นนทวัฒน์ กับเบื้องหลัง DOI BOY หนังสุดชายขอบความฝัน ของคนที่ถูกทำให้หาย
Faces

นนทวัฒน์ กับเบื้องหลัง DOI BOY หนังสุดชายขอบความฝัน ของคนที่ถูกทำให้หาย

Focus
  • นทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับสารคดีไทยที่มีผลงานสารคดีอย่างต่อเนื่อง อย่าง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) สายน้ำติดเชื้อ (By the River) และ ดินไร้แดน (Soil Without Land)
  • อยบอย (DOI BOY) ภาพยนตร์ที่ส่งตรงจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน สตรีมแล้วใน Netflix

แค่เห็นชื่อผู้กำกับ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ก็ทำให้ภาพยนตร์เรื่องใหม่ส่งท้ายปลายปี 2566 อย่าง ดอยบอย DOI BOY จุดกระแสที่น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมานนทวัฒน์เป็นที่รู้จักในแวดวงนักทำสารคดีที่แน่วแน่ด้วยประเด็นจาก “ชายขอบ” ทั้งชายขอบในแง่ของภูมิประเทศ และชายขอบในแง่คนนอกของสังคม ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง, สายน้ำติดเชื้อ, ดินไร้แดน และสำหรับ ดอยบอย นี่คือผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา ซึ่งได้รับการพูดถึงอย่างมากในรอบ World Premiere ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (BUSAN International Film Festival) ประเทศเกาหลีใต้ และสามารถทำสถิติขายบัตรชมภาพยนตร์หมดภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที

DOI BOY

จากดินไร้แดนสู่ ดอยบอย ( DOI BOY )

“โปรเจ็กต์ดอยบอยต่อยอดมาจากตอนทำสารคดีเรื่อง ดินไร้แดน ซึ่งทำให้ได้ลงไปรีเสิร์ชข้อมูลและทำงานในพื้นที่เชียงใหม่ ได้เข้าไปคลุกคลีกับคนไทใหญ่ ต้องบอกว่าก่อนที่จะทำงานสารคดี ผมเองซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของชาวไทใหญ่ในพื้นที่เชียงใหม่มาก่อน แล้วก็ต้องประหลาดใจว่าในประเทศไทยมีชาวไทใหญ่อาศัยและทำงานอยู่เป็นล้าน ผมก็เลยเกิดคำถาม แล้วก็เริ่มหาคำตอบผ่านการทำงานสารคดี จนได้มีโอกาสสัมภาษณ์เด็กๆ ไทใหญ่ ได้ถามถึงเรื่องความฝันว่าแต่ละคนมีความฝันสูงสุดอยากเป็นอะไร แล้วมันก็เกิดเดดแอร์ พร้อมคำถามกลับมาว่า มนุษย์เราสามารถฝันได้ด้วยหรอ’ ก่อนหน้านี้เด็กๆ เขาอยู่ในที่พื้นที่รัฐฉาน พอเขาโตขึ้นมาสภาพการเมืองก็ทำให้เขามีความจำเป็นต้องเป็นทหาร สิ่งเดียวที่เขาจะฝันได้คือการได้ย้ายมาอยู่เมืองไทย ได้มาทำงานที่เชียงใหม่เพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น”

DOI BOY
นนทวัฒน์ นำเบญจพล

นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับที่ใช้เวลาในการพัฒนาบทภาพยนตร์ดอยบอย DOI BOY กว่า 5 ปี เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานที่เริ่มแตกประเด็นมาจากตอนลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลสารคดี ดินไร้แดน ส่วนดอยบอยนั้นเจาะประเด็นไปถึงเรื่องความฝันของคนจากชายขอบเขตแดนไทย แล้วค่อยๆ ใส่สถานการณ์ของยุคสมัยลงไป เช่น อำนาจเทาๆ ของวงการตำรวจ คนไร้สัญชาติ การลักลอบเข้าเมือง ไปจนถึงการอุ้มหายโดยอำนาจรัฐ และการทำตัวเองให้หายไปเพื่อเลี่ยงอำนาจมืด

