปโพสต์ในแชตกรุ๊ปที่ประเทศจีน หลังจากนั้นก็เหมือนตู้มเลย เพราะแชตกรุ๊ปที่จีนเขามีจำนวนคนเยอะมาก ทำให้มีคนสนใจเยอะ ตั้งแต่วันนั้นเราเลยเหมือนได้เข้าสู่วงการอาร์ตทอยเต็มตัว ได้ไปโชว์งานต่างประเทศอย่างฮ่องกง จีน ไปร่วมงานกับเขาที่นู่นด้วย

Crybaby Molly

“ตอนนั้นมันเหมือนเราตื่นขึ้นมาแล้วฝันดี เป็นฝันดีที่ต่อเนื่องมาจากที่เราฝันไว้ เราไม่เคยคาดคิด เพราะตอนเริ่มต้นเราแค่ทำสิ่งที่เราอยากทำ ไม่รู้เลยว่าตลาดอาร์ตทอยเป็นอย่างไร เรื่องเงินเป็นเหมือนผลลัพธ์ที่เราได้มาทีหลังมากกว่า ตอนเริ่มต้นใหม่ ๆ เราก็มีความกังวลจากการว่างงาน มีเงินเหลือไม่เท่าไรก็เอามาลงทุนทำทอยโดยที่ไม่ได้คิดจะขายด้วยซ้ำ แต่เราได้แม่ที่บอกว่า ถ้ามดอยากทำ มดทำเลย เหมือนเขาเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่เราชอบมาตลอด เขาเองก็ไม่ได้คิดว่าเราจะเลี้ยงตัวเองได้จากสิ่งนี้ แต่เขาแค่สนับสนุนในสิ่งที่เราชอบ เราเลยแอบได้กำลังใจว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดอยู่นะ โดยที่เราเองก็ยังไม่รู้หรอกว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราแค่รู้สึกโอเคกับความรู้สึกของเราตอนนั้นว่าเราสามารถทำมันทุกวันจนถึงสองวันติดกันเต็ม ๆ ได้โดยไม่รู้สึกว่าเหนื่อยเลย” 

เมื่อย้อนกลับไปถึงแรงบันดาลใจ เราจะเห็นว่าพื้นฐานของสตอรีเบื้องหลังมักมาจากเรื่องใกล้ตัวเสมอ แต่อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่หลายคนกลับมองข้าม เช่น Fixboy คาแรกเตอร์ล่าสุดที่เธอต่อยอดมาจาก Crybaby เกิดขึ้นมาเพื่อปลอบ Broken Girl น้ำตาซึม Fixboy จึงเป็นคาแรกเตอร์ที่พร้อมช่วยเหลือดูแลคนอื่นเสมอ แต่มีความลับอยู่ว่า Fixboy ก็กลับลืมที่จะดูแลตัวเองและลืมไปว่าเขาเองก็มีความรู้สึกเหมือนกัน

Crybaby Molly

“ตั้งแต่ตอนเรียนเราจะวาดคาแรกเตอร์ที่มีน้ำตาหรือร้องไห้มาตลอด ตัวที่เราวาดสมัยเรียนจะเรียกว่า Rabbit Cry เป็นเจ้าตัวกระต่ายร้องไห้ เราวาดทุกวันเหมือนเป็นไดอารีว่าวันนี้กระต่ายร้องไห้เพราะเรื่องอะไร คอนเซ็ปต์หลักไม่ต่างจาก Crybaby ตอนนี้เลย เพียงแค่หน้าตาของตัว Crybaby มีการตกผลึกมาแล้ว ช่วงที่เราทำตอนนั้นเป็นช่วงที่น้องหมาของเราเสียด้วย เราแอบบอกความลับว่าตรงที่เป็นผมของน้อง จริง ๆ เราประยุกต์มาจากหูของน้องหมา เพราะว่าช่วงนั้นน้องหมาเราป่วยหนักมากแล้วเขาเสียไป ประสบการณ์ตรงนี้ก็เลยมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบของเราด้วย”