DOI BOY
ฉากหลบหนีเข้าประเทศใน DOI BOY

เมื่อฝันเกิดผิดที่ผิดทาง

“ในประเด็นความฝัน พอเราลงศึกษาข้อมูลก็พบว่า อาชีพที่เด็กหนุ่มชาวไทใหญ่นิยมทำมากๆ ในไทยก็คือการทำงานที่บาร์เกย์ ร้านนวดเกย์ แต่ลึกไปกว่านั้นก็คือเกือบทั้งหมดเป็น Straight มีแฟนเป็นผู้หญิง มีลูก มีครอบครัว เขาบอกว่าตอนแรกก็รู้สึกแปลกๆ แต่ทำไปก็เกิดความเคยชินและเป็นงานที่ทำให้เขามีรายได้เหมือนคนทั่วๆ ไป เขาคิดว่าก็เหมือนคนไทยที่บางคนก็ต้องทำงานที่เขาไม่ชอบ พวกเขาก็เหมือนกัน”

นนทวัฒน์ ย้อนเล่าถึงการวางตัวละครหลักของเรื่อง ศร (รับบทโดย อัด-อวัช รัตนปิณฑะ) เด็กหนุ่มวัย 21 ปีที่เลือกลี้ภัยอย่างผิดกฎหมายเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย และได้เข้ามาทำงานค้าประเวณีในบาร์เกย์จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะถูกผลักเข้าไปอยู่ในวงปัญหาการเมืองไทยโดยมีตำรวจ อำนาจมืด และนักกิจกรรมที่มักจะมีข่าวการหายตัวไป

ดอยบอย

“ประเด็นหลักที่อยากเล่าใน ดอยบอย คือ ความฝันที่ไม่ปลอดภัย ทุกคนมีความฝัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าความฝันนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศที่เราอยู่ด้วยว่าจะสามารถทำให้เราไปถึงฝันได้มากน้อยแค่ไหน พระเอกของเราเขาจึงเริ่มจากการมีฝันที่ไม่อยากเป็นทหารอยู่ท่ามกลางการสู้รบ ความฝันที่อยากข้ามเส้นเขตแดนมาทำงานในเมืองไทย แต่ฝันมันก็ไม่ได้ง่ายไปกว่าการอยู่ที่เดิมสักเท่าไหร่”

ดอยบอย

ในภาพยนตร์ ความฝันยิ่งใหญ่ของศรคือการได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างสมศักดิ์ศรีที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะมีและควรจะได้รับ ต่อด้วยความฝันรองลงมาที่ดูไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่ค่อนข้างจี้ใจหลายๆ คน เพราะปลายทางการทำงานในบาร์เกย์แลกเงินของศรคือการได้พาสปอร์ตอย่างถูกกฎหมายเพื่อที่จะได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวทะเลภาคใต้ ซึ่งเขาบังเอิญเห็นในโปสเตอร์โฆษณาท่องเที่ยวสีซีดๆ ข้างฝาบริษัทรับทำพาสปอร์ต (สำหรับคนไร้สัญชาติ) แห่งหนึ่ง แน่นอนว่าสำหรับหลายคน ความฝันนี้มันช่างเล็กน้อย แต่สำหรับศร หรืออีกหลายคนบนโลกใบนี้ที่ไม่ได้เกิดอยู่บนพื้นที่ที่จะสามารถทำให้พวกเขาฝันได้อย่างปลอดภัย การแค่ได้ออกจากพื้นที่ทีถูกคนอื่นขีดวงไว้เพื่อออกไปท่องเที่ยวจึงเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่มากที่อาจต้องแลกด้วยชีวิตของพวกเขา

นอกจากความฝันที่เกิดขึ้นผิดที่ผิดทางแล้ว การถูก “ทำให้หาย” และการ “ทำตัวเองให้หายไป” คืออีกประเด็นที่ถูกนำมาเชื่อมโยงอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งผู้กำกับได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าการหาพื้นที่ในสังคมที่ใช่สำหรับตัวเรา ให้เรารู้สึกเป็นส่วนร่วมกับพื้นที่นั้นๆ เป็นอีกประเด็นที่ตัวละคร ศร ต้องเผชิญ และเป็นประเด็นที่ค่อนข้างร่วมสมัย ศรอยากจะก้าวออกไปสู่พื้นที่ที่เขาคิดว่าเป็นพื้นที่ของเขามากกว่าที่เป็นอยู่ เป็นการอยากจะหาพื้นที่เพื่อให้ตัวเองดีขึ้น แต่ก็ไม่แน่ว่าพื้นที่ที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้นอาจทำให้ตัวเราเองต้องสูญหาย ทั้งการทำให้หายไปโดยคนอื่น และการที่ตัวเราต้องทำให้ตัวเราหายไปตลอดกาล

DOI BOY
อัด – อวัช รัตนปิณฑะ ในบท “ศร”

“อวัช” กับการแสดงทำให้เชื่อว่า “ศร” มีตัวตนจริง

จากนักทำสารคดีสู่การกำกับภาพยนตร์ สิ่งที่แตกต่างอย่างหนึ่งคือวิธีการทำงาน สารคดีในมุมมองของนนทวัฒน์ คือการเฝ้ามอง ส่วนภาพยนตร์นั้นเดินเรื่องด้วยนักแสดง และความยากหนึ่งคือ “ศร” ที่ในเรื่องคือหนุ่มชาวไทใหญ่ที่ลักลอบข้ามแดน การคัดเลือกนักแสดงหลักที่ถ่ายทอดความเป็นไทใหญ่ออกมาได้ครบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ และ อัด อวัช รัตนปิณฑะ ก็พิสูจน์ให้เราได้เห็นแล้วว่าเขาสามารถถ่ายทอดความฝันของศรออกมาได้ รวมทั้งความกลัว ความกล้า ความใสซื่อ ความไม่มั่นใจในชีวิต จนสามารถคว้ารางวัล Rising Star Award ในงานประกาศรางวัล Marie Claire with BIFF Asia Star Awards 2023 มาได้เป็นรางวัลแรกในชีวิต

ดอยบอย

“ประเด็นเรื่องนักแสดงที่มารับบทศร เป็นสิ่งที่เราคิดกันหลายรอบว่าจะใช้นักแสดงไทใหญ่จริงๆ หรือนักแสดงไทย เรามีการลองแคสต์นักแสดงไทใหญ่ด้วย สำหรับอัด เขาไม่ใช่คนที่เล่นเป็นศรได้ดีที่สุดตอนแคสต์ แต่เขาเป็นคนที่ให้ใจผมมากที่สุด เพราะตัวละครตัวนี้ต้องใช้เวลาและให้เวลา ทั้งเรียนภาษาไทใหญ่ เรียนเต้น เวิร์คช็อปการแสดง ซึ่งอัดเขารู้สึกว่าเขาอินกับตัวละคร และเขาไปคลุกคลีกับคนไทใหญ่ แล้วสุดท้ายเขาก็ได้รางวัลกลับมาจากบทบาทนี้”

ดอยบอย

คนทำสารคดีที่ไม่ได้อยากเปลี่ยนโลก

อย่างที่เกริ่นไปว่าชื่อ นนทวัฒน์ นำเบญจพล เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มคนที่ชื่นชอบแนวทางสารคดี ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ นิทรรศการ โดยประเด็นที่นนทวัฒน์เลือกนำเสนอมักจะเป็นเกี่ยวกับ “คนนอก” ทั้งนอกกระแสสังคมเมือง ไปจนถึงคนชายขอบตามตะเข็บชายแดน ซึ่งนนทวัฒน์กล่าวว่าเขาเองเป็นคนกรุงเทพฯ คนหนึ่งที่เริ่มต้นสนใจศึกษาประเด็นเหล่านี้จากการที่ไม่ได้สนใจเรื่องสังคมการเมืองสักเท่าไร จนวันที่มีม็อบการเมืองเกิดขึ้นและก็เริ่มรู้สึกว่าส่งผลกับชีวิตประจำวัน

“ทั้งรถติด คนด่ากันไปมา เหลืองแดง เพื่อนเริ่มพูดคุยประเด็นนี้กันมากขึ้น จนตัวเราเองก็เริ่มสนใจว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็เริ่มหาข้อมูล เหมือนการทำงานสารคดีหรือภาพยนตร์ของผมตอนนี้ที่เริ่มจากการตั้งคำถามแล้วก็หาข้อมูล รีเสิร์ชเพื่อที่จะหาคำตอบ และการหาคำตอบก็ทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา เข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์มากขึ้น ที่ผ่านมาบังเอิญว่าสิ่งที่เราอยากรู้มันไม่สามารถหาคำตอบได้ตามสื่อปกติ มันเลยต้องลงพื้นที่ไปหาคำตอบเองผ่านสารคดี แต่สุดท้ายแล้วผมก็ไม่ได้ทำสารคดีเพื่อที่จะเปลี่ยนโลกหรอกนะ มันเริ่มจากความอยากรู้อยากเห็นและอยากไปหาคำตอบ เมื่อทำเป็นหนังหรือสารคดีหรือนิทรรศการก็อยากให้บทสนทนามันเกิดขึ้น นี่คือความหวังลึกๆ ที่อยากให้เกิดขึ้นตลอดการทำงาน กับดอยบอยก็เช่นกัน”

Fact File

ดอยบอย DOI BOY ผลงานความร่วมมือระหว่าง Netflix และ เนรมิตรหนังฟิล์ม กำกับและเขียนบทโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"