ภายในนิทรรศการนี้คาแรกเตอร์ Crybaby มาพร้อมประสบการณ์ใหม่อย่างชิ้นงานในรูปแบบ Sculpture ภาพวาดสเก็ตช์และงานเพนต์ติง เป็นความตั้งใจหนึ่งที่มอลลี่มองว่า Crybaby คือคาแรกเตอร์ที่มาจากส่วนหนึ่งของตัวเธอเอง การที่ Crybaby สามารถอยู่ได้ทุกที่ในรูปแบบที่แตกต่าง สำหรับเธอเองก็เหมือนได้เดินบนเส้นทางใหม่ ๆ ไปพร้อมกันด้วย

Crybaby Molly

ชิ้นงานไฮไลต์ที่ตั้งอยู่กลางห้องจัดแสดงมีชื่อว่า Big Girl Cry เป็นน้อง Crybaby Naked Brown แบบเดียวกับตัวออริจินัลที่เธอทำออกมาเป็นเซตแรก น้องมีขนาดจัมโบ้นอนอยู่ในบ่อลูกบอลน้ำตา จุดนี้เป็นหัวใจหลักของนิทรรศการที่มอลลี่กล่าวว่าไม่เคยไปเปลี่ยนเลย สำหรับความตั้งใจที่อยากให้เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมการแชร์ประสบการณ์ที่ผู้ชมสามารถเขียนเรื่องราวที่อยากแชร์ใส่ลงในลูกบอลแล้วเอามาทิ้งลงบ่อน้ำตานี้ ก่อนก้าวผ่านประตูออกไป

“เราคิดว่า Crybaby อาจจะพูดถึงเรื่องที่เราว่าหลายคนก็รู้สึก แต่ไม่ได้มีใครพูดถึงมันอย่างจริงจังในเรื่องของการแสดงความอ่อนแอ คือเรายังแสดงความอ่อนแอออกมาในรูปแบบที่มันยังดูน่ารักน่าชัง หน้าบึ้งแต่ยังน่าหยิก เพราะเราอยากให้คนรู้สึกว่าความรู้สึกนี้มันโอเคจริง ๆ Cry Baby เป็นเหมือนตัวแทนของเราเองด้วยที่ยังยึดติดกับกรอบสังคมเดิม ๆ เราก็ยังไม่กล้าร้องไห้ต่อหน้าสาธารณชนเหมือนกัน ทั้งที่บางครั้งมันมีเรื่องหนักอยู่ในใจมาก ๆ ถ้าแค่เราร้องไห้ออกมา ได้ระบายออกมาก็จะทำให้รู้สึกโล่งขึ้น แต่เรารู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งที่ผิด ไม่โอเคที่จะต้องมาร้องไห้ให้ใครเห็น Crybaby เลยเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เราออกแบบขึ้นเพื่อให้มาร้องไห้แทนเรา ในจุดนี้เลยเป็นจุดหนึ่งที่หลายคนก็อาจจะรู้สึกเหมือนกัน เขาเลยให้ความสนใจและอินไปกับมันด้วย

“แผนในอนาคต พอมีเรื่องเมตาเวิร์ส เราก็แอบคิดว่าอยากจะพา Crybaby ไปสู่โลกอนาคตกับเขาบ้าง คือเราไม่อยากให้น้องตายไปตามกาลเวลา ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาอย่างไร เราก็อยากให้คนนึกถึงเรื่องของความรู้สึกกันอยู่” ส่วนจะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร เธอกล่าวว่าสามารถติดตามอัปเดตเรื่องต่าง ๆ ได้ผ่านทางอินสตาแกรมเป็นหลัก

Fact File

  • นิทรรศการ Cry Me A River จัดแสดงวันนี้ – 29 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ที่ 333Anywhere ตั้งแต่เวลา 11.00-18.00 น. (เปิดให้เข้าชมแบบวอล์กอินเท่านั้น จำกัดรอบละ 25 คน ลงทะเบียนเพื่อรับเงื่อนไขการเข้าชมได้ทาง forms.gle/yLiaJHgkqBrh8fST7)
  • ติดตาม Crybaby ได้ทาง www.facebook.com/mollyfactory และ www.instagram.com/mollyfactory.official/

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว